อาจารย์ไพบูลย์กับการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาของชุมชนตำบลหนองพันจันทร์.....เวทีจัดการความรู้ตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น(5)


การที่จะทำให้ปลอดหนี้ทั้งชุมชนเลยนั้น นับว่าเป็นเรื่องยาก และการเป็นหนี้ ถ้าทำให้เป็นสุข ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ที่เป็นหนี้แล้วก่อให้เกิดทุกข์ นั่นต่างหากที่เป็นเรื่องต้องจัดการ

ในการจัดเวทีสรุปงาน (AAR) การจัดทำตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นของสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก  อ.โพธาราม  จ.ราชบุรี  เมื่อวันที่ 26 พ.ค.52 ที่ผ่านมา  กำนันประนอม   คงอาจหาญ  ประธานสภาฯตำบลหนองพันจันทร์ ได้เข้าร่วมเวทีในวันนั้นด้วย ได้เรียนเชิญท่านอาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  ประธานกรรมการมูลนิธิหัวใจอาสา  ไปร่วมเวทีให้คำปรึกษาการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาของชุมชนตำบลหนองพันจันทร์ในวันที่ 22 มิ.ย. 52 

                      

     เวทีการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาในครั้งนี้ นอกจากท่านอาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  ประธานกรรมการมูลนิธิหัวใจอาสาแล้ว  ยังมีทีมงาน COPตัวชี้วัดชุมชนจาก พอช.เป็นอาสาสมัคร ไปร่วมเรียนรู้กับท่านอาจารย์ไพบูลย์และชาวชุมชนหนองพันจันทร์     คุณประยงค์  อุปเสนซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงาน COP  ตัวชี้วัดชุมชนนี้  ได้บันทึกการเรียนรู้จากการเข้าร่วมเวทีครั้งนี้    ดังนี้  

                                

 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาส ที่สำคัญที่สุดในชีวิตการทำงานอีกครั้งหนึ่ง คือได้จัดเวทีการจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาระดับตำบล  ร่วมกับชาวบ้านตำบลหนองพันจันทร์ อ.บ้านคา จังหวัดราชบุรี โดยมีอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตประธานกรรมการสถาบันฯ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี  ที่เป็นที่เคารพรักยิ่ง  ท่านได้กรุณาไปร่วมในเวทีการจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาระดับตำบล ท่านได้ร่วมคิด ร่วมจัดทำ และถ่ายทอดแนวคิดให้กับชาวชุมชน พร้อมกับลงนามไว้ในกระดาษฟริปชาร์ตที่ท่านใช้เขียนประกอบการบรรยายให้ชาวตำบลหนองพันจันทร์ที่สนใจ  ได้เก็บรักษาเป็นที่ระลึกของชุมชนด้วย                                                                                                                               ที่ผมคิดว่างานครั้งนี้สำคัญกับผมในชีวิตการทำงานครั้งหนึ่งนั้น เพราะผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อในแนวทางที่อาจารย์ไพบูลย์เคยถ่ายทอดให้ฟังในหลายครั้งท่านได้เน้นว่า   การพัฒนาในหลายๆประเทศ ที่เขาไปได้ดีนั้น เพราะเขามีการจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาทุกระดับ เป็นการจัดทำโดยที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดทำ ลงมือและติดตามผล 

                   

ครั้งหนึ่งท่านเคยพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนากระบวนการเรียนรู้  ในปลายปี 2550 ในเรื่องนี้ และฝากให้ส่วนงานนี้ได้ทดลองปฏิบัติการดู  ท่านเองอาจไม่คิดคาดหวังอะไรมากมายจากสิ่งที่ท่านพูดก็ได้  แต่สำหรับพวกเราชาวสำนักพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ที่นำโดยคุณสุเทพ  ไชยขันธุ์เป็นหัวหน้าทีม กลับรู้สึกว่าสิ่งที่เราควรจะทำได้ในเวลานั้นก็คือ การลงไปในพื้นที่เพื่อสร้างรูปธรรมร่วมกับชุมชนขึ้นมา ให้เป็นจริงและพิสูจน์สิ่งที่เชื่อมานั้นว่าจะเป็นจริงได้หรือไม่อย่างไร 

 จากนั้นมาคุณสุเทพ และผมก็ได้ลงพื้นที่ที่ชาวบ้านสนใจจัดทำเป้าหมายตัวชี้วัดการพัฒนา คือที่ตำบลบ้านเลือก อ.โพธารามและที่ตำบลหนองพันจันทร์ อ.บ้านคา  จังหวัดราชบุรีได้ดำเนินงานจัดทำเป้าหมายตัวชี้วัดการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง  สิ่งที่เราได้ทดลองปฏิบัติการนั้นก็คือ เรามีแนวคิดว่าสภาองค์กรชุมชน จะเป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างให้ภาคส่วนต่างๆ ในท้องถิ่นได้เข้ามาร่วมมือกันในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ของตนเอง โดยไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย  ซึ่งในกระบวนการทำงานของเรานั้น มี 8 ขั้นตอนหลัก ที่สำคัญคือ

                 

ขั้นตอนที่ 1. เราได้เริ่มจากการประสานงานผ่านสภาองค์กรชุมชน เพื่อให้เกิดการจัดเวทีพูดคุยกันระหว่างสมาชิกสภาองค์กรชุมชน  ในส่วนของชาวบ้าน  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในส่วนของปกครองท้องที่ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ตัวแทนส่วนท้องถิ่น  ซึ่งเป็นสามเส้าใหญ่ในระดับตำบล นอกจากนั้นก็ได้เรียนเชิญพระสงฆ์  ปราชญ์ชาวบ้าน  ครู  อนามัยตำบล  ตำรวจ และหน่วยงานที่มาทำงานในท้องถิ่นนั้น เข้าร่วมสร้างความเข้าใจ  ในบทบาทภารกิจของกันและกัน ทั้งในด้านกฎหมาย ข้อเท็จจริงในการปฏิบัติ และความคาดหวังของชุมชน  เวทีแรกได้สร้างให้ทุกฝ่ายเห็นว่า ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาในท้องถิ่นมีใครบ้าง  ใครทำอะไรอยู่และที่สำคัญคนอื่นๆได้เข้าใจบทบาท ภารกิจของสภาองค์กรชุมชนยิ่งขึ้น จากความไม่เข้าใจเป็นความเข้าใจดี จากที่ไม่รู้หน้าที่ก็ได้รู้หน้าที่ของกันและกัน บนพื้นฐานของความหวังดีที่มีต่อชุมชนเช่นกัน

                         

 ขั้นตอนที่ 2. เป็นขั้นตอนการพูดคุยที่ต่อมาจากขั้นตอนแรก  ที่เมื่อทุกฝ่ายเรียนรู้กันมากขึ้นแล้ว เปิดใจยอมรับกันบ้างแล้ว ก็จะชักชวนกันมาวิเคราะห์ตนเองและการวิเคราะห์ชุมชน การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน ค้นหาปัญหา  ค้นหาข้อพ้นเด่น(ความภาคภูมิใจ) อัตตลักษณ์ ประสบการณ์งานพัฒนา ความเป็นตัวตน สิ่งที่ดีงามของชุมชนและผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆร่วมกัน และร่วมกันกำหนดเป้าหมายการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งเป้าหมายที่ได้มานั้น จะนำไปสู่ความเข้าใจตรงกันคือ เป้าหมายของคนตำบลนั้นๆ หรือท้องถิ่นนั้นๆ และเป้าหมายยังสะท้อนได้ด้วยว่า ใครบ้างที่รับผิดชอบดำเนินการเรื่องนี้ ในท้องถิ่น ตำบลของตนเอง  การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นนี้ ได้ช่วยให้ทุกฝ่ายเห็นตรงว่า สภาองค์กรชุมชนจะต้องรับผิดชอบในเป้าหมายใด  และใครจะเป็นหลักเป็นรองในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะการพัฒนากลุ่มองค์กรในตำบลให้เข้มแข็ง การฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นของตนเอง การรับรู้เป้าหมาย และรู้ว่าใครกำลังจะทำอะไร ภายใต้เป้าหมายนั้น ทำให้คนในตำบลไม่คิดว่าใครจะเข้ามาทำงานเพื่อแข่งขันกับใคร หรือจะเข้ามาเป็นคู่แข่งใคร ในทางการเมือง ซึ่งทุกฝ่ายจะสบายใจในการทำงาน

                    

 ขั้นตอนที่ 3. เป็นเวทีที่ชาวชุมชนในท้องถิ่น ตำบลนั้นๆ ได้นัดหมายหารือกันต่อที่จะต้องทำให้เป้าหมาย แต่ละด้านนั้นได้เกิดแผนงานที่จะให้เป็นจริง  ดังนั้น เวทีนี้ก็จะต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องในตำบล โดยเฉพาะคนเข้าร่วมในขั้นตอนแรกและขั้นตอนที่สอง เข้ามาประชุมหารือเพื่อกำหนดลงรายละเอียดของแต่ละเป้าหมาย โดยบุคคลหรือกลุ่มองค์กรชุมชนใดที่ทำงานอยู่ภายใต้เป้าหมายใด เป็นหลัก ก็จะต้องเข้าร่วมกันหารือเป็นกลุ่มย่อย ในเป้าหมายนั้นๆ  มากน้อยขึ้นอยู่กับการกำหนดในเวทีที่ผ่านมา  ในขั้นนี้ที่ประชุมจะต้องร่วมกันคิดและสรุปว่า  จากเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น  เราจะดูความสำเร็จจากรูปธรรมอะไร  (ตัวชี้วัด)  จะดำเนินการร่วมกันอย่างไรที่จะให้บรรลุผลได้จริง  (วิธีการสำคัญ)  และใครจะเข้ามารับผิดชอบทำ (กลไกหรือองค์กรที่เป็นหลักดำเนินการ)  ซึ่งการกำหนดลงรายละเอียดในขั้นนี้ ทำให้ทุกคนเรียนรู้กันและกัน และรู้แนวทางที่จะปรับการทำงานเข้าหากัน เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายร่วมของคนในตำบล โดยไม่มองเฉพาะส่วนที่ตนเองหรือกลุ่มของตนรับผิดชอบเท่านั้น 

                          

    ที่ตำบลหนองพันจันทร์  ชาวบ้านที่นั่นได้ผ่านขั้นตอนที่ 1 และ2มาก่อนแล้ว เวทีนี้จึงเป็นการดำเนินการในขั้นตอนที่ 3 นี้ ถือเป็นความโชคดีที่ท่านอาจารย์ไพบูลย์ให้ความสนใจ มีใจอาสาสมัครไปร่วมคิดและทำตัวชี้วัดร่วมกับชาวบ้านอย่างเป็นกันเอง และยังถ่ายทอดวิธีการจัดการแบบมีศิลปะให้กับชาวชุมชน ได้รู้ว่าการทำอะไรต้องมีเป้าหมายที่สำคัญ ต้องกำหนดวิธีการสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป็นจริง ไม่ต้องมาก แต่สอดคล้องกับสภาพชุมชนท้องถิ่นและที่สำคัญต้องกำหนดตัวชี้วัด ที่ชัดเจน ง่ายๆ ไม่ต้องมาก  แต่ดูความสำเร็จได้  ซึ่งทั้งหมดนั้น ต้องทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ด้วยหลักอิทธิบาท ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ มีความสนใจหรือความเชื่อ (ฉันทะ)  พยายาม (วิริยะ) เอาใจใส่ (จิตตะ)  ใคร่ครวญสรุปไตร่ตรองร่วมกัน (วิมังสา)

                          จากนั้นท่านอาจารย์ก็ได้ยกกรณีการตั้งเป้าหมายของชาวตำบลหนองพันจันทร์ซึ่งเป็นกลุ่มย่อย 1 ใน  8 กลุ่ม  ตามเป้าหมายการพัฒนาของชุมชน 8 เรื่อง  โดยได้ยกเอาเป้าหมายที่มุ่งหวังเป็นตำบลปลอดหนี้   มาให้เห็นเป็นตัวอย่างการเรียนรู้ ซึ่งอาจารย์ได้กล่าวว่าการตั้งเป้าหมาย การที่จะทำให้ปลอดหนี้ทั้งชุมชนเลยนั้น นับว่าเป็นเรื่องยาก และการเป็นหนี้ ถ้าทำให้เป็นสุข ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ที่เป็นหนี้แล้วก่อให้เกิดทุกข์  นั่นต่างหากที่เป็นเรื่องต้องจัดการ  สำหรับคำแนะนำนั้น ภายหลังจากอาจารย์ได้ฟังสิ่งที่ชาวบ้านร่วมกันคิดในกลุ่มย่อยแล้ว อาจารย์ได้สรุปให้เห็นเป็นวิธีการจัดการงานพัฒนาให้สำเร็จนั้น จะต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ อย่างน้อยต้องคำนึงถึง 3 อย่างคือ การตั้งเป้าหมาย  การกำหนดวิธีการที่สำคัญและ การกำหนดตัวชี้วัด  ดังนี้ 

                 

ขั้นตอนที่ 3.1.      การตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ ; ชาวชุมชนเราต้องมีเป้าหมายสำคัญร่วมกัน เช่น ต้องมีความมุ่งหวังทำให้เป็น ชุมชนปลอดหนี้ที่สร้างทุกข์

 ขั้นตอนที่ 3.2.      การกำหนดวิธีการที่สำคัญ  ; ต้องมีวิธีการที่สำคัญ ไม่มากจนเกินไป ซึ่งจากการประชุมกลุ่มย่อยอาจสรุปวิธีการสำคัญของชาวตำบลหนองพันจันทร์ได้ ดังนี้

1   ต้องส่งเสริมการจัดทำบัญชีครัวเรือน   

2   การลดรายจ่าย  ขึ้นอยู่กับรายจ่ายของแต่ละครัวเรือน  

3   การเพิ่มรายได้   

4   การเพิ่มเงินออม   

5   ดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  

 

        

ขั้นตอนที่ 3.3. การกำหนดตัวชี้วัด ;มีตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอาจจะมีเพียง 2 ข้อ  ก็น่าจะพอไม่ต้องมีมาก  เช่น ครัวเรือนที่เป็นหนี้ก่อทุกข์ในตำบล/หมู่บ้านมีจำนวนลดลง  และจำนวนเงินออมสุทธิของหมู่บ้านหรือตำบล เมื่อเทียบกับรายจ่ายแล้วต้องเพิ่มขึ้น  

      การจัดทำเป้าหมาย ตัวชี้วัดการพัฒนาที่ตำบลหนองพันจันทร์ ที่ผ่านมา จึงนับเป็นเวทีที่มีค่า ไม่แต่เฉพาะกับพวกเราชาว พอช.เท่านั้น สำหรับชาวบ้านแล้ว สิ่งที่ได้รับและสัมผัสการลงพื้นที่ของอาจารย์ ในระดับฐานรากจริงๆ นับเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง อาจเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้สัมผัสกับคนที่ก่อการเรื่อง การจัดทำเป้าหมายตัวชี้วัดความสุขหรือการพัฒนา ตัวจริงเสียงจริง  

                    

ขั้นตอนที่ 4. เป็นเวทีสื่อสารสาธารณะ ที่ทีมงานหรือองค์กรที่รับผิดชอบ  ทั้งในส่วนของท้องถิ่น   ท้องที่และสมาชิกสภาองค์กรชุมชน ต่างก็นำเอาผลสรุปที่ได้กลับลงไปเผยแพร่  สร้างความรู้ในระดับฐานกลุ่มองค์กร และระดับหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน เพื่อให้ชุมชนตระหนักรู้และสร้างการยอมรับในเป้าหมาย ตัวชี้วัดการพัฒนาท้องถิ่นระดับตำบลร่วมกัน  รวมทั้งเป็นการรับฟังข้อเสนอเพื่อจัดทำและปรับปรุงแก้ไข แผนงาน กิจกรรมหรือโครงการต่างๆที่จะดำเนินการ

ขั้นตอนที่ 5. เป็นเวทีสร้างการรับรองเป้าหมาย ตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและการบูรณาการแผนงานกิจกรรม  ร่วมกันในระดับท้องถิ่น ตำบล  โดยมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอก ให้เข้ามาร่วมรับฟังเป้าหมาย แนวทางสำคัญ ตัวชี้วัดการพัฒนา และแผนงานสำคัญ ของคนในตำบล  พร้อมกับรับฟังข้อเสนอจากภาคส่วนที่เข้ามาร่วม ซึ่งในขั้นตอนนี้ เป็นการประกาศวาระของคนในตำบลร่วมกัน  โดยมีหน่วยงานเข้ามาร่วมรับฟัง และประสานแผนในอนาคต  สร้างให้สภาองค์กรชุมชน  เป็นที่ยอมรับและเป็นกลไกในการติดตาม ประสานงาน และรายงานผลต่อชุมชนท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจตาม ม. 21 ของ พรบ.สภาองค์กรชุมชน ปี 2551 อย่างชัดเจน 

ขั้นตอนที่ 6. ปฏิบัติการ ตามแผนงาน ตามความสิ่งที่รับผิดชอบของแต่ละทีมงาน

            

ขั้นตอนที่ 7. ติดตามผล และประเมินความก้าวหน้า ของแต่ละเป้าหมาย  โดยใช้เวทีร่วมสภาองค์กรชุมชน กับท้องถิ่นและท้องที่รวมทั้งภาคีการพัฒนา เป็นที่ประชุมเพื่อการติดตามความก้าวหน้าของการทำงาน ตามเป้าหมาย ตัวชี้วัดร่วมกัน

             

 ขั้นตอนที่ 8. จัดทำรายงาน เอกสาร เผยแพร่ เพื่อสื่อสารสู่ชุมชนท้องถิ่น และภายนอกร่วมกัน  ทั้งเสนอกันเองในระดับตำบล และรายงานต่อหน่วยงานที่สนับสนุน 

 

 ประยงค์  อุปเสน ครับ  

หมายเลขบันทึก: 271184เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2009 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ภาพอ.ไพบูลย์กับแกนนำชุมชนตำบลหนองพันร์และทีมงานเรียนรู้ กลุ่ม "COP เรื่องตัวชี้วัดการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่น" ในเวทีจัดทำตัวชี้วัดที่ตำบลหนองพันจันทร์ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท