สุขภาพดีอย่างยั่งยืน ภายใต้การดำรงชีวิตแบบพอเพียง


การดูแลตัวเองได้

คำถามมีอยู่ว่า สุขภาพดีอย่างยั่งยืน คืออะไร  แล้วเกี่ยวอะไรกับเศรษฐกิจพอเพียง

            สวัสดีค่ะ ต้องขออนุญาตออกตัวก่อนซักเล็กน้อย เพราะเป็นสมาชิกใหม่ blog นี้เป็น blog แรกที่พยายามจะเขียน  หากผิดพลาดประการใด หรือมีข้อแนะนำใดก็ยินดีรับเพื่อแก้ไข  และจะยินดีมากหากมีการแลกเปลี่ยนกันนะคะ

            ผู้เขียนมีโอกาสดีได้ติดตามไปศึกษาดูงานร่วมกับท่านอาจารย์ที่ภาควิชา ซึ่งการเดินทางได้ร่วมไปกับศาสตราจารย์จาก Mie University Graduate school of medicine ด้วย   เรามุ่งหน้าไปที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ที่นี่เป็นโรงพยาบาลอำเภอ ขนาด 30 เตียง  บรรยากาศทั่วไปจัดได้ว่าร่มรื่น จำนวนผู้รับบริการสุขภาพในภาคเช้าดูหนาแน่น ไม่ต่างกับหลาย ๆ โรงพยาบาล  พื้นที่ในโรงพยาบาลถูกจัดแบ่งเป็นสัดส่วนของผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน

            แต่ที่เรามาที่นี่ เราไม่ได้มาดูแค่โรงพยาบาลค่ะ เราจะเข้าไปลึกกว่านั้น  เพราะเรากำลังเดินเข้าไปด้านหลังบ้านพักของผู้อำนวยการโรงพยาบาล พื้นที่ที่ได้รับการบอกเล่าว่าเมื่อก่อนเป็นหญ้ารกๆ ไม่มีอะไร แต่ตอนนี้ถูกจัดแบ่งไว้เพื่อปลูกผักสวนครัว, กล้วย(พืชพื้นเมืองที่ทั้งทน มีประโยชน์มาก และสร้างความชุ่มชื้นให้ดิน ทำให้ต้นไม้รอบข้างเติบโตได้ดี)  และะสมุนไพร เรากำลังเดินตาม พญ.ธารทิพย์ อดีตแพทย์โรงพยาบาลอุบลรัตน์ที่ปัจจุบันมุ่งมั่นให้กับงานสุขภาพชุมชนที่ยั่งยืนอย่างพอเพียง คำถามแรกของผู้เขียนได้รับการตอบจากที่นี่ สุขภาพดีที่ยั่งยืน คือ การดูแลตัวเองได้ มีอยู่-พอกิน (ซึ่งในที่นี้คือ อยู่ได้ด้วยตัวเอง , กินได้สารอาหาร,สะอาด,ปลอดภัย,ไม่สร้างหนี้...)   พึ่งตัวเอง (ดูแลสุขภาพตัวเองได้ รู้ว่าต้องทำอย่างไรเื่มื่อรู้สึกถึงความป่วยไข้ รู้จักการใช้สมุนไพร... )  

             หลังจากนั้นเราได้เข้าห้องบรรยาย ได้ดูภาพโฆษณาชิ้นหนึ่งที่คนไทยส่วนใหญ่น่าจะคุ้นชิน ภาพการ์ตูนของชายสองคน ชื่อนายแดงกับนายเขียว กับจัดการพื้นที่ที่ต่างกัน นายแดงปลูกอ้อยบนพื้นที่ทั้งหมด เพราะตลาดอ้อยราคาดี  นายเขียวปลูกพืชหลายชนิด มีบ่อเลี้ยงปลา มีสมุนไพร ... ความแตกต่างที่เกิดขึ้นเป็นข้อเปรียบเทียบง่าย ๆ ที่ตัวผู้เขียนเองก็เพิ่งได้เข้าใจ นายแดงต้องขายอ้อยไปซื้อปลา แต่นายเขียวตกปลากินหน้าบ้าน  ตลาดอ้อยราคาตกนายแดงขาดทุนย่อยยับ ลูกหลานต้องไปทำงานที่อื่น แต่นายเขียวยังมีพืชชนิดอื่นที่ขายได้ ลูกหลานก็อยู่ทำงานกันในพื้นที่แห่งนี้  แน่นอนว่าสุขภาพของคนเราแปรผันตรงกับวิถีชวิตความเป็นอยู่ กินดี อยู่ดี สุขภาพก็ดี ผู้เขียนกำลังต่อภาพในจินตนาการอย่างขมักเขม้น เพราะด้วยสายงานด้านสุขภาพที่ฝังอยู่ในสายเลือด ภาพที่คนทุกคนกำลังยืนอยู่บนพื้นดินของตัวเอง สร้างงานที่นี่ อยู่กินที่นี่ ครอบครัวอยู่ที่นี่ สมาชิกทุกคนในครอบครัวได้ดูแลกันและกัน ไม่มีสารเคมี ไม่มีหนี้สิน ไม่มีความเครียด มันทำให้รู้สึกอมยิ้มได้อยู่เล็ก ๆ เพราะนั่นก็แปลว่าคนเราจะสุขภาพดีขึ้น นอนรักษาในโรงพยาบาลลดลง มีญาติพี่น้องดูแล  (ที่สำคัญคือภาระงานการพยาบาลของพยาบาลตัวเล็กๆ อย่างผู้เขียนก็คงไม่หนักหนาสาหัสอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้...เป็นความรู้สึกส่วนตัวที่ทำให้ใจเรายิ้มได้นะคะ  แม้จะเป็นเพียงเหตุผลเล็กๆ แต่ถ้าเป็นจริงขึ้นมามันก็จะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย อัตราเจ็บป่วยลดลง ภาวะสุขภาพที่ดีขึ้น ครอบครัวอบอุ่น ฯลฯ )  และตอนนี้ นพ.อภิสิทธิ์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์กำลังบรรยายเรื่องราวที่ทำได้แล้วจริง ๆ อยู่ตรงหน้า ภาพฝันของผู้เขียนก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้น  อย่างน้อยวันนี้ก็มีคนเริ่มต้นแล้ว ทำได้จริงแล้ว แต่ยังเป็นงานที่ต้องรอผล ผลในอนาคตที่เราสามารถการันตีได้ว่าต้องออกมาดี เพราะผักสวนครัวที่ปลูกอยู่หลังบ้านวันนี้ มันไม่ได้โตมาให้กินได้พรุ่งนี้ มันต้องรอ แต่สิ่งที่เราต้องทำวันนี้คือทำอย่างไรจะให้บ้านทุกหลังปลูกผักกินเอง ทำอย่างไรจะให้คนจับจอบจับเสียมขุดหลุมปลูกกล้วย  

          ผู้เขียนรู้สึกชื่นชมคุณหมอทั้งสองท่านนี้อย่างมาก แววตาที่มุ่งมั่น ท่านจริงจังกับงานชุมชน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาสุขภาพที่ถูกทาง เริ่มจากต้นเหตุ ไม่ใช่ไปแก้กันที่ปลายเหตุ สร้างไว้ให้ดีตั้งแต่ต้น ปลายก็ย่อมดี

   "ประเทศไทย ไม่ใช่แค่กรุงเทพ , การรอดของชีวิต ไม่ใช่แค่เงิน , คนป่วยไข้ ไม่ได้อยู่แค่ในโรงพยาบาล , เรา ไม่สามารถดูแลใครได้ตลอดชีวิต" >>> เศรษฐกิจพอเพียง คือคำตอบของการมีสุขภาพดีที่ยั่งยืน

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 272476เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2009 13:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 00:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

  • สวัสดีครับ
  • เข้ามาทักทายน้องสาวตัวน้อย ๆ
  • ชอบตรงน้มากเลยครับ  "ประเทศไทย ไม่ใช่แค่กรุงเทพ , การรอดของชีวิต ไม่ใช่แค่เงิน, คนป่วยไข้ ไม่ได้อยู่แค่ในโรงพยาบาล, เรา ไม่สามารถดูแลใครได้ตลอดชีวิต" 
  • เศรษฐกิจพอเพียง คือคำตอบของการมีสุขภาพดีที่ยั่งยืน

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณทั้งความคิดเห็น และอุตส่าห์ไปหาแล้วดึงน้องเข้ามาในบอร์ด

^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท