เปิดคัมภีร์ R2R


 

          ทีมงานจาก สวรส. มาสัมภาษณ์และเอาไปเขียนเรื่องเกี่ยวกับ R2R   ผมจึงเอามาเผยแพร่ต่อ   ว่ามุมมองต่อ R2R ของผมที่ถ่ายทอดผ่านคนอื่นเป็นอย่างไร 


เปิดคัมภีร์ R2R กับศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

          แต่ไหนแต่ไรมา หากพูดถึงคำว่า “งานวิจัย” ใครๆ ต่างก็เบือนหน้าหนีราวกับถูกบังคับให้กลืนยารสขมที่ฝืดเฝื่อนลิ้นก็ไม่ปาน ทำให้งานวิจัยเหมือนต้องคำสาป ราวเป็นเรื่องที่ไม่น่าเฉียดเข้าไปใกล้
          จนกระทั่งงานวิจัยถูกจับเปลี่ยนโฉมให้เก๋ไก๋น่าจับต้องมากกว่าเดิม ด้วยชื่อใหม่…
R2R หรือ Routine to Research คือชื่อใหม่ของงานวิจัย ที่ช่วยดึงดูดคนที่เคยกลัวการทำวิจัยให้หันมามองงานวิจัยในมุมมองใหม่ และผู้ที่ให้เกียรติรังสรรค์ชื่อ R2R คือศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช อดีตผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และอดีตผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์วิจารณ์กล่าวถึง R2R ว่า
          “R2R คือการใช้งานวิจัยมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพของคนทำงาน ให้ผลิตผลงานเชิงวิจัยออกมาได้ แล้วสะท้อนกลับไปพัฒนางานประจำให้ดีขึ้น ทำให้ความจำเจของงานประจำหายไป กลายเป็นความท้าทาย เป็นความสนุก ที่ได้คิดค้นวิธีการสร้างความรู้เล็กๆ แต่เป็นความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาทำประโยชน์
          “คำว่า R2R เป็นเพียงการตั้งชื่องานวิจัยให้เก๋ไก๋ มีเสน่ห์ดึงดูด และน่าสนใจเท่านั้น แต่ความจริงสวรส.มีการประชุมเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว และแนวคิดแบบ R2R ในประเทศไทยมันมีอยู่แล้ว ในศิริราชเองก็มีมานาน หรือแม้กระทั่งองค์กรอื่นๆ ก็มีมานานเป็น 10-20 ปีแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ใช้ชื่อนี้แค่นั้นเอง
          “พอมีชื่อ R2R ขึ้นมาก็เท่ากับว่าเรามาช่วยกันทำความเข้าใจ นำเอาประสบการณ์ของแต่ละองค์กรมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งเราใช้ยุทธศาสตร์ของผู้มีประสบการณ์ตรง มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ทำให้เกิดการแพร่กระจายขบวนการหรือวิธีการแบบ R2R มากขึ้น”
          ในสังคมการทำงานทั่วไป อาจตีความหมายคำว่า “มาตรฐาน” นั้น ต้องเป็นสิ่งที่ทำตามๆ กัน โดยขึ้นอยู่กับคำสั่งเป็นตัวตั้ง ซึ่งนั่นไม่ต่างจากการทำงานแบบเครื่องจักร แต่สำหรับวงการสุขภาพไม่อาจทำงานแบบรอคำสั่งตลอดเวลาได้ เพราะโลกหมุนเร็วขึ้นทุกวัน จึงต้องมีการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ มาพัฒนางานอยู่ตลอดเวลา
          อาจารย์วิจารณ์เคยกล่าวเอาไว้ในหนังสือ Routine to Research สยบงานจำเจด้วยการวิจัย สู่โลกใหม่ของงานประจำว่า
         “วิธีคิดในโลกสมัยใหม่นั้นเขาบอกว่า ‘มาตรฐาน’ ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า SOP (Standard Operating Procedure) ไม่มีตายตัว ในมุมมองของผมเองนั้น มาตรฐานไม่ได้มีไว้ให้ยึดถือ แต่มีไว้ให้ทำลายเพื่อไปสู่มาตรฐานที่ดีกว่า ฉะนั้น SOP จึงไม่ได้มีอยู่ตัวเดียว แต่มี SOP 1, 2, 3, 4 เรื่อยไป และสิ่งที่จะมาทำลาย SOP นั้นก็คือ R2R หรือการวิจัยโดยใช้งานประจำนั่นเอง”
          พระพุทธองค์ทรงเคยตรัสเอาไว้ว่า อย่าเชื่อหรือถือเอาสิ่งใดๆ เพียงเพราะว่าฟังตามๆ กันมา ต้องหาทางพิสูจน์ก่อนว่าเป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือได้หรือไม่ คำสอนข้างต้นสอดคล้องกับการทำงานของคนในแวดวงสุขภาพ เพราะส่วนใหญ่เป็นนักวิทยาศาสตร์ จึงไม่ควรเชื่อเรื่องอะไรลอยๆ โดยขาดการทดลองให้รู้แจ้ง ซึ่ง R2R ถือว่าเป็นเครื่องมือในการทดลองให้เกิดความชัดเจน อาจารย์วิจารณ์ขยายความให้ฟังว่า
          “ถ้าเราได้มีการฝึกแบบนักวิจัย ให้หาเหตุผล หาหลักฐานมาประกอบการทำงาน ถือว่าเป็นการฝึกจิตวิญญาณ วิธีคิด หรือฝึกสังเกตพฤติกรรมของคนอีกแบบหนึ่ง ให้เป็นคนที่ไม่เชื่อหรือไม่ด่วนสรุปอะไรง่ายๆ เป็นคนที่ชอบตรวจสอบ โดยพยายามหาหลักฐาน ถ้าทำได้ เราก็จะมีแต่กำไร ซึ่งจะทำให้เราสามารถนำความรู้ที่ได้นั้น กลับมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันในแง่อื่นๆ ได้อีกเยอะแยะมากมาย”
          หลายๆ องค์กรมีแนวคิดที่จะพัฒนาบุคลากรและพัฒนางานไปพร้อมกัน เพื่อยกระดับมาตรฐานองค์กรให้สูงขึ้น แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน บางแห่งอยากลงมือทำโครงการ R2R แต่ก็ติดอยู่ที่ว่ามีความกลัวและกังวลเกี่ยวกับการทำงานวิจัย อาจารย์วิจารณ์แนะวิธีก้าวข้ามผ่านความกลัวว่า
          “สำหรับผม ไม่มีอะไรที่เราต้องกลัว การทำอะไรก็ตามในชีวิตเราล้วนใช้สามัญสำนึก ที่สำคัญ เมื่อเราไม่รู้ เราก็สามารถไปเรียนรู้จากคนที่มีประสบการณ์ แล้วนำมาต่อยอดพัฒนาความคิดของตัวเองได้
“สำหรับองค์กรไหนที่อยากทำ R2R ให้กลับไปดูว่านโยบายขององค์กรคุณต้องการพัฒนาอะไร เป้าหมายที่จะทำให้ผู้ป่วยพอใจมีอะไรบ้าง ให้หยิบนโยบายนั้นมาทำวิจัย โดยใช้ R2R เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน เมื่อผลงานวิจัยประสบความสำเร็จ มันก็จะได้รับการนำกลับไปใช้พัฒนางานประจำ และสามารถขับเคลื่อนนโยบายองค์กรได้โดยอัตโนมัติ
          “ที่สำคัญ อย่าไปคิดว่าการทำ R2R เป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้น แต่ R2R คือเครื่องมือในการพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กร”
          ว่ากันว่า ไม่กล้าก็ไม่ก้าว ความกลัวเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง และกลายเป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้เราก้าวไปข้างหน้า

          ไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเราจะสร้างความกล้าขึ้นมาลบความกลัวที่เกาะกินใจ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

วิจารณ์ พานิช
๒๕ มิ.ย. ๕๒

 

คำสำคัญ (Tags): #520715#r2r
หมายเลขบันทึก: 276674เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2009 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จะ R2R หรือ RCT ก็ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน

คืการสร้างความรู้ใหม่ๆ ผมเองชอบ่านหนังสือ ชอบทำวิจัย

ชอบเรียน เรียนทั้งเภสัช มานุษยวิทยา จิตวิทยา และสาธารณสุข

การเรียแบบไม่แยกสาขา ทำให้มีความคิดกว้าง และสามารถนำมาประยุกต์

แนวคิดข้ามสาขาวิชาไ้ด้

ยกตัวอย่าง ปัญหาแพทย์ ไม่ยมให้การรักษา ตาม CPG เป็นปัญหาที่แก้ยาก

มีคนทำวิจัยมากมาย มักไม่ได้ผล หรือไ้ผลน้อย

แต่หากเากรอบแนวคิด ทางจิตวิทยา และมานุษยวิทยา มาจับ

การออกแบบงานวิจัย แบบ RCT ในการแก้ไขปัญหา แพทย์ไม่ยอมรักษาโรคตาม CPG ก็

เป็นงา่นวิจัยที่น่าสนใจมากขึ้น

ปล.อยู่ โรงพยาบาลชุมชน ขอทุนวิจัยยากมาก ถ้าไม่รู้จักใครโอกาส็น้อยครับ

เรื่องจริงขงสังคมไทย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท