เรื่องดีที่ มสธ.: บัณฑิตศึกษาในระบบทางไกล (๑)


ระบบทางไกลใช้หลายแบบ เพื่อให้การเรียนการสอนมีคุณภาพ

วันนี้มีการประชุมที่ประชุมคณบดีและหัวหน้าสถาบันการศึกษาพยาบาลของรัฐ (ทคพย.) ครั้งที่ ๔/๒๕๕๒ ที่ห้องประชุม ๑๕๑๔ อาคารบริหาร ชั้น ๕ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เราสลับการเรียนรู้เรื่องดีๆ ของ มสธ. มาเป็นช่วงเช้าเพราะประธานที่ประชุม ทคพย. ติดภารกิจ

รศ.ศรีนวล สถิตวิทยานันท์ ประธานกรรมการประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มสธ. และทีมงานคอยให้การต้อนรับผู้เข้าประชุมตั้งแต่เช้า ตั้งแต่ย่างเท้าเข้ามาในอาคารคุณยามก็ถามและบอกทางไปห้องประชุมให้โดยไม่ต้องเอ่ยปากถาม แสดงถึงการเตรียมความพร้อมอย่างดียิ่ง ประทับใจผู้เข้าประชุมทุกคน

อาจารย์ศรีนวลได้เล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับ มสธ. ว่าระบบทางไกลใช้หลายแบบ เพื่อให้การเรียนการสอนมีคุณภาพ สาขาวิชาพยาบาลฯ เปิดสอนมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ รวมเวลา ๒๕ ปีแล้ว มีผลผลิตรวม ๑๒,๖๒๙ คน เฉลี่ยปีละ ๕๐๕ คน ในเรื่องของคุณภาพนั้น ระยะ ๑๐ ปีแรก สอบข้อสอบของสภาการพยาบาลผ่านในครั้งเดียวไม่ต่ำกว่า ๘๐% (เคยได้ ๙๓%) ได้รับการประเมินและรับรอง ๕ ปี ทุกครั้ง ช่วง ๘ ปีหลัง % นักศึกษาที่สอบผ่านลดลงส่วนหนึ่งเพราะนักศึกษาไม่ได้ทำงานในคลินิก

การจัดการเรียนการสอนจัดเป็นชุดวิชา มีแบบฝึกหัดให้ทำ มีการวิจัยติดตามพบว่าถ้านักศึกษาเรียนตามระบบขั้นตอนที่จัดให้ จะผ่านได้ ป.ตรี มี drop out สูง เข้ามา ๓,๐๐๐ สอบไม่ผ่าน (เกณฑ์ผ่านคือ ๖๐%) ประมาณครึ่งหนึ่งก็ออกไป กว่าจะจบอาจจะเหลือ ๒๐% ไปเจาะลึกพบว่าเกี่ยวกับความสามารถทางสมองส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการแบ่งเวลา ความมีวินัย นิสัยที่ชอบเรียนทางไกล ชอบศึกษาค้นคว้า มีการจัดสอนเสริม โดยมีหนังสือแจ้งให้นักศึกษาเข้า ถ่ายทอดผ่านดาวเทียม

เรื่องดีๆ ที่ได้เรียนรู้ในครั้งนี้มี ๒ เรื่องคือ (๑) การใช้ e-Learning กับบัณฑิตศึกษาทางไกล ซึ่ง รศ.ดร.สมใจ พุทธาพิทักษ์ผล นำเสนอการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารการพยาบาล และ (๒) นวัตกรรมการเรียนการสอนพยาบาลทางไกลสู่ Best Practice ของกระบวนการสร้างคุณค่ามหาบัณฑิต นำเสนอโดย รศ.ดร.บุญทิพย์ สิริธรังศรี

อาจารย์สมใจได้เล่าว่าหลักสูตร ป.โท พยาบาลของ มสธ. เริ่มเมื่อปี ๒๕๔๘ รูปแบบการจัดการเรียนการสอนจัดเป็นชุดวิชา มีคณะกรรมการผลิตและบริหารชุดวิชาเป็นผู้รับผิดชอบ องค์ประกอบของคณะกรรมการมีอาจารย์ในสาขาวิชาทำหน้าที่ปรธาน บรรณาธิการ เลขานุการ มีอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นกรรมการด้านการออกแบบระบบการสอน ๒ คน (ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดผล) และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ๒-๔ คน มีหน้าที่ออกแบบการเรียนการสอนและเนื้อหา

รูปแบบการเรียนการสอนประกอบด้วย
๑. การปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ เป็นการปฐมนิเทศเชิงปฏิบัติการที่มหาวิทยาลัย ๒ วัน เป็นกิจกรรมบังคับ มีการรวมตัวที่ห้องประชุมใหญ่ มีพิธีไหว้ครู ทำให้นักศึกษารู้จักมหาวิทยาลัย รู้จักอาจารย์ที่ปรึกษา อธิบายวิธีการเรียนการสอน มีคู่มือให้นักศึกษา

๒. การจัดชุดการเรียนรู้ในระบบทางไกล มี Textbooks ไม่ได้ใส่เนื้อหาทั้งหมด ให้เป็น main concept บางสาขาไม่ทำหนังสือเอง แต่ใช้ที่มีในท้องตลาด ใช้คู่กับ Study guides มีการค้น papers ให้นักศึกษาอ่าน สื่อที่เสริม เช่น VCD, Web-based learning system

๓. การจัดกิจกรรมสัมมนา เป็นการบังคับให้นักศึกษามาพบอาจารย์ ในระหว่างภาคการศึกษา มีการออกแบบไว้ล่วงหน้า สัดส่วนอาจารย์ : นักศึกษา เท่ากับ ๑ : ๑๕ มีการจัด ๒ ลักษณะคือการสัมมนาเสริม ครั้งละ ๒ วันที่มหาวิทยาลัยและศูนย์วิทยพัฒนาหรือศูนย์เฉพาะกิจ ดูว่าที่ไหนใกล้กับนักศึกษา และการสัมมนาเข้มสำหรับชุดวิชาที่มีเนื้อหายากหรือต้องมีการฝึกเฉพาะ เช่น สถิติ จัดแบบ workshop ๓ วันที่มหาวิทยาลัย

๔. การสื่อสารระหว่างนักศึกษา อาจารย์ และมหาวิทยาลัย ใช้หลายแบบ ได้แก่ โทรศัพท์ โทรสาร (มักใช้ในการติดต่อกับฝ่ายสนับสนุน) Web Board, Chat (นัดหมายล่วงหน้า) จดหมาย หรือพบตัวโดยตรง นักศึกษา ป.โท แทบไม่มี drop out เพราะติดต่อกับอาจารย์อย่างใกล้ชิด

๕. การประเมินผล ขึ้นอยู่กับการออกแบบของคณะกรรมการฯ ประเมินได้จากการสัมมนา การสอบ

สำหรับการใช้ e-Learning นั้น ในปี ๒๕๒๙ มีการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) เป็นสื่อเสริม แต่ใช้แล้วค่อยๆ หายไป ต่อมาเกิดแรง force ว่าเป็นมหาวิทยาลัยทางไกลทำไมจึงใช้กระดาษเยอะ ปี ๒๕๔๗ มหาวิทยาลัยจึงมีนโยบาย e-University กำหนดให้ใช้ e-Learning เป็นสื่อเสริม เลือกระบบการจัดการเป็น ATutor มีการวิจัยหารูปแบบที่เหมาะสม กว่าจะใช้ได้ต้องมีการอบรมหลายฝ่าย

อาจารย์สมใจเล่าว่าเคยไปดูงานต่างประเทศได้ attend การสอน Nursing Theory online และเล่ากระบวนการที่นำ e-Learning มาใช้ ต้องมีการวิเคราะห์ทั้งต้นทุนของผู้สอนและมหาวิทยาลัย วิเคราะห์เนื้อหาวิชา และลักษณะของผู้เรียน

เอามาใช้ในรายวิชาประเด็นและแนวโน้มทางการบริหารพยาบาล สามารถให้ผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยายที่สตูดิโอ แล้วเอาขึ้น Web เปลี่ยนให้ทันสมัยทันต่อเหตุการณ์ได้ ทำไปแล้วก็มีปัญหาบ้าง เพราะเครือข่ายของมหาวิทยาลัยป่วยบ่อย ช้า จึงเอาลง CD ให้ด้วย ใครใช้ PowerPoint สอน ไม่ควรตกแต่งมากเพื่อจะได้ download ได้เร็ว

มีชุดปฐมนิเทศสำหรับนักศึกษา online ด้วย สอนวิธีใช้จนเป็น จ่ายงานให้นักศึกษาในวันปฐมนิเทศ จัดกลุ่มนักศึกษา online ให้คละกันจากจังหวัดต่างๆ ครูต้องตั้งโจทย์ให้น่าสนใจและกระตุ้นความคิดตลอดเวลา

วันนี้ Wireless ของมหาวิทยาลัยใช้ไม่ได้ อีกทั้งในห้องประชุมนี้ไม่ได้ใช้สาย LAN มานาน จึงใช้ไม่ได้อีกเช่นกัน ทำให้ไม่สามารถสาธิตให้เห็นกิจกรรม online ต่างๆ ได้ ที่เล่าผ่าน PowerPoint เป็น discussion online, forum สำหรับนักศึกษาที่เรียนวิชาเดียวกัน การสอนหัวข้อต่างๆ นักศึกษาสามารถ download PowerPoint ได้

นักศึกษาบอกว่าการจัดการเรียนการสอนรูปแบบนี้ได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนไม่จำกัดที่และเวลา อาจารย์สมใจบอกว่าทีมอาจารย์ต้องขยันตลอด ๒๔ ชม. เพราะมีปัญหาจุกจิกทางเทคนิค วิธีการนี้ทำให้นักศึกษามีทักษะในการค้นคว้าด้วยตนเอง เป็นการติดอาวุธสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต รู้จักใช้สื่ออิเล็คโทรนิกส์เป็นตัวช่วยในการทำงาน

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 263364เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 22:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท