สอบโครงร่างเสร็จแล้ว....ทำอะไรต่อดี


อยากให้รุ่นน้องๆ ก้าวผ่านมหานทีที่ชื่อว่าวิทยานิพนธ์ไปอย่างตั้งใจจริง แล้วจะพบว่า ความสำเร็จที่รอเราอยู่หลังการทำวิทยานิพนธ์เสร็จ มันสวยงามมากแค่ไหน

                       หลังจากที่เรียนจบไป  แล้วก็มาเริ่มทำงานแล้ว รู้สึกว่าทำให้ลืมๆ บรรยากาศในการทำวิทยานิพนธ์ไปซะแล้ว  พอรุ่นน้องคนหนึ่งมาบอกว่า อยากให้เขียนการเตรียมตัวทำวิทยานิพนธ์หลังสอบโครงร่างเสร็จ  เพราะว่าอาจเป็นตัวอย่างให้กับรุ่นน้องๆ ได้นำไปเป็นแนวคิดได้  ก็เลยมาคิดว่าความคิดนี้ดีจังเลย   แล้วก็เลยมานั่งย้อนคิดทบทวนว่าเมื่อตอนเราสอบโครงร่างเสร็จแล้วเราทำอะไรไปมั่ง ก็ขอเขียนการดำเนินการทำวิทยานิพนธ์ในบริบทของนิสิตปริญญาเอก  หลักสูตรและการสอน  มหาวิทยาลัยนเรศวร นะคะ เริ่มเลยดีกว่า เนอะ

                1. ก่อนอื่น วันที่สอบโครงร่างเสร็จ  วันนี้ขอแนะนำให้นอนอย่างเต็มที่  เพราะว่าคนที่จะสอบโครงร่างน่าจะ         อดนอนมาแล้วอย่างต่ำ 2-3 คืน พักผ่อนให้เต็มที่ค่ะ เพราะว่าบางทีการฝืนทำอะไรไปโดยที่ร่างกายไม่พร้อม  อาจจำให้คุณภาพงานลดลงก็ได้

                2. หลังจากพักผ่อนแล้ว 1 วัน (ไม่ควรเกินนี้นะ  เพราะเดี๋ยวลืม อิอิ) สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือ รีบแก้โครงร่างให้เสร็จเพื่อนำไปให้ที่ปรึกษาดู และนำส่งบัณฑิตต่อไป  วิธีการคือก็นำข้อเสนอแนะของกรรมการทุกท่านมาอ่านอย่างละเอียด 1 รอบ  นำข้อเสนอแนะที่เพื่อนจดให้มาอ่าน แล้วฟังที่บันทึกเสียงไว้  มาจัดระเบียบความคิด ค่อยๆ แก้ไปทีละประเด็นตามคำแนะนำ  ค้นคว้าเพิ่มเติม  ส่งให้ที่ปรึกษาดูเป็นระยะๆ เมื่ออาจารย์ที่ปรึกษายอมรับว่างาน ใช้ได้แล้วก็ส่งบัณฑิตได้เลยค่ะ  ช่วงการแก้โครงร่างนี้ ไม่ควรทำเกิน 1 เดือนนะคะ ยิ่งทำช้าก็จะมีแต่ผลเสีย แล้วถ้าบัณฑิตยังไม่ออกประกาศให้ดำเนินการวิจัยได้ก็ไม่สามารถจะทำหนังสือถึงผู้เชี่ยวชาญได้เลย

                3. เมื่อแก้โคงร่างเสร็จแล้ว ระหว่างรอประกาศอนุมัติให้ดำเนินการทำวิทยานิพนธ์  ก็มานั่งวางแผนการทำได้เลยค่ะ มีวิธีย่อยๆ ดังนี้

                3.1 อ่านขั้นตอนการวิจัยของตนเองอย่างละเอียดอีกครั้ง  แล้ววางแผนให้ตัวเองอย่างคร่าวๆ ว่า อยากจบประมาณเมื่อไร  ถ้าอยากจบแบบนี้เราควรจะทำอะไรในช่วงไหน  ใช้เวลาเท่าไหร่ เช่น ถ้าสอบครงร่าง เทอม 1ปี 2552  แล้วอยากจบ  เทอม 2 ปี 2553  ก็วางแผนเช่น

ระยะเวลา

กิจกรรม

เทอม 1 ปี 2552

สอบโครงร่าง

เทอม 2 ปี 2552

ดำเนินการหาข้อมูลพื้นฐาน สร้างเครื่องมือ และสร้างนวัตกรรมพร้อมทั้งหาคุณภาพให้เรียบร้อย

เทอม 1 ปี 2553

ทดลองนวัตกรรม หรือ เก็บรวบรวบข้อมูล

เทอม 2 ปี 2553

เขียนรายงานการวิจัย

                3.2 เมื่อวางแผนคร่าวๆ แล้ว ก็มาวางแผนการทำแบบละเอียดค่ะ คือก็ดำเนินการทำตามขั้นตอนที่เขียนไว้ในบทที่ 3 ของโครงร่าง คือถ้าเราเขียนโครงร่างให้ชัด ว่าจะทำอะไรกับใคร  ที่ไหน แล้วมีจุดประสงค์ชัดเจนแล้ว จะทำให้วิทยานิพนธ์ของเรา ทำได้อย่างสบายๆ เลย

                3.3 เมื่อกำหนดแผนแบบละเอียดแล้ว  ก็มาดูว่าเราจะทำอะไรก่อนหลัง  เช่น อันดับแรกต้องทำหนังสือถึง                  ผู้เชี่ยวชาญผ่านบัณฑิต ก็ไปขอแบบฟอร์มของบัณฑิตมากรอกข้อมูล  การขอหนังสือช่วงนี้ จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์

                3.4 อย่าลืมไปขอทุนการทำวิทยานิพนธ์ของคณะนะคะ  เพราะถ้าประกาศจากบัณฑิตอนุมัติให้ทำวิทยานิพนธ์ เกิน 3 เดือน  ก็จะขอไม่ได้แล้วค่ะ ดังนั้นต้องรีบขอไว้ก่อน  อ้อ !!!! อีกอย่างเข้าไปดูเวปของบัณฑิตวิทยาลัยเป็นระยะๆ ถ้าเค้ามีประกาศให้ขอทุนได้  ก็ขอทันทีค่ะ เป็นทุนที่ไม่เกี่ยวกับทุนคณะนะคะ  เราสามารถขอได้ทั้ง 2 แหล่ง

                4. หลังจากนั้นก็ดำเนินการทำวิทยานิพนธ์ตามแผนที่ตัวเองวางไว้เลยค่ะ  ซึ่งต้องไปพบที่ปรึกษาบ่อยๆ นะคะ  งานที่ออกมาจะได้มีคุณภาพ

          5.หาปฏิทินการศึกษาของแต่ละภาคเรียนมา ติดไว้ในที่ๆ เห็นได้ชัดๆ เลย ค่ะ  แล้วดูกำหนดการของมหาวิทยาลัยว่า เราจะทำอะไรได้ในช่วงไหน  เช่น ยื่นขอจบได้ภายในเมื่อไหร่  ต้องส่งรูปเล่มตรวจรูปแบบวันสุดท้ายเมื่อไหร่  ต้องส่งรูปแล่มฉบับสมบูรณ์เมื่อไหร่

                6. เกือบลืม..... สำหรับนิสิต ป.เอก มหาวิทยานเรศวร ผลงานวิทยานิพนธ์จะต้องได้รับการตีพิมพ์ หรือ มีใบตอบรับจากวารสารวิชาการ ที่มี peer review  ก่อนนะคะจึงจะยื่นขอสอบวิทยานิพนธ์ได้  ซึ่งการติดต่อลงวารสารต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน (อาจเร็วหรือช้า กว่านี้  แต่ควรเตรียมเวลาไว้ประมาณ 1 เดือนค่ะ) แล้วเมื่อยื่นขอสอบแล้ว  จะกำหนดวันสอบต้องหลังจากยื่นขอสอบอีกอย่างน้อย  1 เดือน ให้เผื่อเวลาสำหรับจุดนี้ไว้ด้วย 

               อยากฝากไว้ว่า  ในการทำวิทยานิพนธ์นั้น  ควรจะต้องมีวินัยในตนเองให้มาก  เพราะการเรียนในระดับปริญญาเอกคงไม่มีใครมาบังคับ  ชี้ให้เราทำอย่างโน้นอย่างนี้  เราจะต้องจัดการทุกอย่างด้วยตัวของเราเอง  วิทยานิพนธ์มันจะมีลักษณะเฉพาะอย่างนึงคือ  ถ้าเมื่อไหร่เราทิ้งมันไปเราจะลืมมันได้ง่ายมาก  และเมื่อเราจะกลับมาจับมันใหม่  เราจะต้องเสียเวลาในการทบทวนมันทุกครั้ง  ดังนั้นเมื่อทำวิทยานิพนธ์แล้ว  ควรให้เวลากับมันทุกวัน  ถึงแม้ไม่รู้จะทำอะไรก็หยิบมาอ่านซักวันละครึ่งชั่วโมงก็ยังดี

                อีกอย่างอย่าคาดหวังว่าการทำวิทยานิพนธ์ของเราจะเป็นไปตามแผน  อย่าคาดหวังว่าทุกอย่างจะราบรื่นอย่างที่เราคิดไว้  จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้รู้ว่า มีเรื่องให้ตื่นเต้นอยู่ทุกขั้นตอนของการทำวิทยาพนธ์  มีปัญหามาให้แก้เรื่อยๆ บางอย่างเราคิดว่ามันดีแล้วแต่พอมาเจอกับเหตุการณ์จริงกับไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ ก็มีเรื่องให้แก้กันไป  ที่สำคัญที่สุดคือจำไว้ว่า......อย่าท้อ 

                อีกอย่างอีกครั้ง (5 5 5 5) ควรเขียนรายงานวิจัยไปเรื่อย  อย่าคิดว่าพอทดลองเสร็จแล้วเขียน 5 บททีเดียว  ถ้าทำแบบนั้นจะทำให้เหนื่อยมาก  ค่อยๆ เขียน  ค่อยๆ ปรับไปทีละหน่อย  จะทำให้เราทำความเข้าใจกับงานตัวเองได้อย่างถี่ถ้วนอีกด้วย 

                ก็มีคร่าวๆ ประมาณนี้เท่าที่นึกออกค่ะ  การทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกให้เสร็จคงไม่ใช่เรื่องยาก  เพราะในโลกนี้ก็มีคนจบปริญญาเอกตั้งมากมาย  เมื่อคนอื่นทำได้ทำไมเราจะทำไม่ได้   แต่การทำวิทยานิพนธ์มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน  ทุกอย่างมันต้องมาจากความตั้งใจ  การทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ  และความพยายามอย่างเต็มที่  อยากให้รุ่นน้องๆ ก้าวผ่านมหานทีที่ชื่อว่าวิทยานิพนธ์ไปอย่างตั้งใจจริง  แล้วจะพบว่า ความสำเร็จที่รอเราอยู่หลังการทำวิทยานิพนธ์เสร็จ  มันสวยงามมากแค่ไหน  อันนี้คงบอกกันไม่ได้  ถ้าใครอยากรู้คงต้องลองไปค้นหาเองค่ะ

                                                                                   พี่อัง  หลักสูตรและการสอน มน. รุ่น 1

หมายเลขบันทึก: 276826เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2009 21:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 05:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันที่ ที่เป็นประโยชน์ยิ่ง ......ค้า..หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับ พี่ ๆด้วย จริงม๊ะ... พี่อัง

ขอบคุณสำหรับข้อคิดดีๆในการทำวิทยานิพนธ์ให้สำเร็จ การให้และการแบ่งปันเป็นสิ่งดีที่สุด "สุขแท้ด้วยปัญญา"แล้วชีวิตก็จะมีความสุขค่ะ

น่ารักที่สุดขอบคุณมากๆเลยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท