การผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1)


การผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1) กรมประมง สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาคร

ความเป็นมาของกิจกรรม
Probiotics เป็นจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์บางชนิดที่แยกจากธรรมชาติ ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับและนำมาใช้ในวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในระบบการเลี้ยงแบบพัฒนา จากปัญหาการเลี้ยงกุ้งทะเลที่นับวันทวีความรุนแรงและสลับซับซ้อนมากขึ้น ทั้งจากปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและโรคระบาด กรมประมงจึงมีแนวคิดใช้จุลินทรีย์เพื่อสร้างสมดุลของจุลินทรีย์ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวกุ้ง และในระบบทางเดินอาหารของกุ้ง โดยมีกลไกในการช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำและลดปริมาณเชื้อก่อโรคในสิ่งแวดล้อมและในระบบทางเดินอาหารของกุ้ง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ปีงบประมาณ 2551 ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาครได้รับมอบหมายจากกรมประมงให้ผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1) ซึ่งเป็นแบคทีเรียในกลุ่ม Bacillus โดยใช้สายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกแล้วว่ามีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายสารอินทรีย์ที่ตกค้างสะสมในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จำนวน 100,000 ซอง เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วประเทศ

กรรมวิธีการผลิต
การผลิตโดยเลี้ยงเชื้อในกลุ่ม Bacillus 3 ชนิด คือ B. subtilis , B. megaterium และ B. licheniformis ในอาหารเหลวจนแบคทีเรียเหล่านี้สร้างสปอร์ (spore) ภายในเซลล์ จากนั้นเก็บเกี่ยวแบคทีเรียเหล่านี้มาผสมกับดินที่บดละเอียดซึ่งใช้เป็นวัสดุรับรอง แล้วบรรจุซองในปริมาณซองละ 100 กรัม โดยมีปริมาณ Bacillus spp. ไม่ต่ำกว่า 106 cfu/กรัม



วิธีใช้
ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมจุลินทรีย์ขยาย
นำหัวเชื้อจุลินทรีย์จำนวน 1 ซอง (100 กรัม) มาผสมกับน้ำสะอาด (น้ำจืดหรือน้ำกร่อยที่สะอาด) จำนวน 250 ลิตร อาหารกุ้งทะเลจำนวน 0.5 กิโลกรัม และกากน้ำตาล 0.5 ลิตร ทำการคนให้หัวเชื้อจุลินทรีย์อาหารกุ้งและกากน้ำตาลผสมให้เข้ากัน ทำการปิดฝาถัง จากนั้นเป่าอากาศเบาๆ ติดต่อกันเป็นเวลาประมาณ 36 ชั่วโมง จะได้จุลินทรีย์ขยายที่จะนำไปบำบัดสารอินทรีย์ในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ขั้นตอนที่ 2 การใช้จุลินทรีย์ขยายในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
นำจุลินทรีย์ขยายที่ได้ในอัตรา 100 ลิตรต่อไร่ไปฉีดหรือราดพื้นบ่อที่ตากแห้ง จากนั้นไถพรวนเพื่อกลับหน้าดิน แล้วราดจุลินทรีย์ขยายซ้ำอีกครั้งในอัตรา 100 ลิตรต่อไร่ ตากแดดให้แห้งแล้วไถพรวนจนสารอินทรีย์ถูกย่อยสลายดีเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจึงเตรียมในขั้นตอนการเพาะเลี้ยงต่อไป

การเก็บรักษา เก็บหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1) ไว้ในตู้เย็นหรือเก็บไว้ในที่ร่ม

หมายเลขบันทึก: 267154เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2009 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จากข้อความ   ...โดยมีปริมาณ Bacillus spp. ไม่ต่ำกว่า 106 cfu/กรัม....

ตรงส่วนที่ระบายสีแดง คุณCoastal หมายถึง  10CFU/ กรัม หรือ 106 CFU/กรัม ค่ะ ?

จำนวนเชื้อต่างกันมากหลายร้อยเท่านะคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท