ภัทรานิษฐ์
นางสาว ภัทรานิษฐ์ เจริญธรรม ภัทร(จิ๋ว) เจริญธรรม

ทำไมต้องจัดการเรียนรู้เรื่อง ส้วม


ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องส้วม พฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกวิธีให้แก่นักเรียน ซึ่งความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวนี้สามารถถ่ายทอดไปสู่ครอบครัวของนักเรียนตลอดจนชุมชนได้อีกด้วย

ตอนที่ 1 ทำไมต้องจัดการเรียนรู้เรื่อง ส้วม

ส้วมเป็นสถานที่ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ซึ่งเป็นกิจวัตรที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของคน หากไม่มีการจัดการส้วมที่ถูกหลักสุขาภิบาล รวมทั้งการปลูกฝังพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกวิธี ส้วมก็จะกลายเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรคที่สำคัญ

            สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  (สพฐ.)  รับผิดชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่ประชากรวัยเรียนช่วงอายุระหว่าง 4-18 ปี ซึ่งประชากรวัยเรียนดังกล่าวต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในสถานศึกษาวันละไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง โครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในสถานศึกษา  จึงต้องมีความพร้อม ความปลอดภัยและความเพียงพอต่อการใช้สอยทั้งสิ้น

             ส้วมถือเป็นหนึ่งในด้านอาคารสถานที่ภายในสถานศึกษาที่ต้องมีความสะอาด  ปลอดภัย เพียงพอต่อการใช้สอยดังกล่าวด้วย แต่จากการสำรวจสภาพส้วม พฤติกรรมการใช้ส้วมของนักเรียน ปรากฏว่า สภาพของส้วมซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างอาคาร สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ใช้สอยที่จำเป็นมีสภาพชำรุดทรุดโทรมไม่เป็นไปตามมาตรฐานของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของพฤติกรรมการใช้ส้วมซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ปรากฏว่านักเรียนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ไม่ค่อยถูกวิธี จึงส่งผลให้ส้วมสถานศึกษามีความสกปรก มีกลิ่นเหม็น นอกจากนี้นักเรียนจำนวนหนึ่งยังมีพฤติกรรมชอบทำลายวัสดุ อุปกรณ์รวมทั้งขีดเขียนข้อความไม่พึงประสงค์หรือพ่นสีสเปรย์บนฝาผนังห้องส้วมอีกด้วย

             กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการสำรวจความชุกของการอักเสบและติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและพฤติกรรมการกลั้นปัสสาวะในเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาในกรุงเทพมหานครในปี 2550 โดยทำการสำรวจเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6  จำนวน 2 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 600 ราย พบว่า   มีอาการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะทั้งหมด 32 ราย (ร้อยละ 5.3) ร้อยละ 18.8 ของเด็กจำนวนนี้มีประวัติชอบกลั้นปัสสาวะประจำเพราะไม่อยากเข้าห้องส้วมที่สถานศึกษา  ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ คิดเป็น 1.6 เท่าของเด็กที่ไม่มีประวัติกลั้นปัสสาวะเป็นประจำ ร้อยละ 95 ของเด็กนักเรียนในกรุงเทพมหานคร  มีความต้องการให้ปรับปรุงห้องส้วม  ประเด็นที่ต้องการให้ปรับปรุงมากที่สุดได้แก่ เรื่องความสะอาด กลิ่น ให้มีสายฉีดน้ำและกระดาษชำระ

             ปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อการไม่กล้าใช้ส้วมสถานศึกษา เกิดพฤติกรรมกลั้นปัสสาวะของนักเรียน  มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งส่งผลต่อสภาพจิตใจ ของนักเรียนด้วย

             สถานศึกษาในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดเรียนการสอน  จำเป็นต้องสร้างเสริมความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องส้วม พฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกวิธีให้แก่นักเรียน  ซึ่งความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวนี้สามารถถ่ายทอดไปสู่ครอบครัวของนักเรียนตลอดจนชุมชนได้อีกด้วย

ตอนที่ 2 บทเรียนเรื่องส้วมสัมพันธ์กับหลักสูตรอย่างไร                                         

             หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2544  และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551 มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม  มีความรู้  ความสามารถ  มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีสุขนิสัย มีความรักชาติ มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลกยึดมั่นในวิถีชีวิตและการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย  โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม มีจิตสาธารณะที่มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งดีงามในสังคมและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

             การจัดการเรียนรู้ จึงต้องยึดจุดหมายของหลักสูตรดังกล่าว โดยส่งเสริมผู้เรียนให้เรียนรู้จากการเผชิญสถานการณ์ การได้สัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยการปฏิบัติจริง ให้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น

             การจัดการเรียนรู้เรื่องส้วม เป็นการปลูกฝังให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกวิธีและปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย (สุขนิสัย) ซึ่งสอดคล้องกับจุดหมาย มาตรฐาน ตัวชี้วัด และสาระการเรียนรู้แกนกลางของหลักสูตร ซึ่งสถานศึกษาสามารถจัดการเรียนรู้เรื่องส้วมได้โดยตรง ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา หรือจัดการเรียนรู้บูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและ พลศึกษากับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ

            ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา มีมาตรฐาน และตัวชี้วัดที่สามารถจัดการเรียนรู้เรื่องส้วมดังนี้

สาระที่ 1 การเจริญเติบโตและพัฒนาการของมนุษย์

             มาตรฐาน พ 1.1 เข้าใจธรรมชาติของการเจริญเติบโตและพัฒนาการของมนุษย์  

                ป.1  อธิบายลักษณะและหน้าที่ของอวัยวะภายนอก

                ป.5  อธิบายความสำคัญของระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายที่มีผลต่อสุขภาพ การเจริญเติบโตและพัฒนาการ

                ม.4-6

               1. อธิบายกระบวนการสร้างเสริมและดำรงประสิทธิภาพการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ

               2. วางแผนดูแลสุขภาพตามภาวะการเจริญเติบโตและพัฒนาการของตนเองและบุคคลในครอบครัว

สาระที่ 2 ชีวิตและครอบครัว 

               มาตรฐาน พ 2.1 เข้าใจและเห็นคุณค่าตนเอง ครอบครัว เพศศึกษาและมีทักษะในการดำเนินชีวิต

               ป. 1 บอกลักษณะความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิง

               ป. 2 ระบุบทบาทหน้าที่ของตนเองและสมาชิกในครอบครัว

               ม. 3 อธิบายอนามัยแม่และเด็กและวิธีปฏิบัติตนที่เหมาะสม

สาระที่ 3 การสร้างเสริมสุขภาพ สมรรถภาพและการป้องกันโรค

                มาตรฐาน พ 4.1 เห็นคุณค่าและมีทักษะในการสร้างเสริมสุขภาพ การดำรงสุขภาพ การป้องกันโรคและการสร้างเสริมสมรรถภาพเพื่อสุขภาพ

                ป.1 ปฏิบัติตนตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติตามคำแนะนำ

                ป.3 อธิบายการติดต่อและวิธีป้องกันการแพร่กระจายของโรค

                ป.4 อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ

                ป.5

                1. แสดงพฤติกรรมที่เห็นความสำคัญของการปฏิบัติตนตามสุขบัญญัติแห่งชาติ

                2. ค้นหาข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้สร้างเสริมสุขภาพ

                3. ปฏิบัติตนในการป้องกันโรคที่พบบ่อยในชีวิตประจำวัน

                ป.6

                 1. แสดงพฤติกรรมในการป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพ

                 2. วิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของโรคและเสนอแนวทางป้องกันโรคติดต่อสำคัญที่พบในประเทศไทย

                 3. แสดงพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความรับผิดชอบต่อสุขภาพของส่วนรวม

                 ม.3 รวบรวมข้อมูลและเสนอแนวทางแก้ปัญหาสุขภาพในชุมชน

                 ม.4-6

                 1. วิเคราะห์บทบาทและความรับผิดชอบของบุคคลที่มีต่อการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในชุมชน

                 2. วางแผนและปฏิบัติตามแผนการพัฒนาสุขภาพของบุคคลในชุมชน

                 3. มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพของบุคคลในชุมชน

 สาระที่ 4 ความปลอดภัยในชีวิต

                                มาตรฐาน พ 5.1 ป้องกันและหลีกเลี่ยงปัจจัย  พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ อุบัติเหตุ การใช้ยาสารเสพติด  และความรุนแรง

                 ป.1 ระบุสิ่งที่ทำให้เกิดอันตรายที่บ้าน โรงเรียนและการป้องกัน

                 ป.2 ปฏิบัติตนตามสัญลักษณ์และป้ายเตือนของสิ่งของหรือสถานที่ที่เป็นอันตราย

                 ป.3 ปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัยจากอุบัติเหตุในบ้าน สถานศึกษาและการเดินทาง

                 ม.3 วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพและแนวทางป้องกัน

                 ม.4-6

                 1. วางแผน กำหนดแนวทางลดอุบัติเหตุและสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชน

                 2. มีส่วนร่วมในการสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชน

ตอนที่ 3 สาระที่ควรรู้เกี่ยวกับบทเรียนเรื่องส้วมมีอะไรบ้าง

                3.1 ความหมายของส้วม

                      ส้วม คือ สถานที่ที่สร้างไว้สำหรับถ่ายอุจจาระปัสสาวะโดยเฉพาะ มักทำเป็นห้อง(พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542)

                      ส้วมสาธารณะหมายถึง สถานที่ที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้ตลอดเวลาที่เปิดให้บริการ โดยอาจเสียค่าบริการหรือไม่เสียค่าบริการก็ได้

                3.2 เกณฑ์มาตรฐานส้วม

                       เกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศ   จะเน้นให้ส้วมสาธารณะมีความสะอาด เพียงพอ ปลอดภัย หรือ Healthy Accessibility Safety(HAS) มีรายละเอียดดังนี้

                      1. สะอาด (Healthy) หมายถึง ส้วมจะต้องได้รับการดำเนินการให้ถูกหลักสุขาภิบาล(Sanitation Conditions) เช่น ห้องส้วมและสุขภัณฑ์ทั้งหมดจะต้องสะอาด  ไม่มีกลิ่นเหม็น มีวัสดุ อุปกรณ์ บริการ เช่น น้ำสะอาด สบู่ล้างมือ กระดาษชำระ เพียงพอ การเก็บกักหรือบำบัดสิ่งปฏิกูลถูกต้องและมีสภาพแวดล้อมสวยงามซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ใช้ส้วม                    

                      2.เพียงพอ (Accessibility) หมายถึง ต้องมีส้วมให้เพียงพอแก่ความต้องการของผู้ใช้รวมถึงผู้พิการหรือผู้ด้อยโอกาส

                      3. ปลอดภัย(Safety) หมายถึง ผู้ใช้บริการจะต้องปลอดภัยขณะใช้ส้วม เช่นสถานที่ตั้งส้วมไม่เปลี่ยว แยกเพศชาย หญิง มีแสงสว่างพอเพียง เป็นต้น

นักเรียนกำลังทำความสะอาด

จัดบอร์ดนิทรรศการ  การทำความสะอาดห้องน้ำ  โรคชิคุนกุนย่า

และโรคหวัดพันธุ์ใหม่


มีของแถมจากสถานีอนามัยตำบลดอนรักแถมมาให้ค่ะ ไม่เพียงแต่โครงการส้วมสุขสันต์เท่านั้น วันนี้ครูจิ๋วได้ไปติดต่อประสานงานกับ สถานีอนามัย ตำบลดอนรัก  อำเภอหนองจิก  จังหวัดปัตตานี ได้ข้อมูลดีๆเกี่ยวกับ การกำจัดยุงลายเพื่อป้องกันไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนย่า ด้วยการทำดี 4 ประการ

1. ปิดฝาโอ่ง  2. เปลี่ยนน้ำในแจกัน 3. ปล่อยปลากินลูกน้ำ 

4. ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม


และทางอนามัยดอนรักยังให้แผ่นโปสเตอร์ ระวังโรคชิคุนกุนย่า

และยุทธศาสตร์ 5 ป. เพื่อพิชิตยุงลาย ป้องกันไข้เลือดออก  และโรคชิคุนกุนย่า

 





 

หมายเลขบันทึก: 265295เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2009 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะ

  • ขอขอบคุณเกี่ยวกับการเผยแพร่ความรู้เกียวกับหลักสูตร..ที่สอดคล้องกับส้วมค่ะ
  • ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ

สวัสดีค่ะ ครูพี่คิม

ขอบคุณที่เข้ามาเม้นค่ะ

ให้กำลังใจพี่คิมค่ะ

  • หวัดดีครับ
  • ระวัง ยุงกัดนะครับครู

สวัสดีค่ะ พี่จิ่ว

ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ พี่เก่งจังเลย

ขอชื่นชมค่ะ

ระวังยุงลายนะครับคุณครู

กลับมาคอน มากินกาแฟกันมั่งนะครับคุณครู

สวัสดีค่ะ  คุณหนุ่มร้อยเกาะ

ขอบคุณค่ะ ที่เตือน

รักษาสุขภาพนะคะ

โชคดี  มีสุขค่ะ

สวัสดีค่ะ  คุณสุจรินทร์ วรรณมาศ

ยินดีที่ได้รู้จักเช่นกันค่ะ

เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำนะค่ะ

โชคดี  มีสุขค่ะ

 

สวัสดีค่ะ  นาย ธัญศักดิ์ ณ นคร

ขอบคุณค่ะที่เตือน

บุญสัมพันธ์  แล้วก็จะได้เจอค่ะ

โชคดี  มีสุขค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท