ภาวะสุขภาพและการรับบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในภาคการผลิต


แรงงานข้ามชาติ, แรงงานลาว, สุขภาพ, r2r

ชื่อผู้วิจัย : นางดุษฎี อายุวัฒน์ และ นายอดิเรก เร่งมานะวงษ์ ปีพ.ศ. : 2552

 

บทคัดย่อ

 

การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดการขยายตัวของภาคการผลิตต่างๆ แต่แรงงานไทยไม่ให้ความสนใจที่จะเป็นแรงงานในภาคการผลิตที่ไม่ปลอดภัย เสี่ยงอันตราย และมีสภาพการทำงานยากลำบากโดยเฉพาะภาคการเกษตร จึงเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย โดยเฉพาะลาวเข้ามาทำงานมากขึ้น จึงน่าสนใจว่า แรงงานข้ามชาติจากลาวเมื่อมาทำงานในภาคการการเกษตรมีภาวะสุขภาพเป็นอย่างไร

 

การวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษา

 

1) ภาวะสุขภาพของแรงงานข้ามชาติชาวลาวในภาคการผลิตเกษตรกรรม

 

และ 2) การดูแลสุขภาพตนเองของแรงงานข้ามชาติชาวลางในภาคการผลิตเกษตรกรรม

 

โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกแรงงานลาวที่เข้ามาทำงานในไร่อ้อยที่อำเภอแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ จำนวน 6 ราย ตลอดจนใช้การสังเกตแบบมีส่วนร่วมประกอบ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือน พฤษภาคม 2551- กุมภาพันธ์ 2552 ใช้การพรรณนาวิเคราะห์(Analytic Descriptive)

การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยพบว่า แรงงานที่เป็นกลุ่มเป้าหมายมีอายุระหว่าง 20- 49 ปีบางส่วนเคยสมรสกับชาวลาวมาก่อน มีบุตร 1-6 คน สภาพการทำงานปัจจุบัน เป็นแรงงานในไร่อ้อย บางส่วนเข้ามาทำงานในภาคการก่อสร้างก่อนมารับจ้างตัดอ้อยและขึ้นอ้อย ในฤดูการทำนาทำงานรับจ้างดำนาและเกี่ยวข้าวด้วย แรงงานลาวกลุ่มนี้จำแนกได้ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเข้ามาอยู่เมืองไทยในระยะ 6 เดือนถึง 3 ปี ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาอยู่เมืองไทยเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว

 

ทั้งสองกลุ่มเข้ามาเพราะต้องการมาทำงาน สมรสกับคนไทยและย้ายมาอยู่กับครอบครัว อย่างไรก็ตามทั้งสองกลุ่มข้ามแดนเข้าประเทศไทยผ่านทางด่านภาคอีสานด้วยการทำบัตรผ่านแดนสำหรับนักท่องเที่ยวที่อนุญาตให้อยู่ได้ไม่เกิน 3 วัน และเป็นบัตรผ่านแดนที่อยู่ได้ไม่เกิน 1 เดือนแล้วต้องต่อกลับไปอายุ แต่แรงงานลาวในภาคเกษตรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในงานวิจัยนี้ไม่ได้กลับไปต่ออายุบัตร

 

ปัจจุบันจึงเป็นแรงงานลาวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและเป็นแรงงานที่ไม่ได้จดทะเบียนทำงานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แรงงานลาวทั้งหมดยังมีเครือข่ายชาวลาวให้ข้อมูลและชักชวนมาทำงานในไทย เหตุผลหลักของการเข้ามาทำงานคือได้ค่าจ้างเป็นเงินมากกว่าที่ลาวและสามารถมีรายได้ตลอดทั้งปี

 

ภาวะสุขภาพของแรงงานลาวในภาคการเกษตร พบว่า แรงงานลาวได้พักอาศัยในที่พักที่นายจ้างจัดให้อยู่ในไร่อ้อยที่ห่างไกลชุมชน แต่ก็คุ้นเคยกับคนในชุมชนดี สภาพที่พักมีความไม่ถูกสุขลักษณะอยู่กันนอย่างแออัดและไม่ปลอดภัย ครอบครัวแรงงานลาวบางส่วนทำอาหารเองแต่ก็ใช้ผงชูรสเป็นจำนวนมาก มีบางส่วนใช้บริการอาหารสำเร็จจากร้านค้า เมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยเป็นไข้ ไอ ใช้การซื้อยาแผนปัจจุบันกิน และซื้อยาชุดกิน ร่วมกับการพักผ่อนโดยการหยุดงาน มีบางส่วนดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง เหล้า เบียร์ และกาแฟช่วยเสมอๆเพราะเชื่อว่าจะช่วยฟื้นฟูกำลังให้ทำงานหนักได้ต่อเนื่อง

 

เมื่ออาการเจ็บป่วยไม่หายจากการกินยาจึงไปรับบริการที่สถานีอนามัย ทั้งที่ไม่มีบัตรประกันสุขภาพใดๆแต่ก็มิได้เสียค่าใช้จ่าย แรงงานลาวรับรู้ว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นชาวลาวจึงไม่คิดค่าใช้จ่าย

 

นอกจากนี้แรงงานลาวที่เป็นหญิงโสดเมื่อมาทำงานที่ไร่อ้อยได้สมรสกับคนไทย เมื่อไม่ได้คุมกำเนิดจึงตั้งครรภ์ได้ใช้บริการตรวจการตั้งครรภ์และคลอดจากโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่โดยเสียค่าใช้จ่าย 600 บาทและ 2,800 บาทตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าแรงงานลาวในไร่อ้อยนี้มีบางส่วนเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องรับยา แต่ก็มิได้ปฏิบัติตนเหมาะสมเพราะมีวิถีชีวิตที่ต้องไปทำงานรับจ้าง บางครั้งต้องออกไปทำงานต่างถิ่นด้วย ทำให้ไม่ได้กินยาต่อเนื่อง

 

แรงงานรายนี้นิยมไปรับบริการจากคลินิกเพราะสะดวกไม่เป็นอุปสรรคกับการทำงานรับจ้าง แรงงานลาวในไร่อ้อยนี้ ได้รับทราบข่าวสารด้านสุขภาพจากหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน จากอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชนและจากสื่อทางโทรทัศน์

หมายเลขบันทึก: 266466เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2009 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 18:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ แวะมารับความรู้ค่ะ

ได้ทั้งมุมคิดและความรู้

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท