หวัด 2009 ที่เชียงราย


เอาคำแนะนำมาฝาก

หวัด  2009 ระบาด ร้อนๆ จ้า

คุยกับอาจารย์ แพทย์ ที่รพ ศิริราช กรุงเทพ เธอบอกว่า ไม่ได้หลับไม่ได้ นอน ข้าวก็ บางที ไม่ได้ กิน  ตอนสองทุ่มกว่าโทรคุยกัน เธอก็ ยัง ไม่ได้ กินข้าวเย็น  เพราะไอ้เจ้าหวัด 2009 นี่แหละ

พอเห็นอนาคตของจังหวัดเชียงรายจาก การฟังแพทย์ ที่กรุงเทพ นี้แหละค่ะ

ในห้องประชุม กรรมการของจังหวัด เชียงราย  อ ศุภเลิศ หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม ซึ่งเป็นตัวจักรหลักของการควบคุมการระบาดของทั้งจังหวัด  แจ้งข่าว ถึงสถิติ ว่ามีผู้ป่วย ประมาณ 20 คน ที่เชียงรายที่พิสูจน์ ว่าใช่จริง และเกิดความวิตกกังวลมากในผู้คนที่ป่วย และสัมผัส

อ ศุภเลิศ ก็ ไม่ได้ พักผ่อนเช่นกัน

รวิวรรณเลยปวารณาตัวว่า จะช่วยงานนี้ให้ มากที่สุด อะไรก็ได้ ที่จะช่วยได้ ไม่ให้ คนตื่นตกใจมากกับโรคระบาดนี้  และปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง

อาสาเป็นคุณลิขิต ช่วยทำ ปรับ เอกสารให้

เลยเอามาฝากแฟนคลับ ในบล็อกด้วย

ดังนี้ค่ะ

คำแนะนำจากคณะกรรมการป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จังหวัด เชียงราย

-----------------------------------------------------------------------------------

ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ(เอช1เอ็น 1) กำลังขยายตัวไปทั่วโลก  และขณะนี้พบการระบาดในจังหวัดเชียงรายแล้ว   ซึ่งอาจมีการแพร่ลุกลามต่อไปอย่างรวดเร็วได้  วิธีการติดต่อ  จะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้มีอาการคล้ายกันกับไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ธรรมดา  ส่วนใหญ่มีอาการน้อยและหายได้เองในระยะเวลาประมาณ 7 วันหลังจากที่เริ่มมีอาการโดยไม่ต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล 

สำหรับผู้ป่วยจำนวนไม่มากในต่างประเทศที่เสียชีวิต  มักเป็นผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด  โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน หรือ  ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ  โรคอ้วน  ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี  เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี  และหญิงมีครรภ์ 

คณะกรรมการฯจึงขอให้ข้อมูลว่า นอกจากจะพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เพิ่มมากขึ้น ในช่วงเวลานี้ยังมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในจังหวัดเชียงรายด้วย ทำให้มีผู้ป่วยไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่มากกว่าปกติ และผู้ป่วยยังมีความวิตกกังวลว่าจะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ด้วย

โรงพยาบาลเชียงรายฯจึงกำหนดแนวปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข คือทำการตรวจคัดกรองให้ผู้ป่วยต้องสงสัย ที่มารับบริการทุกราย และจะทำการตรวจเพาะเชื้อเฉพาะใน ผู้ป่วยที่มีการระบาดเป็นกลุ่ม   ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง  และผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยง ที่อาจมีโรคแทรกซ้อนรุนแรงได้  ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 5 ปี  อายุมากกว่า 65 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำหรือมีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวาน โรคหัวใจ  โรคปอด 

 

สำหรับการให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัส (Tamiflu) นั้น แพทย์จะพิจารณาให้ในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่มีอาการรุนแรง หรือผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีภาวะแทรกซ้อน สำหรับผู้ป่วยทั่วไปซึ่งหายได้เองในเวลาประมาณ 7 วัน  แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ   และให้สังเกตอาการที่บ้าน งดเรียน งดทำงาน เพื่อลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

 

สำหรับการป้องกันและควบคุมโรค  คณะกรรมการให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้ 

คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป

1.    ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ

2.    ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น

3.    ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด

4.    รักษาสุขภาพ กินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ดื่มน้ำมากๆ นอนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

5.    ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานาน โดยไม่จำเป็น

6.    ติดตามคำแนะนำอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด

 

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่

1.  หากมีอาการไม่รุนแรง เช่น ไข้ไม่สูง รู้สึกตัวดี  รับประทานอาหารได้  สามารถรักษาตามอาการด้วยตนเองที่บ้าน ไม่ต้องไปโรงพยาบาล  ใช้พาราเซตามอลลดไข้ (ห้ามใช้ยาแอสไพริน)  นอนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมากๆ

2.  ต้องหยุดเรียน หยุดงาน จนกว่าจะหายเป็นปกติ และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น

3.  สวมหน้ากากอนามัยตลอดเมื่อจำเป็นต้องอยู่กับผู้อื่น  หรือใช้กระดาษทิชชู ผ้าเช็ดหน้า ปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอ จาม เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน หลังจากป่วยหรือจนกว่าอาการจะเป็นปกติ

4.  ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ โดยเฉพาะหลังการไอ จาม

5.  หากมีอาการรุนแรงหรือผิดปกติ เช่น ไข้เกิน 3 วัน เจ็บอก หายใจลำบาก หอบเหนื่อย  อาเจียนมาก ซึมไม่รู้สึกตัว ต้องรีบไปพบแพทย์

 

คำแนะนำสำหรับสถานศึกษา  

1.  คัดแยกให้นักเรียนที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ กลับไปพักที่บ้านหรือหอพัก หากมีอาการป่วยรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์

2.  ตรวจสอบจำนวนนักเรียนที่ขาดเรียนทุกวัน หากพบขาดเรียนผิดปกติ หรือตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปในห้องเรียนเดียวกัน และสงสัยว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่  ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข  เพื่อสอบสวนและควบคุมโรค

3.  นักเรียนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ  ให้สังเกตอาการเป็นเวลา 7 วัน  ถ้ามีอาการป่วยให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน

4.  ไม่จำเป็นต้องปิดสถานศึกษา  การพิจารณาปิด  ควรหารือร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข  เพราะหากสามารถให้นักเรียนที่มีอาการป่วยทุกคนหยุดเรียนได้  ก็จะป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้

5.  ห้องเรียน ห้องทำงาน  ควรทำความสะอาดอุปกรณ์  สิ่งของ เครื่องใช้ที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น โต๊ะเรียน ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ราวบันได คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยการใช้น้ำผงซักฟอกเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง  จัดให้มีอ่างล้างมือ น้ำและสบู่ อย่างเพียงพอ     ควรเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้  และแสงแดดส่องได้ทั่วถึง

 

คำแนะนำสำหรับสถานประกอบการและสถานที่ทำงาน

1.  ให้พนักงานที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ พักรักษาตัวที่บ้าน หากมีอาการรุนแรง ให้ไปพบแพทย์

2.  ตรวจสอบจำนวนพนักงานที่ขาดงานทุกวัน หากพบขาดงานผิดปกติ หรือตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ในแผนกเดียวกัน และสงสัยว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่  เพื่อสอบสวนและควบคุมโรค

3.  พนักงานที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ให้สังเกตอาการเป็นเวลา  7  วัน  ถ้ามีอาการป่วยให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน

4.  ไม่แนะนำให้ปิดสถานประกอบการหรือสถานที่ทำงาน  เพื่อการป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่

5.  ควรทำความสะอาดอุปกรณ์  สิ่งของ เครื่องใช้ ที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น โต๊ะทำงาน ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ราวบันได คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยการใช้น้ำผงซักฟอกทั่วไปเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง  จัดให้มีอ่างล้างมือ น้ำและสบู่อย่างเพียงพอ  ควรเปิดประตู หน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องได้ทั่วถึง

6.  ควรจัดทำแผนการประคองกิจการในสถานประกอบการและสถานที่ทำงาน เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง  หากเกิดการระบาดใหญ่ (ดูรายละเอียดในเว็บไซต์ของสำนักโรคติดต่อ     http://beid.ddc.moph.go.th)  

 

แหล่งข้อมูลการติดต่อ เพื่อปรึกษากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 

  

ติดต่อได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือที่ รพ เชียงรายฯงานควบคุม โรค 053 711300 ต่อ1115 ในวันเวลาราชการ

สามารถติดตามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข   และหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 3333 

และศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์  กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์  0 2590 1994   ตลอด 24 ชั่วโมง

 

วันที่ 5 กรกฎาคม 2552

หมายเลขบันทึก: 273872เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2009 05:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ คุณหมอหน่อย ที่รักและคิดถึง

  • นานแล้ว ครูอ้อยไม่ได้ทักทาย คุณหมอเลย สบายดีนะคะ
  • เรื่องไข้หวัด  เด็กนักเรียน มีการเฝ้าระวังหลายคน
  • เท่าที่ผ่านมา ครูประจำชั้น รายงายว่า มีนักเรียนเป็นไข้หวัด สายพันธ์นี้ 1 รายค่ะ

รักษาสุขภาพนะคะ  รักและคิดถึงเสมอค่ะ

ครูอ้อย อย่าลืม รีบ อนุญาติ แกมบังคับให้ กลับบ้านด่วน ก่อน นักเรียนจะติดนะคะ

(จริงๆ คุณ ครู กลัวกว่า อิ อิ )

แนะนำให้ คัด ตั้งแต่ประตู โรงเรียนเลยจะดีที่สุดค่ะ

หากมีผู้ป่วยไอ จามในห้องทำงานโดยไม่ปิดปากเชื้อจะอยู่ในห้องแอร์ได้กี่วันครับ

มาขอเรียนรู้ข้อมูลที่มีประโยชน์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท