ขอทดสอบระบบหน่อยนะครับ


อันนี้เป็นการทดสอบระบบนะครับ
ดานูป – ดูนาป
               
                ดานูปเป็นแม่น้ำใหญ่ในยุโรป  ไหลจากเยอรมันนีผ่านเมืองหลวงของประเทศต่างๆ เช่น เวียนนา บูดาเปส และเบลเกรด  ก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเลสาบแคสเปียนที่โรมาเนีย  เส้นทางผ่านของดานูปเป็นแหล่งของคีตศิลป์จำนวนมาก  จนเป็นแม่น้ำมนต์เสน่ห์  ที่ผมอยากจะไปนั่งคุยด้วย  และก็มีโอกาสเมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้เอง
                ขณะที่เป็นรองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ นั้น  ผมได้รับจดหมายจาก Prof Miodrag  แนะนำตัวว่าเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัย Novi Sad ประเทศยูโกสลาเวีย  อยากจะมาสอนหนังสือเมืองไทยสักพัก  เมื่อคณะตอบรับและกำหนดเวลาไป ท่านก็มาไม่ได้ เพราะประเทศยูโกสลาเวียไม่มีในโลกนี้แล้ว  ประเทศแตก  รบกันจนเหลือแค่เซอร์เบียและมอนเตรนิโกร  ต้องขอเลื่อนการมาสอนไปอีก 1 ปี  เพราะต้องอยู่จัดการทรัพย์สินจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากการล่มสลายของสังคมนิยมในประเทศ  ยูโกสลาเวียก็เหมือนประเทศยุโรปตะวันออกอื่น  ที่เปลี่ยนไปมากหลังการแตกของประเทศสหภาพโซเวียตรัสเซียเมื่อปลายคริสตศตวรรษที่ 20 
                หากใครยังจำข่าวต่างประเทศเมื่อก่อนเริ่มต้นคริสตศตวรรษใหม่ได้ ก็คงคุ้นกับคำว่า Serb, Croat, Bosnian, Sarajevo, Pristina และ Kosovo  นอกจากคุ้นแล้วก็จะรู้สึกงงมากๆ ว่าไม่รู้ว่าใครรบกับใครบ้าง  เพราะการแตกของยูโกสลาเวียนี้ยุ่งมากเป็นบทเรียนที่หลายประเทศควรศึกษา  รวมทั้งประเทศไทยด้วย
                คนรุ่นเก่าหน่อยจะรู้จักยูโกสลาเวียว่าเก่งทางบาสเก็ตบอล และนางงามสวยมาก   คนที่ชอบประวัติศาสตร์ยุโรปช่วงสงครามโลกก็จะรู้จักจอมพลตีโต้ (Tito) ผู้ปกครองยูโกสลาเวียอันยาวนาน   
                ภายใน 2 เดือนที่ผ่านมาผมไปทั้งเตหะรานและเบลเกรด  เป็นเมืองหลวงที่บอบช้ำจากสงครามทั้งคู่  แต่ความรู้สึกที่มีต่อเซอร์เบียนั้นค่อนข้างต่างจากอิหร่าน  อิหร่านนั้นเขาเชิญไปและไปอย่างงงๆ อย่างที่เคยเขียนให้อ่านแล้ว  แต่เบลเกรดนี้อยากไปเองเพราะเป็นงานที่ 2 มหาวิทยาลัยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันที่ผมเป็นคนริเริ่มไว้  ที่พัฒนาความสัมพันธ์ระดับภาควิชาสู่ระดับมหาวิทยาลัย  ที่ทั้ง 2 แห่งตกลงแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์  และจัดประชุมวิชาการร่วมกันทุก 2 ปี  ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ Novi Sad เป็นเจ้าภาพ  และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สนับสนุนให้นักวิจัยไปเสนอผลงานกันและก็เป็นเหตุให้ผมได้ไปกะเขาด้วย  เพราะพอหาเวลาเขียน paper เอามาอ้างขอให้คณะสนับสนุนได้ (จากงานลูกศิษย์ปริญญาเอกที่เพิ่งจบ)
                เดิมนั้นประเทศยูโกสลาเวียประกอบด้วยรัฐต่างๆ ได้แก่ สโลเวเนีย  โครเอเทีย  บอสเนีย  เฮอร์เซโกวินา  เซอร์เบีย  มอนเตนิโกร  และมาซิโดเนีย  ขณะนี้แยกออกเป็นประเทศต่างๆ หมดเหลือเพียงบอสเนียกับเฮอร์เซโกวินายังรวมกันเป็นประเทศเดียวเรียกบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา  และด้วยเหตุผลเดียวกันจึงมีประเทศเซอร์เบียและมอนเตนิโกร  ซึ่งรวมกันหลวมๆ ทดลองอยู่ด้วยกัน 4 ปี  ตั้งแต่ 2002  ปีหน้าก็จะมีประชามติกันว่าจะหย่าขาดกันไหม  สรุปแล้วยูโกสลาเวีย  แตกออกเป็น 5 ประเทศ และอาจ 6 ประเทศในปีหน้า  ประเทศที่ยังไม่แยกกันจึงใช้คำว่า “และ” คั่นกลาง  ไม่ทราบว่าเถียงกันมากน้อยแค่ไหนกว่าจะตกลงกันได้ว่าชื่อไหนจะอยู่หน้าอยู่หลัง   นี่หากเป็นคนไทยคงจับสมาทกันเป็น  เซอร์เบรนิโกร  หรือ บอสเนโกวิเนีย อะไรทำนองนี้   ก่อนจะแยกกันได้ก็รบกันจนประเทศย่อยยับ  ทำให้นึกดูแล้วน่าจะเอาคน 3 จังหวัดปักษ์ใต้ไปดูงานความบอบช้ำ จะได้อยู่ด้วยกันอย่างสันติ  แทนที่จะพยายามแยกออกเป็น “ปันธิยาลาส”
                ประเทศยูโกสลาเวียเป็นอาณาจักรใหญ่โตในคาบสมุทรบอลข่าน   เดิมทีแถวนั้นอยู่กันเป็นรัฐเล็กๆ ที่ถูกหนีบด้านใต้ด้วยพวก Turk ผู้เป็นใหญ่ในอาณาจักรออตโตมันกับด้านเหนือด้วยจักรวรรดิออสเตรียน–ฮังการี  แถมบางครั้งเยอรมันและรัสเซียก็ขอแจมด้วย   รัฐเล็กเหล่านั้นต่างก็ต้องพึ่ง “พระบรมโพธิสมภาร”  แล้วแต่ว่าใครจะเป็น “ขาใหญ่” ในยุคนั้นๆ   ดังนั้นศิลปวัฒนธรรมจึงผสมผสานกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของยูโกสลาเวีย
                ประวัติศาสตร์เริ่มจากประมาณคริสศตวรรษที่ 6 ที่ชนเผ่า “สลาฟ” เคลื่อนย้ายจากแถบโปแลนด์ลงมาอยู่ในคาบสมุทรบอลข่านและกระจัดกระจายอยู่ทั่ว  “สลาฟ” ก็คือพวกที่เรียกว่า “เซอร์บ” นั่นเอง   เซอร์บอยู่รวมกับอีก 2 กลุ่มใหญ่คือ  Slovenes และ Croats  ต่อมาในคริสตวรรษที่ 7  ดินแดนแถบนี้ก็รับนับถือศาสนาคริสต์นิกาย Orthodox   อยู่ต่อมาอีก 600 – 700 ปี  จนถึงคริสศตวรรษที่ 13 -14 พวกเซอร์บเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด   แต่แล้วพวกเซอร์บก็พ่ายต่อ Turk ในปี 1389   มุสลิมจึงตั้งถิ่นฐานและเติบโตในโคโซโวอยู่จนถึงปี 1815 เซอร์บจึงลุกขึ้นสู้จนชนะ Turk  และได้รับการยอมรับเป็นประเทศเอกราชนามว่าเซอร์เบียในปี 1878   ฉะนั้นมุสลิมเคยชนะและแพ้ในโคโซโวมาแล้ว และประเทศเซอร์เบียก็เคยมีและเคยหายไปแล้วเหมือนกัน   ดินแดนแถบนี้จึงมีความต่างทางศาสนามาก
                ตอนสงครามโลกครั้งที่ 1  พวกเซอร์บอยู่ข้างรัสเซียและฝรั่งเศส (กลุ่มพันธมิตร)   ส่วน Croat ถูกหนุนหลังโดยกลุ่มออสเตรียน – เยอรมัน (กลุ่มอักษะ)   พอสงครามสงบ  พวกเซอร์บที่แทงหวยถูกข้างก็ได้เป็นใหญ่ในการรวมกลุ่ม Croats  และ Slovenes  เข้าเป็นประเทศในปี 1929   ตั้งชื่อว่ายูโกสลาเวีย  อันแปลว่าเมืองทางใต้ของชาวสลาฟ  โดยรวมดินแดน Croatia, Slovenia, Bosnia, Hercegovina, Vojvodina, Serbia, Montenegro และ Macedonia เข้าปกครองด้วยระบบกษัตริย์จนกระทั่งถูกลอบปลงพระชนม์ที่ฝรั่งเศส  ระบบกษัตริย์ก็เริ่มอ่อนแอ  
                ในเดือนมีนาคม 1941 ยูโกสลาเวียประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ฝ่ายอักษะ  แต่ฝ่ายทหารไม่เห็นด้วยก็เลยปฏิวัติล้มรัฐบาล  เยอรมันก็เลยสั่งสอนโดยการทิ้งระเบิดกรุงเบลเกรด  อีก 4 ปีต่อมาระบบกษัตริย์ก็ล้มและจอมพลตีโต้ได้ครองอำนาจและเปลี่ยนเป็นระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์   ตีโต้ครองอำนาจเกือบ 40 ปี  จนถึงแก่กรรมในปี 1980   เมื่อหมดยุคตีโต้ ดินแดนต่างๆ ที่เคยหงุดหงิดต่อความเป็นใหญ่ของพวกเซอร์บก็เริ่มมองหาทางแยกประเทศ
                การเลือกตั้งในบอสเนียเมื่อปี 1990 พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้เสียงเด็ดขาด  ทำให้พรรคของ Croat  จับมือเป็นพันธมิตรกับพรรคมุสลิม กลายเป็นเสียงข้างมากได้ตั้งรัฐบาล  โดยกันท่าพรรคชาตินิยมเซอร์บ  และประกาศอิสรภาพจากยูโกสลาเวีย  และได้รับการรับรองจาก UN ตั้งเป็นประเทศบอสเนีย   พวกพรรคชาตินิยมเซอร์บ (ซึ่งมีพวกอยู่มากในรัฐเซอร์เบียอันเป็นรัฐหลักของประเทศยูโกสลาเวียและเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง) ไม่ยอมรับการแยกตัวออกจากยูโกสลาเวีย   จึงตั้งรัฐบาลพวกตนเองขึ้นห่างจากซาราเจโวอันเป็นเมืองหลวงของบอสเนียเพียง 20 กม.   สงครามระหว่างยูโกสลาเวียกับบอสเนียก็เริ่มขึ้น รบกันในเมืองซาราเจโวนั่นเอง   กองกำลังของยูโกสลาเวียจากรัฐเซอร์เบียเข้มแข็งกว่าก็ทำลายล้างพวกมุสลิม  จน UN ต้องส่งทหารเข้าช่วย  ตามที่เรารู้จักกันในกรณี “สงครามในบอสเนีย” นั่นแหละ   เล่าถึงตรงนี้แล้วหวาดเสียวนะ  หากมีการประกาศอิสรภาพประเทศ “ปันธิยาลาส”  แล้ว UN รับรองขึ้นมา  จะเกิดอะไรบ้างก็ไม่รู้
                อยู่ไปอยู่มา รบกันยังไม่ทันสรุปได้ว่าใครแพ้ใครชนะ  พวก Croat รู้สึกหอมกรุ่นในกลิ่นรสอิสรภาพ ก็อยากแยกประเทศตนเป็น Croatia บ้าง  ก็เลยหันมารบกับมุสลิมพันธมิตรเก่าเพื่อแยก Croatia ออกจากบอสเนีย   สงครามนี้ UN ไม่ได้เข้าแทรกแซงเพราะกำลังจัดการกับพวกเซอร์บในบอสเนีย (Bosnian Serb) อยู่
                พูดถึง Bosnian Serb แล้ว  นักประวัติศาสตร์คงจำได้ว่า  สมัยที่บอสเนียอยู่ในอำนาจของออสเตรียนั้น มีเจ้าชายรัชทายาทชื่อเฟอร์ดินานด์ถูก Bosnian Serb ลอบปลงพระชนม์ในกรุงซาราเจโว  จนทำให้ออสเตรียประกาศสงครามกับบอสเนียแล้วก็ลามเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1   ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว ที่พวก Croat ก็มีแผลทางใจกับ Bosnian Serb อยู่แล้ว  เพราะอยู่คนละฝ่ายกัน (ตามที่ถูกหนุนหลังโดยมหาอำนาจ)   ฉะนั้น  Croat อยากรบกับ Serb ก็อยาก  และเมื่ออยากเป็นอิสระออกจากบอสเนียก็อยาก  ก็เลยรบกับมุสลิมมันซะด้วยให้ครบเป็นศึก 3 ก๊กให้รู้แล้วรู้รอดไป
                ในการแยกประเทศ Croatia นั้น  พวก Croat  นอกจากรบกับมุสลิมบอสเนีย  กับเซอร์บในบอสเนียแล้ว  ยังเปิดฉากรบกันเซอร์บในโครเอเทีย (Croatian Serb) อีกด้วย  เรียกว่าเซอร์บไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ถูกกรรมเก่าตามล้างชำระหนี้กันถ้วนหน้า
                คงเห็นแล้วนะครับว่ามีพวกเซอร์บกระจายอยู่ทั่ว จึงมีทั้ง Serbian Serb, Bosnian Serb และ Croatian Serb เมื่อเกิดการแยกประเทศ  พวกเซอร์บในรัฐต่างๆ จึงถูกรุมตื้บ  จนกองกำลังยูโกสลาเวีย (หรือรัฐเซอร์เบีย) ต้องเข้าช่วย   เมื่อต้านแรงจากนานาชาติไม่ได้ก็ต้องเสีย Slovenia ไปเป็นอันดับแรก  ประเทศนี้อยู่ติดออสเตรีย  จึงแยกง่ายหน่อย  แต่ก็ไม่ใช่ด้วยความสงบ   หลังจากนั้นก็เกิดประเทศ Croatia และ Bosnia and Hercegovina  แล้วก็เสีย Macedonia รัฐทางตอนใต้ออกไปอีก  จนเหลือแค่เพียงรัฐเซอร์เบียกับมอนเตนิโกรที่ยังอยู่ด้วยกัน  และเรียกประเทศ Serbia and Montenegro
                ในเซอร์เบียมี 3 จังหวัดใหญ่ คือ  Vojvodina  ทางเหนือ  มีเมืองหลวงชื่อ Novi Sad ที่ผมไปมา  แล้วก็มีจังหวัด Serbia เมืองหลวงคือเบลเกรด  และจังหวัด Kosovo อยู่ทางใต้มีเมืองหลวงชื่อ Pristina   จังหวัด Kosovo อยู่ทางใต้มีมุสลิมจากอัลบาเนียอาศัยอยู่มาก  ก็อยากจะแยกตัวอีก   แต่เซอร์เบียไม่ยอม  จึงเกิดสงครามล้างเผ่าพันธุ์มุสลิมในโคโซโว  ที่มุสลิมอัลบาเนียต้องอพยพกันอย่างน่าเวทนา   คราวนี้ NATO และสหรัฐทนไม่ได้จึงถล่มเซอร์เบียเป็นเวลา 78 วันเต็มๆ  จนเซอร์เบียยอมถอนทหารออกจากโคโซโว  
                เอาเป็นว่าคราวนี้ผมไปประเทศที่สายตาโลกมองว่าเป็นผู้ร้าย  และก็ทำให้ผมคิดว่า ไปคราวนี้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ช่างคล้ายประเทศไทยขณะนี้เหลือเกิน  เมื่ออำนาจการปกครองไม่เป็นธรรมก็จะต้องมีผู้ถูกกดขี่พยายามลุกขึ้นสู้  เมื่อสู้ก็จะสู้อย่างล้างผลาญเอาเป้าหมายตนเองเป็นที่ตั้ง  ไม่รับรู้ความเดือดร้อนผู้บริสุทธิ์ส่วนใหญ่   การรบในยูโกสลาเวียนั่นเริ่มมาตั้งแต่ 1991   แล้วประเทศก็แตก   รบกันทั้งสิ้น 8 ปี  จนกระทั่งเบลเกรดถูก NATO ทิ้งระเบิดในปี 1999   ขณะนี้ Serbia หันหน้าคืนดีกับ Bosnia แล้วและพวก Bosnian Serb ก็กลับถิ่นฐาน  มีเพียง 2 ประเทศนี้เท่านั้นที่ไม่ต้องใช้วีซ่าระหว่างกัน  ทั้งนี้เพราะ 2 ประเทศนี้ต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจกันและกัน  แต่ไม่รู้ว่าจะยื่นนิ้วก้อยให้กันได้นานแค่ไหน
                ในฐานะคน สกว. ถือได้ว่าพอจะไปหาความรู้แทนฝ่าย 1 ได้บ้างนิดหน่อย
                ทั้ง Novi Sad และ Belgrade เป็นเมืองมีป้อมใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำดานูป   เป็นป้อมที่ออสเตรียสร้างไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อนเพื่อป้องกันการรุกรานจาก Turk  แต่พอสมัยนี้ป้อมเหล่านี้ใช้อะไรไม่ได้เลยเพราะการรบใช้ขีปนาวุธ   ผมได้เห็นสะพานพังที่ Novi Sad  และที่ทำการรัฐในเบลเกรดถูกขีปนาวุธชนิดชี้เป้าระเบิดทะลุตึก  แบบที่ตึกข้างเคียงไม่เป็นอะไรเลย   แม่นมากครับ  ตอนนี้จะจัดเป็นงานฝ่าย 5 ก็ได้  มีทั้งท่องเที่ยวและการป้องกันประเทศ
                ที่เซอร์เบียนั้นทุกคนขมขื่นกับสงครามมาก  Dr. Masa (เป็นสตรี พวกเราเรียก “มาช่า”  แต่เขาออกเสียงเป็น “ม้าเฉิด”) อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลถึงกับพูดว่า  ประวัติสอนพวกเราว่า  อย่าพยายามอยู่ร่วมกับผู้อื่น (Don’t try to live with others)  แสดงให้เห็นความคิดว่าการรวมรัฐต่างๆ เป็นประเทศยูโกสลาเวียนั้นเป็นความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์   แต่ผมว่าจริงๆ แล้วขึ้นกับว่าเรามีทัศนคติและการปฏิบัติต่อการอยู่ร่วมกันอย่างไรมากกว่า
                คนที่ชาวเซอร์เบียเกลียดขณะนี้ (อาจจะชอบมากขณะสงคราม) คือ อดีตประธานาธิบดี Slobodan Milosevic  ถ้าเป็นภาวะสงครามที่ชาวเซอร์เบียทุ่มกำลังกายกำลังใจและเสียสละชีวิตเข้ารบ  ท่านประธานาธิบดีก็คือผู้นำผู้รักชาติ  รักแผ่นดิน   แต่พอสงครามสงบประธานาธิบดีก็กลายเป็นอาชญากร  ไม่มีแผ่นดินจะอยู่ (Slobodan Milosevic ขณะนี้ขึ้นศาลโลกที่กรุงเฮก)   คลับคล้ายคลับคลากับการคลั่งวิสัยทัศน์ท่านผู้นำใน “สงครามการเมือง” ในประเทศแถบนี้ชอบกล  แต่ไม่รู้ว่าผลสุดท้ายประเทศจะลงเอยแบบใด
                Milosevic เป็นคนชาตินิยมจัด เผด็จการ เชื่อมั่นในอำนาจตนเองและพรรค (บ้านเราอาจจะแปลว่า CEO)  เขาขึ้นมามีอำนาจในปี 1986   Milosevic หมดอำนาจก็เพราะแพ้เลือกตั้งในเดือนกันยายน 2000 (มีอำนาจอยู่ 4 ปีเท่านั้นเอง  ยังไม่ทันได้ต่อเป็น “4 ปีสร้าง” เลย)  และเมื่อรัสเซียเลิกหนุนหลังโดยประกาศรับรองรัฐบาลใหม่   ผู้นำที่รักชาติแต่ไม่รู้จักการอยู่อย่างสมานฉันท์จึงมีจุดจบอย่างน่าเศร้า
                เป็นไงครับเรื่องการแตกของประเทศยูโกสลาเวีย  วุ่นวาย ซับซ้อนจนเขียนกำลังภายในได้ตั้งใหญ่ทีเดียว  หรือใช้เหลียวมองดูเราเองก็ได้
                ผมใช้บริการของ Austrian Airline ไปลงเวียนนา(คุณดวงพร พิมพ์ตรงนี้ว่า “เวียดนาม”  คงนึกว่าเครื่องบินผมถูกสลัดอากาศจี้หรืออย่างไรไม่ทราบ)ตอนเช้าตรู่   เครื่องที่จะต่อไปเบลเกรดออกตอน 13.30 น. จึงมีเวลาเข้าไปเที่ยวเวียนนา(ดีหน่อยที่ไม่พิมพ์เป็น “ฮานอย ฉันคอยเธอ” หรือ “ฮอยอัน ฉันรักเธอ”)4 -5 ชั่วโมง   เป็นการเที่ยวที่ผิดเวลาอย่างมาก  เพราะเมืองหลวงของยุโรปจะร้างผู้คนจนกว่าจะสัก 9 โมงครึ่ง หรือ 10 โมง  มีผู้สันทัดกรณีของเราคนหนึ่งถือแผนที่แล้วนำทางเพื่อไปดูโบสถ์ใหญ่กลางเมือง  ทุกคนเดินตามเป็นแถวเหมือนลูกเป็ดเดินตามแม่ของมัน  กว่าจะรู้ว่าแม่หลงทางก็เมื่อชาวเวียนนาที่วิ่งออกกำลังกายคนหนึ่งชี้ทางสว่างให้กลับหลังหัน  เพราะเราเดินผิดทิศมาเกือบ 2 กม.แล้ว
                โบสถ์ใหญ่ใจกลางเมืองชื่อ Stephandom   เมื่อผมเข้าไปนั้นมีคนอยู่สัก 50 คน กำลังทำพิธีทางศาสนาตอนเช้า  ความจริงก็ไม่ได้สวยงามไปกว่าโบสถ์ในเมืองใหญ่ๆ อื่นในยุโรปที่เคยเห็นมา   เมื่อออกจากโบสถ์นั้น  แม่เป็ดจับทิศทางแผนที่ได้และนำทางลูกเป็ดไปดูแม่น้ำดานูป   ผมเองก็อยากจะเห็นแม่น้ำนี้อยู่แล้วจึงไม่ลังเลที่จะสมัครเป็นลูกเป็ดเดินขึ้นเหนือได้สัก 15 นาทีก็ถึงลำน้ำ   บรรดาลูกเป็ดทั้งหลายถ่ายรูปกันใหญ่  จนกระทั่งใครคนหนึ่งสงสัยว่าทำไมแม่น้ำเล็กจัง   คนที่เคยอยู่หรือไปเที่ยวเวียนนามาแล้วคงเข้าใจว่าเดิน 15 นาทีขึ้นไปทางเหนือของ Stephandom คือ คลองดานูปที่ขุดมาจากแม่น้ำให้ผ่านเมืองต่างหาก   ในแผนที่ใหญ่นั้น  แม่น้ำดานูปใหญ่มากและไปอีกไกลเกินกำลังจะเดินไปได้  หลังจากรู้ความจริงลูกเป็ดก็แตกฝูง เดินเทียวกันเอง   บทเรียนนี้สอนว่าอย่าเชื่อผู้นำมากนัก  แม้ว่าจะมีแผนที่  เพราะขึ้นกับว่าดูแผนที่ จับทิศทางกลับหัวกลับหางหรือไม่   และแผนที่นั้นเป็นพื้นที่ขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ที่ทำให้เราเห็นภาพทั้งหมด  พวกชอบ Roadmap ทั้งหลายพึงสังวรไว้ด้วย   จะว่าไปแล้วก็เหมือนวิจัยนั่นแหละ ที่นักวิจัยมักจะเขียน proposal แบบกลับหัวกลับหาง เอาความต้องการเป็นเลิศทางวิชาการมาขายผู้ประกอบการ  และเห็นจุดเล็กๆ ลึกๆ มากกว่าภาพกว้างๆ ของบริบทใกล้เคียง   
                เครื่อง Austrian Airline เที่ยวบินที่ OS773 ออกจากเวียนนาตอน 13.30 น. และลงจอดที่ Belgrade ตอน 14.30 น. (ภาษาเขาเรียก Beograd แปลว่าเมืองสีขาว) แล้วก็นั่งรถบัสอีก 1 ชั่วโมงไปเมือง Navi Sad  ผ่านเมืองเล็กเมืองน้อยอีก 2 -3 เมือง สังเกตเห็นภาษาที่ใช้มีตัวอักษรคล้ายภาษารัสเซีย   บางคำก็ใช้อักษรโรมันพอจะแปลได้เช่น Policija ที่แปลว่าตำรวจ  พวกเราเรียก “โปลิสซิจ๊ะ”  และอำกันว่าน่าจะเป็นตำรวจหญิง  แต่พอคนท้องถิ่นบอกว่าตัว J ออกเสียง Y  เป็น “โปลิสซิยะ” ก็เลยไม่แน่ว่าเป็นตำรวจหญิงจริงๆ หรือหญิงปลอมๆ
                Novi Sad  เป็นเมืองหลวงของจังหวัด Vojvodina  เป็นเมืองที่มีประชากร 3.5 แสนคน  และเป็นสถานที่ใช้จัดนิทรรศการประจำปีเกี่ยวกับเกษตรในยุโรป  เพราะ Vojvodina  เป็นที่ราบของเซอร์เบีย  เป็นดินแดนเกษตร  จังหวะที่ไปถึงมีการจัดงานพอดี  เป็นการจัดครั้งที่ 72 แล้ว  จึงได้เข้าไปดูเผื่อฝ่าย 2 ด้วย  งานเกษตรที่นี่ต้องเสียสตางค์เข้าดู (ประมาณคนละ 120 บาท)  ที่ต่างจากเกษตรแฟร์บ้านเราคือ ไม่มีมะขามหวาน  ไม่มีต้นไม้  ไม่มีข้าวหลาม ไม่มีผ้าทอ  ไม่มี OTOP  แต่เป็นเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ล้วนๆ  บริเวณงานกว้างมากเดินทั้งวันก็ไม่หมด
                เป็นเพราะมีงานเกษตรแฟร์ โรงแรมจึงเต็มหมด  กลุ่มเราได้พักนอกเมืองออกไปสัก 20 นาที  ทางตอนใต้ของแม่น้ำดานูป (Novi Sad อยู่ฝั่งทางเหนือ)   โรงแรมชื่อ ดูนาป (Dunav)  ตั้งอยู่ติดฝั่งดานูป   คำว่า Dunav จริงๆ แล้วก็คือ Danube ในภาษาของเขานั่นเอง    ผมจึงมีโชค 2 ชั้นสมปรารถนา คือ ได้นอนที่ดานูปริมฝั่งดานูป   ยุโรปก่อนหน้านั้นฝนตกที่ต้นน้ำมากและหิมะกำลังละลายเพราะเข้าฤดูใบไม้ผลิ   น้ำจึงเต็มฝั่งสวยมาก  แม่น้ำกว้างกว่าเจ้าพระยาและน้ำใสไหลแรง  ผมลองวักน้ำจากตีนสะพานท่าน้ำดูไม่ปรากฏความขุ่นของโคลนเลย  แสดงว่าแทบไม่มีการชะล้างเลย  ผิดกับเจ้าพระยาที่ผมไปได้ข้อมูลมาจากโรงกรองน้ำบางเขนของการประปานครหลวงเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อนไปเซอร์เบียว่า  การผลิตน้ำประปาของกรุงเทพฯ เฉพาะโรงกรองบางเขนแห่งเดียวมีตะกอนดินต้องขนทิ้งวันละ 300 ตัน และสูงเป็น 700 ตันในหน้าฝน
                โรงแรมเปิดใหม่  พวกเราเป็นคณะแรกที่มาเป็นกลุ่ม จึงมี surprise พนักงาน(สวยมากอีกแล้ว)แต่งกายพื้นเมืองต้อนรับด้วยธรรมเนียมของเขาเป็นขนมปังจิ้มเกลือในตระกร้าที่เธอคล้องแขน  ไม่อร่อยหรอก  แต่นักวิจัย มอ. ก็แวะเวียนไปขอบ่อยจนอิ่มขนมปังกันเป็นแถว  พื้นห้องอาหารโรงแรมอยู่สูงกว่าน้ำสัก 2 เมตรเห็นจะได้  อาหารทุกมื้อที่โรงแรมจึงโรแมนติกมาก  โดยเฉพาะเมื่อมีดนตรีพื้นเมืองและการแสดงของชาวเซอร์เบียต้อนรับ   คณะเราอยู่ที่นั่น 4-5 วัน  มีทั้งแดดออกเห็นระลอกน้ำระยิบระยับแดด  มีทั้งฝนตกปรอยๆ เห็นแม่น้ำในสายฝนที่เลือนรางเหมือนม่านหมอก  และเสียงระรอกคลื่นกระซิบเจ๊าะๆ แจ๊ะๆ กับท่าน้ำ  สวยจนอยากจะบรรยายต่อ  แต่ก็กลัวว่าคนอ่านจะอิจฉา  วิ่งหาน้ำแข็งประคบตา
                ยูโกสลาเวียหรือเซอร์เบียมีดนตรีเพราะมากๆ  นักดนตรีที่มาแสดงในห้องอาหารก็คือชาวไร่ชาวนาที่มาทำงาน part-time  เล่นดนตรีอย่างมีอารมณ์ครื้นเครงแบบชนบท   ไม่มีแบบแผนชัดเจน  ทุกคนเล่นเครื่องดนตรีของตนและใส่ลูกเล่น ลูกล้อ ลูกขัด ตามถนัด  คืนงานเลี้ยงใหญ่ (กาล่าดินเนอร์) มีการแสดงระบำพื้นเมืองที่สวยงามมาก  ระบำของเขาใช้ศิลปะการขยับสลับเท้าคล่องมาก   ที่สวยแปลกตาคือทุกคนแต่งกายพื้นเมือง  ผู้หญิงถักเปียเกล้าขึ้นบนศีรษะและมีพวงดอกไม้แซมด้านข้าง
                บอกให้อิจฉาอีกสักครั้งก็ได้ว่า  ที่ผมเคยบอกว่าสาวอิหร่านสวยแล้วก็ยังแพ้สาวเซอร์เบีย  ในช่วงสงครามนั้นหนุ่มๆ เซอร์เบียที่ออกรบเสียชีวิตไปประมาณครึ่งหนึ่ง  เมื่อทราบข้อมูลเชิง quantitative  เช่นนี้แล้ว  นักวิจัยชายหลายคนวิเคราะห์และสังเคราะห์เชิงตรรกะแล้วสรุปว่า  เซอร์เบียเป็นประเทศน่าอยู่มากกว่าปกติ
                Novi Sad  เป็นเมืองหน้าด่านของออสเตรีย  ไว้ป้องกันพวก Turk  จึงมีป้อมโบราณสร้างไว้ซับซ้อนมาก  (แต่เล็กกว่าที่ Belgrade)  อายุ 400 ปีแล้ว  แต่ไม่เคยใช้งานในฐานะป้อมรบเลย  ถือได้ว่าเป็น heritage ริมแม่น้ำดานูปที่สำคัญแห่งหนึ่งของ Novi Sad
                จังหวะนี้เป็นฤดูใบไม้ผลิ ไม้บนเขาจึงดูเขียวสดใน  แต่ขณะเดียวกันละอองเกสรก็เต็มไปหมด  ไม่ทราบเหมือนกันว่ามาจากต้นอะไร  แต่เต็มทั้งเมือง  มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าปลิวมาเป็นปุยเล็กๆ คล้ายนุ่นเกาะตามหัวตามเสื้อผ้า   บางคนก็แพ้น้ำมูกน้ำตาไหล   ดังนั้นคนที่แพ้มักจะภาวนาให้ฝนตก  เพราะละอองเกสรจะได้ไม่ปลิว   แล้วฝนก็ตกสลับกับแดดออก  จนแม้กระทั่งเจ้าภาพเองก็แปลกใจว่าทำไมอากาศเปลี่ยนมากอย่างนี้ (ไม่ทราบว่าคนไทยคนไหน “เล่นของ” หรือเปล่า  หรือเป็นเพราะคน มอ. ไปกันมากจนอากาศวิปริตแปรปรวน)
                พิธีเปิดเขาทำเสียใหญ่โต  คงจะเป็นเพราะเป็นการเปิดประตูแรกและประตูใหญ่ของมหาวิทยาลัยในการคบกับเอเซีย   เขามีพิธีที่รัฐสภา (parliament ) ของจังหวัด  มีดนตรีบรรเลง (เพราะมาก) ก่อนเปิดงาน   มีการกล่าวของคนหลายคนโดยล่ามแปลสดๆ (simultaneous interpretation) ให้ฟังทางหูฟัง   ตอนออกจากโรงแรมไปร่วมพิธีเปิดนั้น ฟ้าครึ้มและร้องฮึมๆ อยู่ไกลๆ เหมือนเอาฤกษ์เอาชัย   พอขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำดานูป ฝนก็เทลงมาห่าใหญ่แบบไม่ลืมหูลืมตา   ครั้นพอรถจอดหน้ารัฐสภาฝนก็แปรสภาพเป็นลูกเห็บ  ต้องนั่งรอบนรถเพราะไม่อยากได้รับบาดเจ็บหัวโน   วันรุ่งขึ้นแดดจ้าตอนเช้า  ฝนปรอยๆ ตอนบ่าย  แล้วสัก 4 โมงเย็นก็มีหิมะตก 
                เรียกได้ว่ามีครบทุกอย่างจากฟากฟ้า   ไม่ทราบว่าใครแสดงกฤษดาภินิหารเหยียบเมือง Novi Sad หรือเปล่า
                ผมขอกลับมาที่งานวิชาการเพื่อเป็นตัวแทนฝ่าย Basic บ้างดีกว่า 
                การประชุมวิชาการนี้เป็นการจัดของ 2 มหาวิทยาลัย  คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับ Novi Sad (มีอีก 3 -4 มหาวิทยาลัยในประเทศไทย เช่น สจล. มจธ. มหิดล จุฬาฯ ส่ง paper ด้วยแต่ไม่ได้ไป  เข้าใจว่าคงถอดใจกับการต้องไปทำ Visa ที่อินโดนีเซียเสียก่อน)  เท่าที่ประเมินหัวข้อและ content ดู  รู้สึกว่าเราจะก้าวหน้ากว่าในด้าน biotechnology พลังงาน IT  ที่เห็นจะสูสีกันคือด้าน เกษตร และ material science ที่เขามีฐานทางฟิสิกส์และคณิตศาสตร์แน่นกว่าเรา  ที่สำคัญคืองานวิจัยในมหาวิทยาลัยของเรารวมเป็นกลุ่มมีทิศทางมากกว่า  ความร่วมมือหลายอย่างขณะนี้ มอ. อยู่ในฐานะเป็นผู้ให้  โดยเฉพาะที่ชัดเจนมากคือ biodiesel และ biogas ที่มหาวิทยาลัย Novi Sad จะขอเรียนรู้จาก มอ.  ฉะนั้นในสายตาของผมแล้ว  มหาวิทยาลัยไทยกับ Novi Sad  สามารถคบกันได้ในฐานะที่เท่าเทียมกันอย่างไม่น่าเกลียดมากนัก  ซึ่งจะต่างออกไปจากที่เราคบกับอเมริกา  อังกฤษ หรื อออสเตรเลีย  และสามารถใช้เป็นฐานไปสู่ความร่วมมือในภูมิภาคคาบสมุทรบอลข่านได้ (ใน trip นี้คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยในเมืองซาราเจโวให้ไปเยี่ยมด้วย  เพราะ Novi Sad  ไปชวนมา และมี MoU ต่อกันแล้ว  แต่สุดท้ายไม่ได้ไปเพราะขอ Visa on arrival ไม่ได้)  ผมไม่ทราบว่าเราจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง  คงต้องให้ฝ่าย 1 เป็นผู้สันทัดกรณีวิเคราะห์วิจารณ์ต่อไป  ส่วนผมขอเป็นแค่ลูกเป็ดเดินตามก็แล้วกัน
                ต้องขอโทษด้วยที่ไปคราวนี้ไม่มีอะไรติดมือมาฝากกันเลย  เป็นเพราะไม่มีอะไรจริงๆ   ตอนอยู่ Novi Sad  พยายามหาจบเมืองว่ามีอะไรเป็นของที่ระลึกมาฝากบ้าง   แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อเมื่อเจ้าภาพบอกว่าทั้งเมืองมีร้านขายของที่ระลึกอยู่ร้านเดียว   เป็นร้านเล็กๆ ซึ่งไม่มีอะไรน่าซื้อเลย   ปกติหากไปเมืองที่ไม่ปรกติ (คือหาทางไปยาก) เช่นนี้  ผมจะต้องมีของที่ระลึกสักชิ้นให้กับครอบครัวเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้ไปเมืองที่ไม่ค่อยมีคนอื่นไปมาแล้ว  ผมเองก็ยังไม่ได้สักชิ้นเดียว  เช้าก่อนกลับมีโอกาสไปเบลเกรดชมป้อมปราการใหญ่มากเพราะตั้งอยู่ที่บรรจบกันของแม่น้ำ Sava กับ Danube  ก็อุตสาห์หลบเข้าเมืองไปหาของที่ระลึก  ก็ยัง (อุตสาห์) หาไม่เจอ   จะเอาช็อกโกเลตมาฝาก  คน(((สวย)))ที่ฝ่ายฯก็กำชับว่าไม่เอาแล้ว  ใครกลับมาทีไรก็ได้แต่ช็อกโกเลต  บางคนแอบโทษช็อกโกเลตว่าเกี่ยวกับน้ำหนักตนเองซะอีก จึงทำให้ความสวยต้องถูกขังอยู่ในวงเล็บ (ตั้ง 3 ชั้น.....  ผมหมายความว่าสวย 3 ชั้น  ไม่ใช่ 3 ชั้นอย่างอื่น  อย่าเข้าใจผิด)
                ฉะนั้น เอาเป็นว่าเอาเรื่องเล่ายาวๆ อย่างที่เขียนตอนนี้แทนก็แล้วกัน 
                
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2732เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2005 20:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 04:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท