กิจกรรมบำบัดช่วยผู้ป่วยอัมพาตจริงหรือ?


ขอบคุณทีมนักกิจกรรมบำบัด สถาบันประสาทวิทยา ที่ริเริ่มประชุม Update Occupational Therapy in Stroke 13-14 ก.ค.52...ชื่นชมนักกิจกรรมบำบัดกว่า 40 คน ตั้งใจพัฒนาคุณภาพการบริการในหน่วยงานของตนเองอย่างมุ่งมั่น

ผมค่อนข้างมึนๆ เพราะพิษไข้ แต่ตั้งใจกับการเป็นวิทยากรงานนี้มากๆ เพราะกำลังทำวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการของระบบงานกิจกรรมบำบัดในการพัฒนาทักษะชีวิตหลังอัมพาต

ผมใช้เวลาเกือบสองชั่วโมงเพื่อย้ำ "กรอบความคิดกิจกรรมบำบัด" ซึ่งนักกิจกรรมบำบัดทุกท่านได้เรียนรู้มาสมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่ด้วยระบบงานบริการทางการแพทย์ที่ยังไม่มีความเป็น "สหวิชาชีพของการทำงานเป็นทีม" มากนักทำให้ "บทบาท" นักกิจกรรมบำบัด ในการช่วยเหลือผู้ป่วยอัมพาตและผู้ป่วยทางสมองอื่นๆ ยังไม่เห็นความก้าวหน้าชัดเจน

ผมขอสรุปเนื้อหาสาระที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมแทรก "วิชาการ" ที่แนะแนวทางการพัฒนาบทบาทนักกิจกรรมบำบัดให้ชัดเจน คือ

คำถามจากผู้ฟังคนที่หนึ่ง: ในผู้ป่วยอัมพาตช่วงแรก (Acute Phase) เราจะมีบทบาทอย่างไร

อ.ป๊อป: บทบาทในด้านการประเมินค้นหาและใช้สื่อกิจกรรมบำบัดเพื่อเพิ่ม "ความสามารถในการดำเนินชีวิต" จากองค์ประกอบของความคิดความเข้าใจพื้นฐาน ได้แก่ การแสดงความสามารถรับความรู้สึกกายสัมผัส มองเห็น การได้ยิน การทรงท่าทาง การทรงตัว การเคลื่อนไหว การรับรส การดมกลิ่น และการประมวลผลการรับความรู้สึกสู่การรับรู้ขั้นตอนและกระบวนการในการดูแลตนเองและกิจกรรมอื่นๆ ที่สนองความต้องการ ความสนใจ พฤตินิสัย และจิตวิญญาณ ของผู้ป่วย (ใน Person-Environment-Occupation (PEO) Model เน้นการวิเคราะห์จิตวิญญาณจากการแสดงออกของอารมณ์ ความคิดความเข้าใจ และพฤติกรรมร่างกาย ที่สอดคล้องกัยอย่างมีเป้าหมาย)

ข้อเสนอแนะ: ปัจจุบันนักกิจกรรมบำบัดไม่มีโอกาสประเมินและฝึกผู้ป่วยในช่วงแรก เพราะบุคลากรทางการแพทย์เข้าใจว่า ผู้ป่วยต้องมีความพร้อมในสัญญาณชีพและระบบประสาทกล้ามเนื้อก่อน จึงจะมาทำกิจกรรมบำบัดในระยะฟื้นฟูสมรรถภาพจนถึงระยะเรื้อรัง (Chronic Phase) แต่จริงๆ แล้วพัฒนาการการฟื้นตัวของสมองหลังมีพยาธิสภาพในช่วง 3-6 สัปดาห์ กำลังต้องการการกระตุ้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทการรับรู้ความรู้สึกและความคิดความเข้าใจอย่างมาก ซึ่งมีหลายกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการฝึกผู้ป่วยอัมพาตให่รู้จักภาพลักษณ์ตนเอง รับรู้การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจ สิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นในสถานพยาบาล จนกระทั่งพยายามกลับมาทำกิจกรรมเพื่อดูแลตนเองเบื้องต้น ทั้งหมดนี้คือบทบาทนักกิจกรรมบำบัดที่สำคัญเพราะการให้ Occupation (กิจกรรมที่ทำให้เราไม่อยู่ว่าง มีความหมาย มีคุณค่า และมีเป้าหมาย) ซึ่งไม่ใช่แค่ขั้นตอนหนึ่ง (Task) หรือ การทำกิจกรรมใด (Activity) ในระยะนี้มีความสำคัญและเกิดความก้าวหน้าทางการฟื้นฟูสมรรถภาพมากกว่าที่นักกิจกรรมบำบัดจะรอคอยให้ผู้ป่วยในระยะที่บุคลากรทางการแพทย์ส่งต่อมาอย่างช้าๆ  

คำถามจากผู้ฟังคนที่สอง: ในกรอบความคิด PEO นี้เราจะทำให้เกิดการบำบัดได้ดีเฉพาะกรณีผู้ป่วยอัมพาตสามารถสื่อสารได้หรือค่อนข้างกระตื้อรือล้นใช่ไหม

อ.ป๊อป: กรอบความคิด PEO นี้สามารถประยุกต์ใช้ในรูปแบบของแก่นหรือหัวใจวิชาชีพนักกิจกรรมบำบัด ที่ให้บริการสำหรับผู้ป่วยทุกกลุ่มทุกระดับทุกเพศวัยที่ต้องการพัฒนา "ทักษะความสามารถในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต" ได้แก่ การดูแลตนเอง การทำกิจวัตรประจำวัน การเข้าสังคม การศึกษา การทำงาน การใช้เวลาว่าง (ทำกิจกรรมยามว่าง) การพักผ่อน และการนอนหลับ

ข้อเสนอแนะ: หากวิเคราะห์กรอบความคิด PEO แล้วจะเห็นว่า ในกรณีผู้ป่วยอัมพาตที่สื่อสารไม่ได้และไม่ Active เราต้องสังเกตภาษาท่าทาง อารมณ์ ความคิดความเข้าใจ หรือพฤตินิสัยที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม (ก่อนเป็นอัมพาต) อย่างไร ประเมินได้ระดับใด เกิดจากสาเหตุทางการแพทย์ หรือ จากตัว P ได้แก่ Person - ผู้ป่วย คนรอบข้างที่ช่วยเหลือดูแล หรือ บุคลากรทางการแพทย์ และสัมพันธ์กับตัว E ได้แก่ Environment - สิ่งแวดล้อมในใจผู้ป่วย (เช่น ทัศนคติ บุคลิกภาพ นิสัย ความสนใจ ความชอบ เจตจำนงค์) สิ่งแวดล้อมทางสังคม กายภาพ เทคโนโลยี ซึ่งแน่นอนมีการเปลี่ยนแปลงจากอยู่บ้านมาที่ รพ. และสัมพันธ์กับตัว O ได้แก่ Occupation - ผู้ป่วยมีความต้องการ "อยู่ว่างโดยไม่มีเป้าหมายของการกระทำใดๆ" หรือ "ไม่อยู่ว่างโดยมีเป้าหมายของการกระทำผ่านกิจกรรม" ซึ่ง "สื่อกิจกรรมบำบัด" มีหลายรูปแบบที่จะเข้าถึงผู้ปวยอัมพาต แล้วแต่สภาวะร่างกาย จิตใจ และบริบทผู้ป่วย ได้แก่ Therapeutic Use of Self, Activity Synthesis & Analysis, Client and Family Relationship, Environmental Modification & Adaptation, และ Teaching & Learning Process

ปล.....ตัวอย่างง่ายๆ ที่ผู้ป่วยอัมพาตชอบทำกิจกรรมบำบัด คือ ความเข้าถึงใจของผู้รับบริการว่าเขาต้องการ รู้สึก คิด รับรู้ อย่างไร แม้ว่าจะเป็นกิจกรรมง่ายๆ เช่น การกระตุ้นสัมผัสผ่านการจับมือ หวีผม การพูดคุยด้วยน้ำเสียงผ่อนคลาย การพยายามเปิดใจและเข้าใจภาษาท่าทาง การช่วยกระตุ้นทักษะการกินอาหาร การแต่งตัว การกินยา ผ่านทักษะการจัดการความสามารถด้วย "ใจและกาย" ของผู้ป่วยเอง โดยลดการช่วยเหลือแบบพึ่งพึง มีรูปแบบไม่ซ้ำซากจำเจ และใกล้เคียงกับชีวิตจริงมากที่สุด

หมายเลขบันทึก: 276667เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2009 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 07:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท