ทำอย่างไรถ้าไม่เผาฟาง


ตอซังและฟางข้าวมีประโยชน์อย่างไร

ดินที่ดี  ส่วนประกอบของดินที่ดีต่อการปลูกพืชควรมีเนื้อดินที่เป็นอนินทรีย์วัตถุ เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยของแร่และหินต่างๆ ที่สลายตัวตามธรรมชาติ ส่วนนี้ควรมีร้อยละ 45  ส่วนที่สองคืออินทรียวัตถุประมาณร้อยละ 5 เป็นส่วนที่เกิดจากการเน่าสลายของซากพืชและสัตว์  อีกร้อยละ 50 โดยรวมคืออากาศและน้ำ  สำหรับดินนามีน้ำขังเกือบตลอดเวลาจะมีน้ำเกือบทั้งหมดมีอากาศน้อย  ดังนั้นการเผาตอซังและฟางข้าวทิ้งไปจึงเป็นการทำลายโอกาสที่จะพัฒนาดินให้มีศักยภาพการผลิตที่ดีขึ้น เนื่องจากดินนาส่วนใหญ่มีอินทรียวัตถุในดินน้อยกว่า 2 เปอร์เซ็นต์   ซึ่งถ้าเกษตรกรลดการเผาตอซังและฟางข้าวจะสามารถพัฒนาดินให้มีอินทรียวัตถุให้กับดินได้มากขึ้นซึ่งวิธีนี้บางท่านอาจมองข้ามไป  เพราะคิดว่าถ้าข้าวแสดงอาการขาดธาตุอาหาร ก็นำปุ๋ยเคมีมาใส่ หรือบางรายแก้ปัญหาด้วยการนำปุ๋ยอินทรีย์ หรือสารปรับปรุงดิน ผสมกับปุ๋ยเคมีใส่ลงไปเป็นการแก้ปัญหาให้กับดินที่ปลายเหตุ  จนลืมไปว่าสิ่งที่ดีที่สุดนั้นมีอยู่ในแปลงนาอยู่แล้ว  อีกทั้งการเผาตอซังและฟางข้าวนอกจากจะทำให้เกิดมลพิษคือความร้อน ควัน ฝุ่นละออง  ปัญหาต่อการจราจรแล้ว  ยังเป็นการทำลายวัสดุที่จะใช้ในการปรับปรุงดินที่จะสลายตัวให้ธาตุอาหารพืชจำนวนมหาศาลอีกด้วย

สิ่งดีๆ มีอยู่ในนาข้าว  ตอซังและฟางข้าวมีธาตุอาหารเป็นส่วนประกอบดังนี้ ไนโตรเจน 0.65-0.70 % ฟอสฟอรัส 0.08-0.10 % โพแทสเซียม 1.40-1.60 % แคลเซียม 0.40 % แมกนีเซียม 0.20 %   หากเผาตอซังและฟางข้าวทิ้งไปเหลือเป็นขี้เถ้านั้นไนโตรเจนจะถูกทำลายไปกว่า 90 %  ฟอสฟอรัส 20 % และโพแทสเซียม 23 % ถ้าไม่เผาตอซังและฟางข้าวแล้วจะเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน มีธาตุสารประกอบที่มีในพืชและสัตว์และมีจุลินทรีย์ที่ตายแล้วและยังมีชีวิตอยู่  เป็นอินทรียและหมุนเวียนธาตุอาหารพืชคืนสู่ดินปรับปรุงโครงสร้างของดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช  ดินมีความโปร่งร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี และความหนาแน่นของดินลดลง  ช่วยดูดซับธาตุอาหารในดิน และปลดปล่อยออกมาอยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช และลดความเป็นพิษของเหล็กและแมงกานีสในดิน  เพิ่มปริมาณของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน ช่วยในการลดระดับความเค็มของดิน รักษาระดับความเป็นกรดและด่างของดิน ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช  สารมารถเพิ่มผลผลิตให้กับพืช  ซึ่งถ้าไถกลบตอซังในพื้นที่เกษตรกรรมอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ผลผลิตพืชเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่เผาตอซัง   การไม่เผาฟางข้าวยังส่งผลดีที่จะช่วยอนุรักษ์แมลงและสัตว์เล็ก ๆ ที่เป็นประโยชน์ในไร่นา  จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินไม่ถูกทำลาย

สาเหตุที่เผาฟาง  เกษตรกรส่วนใหญ่จะเผาฟางหลังการเก็บเกี่ยว แล้วปล่อยน้ำเข้านาก่อนใช้รถตีดิน เพราะถ้าไม่เผาฟางแล้วจะไม่สามารถตีดินได้ 

แนวทางแก้ไขเพื่อเลิกเผาตอซังและฟางข้าว  พันจ่าโทเฉลียว   น้อยแสง   ทหารเรือเก่าทีพลิกผันชีวิตมาเป็นเกษตรกร  บ้านเลขที่ 42/3  หมู่ 10  ต.แพรกศรีราชา  อ.สรรคบุรี  จ.ชัยนาท  กล่าวว่า ได้ร่วมปรึกษาสมาชิกโรงเรียนเกษตรกร เพื่อหาทางแก้ไข เนื่องจากให้เพื่อนเกษตรกรใช้การหมักด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วยก่อนไถกลบแล้วไม่ทันใจ เพราะต้องใช้เวลานานถึง 14 วัน แต่ถ้าไม่เผาก็จะพบปัญหาฟางพันตัวตี(โรตารี่)  ทดลองหลายวิธี จึงได้วิธีคือ ปล่อยน้ำเข้านา ใช้น้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วย 5 ลิตร/ไร่ ใส่แกลลอนผูกติดโรตารี่ เจอะรูให้น้ำหมักหยดตลอดการไถกลบ  ต้องไถขวางรอยเกี่ยวข้าวจะสามารถไถได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการตีดิน โรตารี่จะตีดินและฟางข้าวติดโรตารี่จะหลุดเมื่อตีดินถึงช่วงไม่มีฟางระหว่างรอยเกี่ยว  กระบวนการตีดินไถกลบตอซังและฟางข้าวจะดำเนินแบบนี้จนสามารถไถกลบตอซังและฟางข้าวจนเสร็จสิ้นอย่างมีประสิทธิภาพ  แต่การไถแบบนี้จะทำให้การไถช้าลง เป็นประเด็นที่เกษตรกรจะต้องทำความตกลงกับผู้ประกอบการรถไถนา  อาจต้องเพิ่มค่าไถนาอีกเล็กน้อย  เมื่อไถกลบแล้วหมักทิ้ง 7 วัน ใช้ระยะเวลาใกล้เคียงกับการเผาตอซังและฟางข้าว เพียงเท่านี้ก็สามารถเตรียมดินปลูกข้าวพร้อมหว่านข้าวน้ำตมได้ตามปกติ  โดยไม่ต้องเผาฟาง ไม่เสียเวลาหมักฟาง ได้อินทรียวัตถุ ลดการใช้ปุ๋ยในนาข้าว ไม่ต้องเสียค่ากระจายฟางข้าวก่อนเตรียมดิน พื้นที่นาจะอุดมสมบูรณ์ลดอัตราการใช้ปุ๋ยเคมี

นายรังสรรค์  กองเงิน  เกษตรจังหวัดชัยนาท  กล่าวว่า การผลิตข้าวแบบลดต้นทุน จะต้องลดต้นทุนด้วยการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน ตั้งแต่การเตรียมดิน การปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุอย่างง่ายและประหยัดสุด คือการลดการเผาตอซังและฟางข้าว  การวิเคราะห์เพื่อใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน  การใช้พันธุ์ข้าวพันธุ์ดีและต้านทานโรคแมลงศัตรูพืช   การอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ ควบคู่กับการใช้สารสกัดสมุนไพร หรือสารชีวภัณฑ์  ซึ่งการใส่ปุ๋ยในนาข้าวตามค่าการวิเคราะห์ดินนั้น  สามารถลดลงตามสัดส่วนของอินทรียวัตถุในดินนานั้นๆ คือ  ดินที่มีอินทรียวัตถุในดินมากกว่า 2 %  อาจใส่ปุ๋ยลดลงครึ่งหนึ่งของอัตราที่เคยใช้  โดยทั่วไปอินทรียวัตถุในดินที่มีมากกว่า 2 % นั้นจะสลายตัวให้ธาตุอาหารพืชมากเพียงพอต่อการให้ผลผลิตของข้าว แต่ต้องมีการใส่ปุ๋ยบ้างเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ พร้อมสร้างความสมดุลของธาตุอาหารในดินนานั้นไว้ 

หมายเลขบันทึก: 272078เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2009 22:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีครับพี่ชัด
  • สบายดีนะครับพี่
  • เห็นด้วยนะครับกับการปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้วิธีนี้ จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มาก ดินก็ดีขึ้น
  • ขอบคุณมากนะครับที่นำความรู้ดีดีมาแบ่งปัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท