CBNA ฉบับที่ 8 : วิกฤตเศรษฐกิจ 2551 กับคุณภาพชีวิตแรงงานหญิง


สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานหญิงในเอเชีย พบว่า ส่วนใหญ่แรงงานหญิงเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างมากกว่าแรงงานชาย บางกิจการมีการลดการจ้างงาน จึงทำให้ผู้หญิงมักจะได้รับผลกระทบจากการว่างงานที่เพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ชาย ส่วนความช่วยเหลือต่อแรงงานหญิง จากประสบการณ์ของประเทศสิงค์โปร์ จะไม่ใช้วิธีการเลิกจ้างงาน แต่จะเป็นการฝึกทักษะเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถทำงานอื่นๆมากขึ้น มีการเพิ่มทางเลือกในการจ้างงานที่ยืดหยุ่น มีการส่งเสริมการทำงานที่เป็นธรรม มีการจัดตั้งสมาพันธ์เพื่อช่วยเหลือแรงงานหญิง มีการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติให้เท่ากับสิทธิแรงงานในชาติ มีการให้สิทธิประโยชน์ทางสังคมเมื่อแรงงานว่างงาน เช่น การจ่ายเงินให้คนว่างงาน มีการจัดบริการช่วยเหลือแรงงานที่ตกงาน มีการปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงานเพื่อให้เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือ

ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน

ฉบับที่ 8 (5 มีนาคม 2552)

วิกฤตเศรษฐกิจ 2551 กับคุณภาพชีวิตแรงงานหญิง

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม 2552 กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดเสวนาเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจกับคุณภาพชีวิตแรงงานหญิง ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค ดินแดง กรุงเทพฯ

 


การเสวนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอปัญหาและความต้องการของแรงงานหญิงที่ถูกเลิกจ้าง รวมทั้งการลดวันทำงาน และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานหญิงที่ถูกเลิกจ้าง ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่ควรมีเพิ่มเติม รวมทั้งกลไกการบริหารจัดการของภาครัฐว่าสามารถเข้าถึงแรงงานหญิงได้มากน้อยอย่างไร

 


เพลินพิศ ศรีศิริ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ในฐานะตัวแทนองค์กรจัดงาน กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมเสวนาว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจที่รัดตัว แม้รัฐจะออกมาตรการหลายอย่าง แต่วิกฤติก็ยังไม่คลี่คลาย พบว่ายังมีการเลิกจ้าง ยังมีการกระทบกระทั่งระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างอยู่เสมอ ซึ่งการกระทบกระทั่งเข้าใจได้ว่าเป็นผลมาจากความสูญเสียการดำรงอยู่ของชีวิตที่จะติดตามมาภายหลังการเลิกจ้าง การจัดเสวนาครั้งนี้ที่มุ่งเน้นเฉพาะไปที่แรงงานหญิง เนื่องจากเห็นว่าส่วนใหญ่ผู้หญิงจะเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำให้ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะตกอยู่ที่ผู้หญิงแทบทั้งนั้น การเปิดเวทีวันนี้จึงเป็นการชี้ให้เห็นความสำคัญของบทบาทผู้หญิง และแนวทางแก้ปัญหาที่จะติดตามมาในอนาคต

 


เวสน่า โรดิช มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเข้ามาร่วมหารือในเวทีนี้ เพราะเป็นการหารือเชิงนโยบายระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน เพื่อร่วมกันรับมือกับสึนามึทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก หัวข้อเสวนาวันนี้มีความหมายอย่างยิ่งในการแลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆ นี้คือเรื่องที่น่ายินดี แต่ความเศร้าก็มีในเวลาเดียวกัน เนื่องจากมีคนนับแสนนับล้านคนต้องถูกเลิกจ้างทุกวัน ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นคนเหล่านั้น ชีวิตประจำวันของเราที่ยังมั่นคงอยู่จะมีคุณค่าเพียงใด เมื่อเทียบกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างในทุกวัน

 


สาเหตุที่เน้นไปที่แรงงานหญิง เนื่องจากมีตัวชี้วัดว่าวิกฤติครั้งนี้ส่งผลต่อผู้หญิงร้ายแรงกว่าผู้ชาย มีข้อมูลที่ยืนยันชัดเจนว่าผู้หญิงได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย เช่น การจ้างงานในภาคอิเลคทรอนิคส์ ภาคสิ่งทอ จะมีแรงงานหญิงทำงานมากกว่า 70% ซึ่งผู้หญิงเหล่านี้มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรด้านต่างๆได้น้อยมาก นี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เราต้องหยิบยกประเด็นนี้มาหารืออย่างเร่งด่วน เพื่อเรียนรู้ถึงบทเรียนที่เกิดขึ้น และช่องว่างต่างๆที่ผู้หญิงเข้าไม่ถึง ปีนี้ผู้หญิงจะเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากปัญหาด้านอื่นๆที่ดำรงอยู่แล้ว

 


ต่อมาในประเด็นเรื่องที่ว่าทำไมต้องมีเครือข่ายแรงงานหญิงโดยเฉพาะ พบว่าสาเหตุมาจากสหภาพแรงงานที่มีทั่วโลก ส่วนใหญ่จะมีผู้ชายเป็นผู้นำและกระบวนการตัดสินใจจะอยู่ที่ผู้ชายแทบทั้งนั้น อย่างไรก็ตามถ้าสหภาพแรงงานมีผู้หญิงเป็นผู้นำ อาจไม่มีความจำเป็นที่ต้องจัดงานวันนี้ขึ้นมา แต่วันนี้เรายังไม่เห็นบทบาทผู้หญิงในสหภาพแรงงาน ทำให้จึงต้องมีความจำเป็นที่ต้องจัดงานเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ และชักชวนผู้ชายเข้ามามีส่วนร่วม มาสนับสนุนให้เห็นความสำคัญต่อไป

 


            การเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คุณไพฑูรย์ แก้วทอง กล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ

 

อ่านทั้งหมด click :ดาวน์โหลด


 

หมายเลขบันทึก: 267229เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2009 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท