โค้ชส้ม Citrus
Miss. ปรีดิ์ฤทัย โค้ชส้ม ตั้งจิตญาณพัฒน์

ภาวนากลางกรุง ค้นพบมิตรแท้แห่งตน


แม้แต่ใจกลางเมืองแห่งความวุ่นวาย ก็ยังมีสถานที่ที่สงบจิตใจ เติมพลังชีวิตได้

      เมื่อวันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน ไปร่วมกิจกรรม "ภาวนากลางกรุง" ทราบข่าวทาง e-mail จากเครือข่ายคนในบริษัท ดูแล้วก็สนใจในตอนแรก สมัครลงชื่อไว้ก่อน แต่พอผ่านไประยะหนึ่ง ก็ถามตัวเองว่า เอ  เขาจะจัดกิจกรรมนั่งสมาธิ หรือ ภาวนา แบบ พุทธ โธ หรือเปล่า  ตัวเอง ไม่เคยไปปฏิบัติธรรมที่วัด แบบต้องไปนอนค้าง อ้างแรมเข้าโปรแกรม  ยาวๆ มีกำหนดการเหมือนไปสัมมนา  ซะที ยังมีกิเลส ติดความสบาย กลัวลำบาก และไม่ชอบสถานที่ที่คนไปกันเยอะ  ชอบแบบตอนไปวัดป่า ธรรมอุทยาน ขอนแก่น มากกว่า

      การภาวนากลางกรุง จัดขึ้นที่สำนักงานกลางคริสเตียน สีลม ไปถึงตึกที่จัดกิจกรรม เห็นโปสเตอร์ที่ติดใกล้ประตูทางเข้าอาคาร  รู้สึกสนใจ ในข้อความที่เขียนไว้ เพราะตอนที่จะมาร่วมกิจกรรมไม่ได้คิดลึกซึ้งถึงขนาดนี้  ติดใจจนยืนอ่านอยู่นาน และคิดว่าเดี๋ยวต้องขอผู้จัดนำกลับบ้านไปด้วย

 

      ถึงเวลาร่วมกิจกรรม โอ้โห คนมากันเยอะกว่าที่คิด น่าจะเกือบสามสิบคน  ตามธรรมเนียม ต้อง check in แนะนำตัว ความคาดหวัง และประสบการณ์ที่เคยปฏิบัติธรรม จากการนั่งฟัง เกินครึ่งเคยไปปฏิบัติธรรมตามวัดบ้าง หลายคนมาจากเครือข่ายจิตตปัญญา น้องๆ ของ SCG ไปกัน 2 คน และพาเพื่อนมาด้วย

     หลัง check in  แล้ว เราทำอะไรกันบ้าง

  • ลองนั่งสงบ ใช้การตามลมหายใจ ไปเรื่อยๆ ผู้นำกิจกรรม เทียบเคียง พุทธะ คือ การที่เรานั่งแล้วเรารู้ตัว ตื่น  ธรรมะ ระลึกคำสอน  และสังฆะ คือการที่เรากำลังปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ การอยู่กับปัจจุบัน คือ หลักการสำคัญ
  •  จากนั่ง เปลี่ยนเป็นเดิน  เริ่มจากช้า ให้จิตจดจ่อที่ฝ่าเท้า ทุกย่างก้าวที่เดิน แต่ละคนก็เดินไปตามทิศทางของตัวเอง หยุดเดิน แล้วหลับตา จดจ่อที่ลมหายใจที่ปลายจมูก ประสบการณ์ช่วงนี้แปลกดี รู้สึกร้อน เลือดลมเดินดี คงเป็นเพราะได้รับพลังจากเพื่อนร่วมกิจกรรม และเราก็หายใจได้ลึกมากกว่าปกติ 
  • ยืนอยู่นานพอควร ออกเดินใหม่ ตอนหยุดเดินอยู่ใกล้ใคร ให้จับคู่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ที่ผ่านมา ว่าเป็นอย่างไรบ้าง  ช่วงนี้เหมือนทำ deep listening ของสุนทรียสนทนา แต่เราได้เทคนิคเพิ่ม คือ ตอนคนแรกเล่าจบ ได้ยินระฆังบอกเปลี่ยนคนเล่า แต่จะยังไม่เล่าทันที กระบวนกรจะบอกให้หลับตา จับลมหายใจ ชวนสงบก่อนที่จะให้อีกคนเล่าบ้าง อันนี้ก็น่าจะลองนำไปใช้บ้าง  
  • เปลี่ยนจากนั่งคุยเป็นคู่ ลุกขึ้นเดินไปเดินมาอีก แล้วลงนั่งทำสมาธิ จับลมหายใจ ความคิดอะไรเข้ามา ก็ให้รู้ว่าคิด แล้วดึงกลับ ตามสิ่งที่เกิดขึ้นทุกขณะ จับให้ทัน นั่งประมาณ 20 นาที
  • คราวนี้ เปลี่ยนเป็นจับกลุ่ม 4 คน ให้พูดคุยแลกเปลี่ยนว่าช่วงที่นั่งเรา พบเจออะไรกันบ้าง ช่วงนี้ก็ดี ส่วนใหญ่จะบอกว่า ง่วง โงก หลับ  เมื่อย ปวดเข่า โดยเฉพาะคนสูงอายุ บางคนก็รู้ว่าฟุ้งคิดเยอะ บางคนก็บอกว่าต้องดึงตัวเองกลับมาตั้งสติ

ส่วนตัวเอง ครั้งนี้เวลาผ่านไปเร็ว และไม่ง่วง ซึ่งผิดปกติ กับเวลานั่งสมาธิก่อนนอน มักจะไม่รู้ตัว หลับไประหว่างนั่ง แต่ครั้งนี้ จะตามสิ่งที่มากระทบได้ตลอด ทั้งลมจากแอร์ เสียงแอร์ เสียงดังจากนอกห้อง แต่ไม่ได้กลิ่นอะไรเป็นพิเศษ  เวลานั่งสงบสักพัก ความคิดก็จะออกมาเป็นภาพ เรื่องงานที่ผ่านมา ความคิดงานที่จะต้องทำต่อ พอรู้ตัวก็ดึงกลับมาที่ลมหายใจ สักพัก ก็ฟุ้งออกไปนอกตัวอีก ดึงกลับมาใหม่ แล้วก็จินตนาการว่าตัวเองกำลังลงไปในอุโมงค์ เพื่อให้จดจ่อ กับความนิ่ง แต่แทนที่จะมืด กลับสว่าง สลับมืด แปลกดี 

    

     หลังจากแบ่งปันในวงสี่คน  กระบวนกรชวนให้มานั่งหน้าห้อง เพื่อฟังเรื่องโมเดลไข่ไดโนเสาร์ของ อ.ณัฐฬส ที่ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ความคิด ปัญญาปฏิบัติ และ การรู้ภายในตน เริ่มจากความคิด คนส่วนใหญ่จะติดเรื่องความคิดกันเยอะ สังคมเรามีนักคิด หาเหตุผล วิเคราะห์กันไปต่างๆ แต่ไม่ได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติกันเท่าไร หากเราได้ปฏิบัติ จะเกิดการหยั่งรู้ด้วยตัวเองได้  คิดว่าส่วนนี้น่าจะเหมือนกับ Internalization ใน

"SECI Model"

Socialization, Externalization, Combination และ Internalization 

ซึ่งเป็นการสร้างความรู้ใหม่จากที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยการฟัง พูดคุยกับผู้อื่น ได้เห็นการแสดงออกมาเป็น model หรือ ภาพต่างๆ ที่มีการรวบรวมจัดเก็บเป็นระบบ เมื่อใครเข้าไปศึกษาข้อมูลตรงนี้แล้ว นำมาทดลองปฏิบัติบ้าง ก็จะเรียนรู้ สร้างเกลียวความรู้

ต่อยอดให้สูงขึ้น เพราะสิ่งที่แต่ละคนได้อาจจะแตกต่างกัน

        ก่อนเที่ยง พูดคุยกันถึงนิวรณ์ 5 เพราะตอนนั่งปฏิบัติภาวนา สมาธิ หลายคนได้เจอทั้ง

    สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ไม่ชอบ เจอความสงสัย ความง่วง และ ความฟุ้งซ่าน

ฟังแล้วเข้าใจง่ายดี เพราะได้ผ่านประสบการณ์มาหมาดๆ บางคนมีเกือบครบทั้งห้าเลย ในระหว่างนั่งสมาธิ  กระบวนกรบอกว่า เวลานั่งแล้วปวด ก็ให้รู้ว่าปวดตรงส่วนไหน การรู้ตัว แล้วนึกในใจว่าปวดหนอ ไม่ได้ทำให้หายปวด หรือปวดหาย แต่ทำให้มีสติรู้ตัว เข้าใจธรรมชาติของสังขาร

############################################

        ช่วงบ่าย เริ่ม body scan ครั้งนี้รู้สึกแค่เคลิ้ม กึ่งหลับ กึ่งตื่น รู้ตัวว่าแขนกระตุกด้วย   เสร็จจากกิจกรรม ก็มานั่งฟังวิธีจัดการกับ นิวรณ์ ด้วยการอยู่กับปัจจุบัน ตามรู้ ตามดู สิ่งที่เกิดขึ้นทุกขณะให้ทัน ไม่ต้องบังคับจิต ว่าห้ามคิด หรือรู้สึกผิดเมื่อฟุ้งซ่าน ธรรมชาติของจิตไม่หยุดนิ่งง่ายๆ อยู่แล้ว ฟังตรงนี้รู้สึกดี และสบายใจขึ้นเยอะ ว่าเราไม่ได้ผิดปกติ นะ

      บ่ายนี้ผ่านไปเร็วมาก

  • จับคู่คุยกันเรื่องความทุกข์  ให้เราเล่าสู่กันฟังกับคู่สนทนา ว่า แต่ละคนมีความทุกข์อะไรอยู่  จับคู่เจอน้องที่เพิ่งเรียนจบ น้องพูดไม่เก่ง เล่าเสร็จหนึ่งเรื่อง แต่ระฆังยังไม่ดัง เราก็ไม่ยอมเล่า น้องเขาก็น่ารัก ปรากฏว่าตอนแรกบอกว่าหมดเรื่อง แต่เมื่อเวลายังไม่หมด เขาก็มีเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องที่ผุดออกมาเรื่อยๆ  พอถึงตาเราบ้าง คิดไม่ออกนะตอนแรก ว่าอะไรคือความทุกข์ ที่เรียกว่าทุกข์ จริงๆ ต้องใช้เวลาคิด ในเวลาที่กำหนดเล่าได้ 2 เรื่อง
  • หลังกิจกรรมนี้ ก็ให้ปฏิบัติการทำสมาธิ อีก โดยกระบวนกรเหนี่ยวนำให้เรายอมรับกับความทุกข์ ไม่วิ่งหนี รับรู้มัน ผ่อนคลาย เฝ้าดู  สำหรับตัวเอง พอได้ยิน คำพูดนี้ก็นึกถึงคำว่า "embrace" เห็นภาพ ตัวเองอีกคนหนึ่ง แล้วเราก็สวมกอดร่างนั้น และจ้องมองดูอย่างเป็นมิตร วูบนี้ คำว่า มิตรแท้แห่งตน ซึ่งเป็นชื่อกิจกรรมวันนี้  ก็ดังขึ้นมาในหัวและเกิดการเชื่อมโยง กันทันที ทำให้เรารู้สึกดีมากๆ กับช่วงเวลาแห่งความเข้าใจเรื่องราวของความทุกข์ แบบการยอมรับ ไม่กดทับ เสียงในใจบอกว่า "เธอต้องยอมรับความทุกข์เป็นเพื่อน ที่เธอต้องทำความเข้าใจเขา เพราะเขาจะตามเธอไปตลอดแน่ เราต้องอยู่ร่วมกับเขาอย่างมิตร เขาจะได้ไม่รบกวนจิตใจเรา" เออหนอ คิดไปได้
  • กระบวนกร เรียกทุกคนกลับมายืนเข้าแถว ทดลอง ยก ย่าง เหยียบ ซ้าย ขวา สลับกันไปมา เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ ตามดูขั้นตอนการเดินอย่างช้าๆ และสัมผัสกับความทุกข์ ความอยาก เมื่อต้องยกเท้าค้างไว้นานมาก กว่าจะผ่านทีละขั้นตอน  กระบวนกร ช่างกลั่นแกล้ง คนสูงวัยจริงๆ เมื่อยจนขาสั่นดิกๆ

        มาถึงปลายทางของวัน หนีไม่พ้นการ reflection วงใหญ่ ไม่มีใครบอกว่า ไม่ชอบ หรือไม่ดี เพราะคนที่มาร่วมกิจกรรมวันนี้คงได้อะไรกลับกันไปบ้าง แล้วแต่ช่วงเวลาที่สันโดษแต่ละคน

        สำหรับตัวเองที่ชอบกิจกรรมวันนี้ เพราะเป็นการผสมผสาน เชื่อมโยง การอยู่กับปัจจุบัน การตามดู รู้ตัว รู้ตื่น เบิกบาน แล้วยังได้ทำสุนทรียสนทนา จนเกิด การปิ๊งแว๊บด้วยตัวเอง แบบไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ รู้สึกว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่แสนวิเศษอีกวันหนึ่ง  แถมตอนท้าย กระบวนกร สรุปได้ดีมาก

        การศึกษา การปฏิบัติธรรมของเรา ส่วนใหญ่ บางคนเน้นหลักธรรม อ่านมาเยอะ รู้เยอะ บางคนเน้นปฏิบัติอย่างเดียว เปรียบเทียบกับการตบมือ ที่พยายามให้มือมาเจอกัน แต่ตบแล้วพลาด เสียงไม่เกิด ตบแล้ววืด แต่วันนี้พวกเราได้มาฝึกเชื่อมโยงปฏิบัติ กับ ปริยัติ  ซึ่งตัวเองคิดว่านี่ก็คล้ายกับ active learning คือลองปฏิบัติก่อน แล้วค่อยมาหาหลักการ ซึ่งผู้เรียน ผู้ฝึกตนได้ประสบการณ์ตรงแล้ว กลับมาฟังหลักการจะเข้าใจได้ดีขึ้น    

 

หมายเลขบันทึก: 268109เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2009 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีค่ะ

เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมากค่ะ แถมจัดกลางกรุงเลย

ขอบคุณนะคะ เหมือนได้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยจริง ๆ ค่ะ

และชอบคำที่ใช้...มิตรแท้แห่งตน...

นี่คือสิ่งที่แน่นอนค่ะ

(^___^)

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • ยังไม่เคยปฏิบัติธรรมที่ไหนเลยค่ะ
  • ได้อ่านบันทึกของอาจารย์ ทำให้สนใจมากขึ้น
  • ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ

อ่านบันทึกพี่แล้ว คิดถึงคำว่า interconnectedness เลย

ล้วนแล้วเชื่อมโยงเกี่ยวพัน มหัศจรรย์จริงครับ

โห...พี่ส้มค่ะ ชอบมากเลยค่ะ ^^

เขียนได้ดีมากเลย เห็นภาพจริงๆ แล้วยังสะท้อนประสบการณ์ของพี่ส้มที่ไปเข้าร่วมได้อย่างน่ารักลงตัวดีจัง

ชื่นชมยินดีด้วยนะคะ นากำลังจะสร้างเมล์กรุ๊ป ภาวนากลางกรุง "มิตรแท้แห่งตน" ขึ้นมา หวังว่าจะเป็นแหล่งส่งข่าวคราวสำหรับกิจกรรมนี้ในครั้งต่อๆไป และเปิดให้เป็น พื้นที่ สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันต่อๆไปค่ะ

ขอบคุณที่แบ่งปันเรื่องราวนะคะ ^^

มาสาธุจ้า และเพลงเพราะค่ะ

แอบเฝ้ารอ "มิตรแท้แห่งตน ๒" อยู่นะคะ

ด้วยรักและมิตรภาพ

=^o^=

ฟังดูน่าสนใจดีค่ะ

คราวหน้าจะขอไปเข้าร่วมด้วยคนนะคะ

สวัสดีค่ะ

P  คุณคนไม่มีราก

 P พี่ pa_daeng

P คุณใบบุญ

ที่แวะมาเก็บเกี่ยว ทักทายประสามิตรเก่าค่ะ พวกเราส่วนใหญ่ สนใจฝักใฝ่ในธรรมะ กันมากขึ้น เพื่อช่วยรักษาสมดุลของสังคม มิให้มีแต่เรื่องร้ายๆ มาเข้าหูเรา เลยต้องหาเรื่องดีๆ ใส่ใจไว้มากๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะ  P อ.หมอ เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี

ขอบคุณที่แวะมาทักทาย ช่วยสรุปให้ด้วยค่ะ ใช่เลยค่ะ ที่เรื่องราวที่เราเข้ามาเกี่ยวข้องต่างกรรม ต่างวาระ บางครั้งทำให้เราประหลาดใจหลายครั้ง ทำไมเชื่อมโยงเป็นระบบดีจัง 

สวัสดีจ้ะ น้องนา นานาจิตตัง ตามเข้ามาได้ไง ไวจริง ทึ่งมาก เพราะตอนเขียนบันทึกนี้เสร็จ พี่หาโอกาสจะ forward ให้หนูอยู่ แต่จู่ๆ หนู ก็เข้ามา เชื่อมโยง บันทึกนี้เข้ากับกลุ่มผู้เข้าอบรมให้เลย ใจเราตรงกันจริงๆ

มีคนสนใจเยอะ บอก อ.หนานจุ๋ม ให้ปลื้มใจหน่อยนะคะ อ.มีเทคนิค มุขสอนธรรมะแบบชิวๆ  

สวัสดีค่ะ

 คุณไม่มีรูป ผู้มาใหม่

P คุณ dr-ammy

หาข่าวการจัดครั้งต่อไปได้ค่ะ

 แต่ละคนที่ร่วมกิจกรรมล้วนได้ประสบการณ์ ที่เหมือนบ้าง ต่างบ้าง เพราะต้นทุน ต้นทางต่างกัน ค่ะ

ค้นพบทิตรแท้แห่งตน : ผ่านงานภาวนากลางกรุง

http://khana-santisuk.blogspot.com/

=^o^=

ขวัญแผ่นดิน สถาบันเพื่อการเรียนรู้โลกด้วยใจ

กิจกรรมภาวนากลางกรุงนี้ ทางเราคิดจะจัดกันทุกเดือนครับ

เพื่อเป็น space ว่างๆ ให้กับจิตใจที่ เหนื่อยล้า ว้าวุ่น สับสน

ได้หยุดนิ่ง พักผ่อน เติมพลังให้กับชีวิตที่วุ่นๆ

ครั้งที ๒ ได้จัดไปแล้วในวันที่ ๒๕ ก.ค. ที่ผ่านมา อาจจะอ่อนประชาสัมพัน์ไปนิดนึง

ครั้งที่ ๓ จะจัดในวันที่อาทิตย์ที่ ๑๖ ส.ค. ห้องประชุม ๑ บ้านพักคริสเตียน ๙.๐๐-๑๖.๐๐น.

นอกจากความเป็นมิตรแท้ที่มีให้ตนแล้ว คราวนี้ เรามาร่วมเรียนรู้และ

"เริงระบำในความสัมพันธ์" ร่วมกัน

ภาวนา คงมิใช่การที่ทำให้เราสงบเพียงอย่างเดียว

แต่หมายถึงการคลุกเคล้ากับโลกใบนี้ อย่างรับรู้ทุกท่วงทำนองที่เริงระบำ

ขอบคุณทีมงานขวัญแผ่นดิน ที่เข้ามาให้ข้อมูลค่ะ

เสียดายจัง วันที่ 16 ติดภารกิจเตรียมการเดินทางไป ปฏิบัติงาน ตวจ. ทั้งสัปดาห์ ทำให้ ไม่มีโอกาสไปเริงระบำ ในความสัมพันธ์ ด้วยค่ะ ไว้คราวหน้านะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท