การนำเสนอผลงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ


เรียนรู้จากการนำเสนอผลงาน

การนำเสนอผลงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ

 

บทนำ

โครงการวิจัยเป็นงานที่มีเป้าหมายเพื่อการสร้างองค์ความรู้พัฒนาศาสตร์ต่าง ๆ  ในศาสตร์ทางการศึกษาก็เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์  นักวิจัยย่อมปรารถนาที่จะเผยแพร่การค้นพบสิ่งที่ตนศึกษา โดยเฉพาะการนำเสนอบนเวทีระดับนานาชาติ หรือระดับชาติ ซึ่งเป็นวิธีที่เผยแพร่ผลการวิจัยที่เร็วที่สุด  นักวิจัยมือใหม่อาจจดๆ จ้องๆ ชั่งใจตนเองจนกว่าจะมีความมั่นใจระดับหนึ่ง  แต่สำหรับมือเก่า ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยและชำนาญการนำเสนอมักจะเตรียมการให้พร้อมเสมอ  ความจริงการเผยแพร่ผลงานวิจัยมีได้หลายทาง เช่น การตีพิมพ์ในวารสาร  การนำเสนอในรูปแบบของนิทรรศการ (poster presentation) .ในโอกาสต่างๆ  แต่การนำเสนอบนเวทีเป็นรูปแบบที่นักวิจัยจะแสดงตัว  บางครั้งจะได้พบผู้สนใจแสดงตัวด้วย การโต้ตอบแลกเปลี่ยนความคิด เป็นการสร้างชุมชนของการเรียนรู้ที่ดีในวงวิชาการ

สำหรับนักวิจัยมือใหม่ หรือมือเก่าที่ไม่นิยมการแสดงตัว ก็เป็นสถานการณ์ที่ต้องการเวลาเพื่อความพร้อมบางประการ  แต่อย่างไรก็ตาม บรรยากาศทางวิชาการของสังคมไทยปัจจุบันที่มีระเบียบการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งทางวิชาการด้วยหลักฐานการนำผลการวิจัยออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นตัวเร่งรัดให้นักวิจัยต้องเสาะหาโอกาสเปิดตัวเก็บหลักฐานอย่างคึกคัก  ในช่วงสิบปีนับจากการปฏิรูปการศึกษา จำนวนนักวิจัยส่งผลงานมายังเวทีระดับท้องถิ่น และระดับชาติมีมากขึ้น  จากจำนวนแต่ละสาขาที่มีนับสิบ เป็นจำนวนนับร้อย บางเวทีมากขึ้นเป็นจำนวนหลายๆ ร้อย   ดังเช่นเวทีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ งานวิจัยสาขาศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นงานวิจัยในชั้นเรียนของครู งานวิจัยของอาจารย์ และงานวิทยานิพนธ์  นักวิจัยเกือบทุกรายต้องการหลักฐานเพื่อประกอบการขอเลื่อนวิทยฐานะ สำหรับนิสิตเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จหลักสูตรทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก  แต่โอกาสที่เปิดนั้น ก็มิได้มีมากสำหรับทุกคน  จึงมีการคัดสรรด้วยเกณฑ์คุณภาพ  จึงพบว่า ขณะนี้ ผู้ผ่านการพิจารณาให้ขึ้นเวทีต่างๆ จึงเป็นผู้มีผลงานที่ได้รับการพิจารณาตามเกณฑ์คุณภาพของกรรมการเฉพาะกิจต่างๆ   มีความเข้มงวดมากน้อยแตกต่างกันตามนโยบายและวัตถุประสงค์ของการจัดของแต่ละเวที   

การนำเสนอบนเวที เป็นงานที่นักวิจัยต้องเตรียมตัวให้มีความพร้อมทั้งด้านความเชื่อมั่นในตนเอง  ความลึกซึ้งในสาระที่จะนำเสนอ และต้องมีทักษะของการนำเสนอ   การเตรียมตัวที่ดีจะช่วยให้นักวิจัยประสบความสำเร็จ  การนำเสนอที่มีประสิทธิภาพ พิจารณาจาก  ความสามารถของใช้เทคนิควิธีการสื่อสารที่ทำให้ผู้ฟังสนใจ  ผู้ฟังเข้าใจในเรื่องที่นักวิจัยนำเสนอ ภายในเวลาที่กำหนด เช่น กำหนด 20 นาที   25 นาที หรือ 30 นาที เป็นต้น

การฝึกซ้อมการนำเสนอ

การฝึกฝนเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับนักวิจัยมือใหม่ทุกคน  และการซักซ้อมเตรียมการนำเสนอแต่ละครั้งก็เป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับนักวิจัยทุกคนไม่ว่าจะเป็นมือใหม่ หรือมือเก่า  ทั้งนี้ เพราะสิ่งที่นำเสนอคือการค้นพบความรู้ใหม่  หรือ วิธีใหม่  หรือการประยุกต์ความรู้ในสถานการณ์ใหม่ และเหนือสิ่งอื่นใด คือ กลุ่มคนฟังเป็นกลุ่มใหม่  นักวิจัยจึงไม่ควรมองข้ามความจำเป็นของการเตรียมพร้อมเพื่อให้การนำเสนอเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

การฝึกฝนทักษะการนำเสนอ มักเป็นกิจกรรมแทรกๆ อยู่ในการเรียนระดับอุดมศึกษาหลายวิชา โดยเฉพาะในวิชาสัมมนา และในขั้นการสอบความรอบรู้ และสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก  แต่มักไม่พบว่ามีการจัดสอนเป็นรายวิชา  สำหรับผู้เขียนจะจัดเป็นกิจกรรมหนึ่งในรายวิชาวิธีวิจัย ทั้งระดับปริญญา ตรี โท และเอก มีการฝึกการนำเสนอ และ กำหนดให้ผู้เรียนเข้าร่วมการนำเสนอในการประชุมต่างๆ ตามโอกาสที่อำนวย  สำหรับที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการประชุมวิชาการประจำปี นิสิตได้เห็นตัวอย่างการนำเสนอหลากหลายรูปแบบที่มีประสิทธิภาพในสถานการณ์จริง ส่วนในรายวิชาอื่นที่มีการนำเสนอการค้นคว้า นิสิตมักจะได้รับการสอนโดยอ้อมแต่เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง สำหรับการสอนโดยตรงขอยกตัวอย่างในวิชาวิธีวิจัย กำหนดหัวข้อในส่วนของการนำเสนอบนเวทีไว้ 3 หัวข้อ คือ

1. การเตรียมการนำเสนอ

2. การนำเสนอ

3. การประเมินเพื่อพัฒนาการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ

จึงขอนำมาเล่า ทบทวนให้นักวิจัยได้พิจารณา

1.  การเตรียมการนำเสนอ

สถานการณ์ในห้องของการนำเสนอผลงานวิจัย เสมือนการประชุมที่ผู้เข้าประชุมมาด้วยความตั้งใจ (นอกจากนิสิตนักศึกษาบางคนที่ถูกสั่งให้มาฟัง) เขามาเพื่อฟัง ฟังในเรื่องที่ติดประกาศ ฟังในเวลาที่กำหนด ดังนั้น ผู้นำเสนอจำเป็นต้องเตรียมให้พร้อม ไม่ให้ผู้ฟังผิดหวัง นั่นหมายถึง  ผู้รายงานเองจะได้รับเกียรติและสมหวัง การเตรียมตัวจึงควรเตรียมอย่างมีขั้นตอนดังนี้

(1) วางแผนการนำเสนอ

- ทบทวนงานวิจัยที่จะนำเสนออย่างเข้าใจ

- หาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ฟัง ส่วนใหญ่เป็นใคร น่าจะประมาณได้จากเหตุการณ์ที่เคยจัดมา เพื่อให้ตนเองประมาณบรรยากาศในห้อง

-  เวลาที่กำหนดให้นำเสนอ   20 นาที หรือ 25 นาที

-  การจัดการที่ผู้เสนอต้องรู้และดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนด เช่น การแสดงความจำนง การส่งเอกสารต่างๆ ตลอดจน การอำนวยความสะดวกในวันที่นำเสนอ

(2) เตรียมการพูด กล่าวนำ

- แนะนำตัว  ถ้าหากในการนำเสนอมีประธานหรือพิธีกรแนะนำนักวิจัยแล้ว ก็ไม่ต้องแนะนำตนเองซ้ำ

- กล่าวแนะนำโครงการวิจัย ให้มีสาระเพียงพอที่จะให้ผู้ฟังเข้าใจว่า โครงการที่นำเสนอ คือเรื่องที่อะไร เกี่ยวกับอะไร มีความสำคัญอย่างไรที่ทำให้นักวิจัยทำวิจัยเรื่องนี้  คำถามวิจัยที่ต้องการหาคำตอบคืออะไร  นักวิจัยคาดหวังจะนำคำตอบหรือผลการวิจัยไปทำให้เกิดประโยชน์อย่างไร

(3)  เตรียมเนื้อหาของการนำเสนอ : เป็นเนื้อหาหลักของการนำเสนอ

-  วัตถุประสงค์ของการวิจัย มีอะไรบ้าง ต้องสอดคล้องกับคำถามวิจัยที่กล่าวนำไป

-  กรอบความคิดเชิงทฤษฎีของปฏิบัติการเพื่อตอบคำถามวิจัยเป็นอย่างไร สรุปการค้นคว้า อ้างอิงหลักการหรือทฤษฏีที่คัดสรร อย่างสมเหตุสมผล

- รูปแบบการปฏิบัติการ (วิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน  หรือ วิจัยปฏิบัติการของผู้บริหาร) หรือ รูปแบบการพัฒนาสื่อ หรือนวตกรรมเป็นอย่างไร มีสาระสำคัญครบ กระชับ

- ถ้ามีคำศัพท์เฉาพะที่ต้องทำความเข้าใจกับผู้ฟัง ต้องมีคำอธิบายที่ชัด และแสดงให้เห็นการปฏิบัติในความหมายนั้น

- กระบวนการวิจัยในการหาคำตอบทำอย่างไร  แสดงให้ผู้ฟังเข้าใจว่า นักวิจัย ออกแบบการวิจัยที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์อย่างไร ได้ข้อมูลอย่างไร

- การจัดกระทำข้อมูลมีวิธีการอย่างไรที่จะตอบคำถามวิจัยข้อต่อข้อ  ได้ผลการสรุปการวิเคราะห์อย่างไร

(4)  เตรียมรายงานถึงสรุปผลการวิจัย

-  สรุปผลการวิจัยเป็นข้อความที่ตอบคำถามวิจัยข้อต่อข้ออย่างสอดคล้องชัดเจน  โดยมีผลการวิเคราะห์เป็นหลักฐานของการลงข้อสรุป ข้อควรระวัง คือ การสรุปผลวิจัยเป็นองค์ความรู้ที่ได้จากการใช้ข้อมูลมาอธิบาย หรือ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์  

-  เสนอความเชื่อมโยงระหว่างผลการวิจัยกับวัตถุประสงค์ หรือ สมมุติฐานของการวิจัย (ถ้ามี)

- ชี้ประเด็นให้เห็นประโยชน์ที่น่าจะได้จากผลการวิจัย

-  เสนอแนวทางการค้นหาความรู้ที่ยังขาด เพื่อเติมเต็มความรู้และประโยชน์  เป็นแนวทางการวิจัยครั้งต่อไปอย่างเหมาะสม และเป็นไปได้ ทั้งนี้ควรมีความเชื่อมโยงกับหลักการหรือทฤษฎี และความคาดหวังที่ได้กล่าวมาแล้ว

(5)  เตรียมการตั้งคำถาม หรือ เชิญชวนให้ผู้ฟังตั้งคำถาม

-  ปกติการรายงานวิจัย มักให้ซักถามบ้าง ถึงแม้จะใช้เวลาน้อยๆ  แต่จำเป็นที่จะให้ผู้ฟังได้เสนอคำถามหรือแลกเปลี่ยนความคิด และเป็นโอกาสที่ได้ชี้แจงกับผู้ฟังในประเด็นที่ผู้เสนอมองข้ามไป

-  ผู้เสนอรายงานจำเป็นต้องมีแผนจัดการกับเวลาที่กำหนด จึงจะมีโอกาสให้ตั้งคำถามได้

(6)  การเตรียมสื่อการนำเสนอ

- สื่อที่นักวิจัยใช้มีหลายชนิด เช่น เครื่องฉายข้ามศีรษะ สไลด์-คอมพิวเตอร์ วิดีโอ  อุปกรณ์ และเอกสารสรุปย่อ เป็นต้น  ทั้งนี้ ผู้วิจัยต้องเลือกให้เหมาะสมกับความถนัดของตน และ สามารถจัดหาได้ในเวลาที่นำเสนอ โดยมีหลักว่า  เรียบง่าย  ชัดเจน  และเหมาะสม

- นักวิจัยต้องซ้อมจนคล่อง ต้องมั่นใจว่า เวลานำเสนอ สามารถจัดการหากมีปัญหาต้องสามารถแก้ไขได้

 2. การนำเสนอ

(1)  ควบคุมสติ  มีความเชื่อมั่น  ไม่ประหม่า  ทั้งนี้ เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับผลการฝึกซ้อมมาก  บางคนที่รู้ตัวว่ามักขาดความเชื่อมั่นเมื่อมีผู้ฟังจำนวนมาก ก็จำเป็นต้องฝึกซ้อมกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน  หรือ หาประสบการณ์จากการเข้าประชุมหลายที่  ผู้เขียนรู้จักนักวิจัยที่มีประสบการณ์การนำเสนอหลายเวที พบว่าเขามีความเชื่อมั่นมาก และมีทักษะมาก

(2) วางตัว วางท่าทาง โดยเฉพาะการวางมือ  เช่นเดียวกัน บุคลิกภาพที่สง่ายอมเกิดจากความเชื่อมั่นในตนเอง ดังนั้น การฝึกซ้อมที่มากพอ จะสร้างบุคลิกภาพที่สง่าได้

(3) การแต่งตัว เป็นเรื่องที่มักละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า นักวิจัยรู้เรื่องนี้แล้ว ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง  แต่หลายครั้งที่ผู้เขียน พบว่า การที่ผู้นำเสนอไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแต่งตัว ก็ลดทอนความสง่าได้  นอกจากนี้ มีกรณีที่พบว่า ความไม่พิถีพิถัน และรอบคอบอาจทำให้กระทบกับความเชื่อมั่นได้

(4) การควบคุมเวลา  ถึงแม้นักวิจัยจะเตรียมการในขั้นวางแผน 6 ขั้นอย่างดีแล้วก็ตาม  ในสถานการณ์จริงของการนำเสนอ นักวิจัยจำเป็นต้องควบคุมเวลา ให้สามารถพูดในสาระสำคัญได้ครบถ้วน  ดังเช่น ใช้เวลาแต่ละหัวข้อ ประมาณ 3-4 นาที หัวข้อ (1) ความเป็นมาของการวิจัยและวัตถุประสงค์/คำถามวิจัย  (2) ทฤษฎีหรือแนวความคิดที่ใช้ในการสร้างกิจกรรมการพัฒนาผู้เรียนหรือ นวตกรรม  หรือ สื่อ (3) การปฏิบัติการกับกลุ่มเป้าหมาย หรือ การปฏิบัติการพัฒนาสื่อ หรือ นวตกรรม    (4) วิธีวิจัย (กระบวนการเก็บข้อมูลและตอบคำถามวิจัย) (5) ข้อค้นพบและอภิปราย 

3. การประเมินเพื่อพัฒนาการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ

ขั้นตอนนี้ นักวิจัยมักจะประเมินด้วยการสังเกตตนเอง และปฏิกริยาของผู้ฟัง และบรรยากาศโดยรอบในห้องประชุม  แต่การประเมินโดยฝ่ายจัดการมักมีการประเมินอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ต่อผู้นำเสนอ ฝ่ายจัดการควรออกแบบการประเมินที่จะได้สารสนเทศสนองต่อนักวิจัย ที่จะนำไปพิจารณาปรับปรุงการนำเสนอครั้งต่อไป  การออกแบบการประเมินที่เหมาะสม จะไม่ขอกล่าวในที่นี้

บทสรุป

ขอเสนอข้อสังเกตที่ฝากถึงนักวิจัยผู้เสนอรายงานบนเวที  ในหัวข้อ ข้อพึงปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติ ในการนำเสนอ

การนำเสนอที่มีเวลาจำกัดเพียง  20-25  นาที  นักวิจัยจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อม  และต้องนำเสนอด้วยความมั่นใจ  ข้อพึงปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติต่อไปนี้ รวบรวมจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนและจากการแลกเปลี่ยนความรู้จากเพื่อนอาจารย์ตลอดจนอ่านพบในบทความต่าง ๆ มีดังนี้

สิ่งพึงปฏิบัติ

   *ควรวางแผน กำหนดโครงสร้างสาระที่นำเสนออย่างรอบคอบ มีลำดับและความสอดคล้องตลอดเรื่องที่นำเสนอ

*   วางแผนเวลาที่ใช้ในการเสนอแต่ละหัวข้อ ประมาณ 3-4 นาที 

*   มีการเตรียมการนำเสนออย่างจริงจัง ฝึกฝนการพูดให้กระชับ ชัดเจน  ซ้อมพูดและจับเวลาทุกหัวข้อ  ปรับสาระและการพูดให้ตรงประเด็น กระชับ

*   วางแผนการใช้สื่อ เช่น สไลด์ powerpoint ให้พอเหมาะกับสาระ ทั้งด้านจำนวน และเวลาการฉาย

*   เนื้อหาในสื่อ ตรงประเด็น กระชับ  ขนาดและสีตัวอักษรอ่านง่าย ควรคำนึงถึงคนฟังที่นั่งแถวหลัง ๆ ด้วย

*    การพูด ออกเสียงชัดเจน จังหวะเหมาะสม ไม่รีบร้อนเกินไป

*   ควรชี้แจงถึงจุดหมายของการนำเสนอ อธิบายถึงเหตุผลของการวิจัยอย่างชัดเจน

*   การนำเสนอควรเน้นการสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ฟัง  มีวิธีที่ให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องที่ซับซ้อน เช่นวิธีการทางสถิติ   และการสรุปผลการวิจัย

สิ่งไม่พึงปฏิบัติ

*   อย่าอ่านเอกสาร แทนการพูด  ถ้ามีการเตรียมอย่างดี ไม่น่าจะเกิดอาการเช่นนี้

*   อย่าใช้อุปกรณ์ หรือสื่อการนำเสนอที่ยังไม่ได้ฝึกให้เกิดความคล่องแคล่ว

*   อย่านำเสนอตารางที่มีข้อมูลมากมายที่ยังไม่ได้วิเคราะห์  หรือมีรายละเอียดเกินความจำเป็นของการอธิบายสาระที่ต้องการ

*   อย่าเสนอตารางที่มีความซับซ้อน  ควรแสดงเฉพาะส่วนที่เรียบง่าย และ.ได้การสรุปตีความที่ตรงประเด็น

*   อย่าใช้สื่อหลายอย่างที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ฟัง  ผู้ฟังอาจสับสนหรือเสียสมาธิ

*   อย่าใช้ลูกเล่นของ powerpoint เพียงเพื่อการเพิ่มสีสรร อาจสร้างความรำคาญ เช่น เทคนิคการโยนตัวอักษรทีละตัวพร้อมเสียง 

*   อย่าใช้วาจายกตน หรือ ชมตัวเอง ถึงแม้ผลการวิจัยจะน่าสนใจ ควรรายงานตามหลักฐานที่ปรากฎ

*   อย่าใช้วาจาดูถูกผู้ฟัง เช่น .ขอข้ามตอนนี้ไป เพราะเป็นเรื่องเข้าใจยาก

*   อย่าใช้เวลาเกินกำหนด เพราะเป็นการแสดงถึงความอ่อนซ้อม และไม่ให้เกียรติผู้ฟัง

ผู้อ่านจะร่วมให้ข้อสังเกตเพิ่มเติม โปรดเขียนประสบการณ์เพื่อประโยชน์ร่วมกัน จะขอบคุณมาก

 

ภาวิณี ศรีสุขวัฒนานันท์

หมายเลขบันทึก: 274774เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2009 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)
  • อาจารย์หายไปนานมากครับ
  • มาเพิ่มนะครับ
  • ควรไปถึงสถานที่นำเสนอก่อนเวลา
  • ไปทดสอบอุปกรณ์
  • เครื่องเสียง LCD ด้วยครับ
  • เพราะบางสถานที่
  • อุปกรณ์ไม่เหมือนกัน
  • มีนิสิตคนหนึ่ง save power point ใช้ 2007
  • แต่ปรากฎว่า เครื่องเป็น 2003 เลยเปิดไม่ได้ครับ

เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า "ให้มองผู้ฟังเหมือนสุนัข" คือ หมายถึงว่า ไม่ต้องสนใจผู้ฟังว่าเขามีปฏิกิริยาอย่างไร ให้พูดไปอย่างเชื่อมั่น หนูรู้สึกไม่เห็นด้วยตั้งแต่ครั้งแรก ซึ่งคำกล่าวของท่านอาจารย์ข้างต้นก็แสดงให้เห็นว่าต้องพยายามดึงดูดผู้ฟังให้มีปฏิกิริยาตอบรับ สนใจผู้พูด ดังนั้น เราก็ควรสังเกตและดูผู้ฟังด้วยว่ายังสนใจเราอยู่หรือไม่ บางทีอาจจะต้องแทรกการยิงคำถามหรือมุขตลกเอาไปบ้าง

ได้ประโยชน์มากเลยค่ะ จะลองนำไปฝึกนำเสนอในวิชาต่าง ๆ ด้วยค่ะ ขอบคุณอาจารย์มากเลยค่ะ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่หนูเจอบ่อยเหมือนกัน คือ บางครั้งวิทยากรชอบพูดภาษาอังกฤษผสมภาษาไทยมั่วไปหมดเลยค่ะ ผู้เข้าฟังบางคนก็ฟังไม่รู้เรื่อง ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายค่ะ

  • เป็นประโยชน์มากครับ
  • ขอบคุณอาจารย์มากครับ
จิณัฐตา เจียรพันธุ์

นอกจากจะเป็นการนำเสนอวิจัยอย่างมีคุณภาพแล้ว ยังช่วยให้นิสิตฝึกเตรียมความพร้อมในการนำเสนอในรายวิชาเรียนต่างๆได้ดี โดยเฉพาะวิชาสัมมนาค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์

@ แบบประเมินผลการจัดประชุม/อบรม (ที่ใช้อยู่ครับ) จะประเมินความเหมาะสมของหัวข้อประชุม การนำเสนอของวิทยากรหรือผู้นำเสนอผลงาน เอกสาร/สื่อ ระยะเวลา และข้อเสนอแนะ

@ ข้อเสนอแนะที่พบ เช่น การนำเสนอด้วยภาษาไทยปนภาษาอังกฤษ  บางครั้งผู้ฟังไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้พูดต้องการนำเสนอ จึงควรประเมินผู้ฟังก่อน เอกสารประกอบการนำเสนอขนาดตัวอักษรเล็กข้างหลังห้องมองไม่เห็น ควรแก้ไขโดยเพิ่มขนาดตัวอักษรให้ใหญ่ขึ้น

@ ที่พบบ่อยในฐานะฝ่ายจัดการประชุม คือ ผู้เข้าประชุมมาขอ copy file ที่ใช้ในการนำเสนอ วิทยากรบางครั้งไม่สะดวกที่จะให้ เนื่องมาจากหลายสาเหตุ เช่น กรณีเชิญมาเป็นวิทยากรสอน จะบอกว่าเอกสารที่นำเสนอรอการตีพิมพ์เพื่อเลื่อนวิทยาฐานะ ฯลฯ จึงไม่สามารถที่จะให้ได้ หรือ เพื่อพิทักษ์สิทธิผู้ป่วยกรณีที่นำเสนอด้วยรูปภาพ

@ มาเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป ขอบพระคุณครับ

ภาวิณี ศรีสุขวัฒนานันท์

ขอบคุณทุกท่านที่แสดงความเห็นเสริม ทำให้ผู้เขียนต้นเรื่องรู้สึกอบอุ่น สุดท้ายเราอาจจะประมวลสาระได้กว้างขวางทีเดียว

เรื่องการประเมินด็ยังคงมีประเด็นที่น่าสนใจ อาจถามตนเองว่า ได้ข้อสรุป ข้อเสนอที่จะทำให้งานเกิดการพัฒนาอย่างไร การแก้ไขด้วยการย้อนกลับไปทวงถามความตั้งใจเดิม อาจพบว่า วิธีเดิมอาจไม่เหมาะ ควรปรับแก้ก็ได้ คิดได้ แก้เลย งานทุกอย่างก็จะมีความก้าวหน้า ไม่ยำอยู้กับที่ โดยไม่ได้อะไร นอกจากความเหนื่อย และเบื่อ

การขอ copy งาน หรือ ไฟล์ เพื่อประโยชน์และไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ก็น่าจะให้ได้ วิธีการที่จะไม่ละเมิด ก็ต้องเรียนรู้ ไม่ควรทำผิดเพราะไม่รู้

อยากชวนให้อ่านขอเขียนของภาวิณี ที่ newschool.in.th ในคอลัมน์ วิจัยในชั้นเรียน

สวัสดีครับอาจารย์

@ ไปดูตามลิงค์มาแล้ว

@ เว็บไซต์เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้บนโลกออนไลน์ http://www.newschool.in.th/

@ มีประโยชน์มาก ขอบพระคุณครับ

แม้จะยังไม่มีโอกาสในการนำเสนอผลงานวิจัย แต่สิ่งที่ได้รับจากอาจารย์ เป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียน การนำเสนองานในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของความรู้ที่ต้องเตรียมมาอย่างดีก่อนการนำเสนอ ทั้งการเตรียมตัว เตรียมเนื้อหา เตรียมสื่อ การฝึกซ้อมนำเสนอ และการประเมินตนเองหลังการนำเสนอ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและจะเป็นประโยชน์ต่อการนำเสนอในครั้งต่อ ๆ ไป และหากได้ผลการประเมินจากแบบประเมินแล้วก็จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาตนเองต่อไป แต่แบบประเมินส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ผลในการพัฒนาผู้นำเสนอเท่าใดนัก

ครูแอ้ได้มีโอกาสพบอาจารย์ตัวจริง ๆ ครั้งแรก ในวันประชุมวิชาการของคุรุสภา ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ที่ผ่านมา (นั่งแถวที่ 2) และทราบเพียงแต่ว่าเป็นอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ  แต่มาสะดุดกับที่วิทยากรได้แนะนำชื่อ "เหตุเกิดในห้องเรียน" ใน Gotoknow เพราะได้อ่านอยู่เสมอ ๆ ประทับใจอาจารย์มาก ๆ เลยค่ะ กับเรื่องราวที่อาจารย์ได้นำมาเล่าให้ฟัง (แอบชื่นชมที่อาจารย์กล่าวถึงการเกษียณอายุ รอบ 2 มาก ๆ เลยค่ะ)


เสียดายมาก ๆ ค่ะที่ได้อ่านเรื่องการนำเสนองานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ ช้าไป เพราะในวันแรกของการประชุมวิชาการครั้งนี้ ครูแอ้ก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องนำเสนอผลงานวิจัยภาคบรรยายและเป็นการนำเสนอครั้งแรกในชีวิต พยายามสอบถามจากหลาย ๆ คนถึงวิธีการนำเสนอแต่ก็ไม่ได้ข้อสรุปที่จะทำให้มั่นใจในการนำเสนอ เพราะตอนที่เรียนจบปริญญาโทในสมัยปี 46 ต่างจากปัจจุบัน ที่ไม่มีโอกาสขึ้นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อเป็นประสบการณ์เหมือนน้อง ๆ รุ่นใหม่  แต่วันนั้นก็ผ่านไปได้ด้วยดี โดยไม่มีการยกป้ายเตือนเวลาค่ะ

อย่างไรก็ดี จากวันนี้เป็นต้นไป ครูแอ้ขออนุญาตกราบฝากตัวเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์ด้วยคนนะคะ เวลาที่มาศึกษาหาความรู้ (เพราะเป็นศิษย์ต้องมีครู นี่คะ)

 

อยากได้ตัวอย่างที่นำเสนอด้วยPowerointครับ

เรียน Tom

สามารถดูตัวอย่างที่ website ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ อื่นๆ จากการค้นหาที่ google ได้ไม่ยาก

ทุกครั้งที่ชม ควรพิจารณาเนื้อหา และความเหมาะสมของการนำเสนอ เพราะมีวิธีการที่เลือกใช้ที่แตกต่างกันตามเหตุผลของแต่ละคน คนนำเสนออาจออกแบบสื่อเพื่อนำเสนอประเด็น หรือ กระทู้ประกอบการบรรยาย หรือ มีการเชื่อมโยงกับหน้าอื่นขณะพูด

ในฐานะผู้ชม ควรตั้งใจฟังการนำเสนอ เพราะ slide เป็นสื่อประกอบ จะไม่มีความสมบูรณ์ในตัว slide เอง

สิ่งสำคัญที่ขอเพิ่มเติมนอกจากทักษะการนำเสนอผลงานหรือการฝึกซ้อมที่ดีตามที่ท่านอาจารย์ภาวิณีได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ดิฉันเห็นว่า การนำเสนอผลงานวิจัยที่ดีนั้น นักวิจัยควรจะต้อง

1) เปิดใจกว้างในการยอมรับฟังหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดเห็นของผู้ฟัง เพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนางานของผู้วิจัยเอง

2) ยึดหลักเรื่องความยืดหยุ่นในการนำเสนอ และพร้อมที่จะปรับเนื้อหาในการนำเสนอผลงานได้ (การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า) เช่น ในกรณีที่ผู้นำเสนอก่อนหน้าเราใช้เวลามากจนทำให้เวลาการนำเสนอของเราลดน้อยลง ก็จำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าว่า เราควรหรือไม่ควรนำเสนอเนื้อหาใดที่แม้ว่าจะมีการเตรียมการล่วงหน้ามาอย่างดีแล้ว

3) อย่ายึดติดกับเรื่องที่เป็นเทคนิคมากจนเกินไป เช่น ความสวยงามของ power point จนลืมให้ความสำคัญกับเนื้อหาหลักๆ ที่จะต้องนำเสนอ

พิมฉัตร์ ฤกษ์รัตน์ระพี

กราบสวัสดีค่ะอาจารย์

ได้อ่านบทความการนำเสนอผลงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพของอาจารย์แล้ว พบว่าเป็นบทความที่มีคุณค่าและมีประโยชน์มาก ๆ โดยนอกจากนำไปใช้ได้จริงแล้ว ยังสามารถนำสิ่งดี ๆ ที่อาจารย์ได้นำเสนอมาไปบอกต่อกับผู้อื่นให้เกิดการเรียนรู้ได้

ดิฉันคิดว่าในการนำเสนองานไม่ว่างานนั้น ๆ จะเป็นงานวิจัยหรือไม่ก็ต้องมีการเตรียมตัวนำเสนอตามขั้นตอนที่อาจารย์ได้กล่าวไว้ แล้วจะทำให้เราสามารถลดความเสี่ยงในการผิดพลาดได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมการนำเสนอ ซึ่งดิฉันมองว่าเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวผู้นำเสนอต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและต้องไม่เจ็บป่วย ประเด็นเนื้อหาในการนำเสนอต้องมีความครอบคลุม ชัดเจน กระชับ เป็นลำดับขั้นตอน สื่อมีความพร้อม และน่าสนใจไม่ทำให้เสียเวลาในการนำเสนอ ผู้นำเสนอต้องนำเสนอได้อย่างชัดเจน ตรงประเด็น ด้วยน้ำเสียงที่น่าฟัง โดยเฉพาะอยางยิ่งการใช้คำควบกล้ำ ร ล ต้องชัดเจนจะทำให้น่าฟังมากขึ้น ตามหลัก 3 สบาย คือ ฟังสบายหู ดูสบายตา พาสบายใจ และผู้นำเสนอไม่ควรใช้คำที่ฟุ่มเฟือย หรือบางครั้งพูดไทยคำ อังกฤษคำ ฟังแล้วทำให้น่ารำคาญมากกว่าน่าฟัง

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการนำเสนอดิฉันคิดว่าการรักษาเวลา ถือเป็นเสน่ห์มากของการนำเสนอ(รวมทั้งวิทยากรทั้งหลาย)

ประการสุดท้าย ผู้นำเสนอต้องเปิดใจกว้าง ๆ ในข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นการเติมเต็มอีกมุมมองหนึ่งที่เราอาจมองไม่เป็นหรืออาจจะหลงลืม

สุดท้ายต้องขอขอบพระคุณอาจารย์อีกครั้งที่นำเสนอบทความดี ๆ มีสาระให้ได้อ่านและนำไปบอกต่อ

ขอเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อให้การนำเสนองานมีประสิทธิภาพ ดังนี้

* ไม่ควรนำภาษาวัยรุ่นมาใช้ในการพูดงานวิชาการ

* ควรใส่หมายเชฃลขหน้าที่มุมของสไลด์เพื่อใช้ในการอ้างถึง

หากมีผู้ต้องการถามคำถาม และช่วยให้เข้าถึงหน้าที่ต้องการได้ง่ายขึ้น

ได้ข้อคิดดีๆ จากหลายๆ ท่านเลยค่ะ ซึ่งจะได้นำไปปรับปรุงการนำเสนอของตัวเองให้เป็น Professional ต่อไปค่ะ ^.^

คณะครูโรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) เทศบาลนครนครราชสีมา ได้มีโอกาสเข้ารับการอบรม  20-23 พ.ย. 52  ณ โรงแรมบางกอก พาเลส  อาจารย์ภาวิณี  ให้ความรู้ไว้มากมาย  แต่ไม่สามารถหอบกลับโคราชได้หมด  ก็พยายามเต็มที่แล้วค่ะ  ทั้งจดบันทึก  และใช้กล้องบันทึกไว้แล้วค่อยมาอ่านในคอมฯ

                  

                  

                  

      ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ  ที่ได้มอบความรู้ดี ๆ ให้

                                    

                                                    

เพิ่งจะได้อ่าน แต่ไม่เสียดายที่เข้ามาอ่านแม้จะมาอ่านช้าไปนิด เพราะคิดว่ายังสามารถฝึกฝนตนเองได้อยู่เสมอค่ะ ขนาดตอนนี้สอนหน้าห้องทุกวันก็ยังมีประหม่าบ้าง เนื่องจากเรารู้ตัวดีว่าการเตรียมตัวยังน้อยไป แต่ถ้าเป็นเวทีใหญ่ๆ นอกจากเรื่องการเตรียมตัวแล้วยังมีเรื่องของความตื่นเต้นเข้ามาอีก เดี๋ยวจะทำเช็คลิตส์แล้วซ้อมตามนี้เลยค่ะ เพื่อความมั่นใจ

ขอบคุณบทความดีดีนี้จากอาจารย์ ได้ความรู้มากมากมายเลย ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท