มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ : 8a. สำนักไต้หวันจัดอันดับการตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย



          สำนักนี้ชื่อ Higher Education Evaluation & Accreditation of Taiwan   อ่านโครงการจัดอันดับได้ที่นี่   ส่วนวำคัญที่ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยวิจัยของไทยควรอ่านอย่างเอาใจใส่คือส่วนวิธีการ   ซึ่งเขาอ้างว่าเป็นวิธีที่ดีกว่า ยุติธรรมกว่าวิธีการของสำนักอื่น

          มหาวิทยาลัยไทยที่ติดอันดับสูงสุดคือมหาวิทยาลัยมหิดล อันดับที่ ๖๖ ของเอเซีย-แปซิฟิก   และอันดับที่ ๔๒๓ ของโลก   

          อ่านแล้วผมมีความเห็นว่า มหาวิทยาลัยวิจัยของไทยต้องจับมือกัน ร่วมมือกันเพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยวิจัยของไทยขึ้นทั้งแผง   อย่าจิกตีกันเองแบบนักการเมืองเลย

วิจารณ์ พานิช
๑๕ ก.ค. ๕๒
           
        
        
 

หมายเลขบันทึก: 276676เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2009 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 09:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยสำนัก Higher Education Evaluation & Accreditation of Taiwan ที่ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ นำมาถ่ายทอดให้เราได้ทราบกันนี้ น่าสนใจมาก และคงจะต่างจากเกณฑ์การคัดเลือกมหาวิทยาลัยวิจัยของไทยที่กำหนดส่งแบบเสนอข้อมูลคัดกรองเบื้องต้นแบบออนไลน์ในวันนี้

สิ่งที่สำคัญประการหนึ่งในเรื่องนี้ ก็คือเรื่องการเลือกใช้ฐานข้อมูล ดังจะเห็นได้จากกรณีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย หากลองเปรียบเทียบฐานข้อมูล ISI Web of Science กับ Scopus โดยการสืบค้นข้อมูลผลงานวิจัยสำหรับปี ค.ศ. 2004-2008 ในวันนี้ (15 กรกฎาคม 2552)ในเบื้องต้น ก็พอจะเห็นความแตกต่างแล้ว ดังตัวอย่างจริงต่อไปนี้

วารสารในฐานข้อมูล ISI Web of Science ที่ตีพิมพ์ผลงานวิจัยจากประเทศไทย เป็นจำนวนมากที่สุด ปี ค.ศ. 2004-2008 (จำนวนผลงานทั้งประเทศ 18,654 เรื่อง)คือ

American Journal of Tropical Medicine and Hygiene (259), Acta Crystallographica Section E – Structure Reports Online (191), Journal of Applied Polymer Science (172), Planta Medica (141), Asian Pacific Journal of Allergy and Immunology (101), Lecture Notes in Computer Science (94), Food Chemistry (93), Thai Journal of Veterinary Medicine (93), Clinical Infectious Diseases (82), Abstracts of Papers of the American Chemical Society (78)

วารสารในฐานข้อมูล Scopus ที่ตีพิมพ์ผลงานวิจัยจากประเทศไทย เป็นจำนวนมากที่สุด ปี ค.ศ. 2004-2008 (จำนวนผลงานทั้งประเทศ 27,302 เรื่อง)คือ

Journal of the Medical Association of Thailand (1,769), Southeast Asian Journal of Tropical Medicine and Public Health (618), Songklanakarin Journal of Science and Technology (429), Journal of the Medical Association of Thailand Chotmaihet Thangphaet (353), Kasetsart Journal Natural Science (305), IEEE Region 10 Annual International Conference Proceedings TENCON (261), 5th International Conference on Electrical Engineering Electronics Computer Telecommunications and Information Technology Ecti Con 2008 (225), Advanced Materials Research (219), Acta Crystallographica Section E Structure Reports Online (195), Lecture Notes in Computer Science Including Subseries Lecture Notes in Artificial Intelligence and Lecture Notes in Bioinformatics (194)

สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยที่มีผลงานตีพิมพ์มากที่สุด 10 อันดับแรก ปี ค.ศ. 2004-2008 จากฐานข้อมูล ISI Web of Science (จำนวนผลงานทั้งประเทศ 18,654 เรื่อง)ได้แก่

มหาวิทยาลัยมหิดล (4,194), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (3,848), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (1,982), มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (1,235), มหาวิทยาลัยขอนแก่น (1,124), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (1,058), สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (623), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (539), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี (424), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (358)

สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยที่มีผลงานตีพิมพ์มากที่สุด 10 อันดับแรก ปี ค.ศ. 2004-2008 จากฐานข้อมูล Scopus (จำนวนผลงานทั้งประเทศ 27,302 เรื่อง)ได้แก่

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (5,217), มหาวิทยาลัยมหิดล (5,140), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2,616), สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (1,876), มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (1,848), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (1,718), มหาวิทยาลัยขอนแก่น (1,589), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี (1,329), สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (1,087), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (918)

ผมกลับมาอ่านรายละเอียดเรื่องมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ : สำนักไต้หวันจัดอันดับการตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย อีกรอบหนึ่ง ทำให้เข้าใจดีขึ้นว่า Higher Education Evaluation & Accreditation Council (HEEAC) of Taiwan เน้นการประเมินมหาวิทยาลัยในด้านสมรรถนะของผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ (scientific paper performance) เป็นหลัก ถึงแม้ว่าจะอาศัยข้อมูลจากทั้ง Science Citation Index (SCI) และ Social Sciences Citation Index (SSCI) แต่ไม่รวมข้อมูลจาก Arts & Humanities Citation Index (A&HCI) จากฐานข้อมูล ISI Web of Science

การจัดอันดับโดยสภาประเมินและรับรองอุดมศึกษาของไต้หวันที่มีการเผยแพร่ในปีนี้ที่ใช้หัวเรื่องว่า 2008 Performance Ranking of Scientific Papers for World Universities ใช้วิธีการที่แตกต่างจาก QS World University Rankings by Times Higher Education Supplement (QS-THES) ซึ่งเน้น university ranking และ Academic Ranking of World Universities by Shanghai Jiao Tong University (ARWU-SJTU) ซึ่งเน้น academic ranking เนื่องสภาประเมินอุดมศึกษาฯ ของไต้หวันประเมินสมรรถนะของผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์ โดยพิจารณาจากเกณฑ์ 3 ด้าน คือ research productivity (20%), research impact (30%) และ research excellence (30%) โดยอาศัยตัวชี้วัด 8 ชนิด ที่สะท้อนเกณฑ์ทั้ง 3 ด้านจริงๆ

ผลการประเมินดังกล่าวโดยสภาประเมินอุดมศึกษาฯ ของไต้หวันในปีนี้ มีมหาวิทยาลัยใน 39 ประเทศ ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน 500 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ประเทศที่มีมหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับมหาวิทยาลัยโลกมากที่สุด เรียงลำดับได้ดังนี้ (ตัวเลขในวงเล็บคือจำนวนมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับ) 1 สหรัฐอเมริกา (167), 2 เยอรมนี (43), 3 อังกฤษ (37), 4 ญี่ปุ่น (34), 5 อิตาลี (29), 6 แคนาดา (22), 7 ฝรั่งเศส (21), 8 จีน (13), 9 สเปน (12) = เนเธอร์แลนด์ (12), 10 ออสเตรเลีย (11) โดยมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับ 11 มหาวิทยาลัยแรก เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งหมด นอกนั้น ที่ได้อันดับดีที่สุด คือมหาวิทยาลัยโตเกียวของญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก เป็นที่น่าสังเกตว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษ คือมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้รับการจัดให้เป็นอันดับที่ 16 และ 19 ตามเกณฑ์นี้ (ในขณะที่เป็นอันดับที่ 3 และ 4 ตามลำดับ โดย QS-THES ครั้งล่าสุด)

สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน มีเพียงประเทศสิงคโปร์และประเทศไทย ที่มีมหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับโดย HEEAC ของไต้หวันในครั้งนี้ คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (อันดับที่ 86), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของสิงคโปร์ (อันดับที่ 294) และมหาวิทยาลัยมหิดลของไทย (อันดับที่ 423) ซึ่งยังเป็นอันดับที่ดีกว่าสถาบันเทคโนโลยีของอินเดีย มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ของโตเกียว และมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลและมหาวิทยาลัยแมคควารีของออสเตรเลีย

จากเรื่องการจัดอันดับการตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์โดยสภาประเมินอุดมศึกษาฯ ของไต้หวันในครั้งนี้ น่าจะทำให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาของไทย ได้ฉุกคิดขึ้นมาบ้างไหมว่า โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ที่ประกาศให้แต่ละมหาวิทยาลัย/สถาบัน ส่งแบบเสนอข้อมูลคัดกรองเบื้องต้นแบบออนไลน์ เพื่อสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 และต่อมาขยายเวลาเป็นภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 โดยกำหนดประกาศรายชื่อมหาวิทยาลัย/สถาบัน ที่ผ่านการพิจารณาเบื้องต้น 7-10 มหาวิทยาลัย/สถาบัน ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 นั้น จนถึงวันนี้ (วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม 2552) เว็บไซต์ของโครงการนี้ที่ www.nru.mua.go.th ก็ยังปรากฏเพียงข้อความ “ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลที่มหาวิทยาลัยนำส่ง” ปรากฏการณ์นี้ บวกกับการผูกโครงการไว้กับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS-THES ซึ่งใช้ฐานข้อมูล Scopus เป็นหลัก อาจทำให้เกิดข้อสงสัยได้หรือไม่ว่า โครงการนี้ผ่านการกลั่นกรองพิจารณาและวิพากษ์โดยรอบด้านแล้ว หาก QS-THES กลับไปเปลี่ยนใช้ฐานข้อมูล ISI แทน ผลจะเป็นอย่างไร หรือถ้าเกิด QS-THES ได้รับการยอมรับน้อยลง หรือเลิกทำการจัดอันดับไปเลย โครงการฯ มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ยังจะดำเนินต่อไปอย่างไร ผมขออนุญาตท้าชวนผู้ที่ต่างก็หวังจะเห็นการวิจัยของไทยก้าวกระโดด แสดงความเห็นใน blog ที่ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ได้เปิดเวทีให้แล้ว ณ ที่นี้นะครับ

ผมขออนุญาตแก้ไขสัดส่วนเกณฑ์การพิจารณาที่ผมแสดงความเห็นไว้ข้างต้น จาก เกณฑ์ 3 ด้าน คือ research productivity (20%), research impact (30%) และ research excellence (30%) เป็น เกณฑ์ 3 ด้าน คือ research productivity (20%), research impact (30%) และ research excellence (50%) ขออภัยที่พิมพ์ผิดพลาดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท