"คลัง" วางเกณฑ์เบิกงบฯ แก้เงินสดขาดมือ


"คลัง" วางเกณฑ์เบิกงบฯ แก้เงินสดขาดมือ ขยายงวดโอนรายได้สู่ท้องถิ่น คุมเข้มกองทุนเบิกเงินอุดหนุน
     กระทรวงคลังวางแนวทางอุดปัญหาขาดดุลเงินสด แบ่งซอยเงินโอนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจาก 2 งวดเป็น 6 งวด ขณะที่เงินอุดหนุนกองทุนต่าง ๆ จะให้เบิกจ่ายตามความต้องการใช้จริงหลังเจอบทเรียนหลายหน่วยงานอ้างสิทธิเบิกเงินเอาไปฝากธนาคาร
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหา  การขาดดุลเงินสดที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีงบประมาณ เนื่องจากรายรับภาษีก้อนใหญ่ยังไม่เข้ามา แต่มีรายจ่าย ที่จะต้องโอนไปเป็นจำนวนมาก ทางกระทรวงการคลังจึงได้กำหนดให้การเบิกจ่ายของรายจ่ายที่ยังไม่มีความจำเป็นทันที โดยจะใช้วิธีการทยอยเบิกจ่าย โดยรายจ่ายสำคัญที่จะใช้วิธีนี้ คือ รายจ่ายประเภทเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และรายจ่ายประเภทเงินอุดหนุนกองทุนนอกงบประมาณต่าง ๆ เช่น กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น  "เดิมรายจ่ายประเภทนี้จะแจ้งขอเบิกเข้าตั้งแต่ต้นปีงบประมาณในช่วงที่รายจ่ายโครงการลงทุนอื่น ๆ ยังไม่เข้า และนำเงินที่ได้ไปฝากธนาคารไว้ และบริหารเอง ส่วนกรณีของ อปท. นั้นก็จะมีการจัดสรรให้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละจำนวนมากให้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำไปกระจายให้ อปท.ทั่วประเทศอย่างทั่วถึง โดยมีแนวคิดว่าท้องถิ่นต่าง ๆ นั้นบางครั้งอยู่ห่างไกลจาก กทม. ค่อนข้างมากจึงควรมีระยะเวลาให้ดำเนินการพอสมควรจึงแบ่งงวดการจ่ายออกเป็นทุก 6 เดือน แต่มาวันนี้สถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปแล้ว กระทรวงการคลังจึงต้องการแก้ไขระเบียบต่าง ๆ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับรายรับ     ที่เข้ามาด้วย"
นายวราเทพกล่าวว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 เป็นต้นไป จะมีการแก้ไขระเบียบการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ท้องถิ่นจากทุก 6 เดือน เป็นทุก 3 เดือน ซึ่งเม็ดเงินในแต่ละก้อนจะน้อยลง แต่จะสอดคล้องกับความต้องการใช้เงินของท้องถิ่นด้วย เพราะส่วนใหญ่การจ่ายเงินโครงการลงทุนต่าง ๆ ก็จะเกิดในช่วงครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ ส่วนรายจ่ายประเภทเงินโอนให้กองทุนต่าง ๆ นั้น จะเป็นไปตามการใช้จ่ายเงินจริงเท่านั้น หากยังไม่มีความจำเป็นในการใช้เงินจะไม่อนุญาตให้มีการเบิกจ่ายเด็ดขาด   ทั้งนี้ รัฐบาลมีภาระในการจัดสรรเงินให้ อปท. ในปีงบประมาณ 2549 ในจำนวน 6.18 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของวงเงินงบประมาณ ส่วนในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550 วงเงิน 1.476 ล้านล้านบาท ได้กำหนดว่าจะจัดสรรให้ อปท. จำนวน      6.88 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 26% ของวงเงินงบประมาณ   และในอนาคต ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น พ.ศ. 2542 กำหนดว่าต้องโอนเงินให้ได้สัดส่วน 35% ของวงเงินงบประมาณภายในปีนี้ แต่รัฐบาลติดปัญหาเรื่องการถ่ายโอนภารกิจด้านการศึกษาและสาธารณสุขทำให้สัดส่วนการจัดสรรยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
     นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางได้สรุปผลการศึกษา เรื่องการแก้ไขระเบียบการเบิกจ่ายของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยจะมีการแก้ไขระเบียบจากเดิมให้ กยศ. เบิกเงินครั้งละเป็นจำนวนมาก แล้วนำไปฝากกับธนาคารเอาไว้ ก่อนที่จะนำไปให้แก่สถาบันการศึกษาและนักศึกษาที่กู้ยืมเงินจากกองทุน มาเป็นการเบิกจ่ายแบบตามความจำเป็นที่ต้องใช้ ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาเงินสดขาดสภาพคล่อง โดยยืนยันว่าการแก้ไขระเบียบดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อนักศึกษาที่ต้องกู้เงินของ กยศ. เรียนแน่นอน เพราะกรมบัญชีกลางยังให้กองทุนเบิกจ่ายได้ตามปกติ  นอกจากนี้กรมบัญชีกลางยังมีแนวทางในการสำรวจกองทุนเงินนอกงบประมาณที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 90 กองทุน เพื่อเสนอให้มีการยุบเลิก เนื่องจากบางกองทุน       มีความจำเป็นน้อยลง หรือบางกองทุนมีลักษณะซ้ำซ้อนกัน

มติชน ข่าวสด  6 พ.ค. 49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 27882เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2006 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท