มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

มองปัญหาร้านอินเทอร์เน็ต และเกมวันนี้ ความสับสน ที่รอวันเข้าใจ


มองปัญหาร้านอินเทอร์เน็ต และเกมวันนี้ ความสับสน ที่รอวันเข้าใจ

โล่งใจกันไปอีกเปลาะหนึ่งสำหรับบรรดาผู้ประกอบการ ร้านอินเทอร์เน็ตและเกมที่ลุ้นกันมานานว่า ภาครัฐจะวางกรอบใดลงมาให้เดินกันแน่ในเรื่องของเวลาเปิด-ปิดการให้บริการ ทั้งนี้ผลการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับกลุ่มผู้ประกอบการ เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ได้ชี้ชัดให้ธุรกิจประเภทนี้สามารถเปิดให้บริการได้ตามอัธยาศัยตลอด 24 ชั่วโมง กระนั้นเสียงสะท้อนของปัญหาก็ยังไม่จางหายไปเสียทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีใช้บริการในช่วงหลัง 22.00 น. และปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งน่าจะเป็นภาระหนักสำหรับเจ้าภาพรายใหม่อย่างกระทรวงวัฒนธรรม ไม่น้อยไปกว่าการกำหนดช่วงเวลาเปิด-ปิดร้านเลยทีเดียว

นายสุวรรณ ไชยบุตร เจ้าของร้านอินเทอร์เน็ตและเกมแห่งหนึ่งในย่านโชคชัย 4 ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเข้ามาดูแลของกระทรวงวัฒนธรรมว่า รู้สึกเห็นด้วยกับการ มีหน่วยงานเข้ามาดูแล แม้จะไม่ใส่ใจนักว่าเป็นใคร เพราะแท้จริงแล้วสิ่งที่ต้องการก็คือ การออกกฎระเบียบที่จริงจังเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อจะได้ปฏิบัติตามได้ถูกต้อง และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามายุ่งเกี่ยว เพราะที่ผ่านมามีตำรวจเข้ามาไล่ ลูกค้าเด็กๆ ตั้งแต่ 17.00 น. ทั้งที่ทางร้านได้พยายามเปิดรับเด็กนักเรียนหลัง 15.30 น. และให้เด็กที่อายุไม่ถึง 18 ปี กลับเมื่อถึงเวลา 22.00 น.แล้ว ตามมาตรการที่กำหนดให้เปิดให้บริการแก่ลูกค้าวัยเรียนได้ในช่วง 14.00 – 22.00 น.

“เราเข้าใจว่าตำรวจเองก็ต้องทำหน้าที่ของเขา แต่อยากให้มีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้ทำอะไรบ้าง และอย่างไร โดยยินดีจะปฏิบัติตามทุกเรื่อง แต่ต้องขอให้ทุกร้าน ใช้มาตรฐานเดียวกันด้วย” ผู้ประกอบธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตและเกมรายนี้ กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

มองมาที่ร้านอินเตอร์เน็ตและเกมในละแวกมหาวิทยาลัยกันบ้าง นายประธาน อำนวยสุขวงศ์ เจ้าของร้าน I grace internet & game station ตรงข้ามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงปัญหาที่พบว่า ควรมีการดูแลเรื่องลิขสิทธิ์เกมให้ทั่วถึงมากขึ้น เพราะจากประสบการณ์บอก ได้เลยว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์กันมากและมีทุกที่ แต่บางครั้งทางราชการเห็นเป็นร้านเล็กๆ จึงไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร ส่วนการควบคุมเรื่องอายุผู้ใช้บริการนั้นมองว่าห้ามได้ยาก เพราะยังมีบางร้านเปิดให้บริการอยู่

สำหรับ นายวินิจ ซื่อสัตย์ ร้านชิงช้าไม้ หนึ่งในร้านอินเทอร์เน็ตและเกมหลังมหาวิทยาลัย ราชภัฎจันทรเกษม ที่ทุกร้านพร้อมใจกันติดประกาศเรื่องการงดให้บริการแก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีไว้อย่างพร้อมเพรียง บอกมาตรการนี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะทั้งร้านของตนและร้านอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงก็มักไม่รับลูกค้าอายุน้อยๆ อยู่แล้ว เนื่องจากมีปัญหามาก พ่อแม่มาตามบ้าง เสียงดังบ้าง ทำให้วุ่นวาย

เจ้าของร้านชิงช้าไม้ มีคำถามถึงหน่วยงานราชการผู้ดูแลในเรื่องการควบคุมเวลาเล่นเกมว่า ทำไมจึงไม่ไปควบคุมที่บริษัทเกมให้ปิดเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งน่าจะได้ผลกว่า และสำหรับการเข้ามาดูแลร้านอินเทอร์เน็ตและเกมของกระทรวงวัฒนธรรมนั้น คิดว่าถ้าออกมาตรการอะไรที่เกินความจริงออกมาก็คงรับไม่ไหว และอยากบอกว่าทุกปัญหามีทางออกที่ดีอยู่แล้ว อย่างเรื่องการเปิดเว็บลามกอนาจาร ถ้าแต่ละร้านจัดที่นั่งให้ดี หันหน้าจอมาให้เห็นกันชัดๆ ก็ไม่มีลูกค้าคนไหนกล้าเปิดดูอยู่แล้ว

ด้านความคิดเห็นของสมาพันธ์และสมาคมของผู้ประกอบการร้านอินเตอร์เน็ตและเกม ต่างๆ นั้น นายเฉลิมศักดิ์ เลิศลบธาตรี นายกสมาคมผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตไทย บอกว่า ยังไม่ขอออกความเห็นในเรื่องนี้ เพราะอยากให้เรื่องถึงบทสรุปจริงๆ เสียก่อน โดยต้องรอทางกระทรวงมหาดไทยด้วย ทั้งนี้ การจะเปิด-ปิด ช่วงเวลาใดนั้น ต้องตอบว่าเป็นการแก้ปัญหาสังคมในจุดใด เพราะถึงแม้จะมีมาตรการเกี่ยวกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่คนที่อายุ 18-20 ปีก็คือนักศึกษาที่ยังขอเงินพ่อแม่อยู่

“ต้องแยกประเด็นให้ออกระหว่างเรื่องร้านอินเทอร์เน็ตกับร้านเกม เพราะตอนนี้สังคมกำลังสับสน และภาพลักษณ์ของร้านอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันค่อนข้างออกมาในทางลบ ทุกวันนี้ปัญหา เกิดจากเกม แต่ถึงเวลาที่ถกเถียงหาทางออก กลับหยิบยกเรื่องอินเทอร์เน็ตขึ้นมาพูดกัน จึงขอติงเรื่องการหาคำตอบให้กับสังคมเกี่ยวกับเหตุผลที่ให้เปิดบริการร้าน เกม 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังต้องการให้มีข้อตกลงที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อการปฏิบัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเท่าเทียมกัน” นายกสมาคมผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตไทย กล่าวให้ข้อคิด

ส่วน นายชวพงษ์ นัยนะแพทย์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สมาพันธ์ผู้ประกอบการ อินเทอร์เน็ตแห่งประเทศไทย อธิบายว่า เรื่องมาตรการที่กระทรวงวัฒนธรรม กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีใช้บริการร้านอินเตอร์เน็ตได้ระหว่าง 14.00 – 22.00 น. นั้นเป็นไปตามพระราชบัญญัติเด็กและเยาวชนที่ให้เด็กทำสิ่งต่างๆ อยู่นอกที่พักอาศัยได้ไม่เกิน 22.00 น. อยู่แล้ว และทางสมาพันธ์ยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม ในการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ทุกเรื่อง รวมถึงการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมด้วย

ตัวแทนจากสมาพันธ์ผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตแห่งประเทศไทย ยังระบุด้วยว่า สำหรับสิ่งที่คาดหวังให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเพิ่มขึ้น ก็คือ ปัญหาเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้ประกอบการ ซึ่งทุกวันนี้ยังมีกรณีที่ร่วมกับคนบางกลุ่ม ที่ไม่หวังดีเข้าจับกุมร้านอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีหมายค้น ซึ่งตรงนี้ตนเคยทำหนังสือถามกฤษฎีกาแล้วได้ความว่า เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่ทุกวันนี้ก็ยังทำกันอยู่ ทำให้ผู้ประกอบการถูกบีบและเดือดร้อนมาก เพราะมีผลต่อธุรกิจ กว่าเรื่องจะจบก็ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี ซ้ำยังต้องจ่ายค่าประกันตัวถึง 50,000 บาทด้วยไม่ว่าจะผิดจริงหรือไม่ก็ตาม

ความคลางแคลงใจเหล่านี้ดูเหมือนจะได้รับคำตอบที่ค่อนข้างน่าพอใจแล้วส่วน หนึ่ง สำหรับผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตและเกม เมื่อ น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับปัญหาระหว่างผู้ประกอบการกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ทางกระทรวงได้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อแจ้งไปยังท้องที่ทุกแห่งแล้ว เกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ ทุกอย่างจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไปสั่งปิดร้านผู้ประกอบการไม่ได้ และจะเป็นผู้ลงมาช่วยดูแลเด็กๆ ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เมื่อถึงเวลา 22.00 น. เท่านั้น

ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม มีมุมมองเกี่ยวกับปฏิกิริยาของ เหล่าผู้ประกอบการฯ ด้วยว่า ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม เป็นอย่างดีและเพิ่มขึ้นมาก ทั้งในเรื่องการดูแลเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และการขอใบอนุญาตฉายฯ เพื่อให้เป็นร้านอินเทอร์เน็ตและเกมที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงการตอบรับเข้ามาร่วมกลุ่มเฝ้าระวังเพื่อช่วยเหลือสังคม เช่น การช่วยจัดทำรายชื่อเกมที่ไม่เหมาะสมให้แก่กระทรวง สำหรับการจัด Rate ของเกม เป็นต้น

“นโยบายของกระทรวง คือ การดูแลผู้ใช้บริการโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนด้วยความห่วงใย และชวนผู้ประกอบการเข้ามาร่วมดูแลด้วยกัน ทั้งนี้แนวคิดสำคัญ คือ มองว่าผู้ประกอบการเป็นพันธมิตรของเรา ไม่ใช่มิจฉาชีพที่ทำร้ายเด็ก และชวนให้เขาเข้ามาเป็นกลุ่มเฝ้าระวังเพื่อช่วยเหลือสังคมด้วย” ผอ.ลัดดา กล่าวเสริม

ย้อนกลับมาถามความรู้สึกของเด็กและผู้ปกครองที่ได้รับผลในเรื่องนี้โดยตรง กันบ้าง นายจิรวัฒน์ วิจักษณบดี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เกมเมอร์ผู้มีอายุคาบเกี่ยวมาตรการ ห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีใช้บริการร้านอินเตอร์เน็ต มองว่ามาตรการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้ไม่ต้องอยู่ดึก แต่ก็อาจมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะเท่าที่สังเกตดูบางร้านก็ปฏิบัติ แต่บางร้านก็ไม่ เช่น เวลาตำรวจจะเข้ามาตรวจก็ให้เด็กกลับบ้านไปก่อนแล้วค่อยมาใหม่ หรือ ปิดประตูหน้าร้าน แต่มีเด็กเล่นอยู่หลังร้านก็มี ทั้งนี้โดยส่วนตัว ใช้เวลาเล่นเกมที่บ้านบ้างและ ตามร้านบ้านตั้งแต่ 18.00 – 24.00 น. โดยประมาณ และไม่คิดว่าเดือดร้อนอะไร

ส่วน ว่าที่ร้อยตรีสายชล ศรีสุข อายุ 41 ปี ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในฐานะที่เป็นคุณพ่อว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการเข้ามาควบคุมดูแลเรื่องระยะเวลาการเล่นเกมของเด็ก ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ก็ไม่ 100% เพราะคิดว่ายังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ความจำเป็นของเด็กบางคนที่บ้านไม่มีอินเทอร์เน็ต แต่จำเป็นต้องค้นคว้าทำรายงาน ซึ่งเด็กส่วนนี้จะได้รับผลกระทบมาก ดังนั้น การใช้มาตรการใดใดจึงต้องดูจุดประสงค์ของเด็กด้วย

“สิ่งสำคัญของการดำเนินมาตรการนี้ก็คือ จิตสำนึกของเจ้าของร้านที่จะให้ความร่วมมือ พร้อมกันนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ควรช่วยสอดส่องดูแลเมื่อถึงเวลา แต่ไม่ใช่การควบคุมหรือทำโทษแต่อย่าง ใด เพียงแต่เป็นหูเป็นตาว่าเด็กเล็กๆ กลับบ้านเมื่อถึงเวลาแล้วหรือยัง ส่วนเด็กที่โตแล้วก็ไม่ต้องห่วงมาก เพราะเขามีวุฒิภาวะพอ ไม่นานก็กลับบ้านเองได้” คุณพ่อวัย 41 ปีฝากข้อคิดเห็นทิ้งท้าย

เมื่อผู้ประกอบการตระหนักถึงปัญหาของสังคมและ ยินดีน้อมรับมาตรการหรือ ข้อตกลงต่างๆ มากขึ้น ภาครัฐพยายามหาช่องทางรับฟังความคิดเห็น ของผู้ประกอบการอย่างจริงจัง เยาวชน ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี

ปัญหาทุกอย่างก็ย่อมจะเบาบางลง และเห็นทางออกที่ชัดเจนขึ้น เพราะจุดใหญ่ใจ ความของเรื่องนี้ก็คือการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันนั่นเอง…


บทความโดย ปาจารีย์ พวงศรี

บทความจาก : ไทยรัฐ
วันที่ : 17 เมษายน 2549
ที่มา :: http://www.bcoms.net/article/detail.asp?id=231
<hr width="100%" size="2" />

หมายเลขบันทึก: 26693เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2006 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท