CBNA ฉบับที่ 5 : การให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ โดยพิจารณาการเข้าถึงสิทธิ การละเมิดสิทธิ การตรวจแรงงาน บทบาทของ NGO และการสร้างเครือข่ายทางสังคมของแรงงานข้ามชาติ


ปัจจัยที่ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงสิทธิ ผมพบว่ามีปัจจัยหลักอยู่หกประเด็น คือ เรื่องอคติทางเชื้อชาติ ที่คนหวาดกลัวต่อกัน คนไทยกลัวแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานจากพม่า ส่วนแรงงานข้ามชาติก็กลัวคนไทย เมื่อคนหวาดกลัวต่อกันก็ไม่สื่อสารกัน ไม่เข้าใจกัน ต่อมาเป็นเรื่องของการขาดช่องทางการสื่อสาร ไม่มีภาษาที่ทำให้คนในสังคมสามารถสื่อสารร่วมกันหรือให้เข้าใจตรงกันได้ แรงงานจำนวนมากไม่เข้าใจภาษาไทย ทำให้ไม่สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ นอกจากนั้นแรงงานยังขาดอำนาจต่อรองกับนายจ้าง เพราะไม่สามารถรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานได้

ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน

ฉบับที่ 5

การให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ

โดยพิจารณาการเข้าถึงสิทธิ การละเมิดสิทธิ การตรวจแรงงาน

บทบาทของ NGO และการสร้างเครือข่ายทางสังคมของแรงงานข้ามชาติ

25 กุมภาพันธ์ 2552

 

เมื่อวันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 14.45 – 17.00 น. ณ ห้องริมสวน โรงแรมอมารีออคิด รีสอร์ทแอนด์ทาวเวอร์ พัทยา จังหวัดชลบุรี สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศและโครงการจัดการแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน ได้จัดอภิปรายและแลกเปลี่ยนในหัวข้อ "การให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ โดยพิจารณาการเข้าถึงสิทธิ การละเมิดสิทธิ การตรวจแรงงาน บทบาทของ NGO และการสร้างเครือข่ายทางสังคมของแรงงานข้ามชาติ" โดยมีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยน 5 ท่าน คือ คุณบุญโชค มณีโชติคุณบุญลือ ศาตรเพ็ชร คุณอดิศร เกิดมงคล คุณเพ้ง ลืมเสียว และคุณเพียะ จวนจันทร์


 

คุณบุญโชค มณีโชติ สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร


            จากการลงพื้นที่ศึกษาดูงานที่ตัวเมืองชลบุรีในตอนภาคเช้า ผมได้แง่คิดประการหนึ่งที่อยากมาร่วมแลกเปลี่ยนกับทุกท่าน คือ วันนี้ปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าว เราไม่จำเป็นต้องแก้ไขแล้ว เนื่องจากแรงงานหลายคนได้บัตรประชาชนไทยแทบทั้งนั้น ฉะนั้นไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาไปทำไม ประการต่อมาซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวกว่า คือ ประเทศไทยยังไม่มีการวางแผนประชากรใดๆทั้งสิ้น ซึ่งจะกระทบต่ออนาคตประเทศไทยอย่างมาก อัตราการเพิ่มของประชากรขณะนี้พบว่าประมาณ 0.5% อัตราการอุ้มท้องเฉลี่ยน้อยลง หมายความว่าต่อไปจะไม่มีคนกลุ่มข้างล่างมาทดแทนคนรุ่นปัจจุบัน จะมีแต่สังคมผู้สูงอายุ เมื่อก่อนอัตราการเพิ่มประชากรประมาณ 2 % ซึ่งจะแตกต่างกับแรงงานต่างด้าวพม่าอย่างมาก ที่จะเห็นภาพกะเตงลูก อุ้มท้อง อย่างน้อยแม่คนหนึ่งมีลูก 3-4 คน ฉะนั้นถ้ารัฐบาลยังไม่ตระหนักถึงสถานการณ์เช่นนี้ จะมีปัญหาในระยะยาวแน่นอน


            ต่อมาในเรื่องของตัวเลขแรงงานต่างด้าว ตอนนี้ในพื้นที่มหาชัยมีอย่างน้อยหลักแสนคนขึ้นไป แต่ตัวเลขที่เป็นทางการจะมีความแตกต่างกัน คือ เวลาให้ผู้ประกอบการมาแจ้งว่าต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวเท่าใด พบว่า การดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา นายจ้างจำนวน 5 พันกว่าคน มีความประสงค์จะจ้างแรงงานต่างด้าวประมาณ 3 แสนคน แต่ถึงเวลาดำเนินการจริง มีแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงานจริงเพียง 8 หมื่นกว่าคนเท่านั้น ต่อมาในปี 2548-51 มีแรงงานมาต่ออายุเพียง 7 หมื่นกว่าคน ตัวเลขหายไปอย่างน้อยหลักหมื่นคน


            อย่างไรก็ตามเรื่องจำนวนตัวเลขแรงงานต่างด้าวนี้ ในส่วนข้อมูลของทางกอรมน. พบว่า จากการสำรวจชุมชนแรงงานต่างด้าวในมหาชัย พบทั้งหมด 31 ชุมชน ตัวเลขเฉลี่ยแรงงานต่างด้าวแต่ละชุมชนประมาณ 5 พันคน แต่ชุมชนที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่มากที่สุดถึงประมาณหนึ่งหมื่นคน คือ ที่หมู่บ้านมหาชัยนิเวศน์ รวมตัวเลขเฉลี่ยที่กอรมน.สำรวจประมาณ 1 แสนกว่าคน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะไม่ตรงกับตัวเลขการจ้างงานที่แรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนไว้ ครั้งหนึ่งมีการสำรวจตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าแรงงานต่างด้าวในพื้นที่มหาชัยมีจำนวนสูงถึง 3-5 แสนคน


            ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอในมหาชัย คือ เรื่องการศึกษาของลูกแรงงานต่างด้าวชาวพม่า ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนวัดศิริมงคล เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง อย่างไรก็ตามก็มีคำถามจากพ่อแม่เด็กต่างด้าวว่า ทำไมถึงไม่ยอมอนุญาตให้เด็กๆสามารถเรียนหนังสือในชุมชนหรือในเขตตัวเมืองได้ เพราะพวกเขาต้องเดินทางไปเรียนไกลมากในแต่ละวัน คำตอบก็คือ คนมหาชัยไม่ยอมครับ ยังไงก็ไม่ยอม


            ปัญหาหนักอีกประการหนึ่ง คือ เรื่องการจัดชุมนุม เช่น มีการเขียนขึ้นป้ายว่า เป็นงานวันชาติมอญ ซึ่งผู้ว่าฯวีระยุทธบอกว่า ไม่อนุญาตเด็ดขาด อย่างไรก็ไม่ยอมให้จัด  ถ้าเป็นคนไทยมอญถึงจะยอมได้ แต่ถ้าเป็นพม่าไม่ยอมแน่นอน เพราะถ้าทางจังหวัดปล่อยให้จัดงานเช่นนี้ทุกปี เหมือนกับว่าเราก็มีส่วนส่งเสริมคนพวกนี้ ซึ่งจะเป็นผลเสียกับประเทศพม่าที่ร่วมมือกันอยู่ ครั้งหลังสุดมีการประสานงานมาที่จัดหางานจังหวัด ว่าจะมีการจัดงานที่วัด ทางผู้ว่าฯก็ประสานมาว่าถ้ามีพม่าไม่ถูกกฎหมายก็ให้แจ้งตำรวจจับ แต่ถ้าถูกกฎหมายก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างไร แต่ท่านให้ข้อคิดว่า ถ้าเราจับแรงงานต่างด้าว 2 แสนคน แล้วสามารถนำคนไทยมาทดแทนได้ 2 แสนคน ก็จัดการไปเลย แต่ต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจของมหาชัยหลักพันล้านนั้น ขึ้นอยู่กับแรงงานต่างด้าว ถ้าไม่มีแรงงานต่างด้าวทั้งถูกหรือผิดกฎหมายทำงานอยู่ ตัวเลขการส่งออกของมหาชัยลดลงแน่นอน จึงเห็นได้ว่าผู้ว่าฯมองทั้งเศรษฐกิจและความมั่นคงร่วมกัน

 

อ่านทั้งหมด click :ดาวน์โหลด

 

หมายเลขบันทึก: 267219เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2009 20:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท