ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลง ๑


ยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น

ยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น

PDF

พิมพ์

ส่งเมล

เขียนโดย ดร . เสรี พงศ์พิศ   

Sunday, 14 June 2009

สยามรัฐรายวัน 11 มิถุนายน 2552 

 

เราใช้คำว่ายุทธศาสตร์กันมากจนอะไรๆ ก็กลายเป็นยุทธศาสตร์ไปหมด แยกไม่ออกว่า ยุทธวิธีหรือกลยุทธ (tactics) แตกต่างจากยุทธศาสตร์ (strategy) อย่างไร     
    
ว่ากันง่ายๆ คือ ยุทธศาสตร์จะต้องมี
3 องค์ประกอบสำคัญ คือ วิสัยทัศน์ (vision) พันธกิจ (mission) และเป้าหมาย (goals) ส่วนยุทธวิธีประกอบด้วย 3 อย่างเช่นเดียวกัน หมายถึงวิธีการหรือเครื่องมือที่จะทำให้ยุทธศาสตร์เกิดเป็นจริงได้ นั่นคือ แผนงาน (action plan) โครงการ (projects) กิจกรรม(activities) (ขออภัยที่ต้องวงเล็บภาษาอังกฤษ เพราะยังไงเราก็ไปเอามาจากฝรั่งกันทั้งนั้น แต่เอามาแล้วก็ทำให้สับสนเอง)   
      
บางคนเรียกทั้งหมด (ทั้ง
6 องค์ประกอบ) ว่าเป็นยุทธศาสตร์ ก็ไม่ผิดแต่ประการใด สำคัญอยู่ที่ว่า เข้าใจแต่ละองค์ประกอบตามความหมายดั้งเดิมของเขาหรือไม่ เช่น วิสัยทัศน์ ไม่ใช่วัตถุประสงค์ คือไปเอาวัตถุประสงค์มาเขียนเป็นวิสัยทัศน์ ทั้งๆ ที่คำนี้หมายถึง “ภาพฝัน” หรือ “ภาพนิมิต” ที่เป็นเป้าหมายภาพใหญ่ ภาพรวมในอุดมคติ สิ่งที่เราปรารถนาหรือฝันอยากให้เป็นจริง    
     
การเขียนวิสัยทัศน์จึงต้องเขียนให้จี้ใจคน สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์เป็นผู้มีปัญญาบารมี เสนอวิสัยทัศน์แล้วผู้คนเห็นด้วยและอยากให้เป็นจริง อยากร่วมมือ อยากเดินตามผู้นำเช่นนี้ ผู้นำเช่นนี้มองอะไรทะลุ เพราะมีข้อมูล มีความรู้ และมีปัญญา อันเป็นหลักการที่สรุปจากความเป็นจริง
    
     
ถ้าหากผู้นำท้องถิ่นเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ก็จะออกมาในลักษณะที่อยากเห็นตำบลหรือเทศบาลของตนเองเป็นอย่างไรในสี่ปี แปดปีข้างหน้า เช่น อยากเห็นคนอยู่ในท้องถิ่นอย่างมีความสุข หมดหนี้สิน มีกินมีใช้อย่างพอเพียง มีวิชาความรู้เพื่อให้อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ส่วนภารกิจและเป้าหมายก็เขียนขยายให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ จากนั้นก็พัฒนายุทธวิธีที่ทำให้ภาพฝันนี้เป็นจริง คือ ต้องมีแผนงาน โครงการ กิจกรรมที่ทำให้ภาพฝันนั้นกลายเป็นความจริง

 การเขียนยุทธศาสตร์มักจะละเลยเรื่องวิสัยทัศน์ คิดว่าเป็นปรัชญา เป็นหลักการ เป็นอะไรที่เขียนไปงั้นๆ เป็น “ความฟุ่มเฟือย” สู้รีบเสนอรูปธรรมเลยจะดีกว่า ผู้คนเขาอยากได้อะไรที่ “กินได้-แก้ปัญหาได้” ไม่ใช่ไปสร้างฝันให้พวกเขา เป็นการคิดที่ “ตื้นเขิน” มาก และเพราะเหตุนี้การพัฒนาบ้านเมืองจึงมีปัญหา เพราะเราไม่ให้ความสำคัญกับแนวคิด

ถ้าหากเราเชื่อว่า ถ้าชาวบ้านมีรายได้ มีเงินมากๆ ปัญหาต่างๆ ก็จะหมดไป พวกเขาก็จะมีความสุข ก็จะมีแผนงาน โครงการ กิจกรรมที่ออกมาในแนวของการทำโครงการมากๆ ที่ก่อให้เกิดรายได้โดยไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ป่า ดิน น้ำว่าจะคงอยู่อย่างสมดุลหรือไม่ ไม่สนใจว่า สภาพทางสังคมจะเป็นเช่นไร ครอบครัวจะอยู่ด้วยกันอบอุ่นหรือไม่ หรือจะต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างไปเหมือนในในเมือง เพราะก้มหน้าก้มตาหาแต่เงิน เพราะหนี้สินมาก รายจ่ายมากกว่ารายได้

การมีวิสัยทัศน์จึงหมายถึงการวางเป้าหมายใหญ่ไว้เลยว่า เราอยากเห็นผู้คนมีความสุข แก้ปัญหาความทุกข์จากความยากจน หนี้สิน ความแตกแยก และสารพัดปัญหาใช่หรือไม่ และวิธีการที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นจะใช้วีธีไหน ใส่งบใส่เงินลงไปมากๆ หรือว่าจะส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อให้คนได้วางเป้าหมาย วางแผนพัฒนาด้วยตนเอง และให้พึ่งพาตนเองได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่เช่นนั้น การพัฒนาก็จะทำให้ชาวบ้านต้องขึ้นอยู่กับนักการเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติ การพัฒนาก็มุ่งหาแต่เงินกันไม่รู้จบ คนก็ไม่มีความสุข เพราะหนี้สินมาก

พัฒนาแบบให้คนขึ้นต่อตัวเองก็ทำได้ และทำกันมานานแล้ว การครอบงำและระบบอุปถัมภ์จึงไม่หมดไป การพัฒนาแบบยั่งยืนจึงยังไม่เกิด เพราะเมื่อวิสัยทัศน์ไม่ชัดเจน วิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมายไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง อยากให้คนมีความสุข แต่ทำให้คนหลงไหลในเงินทองมากกว่าการพัฒนาทุกด้าน วิธีการเช่นนี้ไม่ทำให้เป้าหมายความสุขเกิดขึ้นได้จริง


ประชาธิปไตยในท้องถิ่นหรือระดับชาติจึงวนเวียนอยู่กับการแลกเปลี่ยนประโยชน์ระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งกับชาวบ้านมากกว่าจะคิดเรื่องการร่วมมือกันทำให้ภาพฝันของชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนเป็นสุข ชุมชนพึ่งพาตนเองได้


เงินนำหน้า ปัญญาตามหลัง การพัฒนายั่งยืนไม่เกิดอย่างแน่นอน เพราะพลังที่ขับเคลื่อน คือ เงินและอำนาจ ไม่ใช่พลังปัญญา

หมายเลขบันทึก: 268444เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2009 09:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณครับ สำหรับอาหารทางปัญญาที่ได้รับวันนี้

สมพงศ์ ตันติวงศ์ไพศาล

ขอบคุณที่เข้ามาแลกเปลี่ยนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท