อยากให้หลังการประชุม (วิทยาลัย) มีการทำ AAR จัง


ในการประชุมวิทยาลัย เราน่าจะมีการทำ AAR หลังการประชุมทุกครั้ง เพื่อที่จะได้ทราบว่าผู้เข้าประชุมมีความรู้สึกอย่างไร มีความคาดหวังอย่างไร เพื่อที่จะนำสิ่งที่ได้นี้ไปปรับปรุงการประชุมในครั้งต่อๆไป

      เมื่อวานนี้มีการประชุมวิทยาลัย (สหวิทยาการ) ประจำเดือน  ซึ่งตามปกติแล้วกำหนดไว้ทุกวันศุกร์แรกของเดือน  แต่เนื่องจากเหล่าคณาจารย์ต่างติดภารกิจต้องไปตรวจเยี่ยมนักศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ต้องเลื่อนการประชุมมาไว้เมื่อวานนี้  (การเลื่อนการประชุมทำให้ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์พลาดโอกาสสำคัญ  คือ  การไป (สังเกตการณ์) การเตรียมการเวทีตำบลละแสนที่กลุ่มแม่ทะ  น่าเสียดายเป็นที่สุดเลยค่ะ) เมื่อวานนี้จึงมีคณาจารย์เข้าประชุมกัน (เกือบ) พร้อมหน้า  ขาดอาจารย์เพียงท่านเดียวเท่านั้น

       กำหนดการประชุมเริ่มตั้งแต่ 10.00-12.00น.  ในการประชุมครั้งนี้มีความพิเศษอยู่นิดหนึ่ง  คือ  ท่านรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร  ศูนย์ลำปาง  ท่านใหม่ (ผศ.ดร.เดชา  สังขวรรณ) ได้เข้าร่วมประชุมด้วย  สำหรับวาระของการประชุมมีอยู่ 3-4 วาระค่ะ  (จากกำหนดการที่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า) ผู้วิจัยมาเข้าประชุมช้า  เพราะ  ติดอยู่ที่ธนาคาร  พอดีบัตรเอทีเอ็มหาย  เลยต้องรีบไปทำ  (เดี๋ยวกดเงินไม่ได้) อุตส่าห์กะเวลาไว้อย่างดีแล้ว  แต่บังเอิญเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ทำหน้าที่นี้เกิดอยากทดลองหาวิธีการใหม่ๆที่จะทำให้การทำบัตรเอทีเอ็มใช้เวลาลดลง  ผลก็เลยออกมาอย่างนี้  คือ  ลูกค้าต้องนั่งรอกันนานมาก (คิดว่ามากกว่าเดิมค่ะ  เพราะ  เคยมาทำครั้งหนึ่งแล้วไม่นานอย่างนี้) ผู้วิจัยเลยมาเข้าประชุมช้า  แต่ก็ไม่เป็นไรค่ะ  เพราะ  การทดลองหาวิธีการใหม่ๆของเจ้าหน้าที่ธนาคารครั้งนี้ถือว่าเป็นการจัดการความรู้ในการทำหน้าที่ของ (คุณกิจ) ตนเองที่สำคัญมาก  ผู้วิจัยเลยให้อภัยในความล่าช้าครั้งนี้ค่ะ

       วกกลับมาที่การประชุมของวิทยาลัย  ในความเห็นของผู้วิจัยเห็นว่า  ยังคงเหมือนเดิม  (นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่ค่อยรู้สึกว่าเดือดร้อนเมื่อเข้าประชุมช้า) คือ  ยืดเยื้อไปเรื่อยๆ  มีการรับฟังความคิดเห็นไปเรื่อยๆ  แต่ไม่มีข้อสรุปอะไรที่ชัดเจน (ในหลายๆเรื่อง) ไม่มีการควบคุมเวลา  ทำให้ต้องรับประทานอาหารในห้องประชุม   รวมทั้งประชุมยืดเยื้อไปถึงช่วงบ่าย  ตรงนี้ผู้วิจัยเห็นว่าน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้ขาดประชุมทุกครั้ง  (ขอสารภาพว่าอย่างน้อยก็ผู้วิจัยคนหนึ่งที่ไม่อยากเข้าประชุมเลย  นี่ถ้าไม่ติดรับปากท่านคณบดีไว้แล้ว  รับรองว่าไม่เข้าแน่นอน)

       ตลอดเวลาของการนั่งประชุมเมื่อมีความรู้สึก (เบื่อ) ขึ้นมา  ผู้วิจัยจะเกิดความคิด (ความต้องการ) อย่างหนึ่งขึ้นมาควบคู่เสมอว่า  "ในการประชุมวิทยาลัย  เราน่าจะมีการทำ AAR หลังการประชุมทุกครั้ง"  เพื่อที่จะได้ทราบว่าผู้เข้าประชุมมีความรู้สึกอย่างไร  มีความคาดหวังอย่างไร  เพื่อที่จะนำสิ่งที่ได้นี้ไปปรับปรุงการประชุมในครั้งต่อๆไป  อยากจะเสนอความคิดนี้มากเลยค่ะ  แต่ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร  จะมีใครสักกี่คนที่พร้อมเปิดใจ  และจะมีใครสักกี่คนที่ (ยินดี) รับฟัง  และที่สำคัญที่สุด  คือ  จะมีใครไหมที่คิดว่าจะนำไปปรับปรุง  (เขียนไปเขียนมาก็คงต้องบอกกับตัวเองว่าทางที่ดีที่สุด  คือ  การต้องปรับปรุงตัวเองก่อน  อย่างน้อยก็ต้องเข้าประชุมตรงเวลาและเข้าประชุมทุกครั้ง)

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 27739เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2006 20:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท