วัชรินทร์ เขจรวงศ์
นาย วัชรินทร์ เขจรวงศ์ วัชร์ เขจรวงศ์

ชาวนาร้อยเอ็ดใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่าคลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวป้องกันเชื้อราสาเหตุโรคโคนเน่า


เชื้อรา

ชาวนาร้อยเอ็ดใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่าคลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวป้องกันเชื้อราสาเหตุโรคโคนเน่า

 

วันนี้(1 มิถุนายน 2552)นายสากล  สุภารี นายก อบต.เหล่า อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด  ในนามประธานศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลเหล่า ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านยางกลาง ม.6 ดำเนินการคลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยเชื้อไตรโคเดอร์ม่า หรือเชื้อราดำ ที่สามารถป้องกันกำจัดเชื้อราที่เป็นเชื้อสาเหตุของโรคโคนเน่า รากเน่า กาบใบเน่า กาบใบแห้งของข้าว  เป็นการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธีคือใช้สิ่งที่มีชีวิตกำจัดสิ่งที่มีชีวิต ลดการใช้สารเคมี เชื้อไตรโคเดอร์ม่าไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ ราคาถูก ถุงละ 6-12 บาท ใช้ได้กับเมล็ดพันธุ์ใช้ปลูก 1 ไร่ 

โดยการประสานงานกับนายวัชรินทร์  เขจรวงศ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ระดับชำนาญการ เกษตรตำบลเหล่า ศูนย์ส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านยางกลาง สมาชิก 45 คน ได้รับเมล็ดพันธุ์ดี 2000 กิโลกรัม เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ดีในการปลูกและขยายสู่ชาวนาข้างเคียงให้มีคุณภาพ ทันเวลา และมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ  โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด ดำเนินการให้เป็นตำบลนำร่องแห่งละ 1 จุดหรือ 1 หมู่บ้าน หรือมากกว่า ตามความต้องการของเกษตรกร

นายเลอสิทธิ์  สายแก้วมา เกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด  กล่าวว่า เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า  เป็นเชื้อราที่มีประโยชน์สารถควบคุมเชื้อราสาเหตุของโรคพืชหลายชนิด  สำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ดดำเนินการเพาะเลี้ยงเชื้อ ขยาสู่เกษตรกร ฝึกอบรมนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร เพื่อการขยายผลสู่เกษตรกร ประเภทของเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าสามารถควบคุมเชื้อรา ได้แก่ 

      1.  ป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า  ของไม้ผล  ไม้ยืนต้น ที่เกิดจากเชื้อราไฟทอฟธอรา  (phytophthora spp.) 

      2.  ป้องกันโรคเน่าระดับดินของพืชผักหลายชนิด  โรคใบติดในพืชผลที่เกิดจากเชื้อราไรซ็อกโทเนีย  (Rhizoctonia solani)

      3.  ป้องกันโรคเมล็ดเน่าของพืชผัก  โรครากเน่า โรคโคนเน่า  ของไม้ผล เช่น  ทุเรียน ที่เกิดจากเชื้อราพิเทียม  (Pythium spp.) 

      4.  ป้องกันโรคเหี่ยวของพืชไร่ ไม้ผล พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ  ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรียม  (Fusarium spp.) 

      5.  ป้องกันโรคเหี่ยว  โรคโคนเน่า  ของผักหลายชนิด  ที่เกิดจากเชื้อราสเคลอโรเทียม (Sclerotium rolfsii) เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า  ชอบสภาพดินชื้นไม่แฉะ  สภาพความเป็นกรดด่างของดินที่เหมาะสม คือ  pH 5.4-6.5  ไม่เป็นอันตรายกับคนและศัตรูธรรมชาติ  ประสิทธิภาพในการคบคุมโรคสูง  เกษตรกรสามารถผลิตเองได้  และได้ผ่านการรับรองคุณภาพและประสิทธิภาพจากกรมวิชาการเกษตรในปี  2539  นับเป็นชีวภัณฑ์ควบคุมโรคพืชชนิดแรกของประเทศไทย  ทีได้ผ่านขั้นตอนการขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ  พ.ศ.  2535

      การผลิตเชื้อราไตรโครเดอร์ม่า

      1.  นำเมล็ดข้าวฟ่างแดงหรือเมล็ดข้าวเปลือก ประมาณ  80  กิโลกรัม  มาล้างให้สะอาด  และแช่น้ำไว้  ประมาณ  12-24  ชั่วโมง

      2.  นำเมล็ดข้าวฟ่างแดงหรือเมล็ดข้าวเปลือกที่แช่น้ำแล้วไปต้มพอน้ำเดือด (ประมาณ  15 นาที)  แล้วตักออกไปผึ่งบนตะแกรง  ให้แห้งพอหมาด ๆ แล้วนำไปบรรจุถุงพลาสติกทนความร้อน  ขนาด 8 x 12  นิ้ว  ถุงละ 500  กรัม  (5 ขีด)

      3.  ใส่คอขวดพลาสติก แล้วปิดด้วยจุกสำลี  แล้วใช้กระดาษอลูมิเนียมหรือกระดาษปิดทับอีกชั้นหนึ่งแล้วรัดด้วยยางวง

      4.  นำถุงเมล็ดข้าวฟ่างแดงไปนึ่งในหม้อนึ่งความดัน  เพื่อทำการฆ่าเชื้อโรค  ด้วยอุณหภูมิ  121°C  ความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว นาน 30-60  นาที  (ถ้าเป็นหม้อนึ่งลูกทุ่งใช้เวลานาน 3 ชั่วโมง เริ่มจับเวลาตั้งแต่มีไอน้ำพุ่งออกมา)

      5.  นำถุงเมล็ดข้าวฟ่างออกจากหม้อนึ่ง  ทิ้งไว้ให้เย็น  จากนั้นจึงนำไปใส่หัวเรื้อราไตรโคเดอร์ม่าต่อไป

      6.  เมื่อใส่หัวเชื้อราประมาณ  1-1.5  กรัม  ใส่ถุงเมล็ดข้าวฟ่างแดงเสร็จแล้ว ให้นำไปเก็บไว้ในห้องหรือที่ร่มใต้ถุนบ้าน  ไม่ให้ถูกแสงแดด ประมาณ  10-15  วัน สามารถนำเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าไปใช้ควบคุมโรคพืชต่อไป

      การผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าอย่างง่าย  (บนปลายข้าว)

      เกษตรกรสามารถขยายการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าได้ด้วยตัวเองโดยใช้หัวเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าที่มีประสิทธิภาพสูง  เลี้ยงบนปลายข้าวหรือข้าวสุก

      อุปกรณ์

หัวเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ถุงพลาสติกทนร้อนขนาด  8 x 12 นิ้ว ปลายข้าว ยางวง หรือ แม๊กซ์เย็บกระดาษ / เข็มหมุด

การเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อ

      1.  หุงปลายข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าอัตโนมัติ  โดยใช้ข้าว 3 ส่วน + น้ำ 2 ส่วน หรือ ถ้าข้าวนิ่มเกินไปให้ใช้ข้าว 2 ส่วน + น้ำ 1 ส่วน  ใช้ทัพพีซุยข้าวในหม้อที่สุกแล้วให้ทั่ว

      2.  ตักปลายข้าวสุก  ขณะยังร้อนเพื่อช่วยทำลายจุลินทรีย์จากอากาศที่อาจปนเปื้อนในถุงข้าว

      3.  ตักปลายข้าวสุกประมาณ  2  ทัพพี (พูน)  ใส่ถุงพลาสติกทนร้อน ขนาด         8 x 12 นิ้ว

      4.  กดข้าวให้แบนรีดอากาศออกจากถุง ให้ถุงพลาสติกแนบกับข้าว เพื่อลดการเกิดหยดน้ำแล้วพับปากถุงไว้  รอให้ข้าวอุ่น  หรือเกือบเย็น  จึงนำไปใส่หัวเชื้อ  (ทดสอบโดยใช้หลังมือวางบนถุงที่บรรจุข้าวแล้วนับ 1-10  หากผู้ทดสอบสามารถทนความร้อนได้ถึง 10 วินาที  แสดงว่าสามารถใส่เชื้อรา ฯ ได้)

      การใส่หัวเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า

      1.  ใส่เชื้อลงในถุงข้าวในบริเวณที่ลมสงบ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อ       จุลินทรีย์ในอากาศใส่หัวเชื้อเพียงเล็กน้อยประมาณ  1-1.5 กรัม ต่อถุง รัดยางตรงปากถุงให้แน่นแล้ว  ก่อนเขย่าหรือบีบข้าวเบา ๆ เพื่อให้หัวเชื้อ

กระจายทั่วทั้งถุง

      4.  รวบถุงให้บริเวณปากถุงพอง  ก่อนใช้เข็มแทงรอบ ๆ ปากถุง  ที่รัดยางไว้        (30 รู)

      การบ่มเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า

      1.  กดข้าวให้แผ่กระจายไม่ซ้อนทับกัน ดึงบริเวณกลางถุงขึ้น  เพื่อไม่ให้พลาสติกแนบติดกับข้าวและเพื่อให้อากาศเข้าไปในถุงข้าวพอเพียง

      2.  บ่มเชื้อเป็นเวลา  2  วัน โดยวางถุงเชื้อในห้องที่ปลอดจากมด ไร และสัตว์  อื่น ๆ อากาศไม่ร้อน  ไม่ถูกแสงแดด  แต่ได้รับแสงสว่าง 6-10 ชม./วัน หากแสงไม่พอใช้แสงจากหลอดนีออนช่วยได้

      3.  เมื่อครบ  2 วัน บีบขยำก้อนข้าวที่มีเส้นใยของเชื้อเจริญอยู่ให้แตก  แล้ววางถุงในที่เดิม ดึงถุงให้มีอากาศเข้าอีกครั้ง   แล้วบ่มในสภาพเดิมต่ออีก 4-5 วัน  (อย่าลืมดึงถุงให้โป่ง)

      4.  เชื้อสดที่ผลิตได้ ควรนำไปใช้ทันทีหรือเก็บในตู้เย็นช่องธรรมดาไม่เกิน 1 เดือน ก่อนนำไปใช้

      การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าควบคุมโรคพืช

      1.  การใช้เชื้อป้องกันโรค (พืชยังไม่แสดงอาการของโรค)  เริ่มตั้งแต่การเพาะเมล็ด  การเตรียมต้นกล้าพืช  การปลูกในสภาพธรรมชาติ  จนถึงระยะพืชเจริญเติบโตให้ผลผลิต

      2.  การใช้เพื่อรักษาโรค (พืชแสดงอาการของโรคแล้ว)  การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าเพื่อรักษาพืชที่เป็นโรคแล้วนั้น มีความเป็นไปได้ ในกรณีของพืชยืนต้น  เช่น  ไม้ผล แต่ถือว่าเป็นวิธีที่มีความเสี่ยง  เพราะอาจไม่ประสบผลสำเร็จดังที่คาดหวังเสมอไป จึงมีความจำเป็นต้องใช้วิธีอื่นร่วมด้วยหากมีการระบาดรุนแรง

      3.  การผสมกับวัสดุปลูก  ใช้สำหรับการเพาะกล้าในกระบะเพาะเมล็ดหรือถุงเพาะชำ โดยนำเชื้อสดที่ผสมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก (1:100 โดยน้ำหมัก)  มา 1 ส่วน ผสมกับวัสดุปลูก ส่วน  โดยปริมาตร  ผสมเข้ากันดีแล้วจึงนำไปเพาะเมล็ด

      4.  การหว่านลงดิน ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า 1 กิโลกรัม รำ 4 กิโลกรัม  ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 100 กิโลกรัม  ผสมคลุกเค้าให้เข้ากัน หว่านโคนต้น ใช้อัตรา 30-60 กรัม (3-6 ช้อนแกง)  ต่อต้น  หว่านใต้ทรงพุ่ม ใช้อัตรา 150-300 กรัม  (2-3 ขีด)  ต่อตารางเมตร

      5.  การฉีดพ่น  หรือให้กับระบบน้ำ  เป็นวิธีที่สะดวก ง่ายต่อการปฏิบัติ  โดยฉีดพ่นลงดินบริเวณรากพืชหรือส่วนบนของต้นพืช  การใช้เชื้อสดผสมน้ำ  จำเป็นต้องกรองเอาเฉพาะน้ำเชื้ออกมา  เพื่อไม่ให้เมล็ดข้าวฟ่างอุดตันหัวฉีด  กรณีฉีดพ่นลงดิน  ใช้อัตราเชื้อสด 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร  หรือพ่นส่วนบนของพืช ใช้อัตรา 2 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร

      6.  วิธีอื่น ๆ เช่น  การทาแผล  บริเวณลำต้น ใช้เชื้อราฯ 250 กรัม ผสมฝุ่นแดง 2 ขีด (ชนิดเดียวกับที่ทาหน้ายาง)  ผสมน้ำ 1 ลิตร  ใช้แปลงทาสีป้ายเชื้อราฯ ลงบนแผลของต้นพืช

      ข้อจำกัดในการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า

สภาพแวดล้อมต้องมีความชื้นเหมาะสม ไม่ชื้นแฉะ ควรใช้ช่วงเช้าหรือเย็นเพราะในช่วงกลางวันที่มีอากาศร้อนแสงแดดจัดจะทำให้เชื้อตาย ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในกลุ่มเบนโดมิล  และคาร์เบนดาซิม ในช่วง 7 วัน  ก่อนหรือหลังการหว่านเชื้อที่ผสมแล้วลงดิน ควรมีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรีย์วัตถุ  เช่น  ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก 

************************

วัชรินทร์  เขจรวงศ์/รายงาน

208 ม.2 บ้านสามแยกโพธิ์ชัย ต.เหนือเมือง

อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด 45000

E-mail:[email protected]

Tr.086-8502416/085-7567108

 

คำสำคัญ (Tags): #เกษตรสิงขร
หมายเลขบันทึก: 265091เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2009 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

วันหลังขอสูตรกำจัดหญ้าที่บ้านหน่อยนะคะมันรกจะท่วมหัวอยู่แล้วคะ

มีครับหากแต่งงานแล้วใช้  "สามี" หากยังไม่แต่งใช้มารยาหญิงเล่มที่500 ครับ..ล้อเล่าน่า....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท