Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

คำนิยมหนังสือเรื่องรักษาโรคไร้รัฐโดยอาจารย์วีนัส สีสุข : ภูมิปัญญาทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ของกรมการปกครอง


หนังสือที่จัดพิมพ์ภายใต้โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้จากแม่อายสู่อันดามัน เพื่อการจัดการปัญหาสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่อันดามัน สนับสนุนทุนการดำเนินการโดย มูลนิธิเอเซีย

ผู้เขียนรู้จักอาจารย์วีนัส สีสุขมานานเท่าระยะเวลาที่ได้รับคำสั่งให้มาคิดงานกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความไร้สัญชาติของบุคคลบนพื้นที่สูง ชะตาชีวิตเกี่ยวกับคนในกรมการปกครองของผู้เขียนเริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีคำสั่งที่ ๒๓๓/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ..๒๕๔๑ เพื่อแต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อดำเนินงานโครงการอบรมกฎหมายและช่วยเหลือประชาชนชาวไทยบนพื้นที่สูงทางด้านกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คำสั่งนี้มีผลให้ผู้เขียนต้องมาทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยประชาสังคม (Civil Society) ซึ่งมาจาก ๑๔ หน่วยงาน[1] ซึ่งหน่วยงานหนึ่ง ก็คือ กรมการปกครอง  มิตรภาพระหว่างผู้เขียนกับคนในกรมการปกครองจึงเริ่มนับหนึ่งในพุทธศักราชนี้

ความรับผิดชอบของผู้เขียนในคณะกรรมการนี้ก็คือ การพิจารณา “คำร้องทุกข์” ของบุคคลบนพื้นที่สูงหรือองค์กรที่ดูแลบุคคลดังกล่าว และการแสวงหา “องค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหา” เพื่ออบรมกฎหมายให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายตามกรณี

ปัญหาที่เข้ามามากที่สุด ก็คือ ปัญหาความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมาย กล่าวคือ ความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติหรือความไร้สถานะคนที่ชอบด้วยกฎหมาย อันนำไปสู่การเข้าไม่ถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานนานาประการ

ในยุคนั้น เจ้าหน้าที่กรมการปกครองที่มีหน้าที่เข้ามาประชุมก็ยังมิใช่อาจารย์วีนัส สีสุข แต่ด้วยผู้เขียนมักจะต้องอ่านงานเขียนเกี่ยวกับกฎหมายทะเบียนราษฎรในหลายรูปแบบที่มาจากส่วนงานทะเบียนราษฎรทั่วไป และจากอาจารย์วีนัส สีสุข ความรู้จักอาจารย์วีนัสจึงมาพร้อมกับความรู้จักใน พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร ความไม่เข้าใจบ้าง หรือไม่เห็นด้วยบ้างเป็นสาเหตุที่ผู้เขียนโทรศัพท์ไปคุยกับอาจารย์วีนัส จนเกิดความรู้จักกันมากขึ้น และเมื่อต้องไปประชุมที่สำนักบริหารการทะเบียนที่นางเลิ้ง ก็เลยมีโอกาสโผล่หน้าไปทำความรู้จักหน้าตาและพูดคุยกัน

มิตรภาพทางวิชาการและวิชาชีพด้านกฎหมายสถานะบุคคลได้ก่อตัวขึ้นระหว่างคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องมาศึกษาเพื่อขจัดปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๑ จนถึงปัจจุบัน ได้ก่อตัวขึ้นจนไม่มีใครสนใจว่า ใครเป็นนักวิชาการ ใครเป็นเอนจีโอ ใครเป็นข้าราชการ เราทั้งหมดต่างตระหนักในความงดงามของกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยที่เริ่มต้นโดยในหลวงรัชกาลที่ ๕ ซึ่งไม่ทรงเห็นชอบที่จะปล่อยให้มนุษย์บนแผ่นดินไทยต้องตกเป็นทาสและไร้สถานะบุคคลตามกฎหมาย

พวกเราเรียนรู้ต่อไปว่า การที่รัฐไทยไม่ตกเป็นอาณานิคมของรัฐตะวันตกที่ขยายอำนาจเข้ามาล่าเมืองขึ้นในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมิใช่เหตุบังเอิญ การมาถึงของคนต่างชาติพันธุ์ที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยไม่นำมาซึ่งความแตกแยกหรือการแย่งชิงแผ่นดินระหว่างกัน สมานฉันท์นิยมระหว่างคนต่างชาติพันธุ์บนแผ่นดินไทยเป็นเรื่องราวที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน นิตินโยบายที่ยอมรับให้สิทธิอาศัยถาวรและสัญชาติไทยแก่มนุษย์ต่างชาติพันธุ์ที่มีความกลมกลืนกับสังคมและวัฒนธรรมไทยนั้นเป็นกลยุทธที่สร้างความมั่นคงเชิงประชากรให้แก่รัฐไทยตลอดมา

คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลในวันนี้อาจจะมีจำนวนไม่น้อย แต่หากเทียบกับคนที่ไม่มีปัญหา ก็ต้องกล่าวว่า คนส่วนใหญ่บนแผ่นดินไทยไม่มีปัญหา ในขณะที่คนที่มีปัญหาเป็นคนส่วนน้อย และระบบกฎหมายและนโยบายที่ใช้มาก็มิใช่จะบกพร่องในสาระสำคัญ เพียงแต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ก็มีความจำเป็นต้องทำให้ชัดเจนขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในรายละเอียดบางจุด

อาจารย์วีนัส สีสุขและผู้เขียน ก็เป็นคนสองคนในกลุ่มคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติที่กล่าวถึงข้างต้น แต่สำหรับอาจารย์วีนัสในวันนี้ มีภาระกิจที่จะต้องรับผิดชอบในการดูแลการบังคับใช้กฎหมายทะเบียนราษฎรเพื่อมิให้เกิดคนไร้รัฐบนแผ่นดินไทย ด้วยต้องทำหน้าที่ “หัวหน้าฝ่ายการทะเบียนราษฎรและสัญชาติ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง” ในวันที่ต้องปฏิรูปกฎหมายสัญชาติและกฎหมายทะเบียนราษฎรในสภานิติบัญญัติแห่งชาติใน พ.ศ.๒๕๕๑ อาจารย์วีนัสจึงต้องเข้าทำหน้าที่ “เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติ” หรือแม้วันนี้ ก็ยังต้องวนเวียนทำงานในคณะกรรมาธิการในรัฐสภาที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าด้วยสถานะบุคคล

การจัดการประชากรนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้ภูมิปัญญาด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ผสมผสานกัน และเรื่องนี้เป็นทั้งงานด้านวิชาการและวิชาชีพอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ เหมือนแพทย์ศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ คนดังอาจารย์วีนัสจึงเป็นดัง “คลังปัญญา”

ผู้เขียนตระหนักว่า ด้วยเวลาที่ผ่านไป อาจารย์วีนัสได้กลายเป็น “หนังสือกฎหมายและนโยบายว่าด้วยสถานะบุคคลที่มีชีวิต” ไปเสียแล้ว สำหรับนักวิชาการในมหาวิทยาลัยอย่างเรา เราเหมือนลอยอยู่กลางอากาศ เราอาจจะคิดนอกกรอบได้เก่ง แต่เราไม่อาจทราบว่า สิ่งที่เราคิด ใช้ได้จริงทุกเรื่องหรือไม่ แต่ด้วยความร่วมมือระหว่างภาคราชการและภาควิชาการ โดยมีภาคประชาชนเป็นผู้สนับสนุน  เราพบว่า เราสามารถทำงานวิศวกรรมทางสังคมได้ดี เราให้ความยุติธรรมทางสังคมแก่คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลได้ดีขึ้น

เมื่อมูลนิธิเอเซียขอให้เราศึกษาเพื่อที่จะแก้ปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติให้แก่มนุษย์ที่อาศัยบนฝั่งทะเลอันดามัน เราจึงไม่ประสบความยากลำบากที่จะชักชวนกันไป “คิดค้น” วิธีการรักษาโรคไร้รัฐไร้สัญชาติที่สร้างความทุกขเวทนาแก่มนุษย์เหล่านั้น  สำหรับงานครั้งนี้ เมื่อต้องการถ่ายทอดเทคโนโลยีการรักษาโรคไร้รัฐที่เราคิดออก จึงเป็นหน้าที่ของอาจารย์วีนัสที่จะต้องบรรยายด้วยวาจาและตัวอักษรถึงสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาไร้รัฐ

หนังสือเล่มนี้[2] ก็คือ ตัวอักษรที่แสดงสูตรสำเร็จหรือภูมิปัญญาด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่รัฐไทยสะสมมายาวนาน เพื่อรักษาโรคไร้รัฐดังกล่าวมาข้างต้น

เราหวังว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นเสมือนยารักษาโรคไร้รัฐ ซึ่งคนไร้รัฐจะได้ใช้เพื่อเรียนรู้ที่จะจัดการปัญหาของตนเอง และซึ่งคนที่ทำงานเพื่อคนไร้รัฐก็จะได้ใช้เป็นคู่มือในการทำงานเพื่อคนไร้รัฐที่ตนดูแล

ขอขอบคุณอาจารย์วีนัสที่เจียดเวลามาผลิตยารักษาโรคไร้รัฐสำหรับมนุษย์บนฝั่งทะเลอันดามัน แต่เมื่อกฎหมายไทยมิได้เลือกปฏิบัติต่อมนุษย์ หนังสือเล่มนี้จึงใช้รักษาโรคไร้รัฐได้ในทุกกระเบียดนิ้วของประเทศไทยโดยไม่ต้องสงสัย



[1] กล่าวคือ (๑) ศูนย์นิติศาสตร์  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (๒) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี (๓) กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (๔) กองการข่าว สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (๕) กรมการปกครอง  กระทรวงมหาดไทย (๖) สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหิดล (๗) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี (๘) กองทัพภาคที่ ๓ (๙) กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (๑๐) กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (๑๑) คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาชนเผ่าพื้นเมือง (๑๒) มูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา จังหวัดเชียงราย (๑๓) สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย และ (๑๔) กลุ่มศิลปะวัฒนธรรมกระจกเงา มูลนิธิโกมลคีมทอง (ในปัจจุบัน ก็คือ มูลนิธิกระจกเงา) ซึ่งทุกองค์กรมีภารกิจที่จะเข้าช่วยจัดการปัญหาสถานะบุคคลให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูงในประเทศไทย

[2] หนังสือที่จัดพิมพ์ภายใต้โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้จากแม่อายสู่อันดามัน เพื่อการจัดการปัญหาสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่อันดามัน สนับสนุนทุนการดำเนินการโดย มูลนิธิเอเซีย

หมายเลขบันทึก: 273870เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2009 04:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท