พวกเรามีโอกาสเป็นโรคจิต(เภท)มากเท่าไร


 

...

 [ MH ]

ภาพที่ 1: ปัจจัยทางด้านพันธุกรรมมีผลทำให้ความเสี่ยงของคนที่เป็นญาติกับคนไข้โรคจิตเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นดังนี้ > Thank [ mentalhealth ]

แฝดเหมือน(48%); แฝดต่าง(17%); ลูก(13%); พี่น้อง(9%); พ่อแม่(6%); พี่น้องพ่อเดียวกัน-แม่เดียวกันฝ่ายเดียว(6%); หลาน(5%); หลานสาว(4%); ลุงหรือป้า(2%); ลูกพี่ลูกน้อง(2%); ประชากรทั่วไป(1%)

...

 [ schizophrenia ]

ภาพที่ 2: ภาพแสดงความชุกของโรคจิตเภทในสหรัฐฯ > Thank [ schizophrenia ]

ความชุกของโรคจิตเภท(จำนวนคนไข้)ในสหรัฐฯ มีประมาณ 2 เท่าของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์, 5 เท่าของเบาหวานที่พึ่งอินซูลิน(พบมากในเด็กเล็ก)

...

ภาพที่ 3: อายุที่เริ่มเป็นโรคจิตเภท (เส้นสีฟ้าแทนผู้ชาย; เส้นสีแดงแทนผู้หญิง) > Thank [ schizophrenia ]

  • ช่วงแรก(วัยรุ่น-ผู้ใหญ่อายุน้อย ก่อน 30 ปี) พบผู้ชายมากกว่า
  • ช่วงหลัง(หลัง 30 ปี) พบผู้หญิงมากกว่า

...

 [ schizophrenia ]

ภาพที่ 4: สถิติคนไข้จิตเภทที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแคนาดา (ผู้ชาย = แท่งสีม่วง; ผู้หญิง = แท่งสีเขียว) ช่วงก่อน 45 ปีคนไข้ในส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย หลัง 45 ปีคนไข้ในส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง > Thank [ schizophrenia ]

..................................................................................................

มูลนิธิสุขภาพจิต 'SANE' ออสเตรเลียทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเกือบ 900 คน

ผลการศึกษาพบว่า คนออสเตรเลีย 49% ยังไม่รู้จักและไม่เข้าใจโรคจิตเภท (schizophrenia) ซึ่งเป็นโรคจิตที่พบบ่อยที่สุด

... 

จิตเภทเป็นโรคเรื้อรัง มีความผิดปกติของสมองในด้านการรับรู้(ขาเข้า), ตีความหมาย(ประมวลผล), และแสดงออก(ขาออก) 

คนไข้โรคจิตเภทส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นบ้าชัดเจนตลอดชีวิต ทว่า... มีชีวิตที่เกือบจะปกติหรืออยู่กลางๆ ระหว่างคนดี-คนบ้า (แต่มักจะไม่เต็ม 100) แบบคนเพี้ยนสลับกับช่วงที่อาการกำเริบ ซึ่งจะพบลักษณะของคนบ้าชัดเจน

...

อาการที่พบบ่อยได้แก่

  • (1). ความคิดสับสน (disordered thought)
  • (2). หลงผิด (delusion) เช่น คิดว่า ตัวเองใหญ่ที่สุดในบ้านเมือง ฯลฯ)
  • (3). ภาพหรือเสียงหลอน (hallucination) ซึ่งไม่มีจริง แต่เห็นหรือได้ยิน ส่วนน้อยเป็นสัมผัสหลอน เช่น มีตัวอะไรไต่ตามตัว ฯลฯ
  • (4). แยกตัวออกจากคนอื่น
  • (5). สื่อสารกับคนอื่นไม่ได้

...

คนไข้จิตเภทมักจะมีความสับสนรุนแรงในช่วงที่อาการกำเริบ 3 ด้านได้แก่ เวลา (time), สถานที่ (place), และบุคคล (persons) เช่น เวลามีอาการชัดเจนอาจไม่รู้ว่า ตอนนี้กลางวันหรือกลางคืน, อยู่ที่ไหน, เป็นใคร (อาจจะรู้จักตัวเอง แต่ไม่รู้จักคนอื่นเลย) ฯลฯ

ข้อมูลเกี่ยวกับโรคจิตเภทที่น่าสนใจได้แก่

...

(1). โรคจิตไม่ได้เกิดจากจิตแตกสาเหตุเดียว (จิตเภท = จิต + เภท = จิต + แตก; โปรดสังเกตว่า มีคำ "เภท" คล้ายคำว่า "สังฆเภท" = ทำให้สงฆ์ + แตก)

  • โรคจิตไม่ได้เกิดจาก "จิตแตก" หรือบุคลิกภาพแตกแยกเพียงอย่างเดียว ถึงแม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน ทว่า... โรคนี้มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับปัจจัยทางด้านพันธุกรรมและสารเคมีในสมองที่เสียศูนย์ หรือเสียสมดุล [ NIH ]
  • การค้นพบว่า โรคนี้มีความสัมพันธ์กับสารเคมีที่เสียสมดุล ทำให้เราใช้ยาปรับสภาพสารสื่อประสาทในสมองรักษาโรคนี้ได้

...

(2). คนบ้าชอบทำร้ายคนอื่น 

  • ส่วนน้อยของคนไข้เท่านั้นที่จะดุร้าย ผลการวิจัยที่ผ่านมาพบว่า คนไข้โรคจิตถูก(คนไม่บ้า)ทำร้ายมากกว่าไปทำร้ายคนอื่น

...

(3). คนเรามีโอกาสเป็นบ้ามากไหม

  • คำตอบคือ ไม่น้อยเท่าไหร่... ประชากรทั่วไป(ชั่วชีวิต)มีโอกาสเป็นโรคจิตเภท = 1/100
  • คนไทย 63.396 ล้านคนมีโอกาสเป็นบ้า(โรคจิตเภท)ช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต = 633,960 คน [ ipsr ]
  • คนไข้ที่ได้รับการรักษามีไม่ถึง 20%; ส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้รับการรักษา และอยู่ตามบ้านญาติเป็นส่วนใหญ่ [ dmh.go.th ] 

...

  • คนทั่วโลกมีประมาณ 6,785 ล้านคน โอกาสเป็นบ้าประมาณ 67.85 ล้านคน [ UScensus ]

...

(4). โอกาสที่คนเราจะเป็นคนเพี้ยนมีเท่าไร

  • คนหลายๆ คนไม่มีอาการแสดงของโรคจิตชัดเจน ทว่า... มีบุคลิกภาพผิดปกติ (personality disorder) แปลกไปจากคนส่วนใหญ่ หรืออาจเรียกได้ว่า "เพี้ยน (schizoid personality)"... 
  • เราไม่รู้ว่า ความเสี่ยงหรือความน่าจะเป็นของประชากรทั่วไปมีเท่าไร เนื่องจากคนไข้ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับว่าป่วย และไม่ยอมรักษา [ clevelandclinic ]

...

  • หลักคิดหนึ่งที่ชาวตะวันตกชอบใช้ คือ หลักการ "ภูเขาน้ำแข็ง (tip of the iceberg)" ได้แก่ ภูเขาน้ำแข็งจะลอยน้ำ 1 ส่วน, จมน้ำ 10 ส่วน นั่นคือ อะไรที่ปรากฏชัดเจน 1 ส่วนมักจะมีส่วนที่มองไม่เห็นมากประมาณ 10 เท่า
  • ผลการสำรวจโรคจิตในประเทศไทยพบคนไทยช่วงอายุ 15-59 ปีที่เป็นโรคทางจิต-ประสาททุกชนิดรวมกัน = 10.1% [ dmh.go.th ]

...

  • ถ้าประชากรทั่วไปมีโอกาสเป็นโรคจิต = 1/100 มีความเป็นไปได้ที่ว่า คนเพี้ยนน่าจะมีประมาณ 5-10 เท่าของคนที่เป็นโรคจิตชัดเจน นั่นคือ ความเสี่ยงน่าจะอยู่ที่ 1/10-1/20 หรือประชากร 10-20 คนมีคนเพี้ยนๆ 1 คน
  • ถึงแม้ว่า คนเพี้ยนส่วนหนึ่งจะไม่มีโอกาสทำงานในองค์กรหรือสำนักงาน อาจจะทำงานคนเดียว หรืองานใช้แรงงานได้ ทว่า... องค์กรที่มีคนตั้งแต่ 50-100 คนก็มักจะพบคนเพี้ยนได้ประมาณ 1 คนขึ้นไป

...

(5). คนเพี้ยน (schizoid personality) มีลักษณะอย่างไร [ clevelandclinic ]

  • (1). ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับใคร แม้แต่คนในครอบครัว,
    (2). เลือกทำงานที่ทำคนเดียว หรือกิจกรรมที่ทำคนเดียว,
    (3). ไม่ค่อยมีความสุข หรือสนุกกับอะไรเป็นพิเศษ,
    (4). ไม่มีเพื่อนสนิทที่ไม่ใช่ญาติสายตรง (อาจจะสนิทกับญาติสายตรงบางคนได้),

...

  • (5). รักษาความสัมพันธ์กับคนอื่นนานๆ ได้ยาก เช่น คบเพื่อนนานเป็นปีๆ หรือสิบๆ ปีได้ยาก ฯลฯ,
    (6). ไม่หวั่นไหวต่อคำสรรเสริญและนินทา (แต่ไม่ใช่ผู้บรรลุธรรมชั้นสูงแต่อย่างใด),
    (7). แสดงความรู้สึกน้อย (ทั้งด้านยินดีและยินร้าย),
    (8). ฝันกลางวันได้ราวกับคนในฝันเป็นจริง

...

(6). ผู้หญิงกับผู้ชาย ฝ่ายไหนเสี่ยงบ้ามากกว่ากัน

  • ผู้ชายเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง ทว่า... ถ้าผู้หญิงเป็นตอนอายุมาก อาการมักจะหนัก กลไกที่เป็นไปได้คือ ฮอร์โมนเพศหญิงอาจช่วยลดความรุนแรงของโรคนี้ และฮอร์โมนดังกล่าวลดลงหลังหมดประจำเดือน [ schizophrenia ]

...

(7). วัยไหนเสี่ยง

  • ส่วนใหญ่ (75%) พบในช่วงอายุ 16-25 ปี

...

(8). ปัจจัยเสี่ยงโรคจิตเภทคืออะไร [ mayoclinic ]

  • ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่ มีญาติเป็นโรคจิต, ประวัติการติดเชื้อหรือขาดอาหารของแม่ช่วงตั้งครรภ์, วิกฤตชีวิตรุนแรง, พ่ออายุมาก (พ่ออายุมากเพิ่มเสี่ยงโรคจิตเภท และออทิสติก; ส่วนแม่อายุมากเพิ่มเสี่ยงปัญญาอ่อนแบบเด็กดาวน์)

...

(9). ปัจจัยเสี่ยงของคนเพี้ยนคืออะไร [ mayoclinic ]

  • ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่ วิกฤตชีวิต เช่น ถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้าย ฯลฯ หรือขาดความรักความอบอุ่นวัยเด็ก หรือมีญาติเป็นโรคจิต

...

 

ถึงแม้ว่า โรคจิตเภทจะยังไม่มีวิธีป้องกันที่ชัดเจน ทว่า... โรคจิตอีกหลายชนิดยังพอป้องกันได้ โดยเฉพาะโรคจิตหวาดระแวง ซึ่งคนไข้มีโอกาสทำร้ายคนอื่นสูงจากการหลงผิดหรือระแวงว่า คนอื่นจะทำร้าย เลยชิงทำร้ายเสียก่อน

วิธีป้องกันโรคจิตชนิดหวาดระแวงที่สำคัญได้แก่ การไม่ดื่ม(แอลกอฮอล์)หนักหรือนาน และการไม่เสพยาบ้า

... 

องค์ความรู้ในการรักษาโรคจิตเภทก้าวไปเร็วมาก โดยเฉพาะการนำสารเคมี(ยา)มาใช้ในการรักษาสารเคมีในสมองที่เสียศูนย์ หรือขาดสมดุล ทำให้คนไข้ที่ได้รับการรักษาต่อเนื่องจำนวนมากมีชีวิตที่ดี ทำงานได้ เปลี่ยนจากคนที่เป็นภาระสังคมเป็นคน 

ขอแนะนำให้อ่าน > [ คนบ้ากับคนไข้โรคจิต ต่างกันอย่างไร ]

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ 

...

 > Thank virtualmedicalcentre

ที่มา                                                                      

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า >   > 8 มิถุนายน 2552.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.

หมายเลขบันทึก: 267296เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2009 00:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 08:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท