การบริหารความเสี่ยง


การบริหารความเสี่ยงทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์

 

 

 

การบริหารความเสี่ยงทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Risk Management of HRM) ตอนที่ 1 : ความเสี่ยงคืออะไร ?

 

ปิยะชัย  จันทรวงศ์ไพศาล
[email protected] ; [email protected]

ความเสี่ยงคืออะไร ?

              โดยทั่วไป เรามักจะมองเรื่องการบริหารความเสี่ยงในมุมมองด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย แต่ในการบริหารนั้น ความเสี่ยงไม่ได้จำกัดในวงความปลอดภัยและอาชีวอนามัยเท่านั้น แต่ความเสี่ยง ยังครอบคลุมถึงการปฏิบัติงานด้านต่างๆขององค์กรด้วย เช่น ความเสี่ยงทางการเงิน , ความเสี่ยงทางการปฏิบัติงาน , ความเสี่ยงทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ, ความเสี่ยงทางกลยุทธ์และตัวชี้วัดการปฏิบัติงาน เป็นต้น

              แต่เราไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงแค่การชี้วัดว่า องค์กรมีความเสี่ยงทางด้านใดบ้าง แล้วก็จัดทำแผนป้องกันความเสี่ยง แล้วก็จบเพียงเท่านั้น ซึ่งถ้าองค์กรของท่านมีสภาพเป็นเช่นนั้นจริง ก็เท่ากับท่านได้เพียง เศษกระดาษมาประดับองค์กรเท่านั้น  ในการบริหารความเสี่ยง ไม่ใช่เพียงแค่ชี้บ่งความเสี่ยง ประเมินความเสี่ยง แล้วก็ทำแผนป้องกันความเสี่ยง เท่านั้น หากแต่ยังมุ่งไปที่การเฝ้าระวัง และการทบทวน (Monitoring and Review) เป็นระยะๆ อีกด้วย

               ผู้เขียน นิยมการใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุก (Aggressive strategy) มากกว่าการใช้ยุทธศาสตร์เชิงรับ เพราะผู้เขียนมองเห็นว่า การป้องกันเป็นแนวทางที่พัฒนาองค์กรให้ มีความพร้อมและก้าวเดินไปในทิศทางเพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายอย่างมั่นคงและระมัดระวัง  น่าจะเหมาะสมกว่าการแก้ไข  แต่มิใช่หมายความว่า ต้องเน้นที่การป้องกัน (Proactive approach) เพียงอย่างเดียว นะครับ  ในโลกของความเป็นจริง การแก้ไข (Reactive approach) ก็ยังมีความจำเป็นอยู่นะครับ แต่เมื่อคิดถึงการแก้ไขแล้ว ผู้เขียนมักจะกระตุกความคิดของผู้บริหารให้มองควบคู่ไปกับการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำด้วยเสมอ
                การบริหารความเสี่ยงก็เป็นหนึ่งในแนวทางการใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุก  บางครั้ง เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ยังไม่เกิด แต่องค์กรจำเป็นต้องเฝ้าระวังและติดตามไม่ให้เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเสมอ แต่หากเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยใดๆก็ตาม องค์กรต้องมีแผนและความพร้อมในการรับมือเหตุการณ์นั้นได้อย่างทันท่วงทีเสมอ องค์กรใดมีความพร้อมมากกว่า โอกาสจะอยู่รอดย่อมมีมากกว่าเสมอ ยิ่งในการแข่งขันเชิงธุรกิจปัจจุบัน ดูเหมือนจะเกิดเหตุที่ไม่พึงประสงค์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมเกิดขึ้นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน, ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น, ค่าเงินบาทที่ผันผวน, กระแสเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น, กฎระเบียบด้านการค้า เป็นต้น  องค์กรที่มีความพร้อมในการรับมือเหตุปัจจัยความเสี่ยงนั้นย่อมได้เปรียบกว่าคู่แข่ง

               ความเสี่ยง (Risk) หมายถึง สิ่งต่างๆหรือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบต่อวัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย ที่จะเบี่ยงเบนไปจนไม่อาจบรรลุได้ มีความไม่แน่นอน และสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

              ความเสี่ยง (Risk)  ตามระเบียบกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์การชี้บ่งอันตราย การประเมินความเสี่ยง และการจัดทำแผนงานบริหารจัดการความเสี่ยง พ.ศ.2543 บัญญัติว่า ความเสี่ยง หมายความว่า ผลลัพธ์ของความน่าจะเกิดอันตรายและผลจากอันตรายนั้น

ความเสี่ยงมาจากเหตุปัจจัย 2 ด้าน คือ
ความเสี่ยงจากปัจจัยภายใน

  • ความเสี่ยงทางการเงิน (Financial Risk)
  • ความเสี่ยงทางการปฏิบัติงาน (Operational Risk)
  • ความเสี่ยงทางนโยบายและกลยุทธ์ (Policy/Strategic Risk)

ความเสี่ยงจาก ปัจจัยภายนอก

  • ความเสี่ยงทางกฎหมายและกฎระเบียบ (Regulatory risk)
  • ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเมือง (Economic and political risk)
  • ความเสี่ยงทางการแข่งขัน (Competitive risk)
  • ความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางธรรมชาติ (Natural events risk)

                 อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า ความเสี่ยงจะเกิดควบคุมกับ ความไม่แน่นอน (Uncertainty)” เสมอ แต่ถามว่า เราสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอก ให้มีความแน่นอน เกิดขึ้นได้หรือไม่ คำตอบ คือ ไม่สามารถทำได้โดยสมบูรณ์ 100 %  แต่อย่างน้อยเรายังสามารถลดหรือควบคุมความไม่แน่นอนให้เกิดมีความเสี่ยงน้อยที่สุดและส่งผลกระทบต่อความเสียหายให้น้อยที่สุด เช่น ภาวะการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ (Skill labor) ของโรงงาน ก็ใช้การจ้างแรงงานจ้างเหมาจากภายนอก (Outsourcing) . การฝึกอบรมพัฒนาทักษะ การประสานงานกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น

ในตอนหน้า ผู้เขียนจะเริ่มก้าวเข้าสู่เนื้อหาการบริหารความเสี่ยง โดยมุ่งไปที่การบริหารทรัพยากรมนุษย์ เท่านั้น  ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงสร้างแบบฟอร์มให้ผู้สนใจลองกรอกข้อความลงใน sheet ที่แนบมานี้ เพื่อลองทำแบบฝึกหัดกันครับ โดยผู้เขียนลองทำเป็นตัวอย่างให้ดูเป็นเบื้องต้นก่อนครับ

 (เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านเวลา ผู้อ่านท่านใดสนใจแบบฟอร์ม –MS Excel) ไม่ต้องการพิมพ์ใหม่ กรุณาส่งเมล์ไปที่ผู้เขียนได้ครับ ผู้เขียนยินดีจะส่งแบบฟอร์มให้ครับ  ขอความกรุณาอย่าทิ้งเมล์แล้วให้ผู้เขียนส่งให้นะครับ ไม่สะดวกจริงๆครับ)

***************************

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 271557เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2009 00:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 10:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เนือหาok ครับ

แต่ชื่อเรื่องแก้ไขให้ตรงครับ อาจจะพิมพ์ตรงชื่อเรื่องผิดจึงกลายเป็นเรื่องซาก กอไผ่ เข้าไปตรงแก้ไขข้อความแล้วแก้ไขชื่อเรื่องได้เลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท