ผู้ตามที่ดี...(ก็มีซะด้วย)


“ผู้ตาม” ก็มีความสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จขององค์กรไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “ผู้นำ”

เหตุเพราะช่วงนี้ต้องทำงานส่งอาจารย์เพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวกับทฤษฎีทางการพยาบาล เลยได้มีโอกาสอ่านหนังสือเรื่อง ภาวะผู้นำและกลยุทธ์การจัดการองค์การพยาบาล (บุญใจ ศรีสถิตนรากูร, 2551)...พบกับตอนสุดท้ายของหนังสือ ตอนที่8 ผู้ตาม: คุณลักษณะของผู้บริหารการพยาบาลและพยาบาล จึงทำให้ทราบว่า คำว่า “ผู้ตาม” ก็มีความสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จขององค์กรไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “ผู้นำ”

 

องค์การที่มีการพัฒนาจนประสบความสำเร็จและมีผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศ จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความสามารถของบุคคล 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้นำ(ผู้บริหาร หรือผู้บังคับบัญชา) และผู้ตาม(ผู้ปฏิบัติงานหรือผู้บังคับบัญชา) ซึ่งจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนนั้นเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง  ต่อให้ผู้นำทั้งผลัก ทั้งดันอย่างไร  หากผู้ตามไม่เอาด้วย องค์กรก็ขยับเพียงชั่วคราว  และต่อให้ผู้ตามลงทุนลงแรงอย่างมากมายเท่าใดก็ตาม หากผู้นำไม่เห็นความสำคัญ มันก็เหนื่อยเปล่า  สำคัญอยู่ที่เทคนิคระหว่างกันนั่นเอง...

 

ผู้เขียนเองเป็นผู้ตามมายี่สิบกว่าปีและด้วยด้อยการค้นคว้าจึงเพิ่งทราบว่า มีการพูดถึงบทบาทของผู้ตามหรือผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว  และยังมีการพูดถึง“ผู้ตามที่มีประสิทธิผล”ที่ควรรับรู้อีกด้วย ในฐานะที่ตนเองมีบทบาทเป็นผู้ประสานงานคุณภาพโรงพยาบาลและเป็นผู้ดูแลคุณภาพการบริการวิสัญญี จึงขอนำเรื่องที่รู้เล่าสู่กันฟัง

 

Robert E. Kelly ได้ทำการศึกษาวิจัยและพบว่า ความสำเร็จขององค์กร 90% เกิดจากการทำงานของผู้ตาม ส่วนอีก 10% ที่เหลือเป็นผลงานของผู้นำ จะเห็นได้ว่า ไม่เพียงแต่ผู้นำเท่านั้นที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์การ  แต่ผู้ตามก็มีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์การไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้นำเช่นกัน 

  

อาจารย์บุญใจ ศรีสถิตนรากูร(2551) กล่าวว่า

“ผู้ตาม(Follower)หมายถึง บุคคลที่แสดงบทบาทผู้ช่วยเหลือและสนับสนุนผู้นำ รวมทั้งรับคำสั่งและรับมอบหมายงานจากผู้นำเพื่อนำมาปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จ

 ภาวะผู้ตาม(Followership)หมายถึง คุณลักษณะบุคคลที่เป็นผู้ตามที่ดี(Good follower) สามารถปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายจากผู้นำให้บรรลุผลสำเร็จ  ร่วมมือ  ช่วยเหลือ  และสนับสนุนผู้นำ รวมทั้งไม่คัดค้านและเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้นำ เพื่อให้ผู้นำสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ....”

 

รูปแบบของผู้ตาม

Robert Kelly (1992) จำแนกรูปแบบผู้ตาม(Followership pattern) เป็น 5 รูปแบบ ดังนี้

1)    ผู้ตามแบบเฉื่อยชา(Sheep) หมายถึงผู้ตามที่เชื่องช้า ไม่กระตือรือร้น ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่พยายามพึ่งพาตนเอง  ทำงานตามคำแนะนำและคำสั่งที่ได้รับมอบหมายโดยไม่คิดที่จะเริ่มเอง  ทำงานให้แล้วเสร็จในลักษณะ “เช้าชาม เย็นชาม” เป็นผู้ตามที่ถูกชักจูงได้ง่าย

2)    ผู้ตามแบบยอมตามเห็นด้วยเสมอ(Conformist หรือYes people)หมายถึงผู้ตามที่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน แต่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์และไม่มีความคิดริเริ่ม รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชา จึงเห็นด้วย คล้อยตาม น้อมรับ และทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยมิโต้แย้งใดๆ  ไม่ติดตามผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่ตนเองได้กระทำ

3)    ผู้ตามแบบรู้รักษาตัวรอด(Survivors) หมายถึงผู้ตามที่ทำตัวเหมือนน้ำ คอยปรับตนเองให้อยู่รอดอย่างปลอดภัยในทุกๆสถานการณ์ เข้าทำนอง “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”

4)    ผู้ตามแบบปรปักษ์(Alienated followers) หมายถึงผู้ตามที่ชอบอิสระ พยายามพึ่งพาตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์และความคิดริเริ่ม  แต่ขาดศิลปะในการแสดงบทบาทของผู้ตามให้เหมาะสมกับกาลเทศะ  โดยแสดงความคิดเห็นขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชา  ไม่ประนีประนอม  คอยจับผิดและวิจารณ์ผู้บังคับบัญชา

5)    ผู้ตามที่มีประสิทธิผล(Effective followers) หมายถึงผู้ตามที่มีความเพียรพยายาม ชอบอิสระ สามารถพึ่งพาตนเอง สามารถแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการงานที่รับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพ  คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ตนเอง มีพฤติกรรมกล้าแสดงออก  มีความสามารถในงาน พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มีความภักดี ให้ความร่วมมือ มีความคิดสร้างสรรค์และมีความคิดริเริ่มสูง  จึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้ร่วมงานและผู้บังคับบัญชา  ผู้ตามประเภทนี้เป็นบุคคลที่มีภาวะผู้ตาม(Followership) หรือเป็นผู้ตามที่เป็นแบบอย่าง(Exemplary followers)...”

และ Robert Kelly (1992) ได้รายงานผลการศึกษาวิจัยผู้ตามที่เป็นแบบอย่าง(Exemplary followers) ว่ามีคุณลักษณะที่ประกอบด้วย

1.     สามารถในการจัดการตนเอง(Self Management) หมายถึง สามารถควบคุมตนเอง  พึ่งพาตนเอง และสามารถทำงานด้วยตนเองโดยปราศจากการนิเทศใกล้ชิดจากผู้บังคับบัญชา

2.     มุ่งมั่นในการทำงาน อุทิศตนเพื่องาน และตั้งใจทำงาน(Commitment)

3.     พัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อให้ผลงานมีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงสุด(Build competence and Focus effort)

4.     มีความกล้า(Courageous) หมายถึงกล้าแสดงออก  กล้าแสดงความคิดเห็น  กล้าตัดสินใจและกล้ายอมรับความผิดพลาดที่ตนเองเป็นผู้กระทำ รวมทั้งพร้อมรับคำวิจารณ์จากผู้อื่น…” 

อ่านแล้วก็ให้ได้รู้ซึ้งถึงอะไรๆอีกหลายๆอย่าง 

...สุดแท้แต่ว่า... ใครจะว่าไง!

(...และอ่านแล้วทำให้อยากรู้อะไรๆอีกหลายๆอย่างเช่น  ทำไมนำแล้วไม่อยากตาม?  ทำไมไม่นำให้น่าตาม?... เรื่องของผู้ตามยังมีอีกมาก...ที่น่าศึกษา  หากมีโอกาสจะนำมาเล่าต่อค่ะ)

 

ขอขอบคุณ ที่มา :

1.บุญใจ ศรีสถิตนรากูร,(2551).ภาวะผู้นำและกลยุทธ์การจัดการองค์การพยาบาล

2.www.9anant.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=5378794&Ntype=1 – .Retrieved 7 June 2009

 

หมายเลขบันทึก: 266468เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2009 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • สวัสดีค่ะ อ.พี่ติ๋ว
  • ท่าทางจะเรียนยากจังค่ะ
  • ป้าแดงคิดว่านะคะ ในชีวิตของเราต้องเจอทั้งบทบาทผู้ตามและบทบาทผู้นำ จึงต้องสร้างภาวะทั้งสองให้สมดุล คิดแบบนี้ถูกต้องหรือเปล่าคะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ ป้าแดง

  • ท่าทางเรียนยาก...อย่างที่เห็นค่ะ เป็นธรรมดาของรุ่นบุกเบิกค่ะ...(หากย้อนอดีตได้ก็อยากจะคืนทุนแล้วไปเรียนกะป้าแดงดีกว่า...ดีมะ...อิอิ)
  • จริงอย่างป้าแดงว่ามาเลยค่ะ...ถูกเผงเลย...อ.บุญใจกล่าวไว้ว่า

"....องค์การจึงย่อมต้องการผู้นำที่มีประสิทธิผล(Effective leader)หรือผู้นำที่เป็นแบบอย่าง(Exemplary leader)  ในขณะเดียวกันก็ต้องการผู้ปฏิบัติงานที่กอร์ปด้วยคุณลักษณะผู้ตามที่มีประสิทธิผล(Effective followers) หรือผู้ตามที่เป็นแบบอย่าง(Exemplary followers)  อย่างไรก็ตามผู้บริหารไม่เพียงปฏิบัติบทบาทผู้นำเท่านั้นแต่ปฏิบัติทั้งบทบาทผู้นำและบทบาทผู้ตาม...

  • ขอบคุณป้าแดงค่ะ

พี่ติ๋วขา

มาบอกรักและคิดถึงเป็นอันดับแรกค่ะ

ปัจจุบันระบบราชการสอนให้เราเป็นผู้นำ แต่ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้นำเท่าไร บางทีขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ดังนั้น เราจึงเป็นผู้ตามที่ตามแบบทำตามคำสั่ง ถึงแม้ว่าจะมีการนำเสนอในสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่า แต่ถ้าไม่ถูกใจผู้นำ ผุ้ตามก็ต้องทำตามข้อสั่งการ

ยากอยู่เช่นกันค่ะ

เพียงแต่ขอให้มีสุข และคิดว่ายังมีงานทำอยู่ ก็พอใจ ค่ะ (บ่นหรือเปล่าเนี่ย)

สวัสดีค่ะ น้องอึ่งอ๊อบ

  • ตอบก่อนว่ายังรักและคิดถึงอยู่เสมอเช่นกันค่ะ
  • ระบบราชการยังเป็นช่วงรอยต่อค่ะ...อยากปรับแบบหน้ามือเป็นหลังมือแต่คนในระบบยังเป็นคนเดิม  ติดกับรูปแบบเดิมๆอยู่ คงต้องใช้เวลานะคะ
  • ...เราเองก็หมวกหลายใบ  เป็นทั้งผู้นำและผู้ตามในขณะเดียวกัน...เก่งซะไม่มี(ในการปรับตัว)
  • ...น้องอึ่งและชาวเชียงใหม่สบายดีนะคะ
  • ขอบคุณค่ะ

 

สวัสดีคะพี่ๆที่เคารพทุกท่าน

ขอบคุณนะคะสำหรับแนวคิด ตอนนี้พยายามฝึกตนเพื่อเป็นผุ้นำที่ดี

แต่จนแล้วจนรอดกลับรุ้สึกว่า การเป้นผู้ตามที่ก็เป้นทักษะที่ต้องฝึกฝนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ขอบคุณนะคะ

สวัสดีค่ะ คุณพรทิพย์ แก้วใส

  • ในคนคนเดียวกันอาจมีได้หลายบทบาทค่ะ บางคราวเป็นผู้นำ บางคราวเป็นผู้ตาม... แต่จะอย่างไรก็ตามไม่ว่าจะสวมบทบาทอะไร ณ ขณะนั้นก็ทำให้ดีที่สุดค่ะ
  • ขอบคุณนะคะ

หนูอยากทราบว่า ผู้ตามที่ชอบคัดค้านความคิดของผู้นำเอาความคิดของตนเป็นใหญ่ นี้คือยังใงค่ะ ดีกรือไม่ดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท