CBNA ฉบับที่ 6 :อาเซียนซัมมิท : รัฐไหนจะเป็นคนถามไถ่ปฏิญญาเซบู


การประชุมอาเซียนซัมมิทที่ประกอบด้วยตัวแทนของรัฐบาล น่าจับตาดูเหมือนกันว่าประเทศไหนจะเป็นคนถามไถ่ปฏิญญาเซบูหรือข้อตกลงต่างๆ มาทบทวนและกำหนดให้เกิดการปฏิบัติในชาติอาเซียน เพื่อความสงบสุขของประชาชนและภูมิภาค แม้หลายส่วนอาจจะไม่คาดหวังต่อเวทีแบบนี้ แต่ในทางพื้นที่เคลื่อนไหวทางสังคม และการพัฒนากติการ่วมของภูมิภาคที่นำมาสู่รัฐชาติ จะต้องไม่ผูกขาดโดยทุนนิยมทุกระดับที่ผ่านตัวแทนเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรและผลประโยชน์ เราจำเป็นต้องมีปากเสียง มีพื้นที่ แม้จะมีโอกาสที่น้อยนิดก็ตามที

ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน

ฉบับที่ 6 (27 กุมภาพันธ์ 2552)

อาเซียนซัมมิท : รัฐไหนจะเป็นคนถามไถ่ปฏิญญาเซบู

บัณฑิต แป้นวิเศษ

เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM)

 

            ปัจจุบันประเทศไทยไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ไม่มีสถานะการเป็นประเทศที่ส่งออกแรงงานในชาติ แรงงานข้ามชาติ และการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ การเจริญเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้นำพาความสำคัญและความสัมพันธ์ไปสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ประกอบกับประเทศไทยมีแนวภูมิประเทศที่มีผืนดินติดกับเพื่อนบ้านอย่าง พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ทำให้การเข้ามาของประชาชนในชาติที่ประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สามารถเดินทางเข้ามาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก จากข้อมูลตัวเลขของแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ (พม่า ลาว กัมพูชา) โดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ณ เดือนธันวาคม 2551 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 501,570 คน ในขณะที่ตัวเลขของเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติประมาณการอยู่ที่ 2-3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้ามาทำงานในประเภทอุตสาหกรรมที่คนไทยไม่ทำและไม่ต้องใช้ฝีมือแรงงานมากนัก เป็นกิจการที่เสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพ เช่น กิจการประมง, ก่อสร้าง, รับใช้ในบ้าน และภาคเกษตร เป็นต้น

 


            ในขณะที่รัฐบาลมีแนวนโยบายและระบบการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติยังมีความคลุมเครือ  ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสถานการณ์ โดยเฉพาะปัญหาด้านการคุ้มครองสิทธิ การเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารด้านสิทธิการคุ้มครองทางกฎหมายแรงงานและสุขภาพ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน นักวิชาการ องค์กรแรงงาน และองค์กรเอกชน ในการตัดสินใจเพื่อกำหนดนโยบายด้านการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับการแก้ไขปัญหาหลายอย่างของแรงงานข้ามชาติที่มีต่อสังคมไทยและสังคมอาเซียน

 


            ประเทศไทยภายใต้การเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน 2552 (Association of Southeast Asian Nations) ครั้งที่ 14 หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า อาเซียนซัมมิท (ASEAN SUMMIT) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2552 ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้น ประเด็นปัญหาการใช้แรงงานเคลื่อนย้าย ปัญหาสถานะตัวตนในชาติและภูมิภาคอาเซียนจะอยู่ในกรอบการเจรจาของอาเซียนซัมมิท ที่กฎบัตรอาเซียนมีเป้าหมาย “ความร่วมมือในด้านการสร้างความมั่นคงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในเรื่องของอาหาร พลังงาน การรับมือกับเศรษฐกิจโลก การจัดการด้านภัยพิบัติ การเคารพกติกาเพื่อนำไปสู่การสร้างประชาคมที่เข้มแข็ง การเคารพอธิปไตย ความเท่าเทียม และความมีเอกลักษณ์ประจำชาติ ไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน ระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี โดยทั้งนี้ อาเซียนจะเป็นองค์กรที่มีกติการการดำเนินงานที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันกลไกการทำงานในหน้าที่ใหม่ของอาเซียน”

 


            ซึ่งการประชุมอาเซียนครั้งนี้สามารถประเมินได้ว่า กรอบการพูดคุยจะยังคงเน้นไปที่ “การพัฒนาเศรษฐกิจร่วม เพื่อเป้าหมาย 6 ปีเป็นหนึ่งเดียวทางเศรษฐกิจ” ดังนั้น ประเด็นที่ต้องพูดคุยและเป็นข้อเสนอต่อการประชุมอาเซียนซัมมิท (ASEAN SUMMIT) ก็คือ การกระตุ้นให้อาเซียนเร่งปฏิบัติการตามกรอบปฏิญญาเซบู ซึ่งได้ประกาศเมื่อต้นปี 2550 แต่ปฏิญญาฉบับนี้ไม่มีอำนาจบังคับรัฐแต่ละประเทศให้ปฏิบัติตามได้ เป็นเรื่องสมัครใจ เป็นเรื่องศักดิ์ศรีระหว่างประเทศ ถ้ามองกลับไปในปฏิญญาฉบับนี้จะเห็นความชัดเจนด้านมนุษยชนใน 3 ประการหลัก คือ

 


ประการแรก      ประเทศที่เป็นปลายทางจะต้องต้อนรับและปฏิบัติต่อพวกเขาหรือคนที่มาอาศัยอยู่อย่างมีทัศนคติที่ดี ต้องดูแลให้ปกติสุข เพราะเชื่อว่ามนุษย์ไม่ใช่ปัจจัยทางเศรษฐกิจ

 


ประการที่สอง    บทบาทของประเทศต้นทาง (ผู้ส่งออกแรงงาน) จะต้องให้ข้อมูลความรู้แนะนำ เพื่อการเตรียมพร้อมของประชาชนตนเองก่อนออกไปสู่สังคมภายนอกอีกประเทศหนึ่งว่า “จะเผชิญปัญหาอะไรบ้าง จะไปหาใคร จะอยู่อย่างไร ข้อจำกัด เงื่อนไขอะไรบ้างถ้าไปประเทศปลายทาง เพราะการออกจากประเทศเพื่อไปทำงานถือว่ารัฐเป็นผู้ส่งเพื่อทำรายได้เข้าประเทศ ฉะนั้น รัฐประเทศต้นทางต้องรับผิดชอบด้วย”

 


ประการที่สาม    ปฏิญญาเซบูเป็นข้อปฏิบัติร่วมเหนือรัฐที่ไม่มีการบังคับ ดังนั้น จึงไม่มีการปฏิบัติที่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน โดยเคารพในหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นในรัฐนั้นๆ ดูเหมือนเป็นสำนึกร่วม ความผูกพันร่วมที่มีต่อกัน

 


            จะเห็นได้ว่า การพูดถึงปฏิญญาเซบูกับท่าทีของอาเซียนในมิติของการพัฒนาเศรษฐกิจร่วม จึงเป็นนัยยะของการเคลื่อนไหวที่แรงงานทั้งในรัฐและนอกรัฐต้องให้ความสำคัญต่อการรณรงค์ ล็อบปี้ ผลักดันให้เกิดผลกับการเจรจาในประชาคมอาเซียนต่อการปกป้องสิทธิ การคุ้มครองในความเป็นมนุษย์ที่ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ ในฐานะของผู้สร้างเศรษฐกิจ สร้างสังคมร่วมกันในภูมิภาคนี้

 


            สถานการณ์ปัญหาแรงงานในชาติและข้ามชาติมีเรื่องราวที่คล้ายกันในหลายประการ เช่น เรื่องกฎหมายแรงงานกับการคุ้มครองและการเข้าถึงสิทธิ ทักษะฝีมือแรงงาน การรวมตัวต่อรอง การค้ามนุษย์ การเข้าไม่ถึงระบบประกันสุขภาพ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกเลือกปฏิบัติ การสืบสานและการรักษาขนบวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เป็นตัวตนของตนเอง รวมไปถึงการมีสถานะตัวตนของคนที่ต้องมีที่มาที่ไป ไม่ใช่ไร้รัฐ เมื่อขาดผลประโยชน์ที่ประเทศตนเองจะได้สิ่งเหล่านี้ การประชุมอาเซียนซัมมิทที่ประกอบด้วยตัวแทนของรัฐบาล น่าจับตาดูเหมือนกันว่าประเทศไหนจะเป็นคนถามไถ่ปฏิญญาเซบูหรือข้อตกลงต่างๆ มาทบทวนและกำหนดให้เกิดการปฏิบัติในชาติอาเซียน เพื่อความสงบสุขของประชาชนและภูมิภาค แม้หลายส่วนอาจจะไม่คาดหวังต่อเวทีแบบนี้ แต่ในทางพื้นที่เคลื่อนไหวทางสังคม และการพัฒนากติการ่วมของภูมิภาคที่นำมาสู่รัฐชาติ จะต้องไม่ผูกขาดโดยทุนนิยมทุกระดับที่ผ่านตัวแทนเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรและผลประโยชน์ เราจำเป็นต้องมีปากเสียง มีพื้นที่ แม้จะมีโอกาสที่น้อยนิดก็ตามที

 

หมายเลขบันทึก: 267221เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2009 20:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท