เศรษฐกิจพอเพียงที่เมืองลาว


กลุ่มท้อนเงิน เกษตรชีวภาพ นครเวียงจันทร์ สปป.ลาว

กลุ่มท้อนเงิน แม่หญิงลาว และเกษตรชีวภาพที่เมืองลาว

         การเดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมกับนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาสังคมวิทยาและการพัฒนา และปริญญาเอกสาขาสังคมวิทยา ที่เรียนรายวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในภาคเรียนที่ 2/2551 จำนวน 4 คน พร้อมด้วย รศ.ดร.สมศักดิ์ ศรีสันติสุข อาจารย์ผู้สอน และนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาสังคมวิทยา อีก จำนวน 5 คน โดยใช้ทุนของตนเอง ระหว่างวันที่ 27 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2552 ณ นครหลวงเวียงจันทร์ โดยศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว กลุ่มท้อนเงิน (กลุ่มออมทรัพย์) และการทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งหมดตั้งอยู่ในบริเวณนครเวียงจันทร์ รวมทั้งการเยี่ยมชมสภาพบรรยากาศของเมืองหลวงเวียงจันทร์ในยามค่ำคืน และตอนเช้า-กลางวัน อย่างค่อนข้างทั่วถึง ทำให้ได้ข้อคิดต่อที่น่าสนใจสำหรับแนวทางการพัฒนาประเทศไทย พอสมควร


        

         การ การเดินทางครั้งนี้เป็นแบบพึ่งพาอาศัยกันเอง เหมือนกับไปเที่ยวเมืองลาว (ผู้เขียนขออนุญาตให้ชื่อย่อว่า ลาว ในชื่อเต็มว่า สปป.ลาว) สถานที่ศึกษาดูงานก็ติดต่อกันแบบเป็นการภายในเนื่องจากถ้าติดต่อเข้าไปอย่างเป็นทางการต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ต้องผ่านกระทรวงการต่างประเทศ กว่าที่รัฐบาลลาวจะอนุญาตให้เข้าไปได้ใช้เวลาหลายเดือนซึ่งไม่สามารถรอคอยได้ ยิ่งด้วยระบบการเมืองลาวที่รัฐบาลมีความเข้มงวดต่างจากไทยกระนั้นก็ตาม ก็ยังรู้สึกว่ายังน้อยกว่าตอนไปเชียงตุงเสียอีก

         การเดินทางจากประเทศไทย ไป สปป.ลาว ตอนนี้สะดวกมากไม่ว่าจะเป็นแถบจำปาสักทางช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี ทางมุกดาหาร และด่านหนองคาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด่านหนองคายมีรถระหว่างประเทศจากเมืองไทยไปเวียงจันทร์ที่สามารถโดยสายได้ทั้งที่ จ.ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย สำหรับขอนแก่น รถออกเดินทางวันละ 2 เที่ยว คือ เวลาประมาณ 07.45 น. และ 14.00 น. เป็นเวลาเช่นเดียวกับขากลับจากนครเวียงจันทร์ ค่าโดยสารคนละ 180 บาท ต่อเที่ยวเท่านั้น

         

        คณะของเราออกเดินทางจากที่พักแต่ละคนจุดนัดหมาย คือ สถานีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศเมืองขอนแก่นเวลาประมาณ 07.00 น. ที่ต้องรีบนัดหมายล่วงหน้าก่อนเวลารถออกนานพอสมควรเพราะคณะของเรามีหลายคน จึงต้องรีบมาซื้อตั๋ว จองที่ไว้ก่อนกลัวไม่มีที่นั่ง การซื้อตั๋วต้องใช้หนังสือเดินทาง (passport) หรือใบผ่านแดน แต่ถ้ามีหนังสือเดินทางจะสะดวกกว่า และตอนนี้ทำสะดวกแล้วไม่ว่ากรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ที่จังหวัดขอนแก่นตั้งอยู่ที่ศาลากลาง ชั้น 1 มีห้องสำหรับให้บริการใหญ่มาก พนักงานให้บริการจำนวนมาก ไปเพียงบัตรประชาชนใบเดียวก็ทำได้แล้ว ภายใน 7 วันก็จะได้รับโดยส่งมาให้ตามที่อยู่ที่ให้ไว้ ที่รอต้อง 7 วัน เพราะต้องส่งข้อมูลทำเล่มที่ กทม. ถ้าจะรีบทำรีบใช้ทำที่ กทม. จะดีที่สุด
อย่างไรก็ตามเมื่อถึงเวลาเดินทางปรากฏว่าวันนี้ผู้โดยสารน้อยมาก เพราะเป็นวันธรรมดา คนเดินทางน้อยต่างกับวันหยุดหรือปลาย/ต้นสัปดาห์ คณะของเราจึงเลือกที่นั่งกันสบาย คนละ 1 ที่นั่งก็ยังไม่เต็มทุกที่เลย รถออกเดินทางจากสถานีรถปรับอากาศขอนแก่นประมาณ 2 โมงเช้ากว่า ๆ ช้ากว่าเวลาที่กำหนดเล็กน้อย แต่ก็เป็นผลดีต่อคณะเราเพราะรอสมาชิกอีก 1 คนที่กำลังเดินทางอยู่ เมื่อมาถึงรถก็ออกจากสถานีพอดีชนิดลุ้น วินาทีต่อวินาที ระหว่างเส้นทางที่ผ่านไป ภาพที่น่าสนใจคือชีวิต 2 ข้างทางของคนอีสาน มีร้านค้าน้อยใหญ่เรียงรายตลอดเส้นทาง ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. ถึงด่านหนองคายตรงนี้ต้องลงจากรถทำเอกสารเดินทางออกจากเมือง (ไทย) ด้วยตนเอง ซึ่งใช้เวลาเพียงเล็กน้อย เมื่อพร้อมแล้วขึ้นรถทัวร์ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำโขงไปยังฝั่ง สปป.ลาว ส่งเอกสารเข้าเมืองที่ด่าน แต่ตรงจุดนี้ต้องเสียค่าเหยียบแผ่นดินให้รัฐบาล สปป.ลาวด้วย ประมาณ 10 บาท/ คน ซึ่งเมืองไทยไม่มี

         เมื่อเสร็จจากภารกิจการเข้าเมืองเรียบร้อยแล้ว บางคนแลกเงิน สปป.ลาวที่ตรงนี้ บางคนก็ไม่แลก แต่จะมีการแลกเงินเป็นของคณะเดินทางไปจำนวนหนึ่งเพื่อความสะดวกที่จะใช้ในการซื้อสินค้า จะไม่แลกก็ได้แต่จะเสียเปรียบค่าเงินซึ่งร้านค้าจะบวกเพิ่มไว้เล็กน้อย ถ้าจ่าย น้อย ๆ ไม่เป็นไรแต่ถ้ามาก ๆ รวมกันแล้วก็ไม่น้อยเลยทีเดียว รถทัวร์ไปถึงสถานีรถประจำทางที่นครเวียงจันทร์เวลาประมาณเที่ยงกว่า ๆ แล้วก็เหมารถไปยังประตูชัยซึ่งเป็นที่นัดหมายกับคนที่มารับไปดูงานในวันนี้ซึ่งเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนครเวียงจันทร์ ด้วยความไม่รู้จึงเป็นบทเรียนสำหรับการเดินทางในช่วงนี้ เพราะเมื่อไปถึงประตูชัย พบคนที่มารับแล้วต้องเดินทางต่อไปยังร้านอาหาร และมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถานที่ดูงานอีก แต่ละช่วงต้องจ่ายค่าโดยสารครั้งละ ประมาณ 40 บาท /คน ทำให้วันแรกนี้เสียค่าโดยสารรถมากกว่าที่ควรจะเป็นไปพอสมควร เพราะถ้าหากเหมารถตู้ประมาณ 1,500 บาท แต่ค่ารายหัว และไปกันเป็นจำนวนมากแล้วก็ต้องเสียเงินไม่น้อยทีเดียว วันต่อมาจึงตัดสินใจเช่ารถตู้กันทั้งวัน และสะดวกด้วย


         อาหารเที่ยงมื้อแรกที่นครเวียงจันทร์นี้ เป็นร้านก๊วยเตี๋ยวที่มีชื่อของนครเวียงจันทร์ คนไทย ดาราไทย คนเด่นคนดังของเมืองไทยนิยมมากินกัน ถ้วยก๊วยเตี๋ยวมีขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ เราตัดสินใจขนาดกลาง เพราะดูขนาดถ้วยที่ตั้งบนโต๊ะแล้วขนาดไม่น้อยทีเดียว ถ้าเป็นขนาดใหญ่รับรองไม่ไหวแน่ ก็เป็นไปตามที่คิด ถ้วยขนาดกลางปริมาณพอดีสำหรับคนกำลังหิว รถชาดก็ไม่แตกต่างจากเมืองไทยมากนัก เป็นไปตามที่เขาแนะนำ แต่ราคานั้นต่างกับเมืองไทยไม่น้อย ถ้าเป็นเมืองไทยถ้วยขนาดนี้อย่างมาก 40 บาท สำหรับที่นี่ราคา 60 บาท หรือหมื่นกว่ากีบ รวมแล้วทั้งคณะจ่ายมื้อนี้ประมาณ 2 แสนกีบ เพิ่งครั้งแรกนี่แหละที่กินอาหารราคาเป็นหมื่นเป็นแสน และดูเหมือนว่าเป็นเศรษฐีย่อม ๆ เลยทีเดียว ฮ่า ๆๆๆ
ค่าครองชีพ ราคาอาหารการกินในเมืองนครเวียงจันทร์ นับว่าแพงมาก แพงกว่าทุกเมืองของไทยก็ว่าได้ ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจของคน สปป.ลาวที่ข้าราชการมีเงินเดือนไม่กี่พันบาท ก็เป็นคำถามที่คณะของเรามีอยู่เหมือนกันว่าเขาอยู่กันอย่างไร อยู่กันได้อย่างไร ใครสนใจมีคำตอบช่วยอธิบายหน่อย แต่ที่พอทราบเขาไม่ได้ใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยเหมือนคนไทย การทานอาหารนอกบ้านมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ร้านอาหารเป็นคนต่างประเทศ เช่น คนไทย คนจีนทั้งนั้น และข้าราชการของ สปป.ลาว ก็ได้รับอนุญาตให้ทำงานอื่นนอกจากรับราชการด้วย เพื่อเป็นการหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว บางคนทำงานกับองค์การระหว่างประเทศ หรืองานส่วนตัวก็ไม่น้อย และที่สำคัญรัฐบาล สปป.ลาวไม่มีนโยบายให้ประชาชนก่อหนี้เหมือนประเทศไทย ไม่มีสินค้าเงินผ่อนในประเทศ สปป.ลาว ใครจะซื้อรถ ซื้อสิ่งของเครื่องใช้ ต้องสะสมเงินให้เพียงพอแล้วค่อยไปซื้อกัน ส่วนเขามีวิธีการอะไรที่นอกเหนือจากนี้เช่นการกู้เงินภายในระหว่างกันหรือไม่นั้นไม่ทราบเหมือนกัน เราจึงเห็นวิถีชีวิตของคนเวียงจันทร์ที่อยู่ในภาวะก้ำกึ่งระหว่างความเป็นเมืองและชนบท กล่าวคือ ส่วนหนึ่งก็ดูเหมือนว่าเรียบง่าย แต่ส่วนหนึ่งก็มีความรีบเร่ง ซึ่งเป็นสภาพสังคมที่ได้รับการถ่ายทอดจากเมืองไทยที่เขาหนีไม่พ้น โดยเฉพาะรายการโทรทัศน์ ข่าว ละคร เพลง เหมือนกับอยู่เมืองไทย หรือต่างจังหวัดของไทยเท่านั้น


        

          สถานที่ศึกษาดูงานที่แรกของคณะเราคือมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ซึ่งอยู่นอกเมืองไปหน่อย ตอนแรกเราคิดว่าสภาพบรรยากาศมันจะใกล้เคียงกับ มหาวิทยาลัย บ้านเราที่ใครเข้าออกก็ได้ แต่ที่นี่กลับตรงกันข้าม คณะของเราแม้มากับอาจารย์แต่กว่าจะเข้าได้ก็ลุ้นกันไม่น้อยทีเดียว เพราะที่ประตูทางเข้ามียามที่ดูเหมือนว่าจะมีอำนาจมากกว่าอาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาในมหาวิทยาลัย (เหมือนกับมหาวิทยาลัยในเมืองไทยบางแห่งแถวภาคใต้ที่ผมเคยอยู่) จะไม่ยอมให้เข้าเพราะต้องมีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการถึงจะเข้าได้ พอดีคณะของเราทำหนังสือมาฉบับหนึ่งจากคณบดี จึงพอที่จะใช้กันได้ เมื่อเข้าไปถึงแล้วก็ไม่ได้ฟังบรรยายอะไร ทางอาจารย์เขาขออนุญาตจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย เขาก็อนุญาตให้เดินดูบรรยากาศต่าง ๆ รอบมหาวิทยาลัย ตึกที่เดินดูนี้เป็นคณะเศรษฐศาสตร์ เป็นอาคารใหม่ สวยงามมากกว่าทุกคณะเท่าที่เห็น เพราะเป็นคณะที่คนนิยมเรียนกันมาก สภาพความพร้อมของคณะถือว่าอยู่ในขั้นพอสมควรสำหรับประเทศที่มีงบประมาณแผ่นดินต่อปีไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศไทย มีทั้งห้องเรียนรวม ห้องเรียนย่อย ห้องสมุด เป็นต้น


       

           ห้องเรียนรวมเป็นเหมือนห้องฉายภาพยนตร์ จุคนได้ประมาณ 200 คน มีคอมพิวเตอร์ เครื่องฉายโปรเจ๊กเตอร์พร้อมเพรียง ถือว่าทันสมัยพอสมควร เช่นเดียวกับห้องเรียนเล็ก ๆ ที่ไม่ต่างกับห้องเรียนในเมืองไทยมากนัก และอาจจะดีกว่าบางคณะที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ผมเรียนด้วยซ้ำ
ห้องสมุดก็เช่นกัน แม้มีขนาดไม่ใหญ่มากแต่ก็ดูโล่ง หรืออาจเป็นเพราะอาคารยังใหม่อยู่ก็เป็นไปได้ แต่หนังสือยังมีน้อย มีหนังสือภาษาไทยเป็นจำนวนมาก มีงานวิจัยของนักศึกษาระดับปริญญาตรี (เพราะมหาวิทยาลัยที่ สปป.ลาวสอนแค่ระดับปริญญาตรี) เหมือนกับวิทยานิพนธ์ หรือค้นคว้าอิสระของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในเมืองไทย เป็นหัวข้องานวิจัยง่าย ๆ ฝึกให้นักศึกษาปฏิบัติจริง และเป็นส่วนหนึ่งของการวัดผลการศึกษาก่อนที่จะจบด้วย นอกจากนี้ภายในห้องสมุดยังมีมุมคอมพิวเตอร์สำหรับให้นักศึกษาใช้บริการหลายเครื่อง รวมทั้งมุมบริการถ่ายเอกสาร เหมือนกับห้องสมุดมหาวิทยาลัยในเมืองไทย แต่ความต่างอยู่ที่ราคาถ่ายเอกสารที่แผ่นละ 7 บาท ขณะที่เมืองไทยเรา 50 สตางค์ เท่านั้น 
          

          การแต่งกายของนักศึกษาลาวนั้น ผู้ชายเหมือนกับนักศึกษาไทย ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้าสิ้น เหมือนกับชาวลาวโดยทั่วไป ก็ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามไปอีกแบบหนึ่ง ต่างกับนักศึกษาไทยที่จำนวนไม่น้อยร่ำรวยเงินทอง แต่ยากจนเสื้อผ้า กระโปรงก็แค่คืบเดียว เสื้อที่สวมก็ตัวนิดเดียวไม่รู้จะประหยัดอะไรกันนักหนา และเป็นการประหยัดที่ไม่ถูกที่ถูกทาง ถูกเวลาซะด้วย ถ้ามหาวิทยาอนุญาตให้สวมเฉพาะชุดชั้นในมาเรียนได้ เขาก็คงทำน๊ะ ลองดูที่กระเป๋าที่แต่ละคนถือซิเล็กนิดเดียว ผู้เขียนพยายามสังเกตหลายครั้งแล้วเพื่อดูว่าตำราหรือเอกสาร สมุดสำหรับจดบันทึกอยู่ที่ไหนก็ยังไม่ได้คำตอบเสียที และกำลังคิดอยู่เหมือนกันว่าจะหาคำตอบไปทำไมกัน ภาพที่ผมถ่ายมา ใน 3 คนนี้ 1 คนเป็นนักศึกษาไทยที่ไปด้วยกับคณะ (เสื้อคลุมแดง) อีก 2 คนเป็นนักศึกษา สปป.ลาว ไม่ได้เปรียบเทียบน๊ะครับเพราะนักศึกษาไทยที่ไปวันนั้นเป็นชุดธรรมดา เพียงแต่ให้เห็นภาพการแต่งกายของนักศึกษา สปป.ลาว อย่างไรก็ตาม นักศึกษา สปป.ลาว บางคนก็มีโทรศัพท์มือถือทันสมัยไม่ต่างนักศึกษาไทยเหมือนกัน (คนกลาง) ถ้ารัฐบาลลาวไม่เคร่งครัดเรื่องระเบียบวินัย ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะต่างไปจากเมืองไทยหรือไม่ โลกาภิวัตน์ ทุนนิยม มันไม่เคยเลือกที่ที่จะไป แต่มันไปเองไม่ได้คนเราแสวงหามา และรับมาเอง โลกาภิวัตน์และทุนนิยมไม่ได้ร้ายเสมอไป มันก็มีมุมที่ดีสำหรับมนุษย์ชาติ แต่เรารับเอาเพียงมุมเดียวที่เป็นด้านลบของมัน เราจึงโทษมันทุกครั้งที่เริ่มมีการวิเคราะห์เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง


การแต่งกายของ นศ.ผู้หญิงของ สปป.ลาว


         ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าคน สปป.ลาวให้ความสนใจกับการศึกษามาก จะเห็นได้จากมีโรงเรียน วิทยาลัยเอกชนเปิดขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วเมือง ส่วนใหญ่เป็นเหมือนวิทยาลัยห้องแถว เพราะใช้อาคารที่เป็นห้องแถวเป็นอาคารเรียน ถ้าเป็นอาคารเดียว ๆ ก็มีเพียงอาคารเดียวเท่านั้น สาขาที่เปิดสอนเป็นระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ด้านบริหารธุรกิจ นักศึกษาแต่ละแห่งก็ไม่จำนวนไม่มาก คนขับรถโดยสารที่ทางคณะของเราเช่าในวันแรกก็กำลังเรียน ปี 4 ที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งเหล่านี้เช่นกัน แต่ต่างกับนักศึกษาไทยที่พ่อแม่ส่งหรือจ้างให้เรียน นักศึกษาลาวต้องทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง

วิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งใน สปป.ลาว


        หลังจากที่ได้ข้อมูลพอสมควรแล้ว มุ่งเดินทางไปยังที่พักที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของเมือง อยู่บริเวณใกล้ ๆ กับไนท์บาซาของนครเวียงจันทร์ ห่างจากแม่น้ำโขงไม่มากนัก เป็นโรงแรมขนาดเล็ก ระดับ 3 ดาว ชื่อ B.P. Hotel ห้องละ 700บาท เนื่องจากพิจารณาดูแล้วว่าอยู่ใกล้ที่กินในตอนกลางคืน หลังจากเข้าที่พักกันเรียบร้อยแล้วก็ออกไปรับประทานอาหารด้วยกันแถวตลาดโต้รุ่งของนครเวียงจันทร์ ซึ่งอยู่บริเวณไนท์บาซา ไม่ห่างจากที่พักมากนัก เดินไปก็ไม่ไกลมากนัก ร้านของเรามุ่งเป้าหมายไปที่ร้านอาหารเวียดนาม รสชาติและราคาเหมาะสมกัน หลังจากนั้นเที่ยวชมชีวิตกลางคืนของคนเวียงจันทร์ ซึ่งคนเวียงจันทร์ รวมทั้งเมืองอื่น ๆ ใน สปป.ลาว จะเที่ยวได้ไม่เกิน 5 ทุ่ม หลังจากนั้นจะปิดหมดตรงเวลา ไม่มีการต่อเวลา หรือหลังร้านเหมือนเมืองไทย ใครฝ่าฝืนจำคุกอย่างเดียว แต่ก็มีสถานที่แห่งหนึ่งในนครเวียงจันทร์ เป็นโรงแรมขนาดใหญ่ ที่รัฐบาลเปิดให้เป็นพื้นที่พิเศษ ไม่จำกัดเวลาปิด ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่รู้จักชีวิตกลางคืนในนครเวียงจันทร์ จึงไปเที่ยวที่อื่นในเมืองก่อนแล้วค่อยมาเที่ยวที่โรงแรมนี้เป็นสถานที่สุดท้ายที่มีทั้งคาราโอเกะ ลานรำวงแบบลาว และดิสโกเท็กซ์แบบต่างชาติ แต่คณะของเราอยู่ชมบรรยากาศไม่ตลอดต้องรีบกลับก่อนเพราะตอนเช้าวันใหม่จะต้องมีภารกิจดูงานในพื้นที่อีกทั้งวัน ตอนที่เข้าไปดูบรรยากาศที่โรงแรมแห่งนี้ยังเงียบเหงา มีแต่พนักงานโรงแรม และคณะของเราเท่านั้นที่เข้าไป เพราะคนอื่น ๆ เขาจะมาหลัง 5 ทุ่มไปแล้วเท่านั้น


        เช้าวันใหม่ ผู้เขียนพักร่วมกับหลวงพี่ที่เป็นนักศึกษาปริญญาโท จึงต้องตื่นแต่เช้ามืด และเป็นความตั้งใจที่จะตื่นในเวลานี้เพื่อที่จะออกไปชมบรรยากาศยามเช้าของนครเวียงจันทร์ บรรยากาศตอนเช้าวันนี้เย็นสบาย ในปลายฤดูหนาวเดือนมกราคม ผู้เขียนกับหลวงพี่เดินดูรอบบริเวณที่ตั้งของโรงแรมผู้คนแทบจะไม่มี ไม่เห็นพระบินทบาตรตอนเช้าเหมือนเมืองจำปาสัก หรือหลวงพระบาง เห็นโรงเรียนเอกชน 1 แห่งที่เป็นห้องแถวเล็ก ๆ 2 ชั้น มีการประกาศผลสอบเข้าศึกษาต่อของนักศึกษา เป็นการสอบเพื่อดูความรู้ของนักศึกษามากกว่า และเดินผ่านวิทยาลัยเทคนิค 1 แห่ง (ภาพข้างบน) มีทั้งนักศึกษาที่อยู่ประจำและไปกลับ และเรียนฟรี กำลังรับสมัครนักศึกษาอยู่เช่นกัน หลังจากนั้นเดินชมบรรยากาศริมโขง ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก แม่โขงตอนนี้แห้งเร็วกว่าที่คิด ไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ยังมีข่าวน้ำล้นแม่น้ำโขงอยู่เลย ฝั่งลาวยังเห็นกระสอบทราบทำเป็นกำแพงกันอยู่

 

 ภาพแม่น้ำโขงในเดือนมกราคม มีหาดทรายกลางแม่น้ำ สามารถวิ่งเล่นได้สบายดี


        เมื่อคณะของเราพร้อมแล้ว ออกเดินทางจากที่พักประมาณ 08.30 น. ไปยังเป้าหมายแห่งแรกสำหรับการศึกษาดูงานวันนี้ คือ กลุ่มท้อนเงิน หรือ กลุ่มออมทรัพย์ ของสหพันธ์แม่หญิงลาว ซึ่งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวที่ไปศึกษาดูงานเมื่อวันที่ผ่านมา


  

       กลุ่มออมทรัพย์ หรือที่เมืองลาวเรียกเป็นภาษาพื้นเมืองว่า "กลุ่มท้อนเงิน" เพิ่งเข้ามาในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2001) ซึ่งใกล้เคียงกับกระแสเศรษฐกิจพอเพียงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ของประเทศไทย ได้รับการส่งเสริมโดยองค์กรพัฒนาเอกชนจากประเทศไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) แต่มีความแตกต่างกันกับเมืองไทยที่ดูเหมือนว่ารัฐบาล สปป.ลาวจะให้ความสำคัญอย่างจริงจังในเชิงนโยบาย มีสหพันธ์แม่หญิงลาวเป็นผู้ขับเคลื่อน แต่ก็ไม่ได้บังคับให้ประชาชนทุกคนต้องเข้าเป็นสมาชิก การเป็นสมาชิกจึงยึดหลักความสมัครใจเหมือนสหกรณ์และกลุ่มออมทรัพย์ในเมืองไทย ทำให้ในระยะเริ่มก่อตั้งมีสมาชิกเพียง 47 คน เงินทุน 40 กว่าล้านกีบ เมื่อดำเนินการในระยะหนึ่งประชาชนในชุมชนเริ่มเห็นประโยชน์และไว้วางใจมากขึ้น จึงเข้าสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยมา ปัจจุบัน (พ.ศ.2552) มีสมาชิก 800 กว่าคน เงินหมุนเวียนประมาณ 250 ล้านกีบ หรือ 10 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มออมทรัพย์ที่เติบโตรวดเร็วมาก พร้อมทั้งจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกในรูปแบบต่าง ๆ และการนำผลที่ได้ไปสร้างประโยชน์สาธารณะให้กับชุมชน โดยไม่ต้องพึ่งหน่วยงานของรัฐ หรืองบประมาณของรัฐบาลที่มีไม่มากอยู่แล้ว เช่น การก่อสร้าง /ซ่อมแซมถนน การก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ เป็นต้น


คณะกรรมการกลุ่มท้อนเงิน  แม่หญิงลาวเป็นคณะกรรมการ  ผู้ชายเป็นที่ปรึกษา   

     วัตถุประสงค์หลักของกลุ่มท้อนเงินกลุ่มนี้ คือ การสร้างความสามัคคีให้กับประชาชนในหมู่บ้าน ให้มีกลุ่มเป็นของตนเองเพื่อนำเงินไปค้าขาย ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เพื่อให้ผู้หญิงที่มีความรู้ ความสามารถมีส่วนร่วม รู้บทบาท กล้าแสดงออก มีบทบาทในสังคมของบ้าน ให้กองทุนแก้ไขความทุกข์ยากของประชาชน และสร้างสวัสดิการสังคมแก่สมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย

     
 ที่ทำการกลุ่มท้อนเงิน คณะกรรมการทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ด้วย  

     ประเด็นที่น่าสนใจ คือการบริหารกลุ่มที่ แม่หญิง (หรือผู้หญิง) มีบทบาทสำคัญในการบริหาร กล่าวคือ คณะกรรมการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ จะเป็นผู้หญิงทั้งหมด โดยเป็นผู้แทนของสหพันธ์ แม่หญิงลาว ซึ่งสหพันธ์แม่หญิงลาว ได้รับการยอมรับเป็นโครงสร้างหนึ่งของรัฐบาลกลางเทียบเท่าทบวงเลยทีเดียว คณะกรรมการกองทุน มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกที่เป็นสมาชิกสหพันธ์แม่หญิงลาวอยู่ด้วย ส่วนผู้ชาย ประกอบด้วย เลขาพรรคบ้าน นายบ้าน แนวโฮมบ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ องค์กรสาวหนุ่ม ตำรวจ ทหาร ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา มากกว่า โดยเฉพาะ การทวงหนี้ สาเหตุที่ให้ผู้หญิงบริหารกลุ่มออมทรัพย์หรือกลุ่มท้อนเงิน ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เขาให้เหตุผลว่าทักษะเหล่านี้ผู้หญิงจะทำได้ดีกว่าผู้ชาย ก็อาจจะเป็นจริงอย่างที่ว่า เพราะคนดูแลเงินในครอบครัวส่วนใหญ่จะเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ผู้ชายถนัดใช้เงินมากกว่าเก็บรักษาเงิน ประเด็นนี้หลายคนอาจมีข้อโต้แย้งโดยเฉพาะผู้ที่ไม่ค่อยชอบการวิพากษ์ของสำนักสตรีนิยม ผู้เขียนไม่ได้อิงแนวคิดสตรีนิยม อิงจากความเป็นจริง และแท้จริงแล้วเมืองไทยเราเรียกร้องสิทธิสตรีมาก ๆ แต่สังเกตว่าเป็นการเรียกร้องสิทธิในระดับปัจเจกบุคคลเท่านั้น เช่น การใช้ชื่อนำหน้า นาง นางสาว เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนก็ยังไม่เห็นมุมที่มันจะต่างตรงไหนในเรื่องนี้ จะเป็นนางหรือนางสาว สิ่งสำคัญกว่านั้นคือการทำหน้าที่ในสังคมมากกว่า


 ที่ทำการนายบ้าน เหมือนกับผู้ใหญ่บ้านของบ้านเรา      

      คณะของเราก็มีข้อซักถามแลกเปลี่ยนกันพอสมควร มีบางคำถามที่อยากถามแต่อาจไม่เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองของเขา รวมทั้งบทบาทหน้าที่ในกลุ่มออมทรัพย์ที่ดูเหมือนว่าอาจขัดหูขัดตาสำหรับวัฒนธรรมการเมืองแบบเราไปบ้าง ซึ่งเราเคารพในความแตกต่างอันนี้บ้านใครบ้านมันเราคงไปว่าอะไร หรือแนะนำอะไรเขาไม่ได้ เราเองก็ไม่เคยทำด้วยซิ 
      เสร็จภารกิจแล้วไปดูงานสถานที่ต่อไปซึ่งอยู่นอกเมืองไปเล็กน้อย ตอนนี้ผู้เขียนถือโอกาสรับประทานอาหารเที่ยงก่อนใครในคณะ เพราะต้องให้พระที่อยู่ในคณะฉันอาหารก่อนเที่ยงวัน จึงต้องนั่งฉันเป็นเพื่อนกับพระ ร้านอาหารที่นั่งกินอยู่นอกเมืองและพบว่าราคาอาหารถูกกว่าในเมืองมากเกือบเท่าตัว ก๊วยเตี๊ยวที่กินในวันนี้เพียง 30 บาทเท่านั้น ซึ่งตอนแรกคิดว่าคิดเงินผิดเพราะมันน่าจะมากกว่านี้ เรียบร้อยแล้วเดินทางไปสมทบกับคณะที่เข้าไปดูงานก่อนแล้ว การดูงานในช่วงนี้เป็นเรื่องเกษตรปลอดสารพิษ หรือเกษตรชีวภาพ

 

 แปลงเกษตรชีวภาพของกลุ่มเกษตรกร

 
        กลุ่มเกษตรชีวภาพ กระแสการพัฒนาสู่ทุนนิยมแม้จะเป็นประเทศในสังคมนิยมเช่น สปป.ลาว ก็หลีกหนีไม่พ้น ไม่เว้นแม้แต่ภาคเกษตรที่ประชาชนหันไปประกอบอาชีพการเกษตรแบบแผนใหม่ โดยใช้ปุ๋ย สารเคมี เพื่อส่งขายในปริมาณมาก ๆ ในตลาด เพื่อให้ได้เงินมาเป็นการเลี้ยงชีพไม่ต่างกับเกษตรกรแผนใหม่ในประเทศไทย เกษตรชีวภาพ หรือเกษตรทางเลือกจึง เป็นอีกกระแสหนึ่งที่กำลังเข้ามาในสังคมเกษตรในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน โดยการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาล และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) คือ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกษตรกรที่เปลี่ยนวิถีชีวิตมาทำเกษตรชีวภาพ ได้มาดูงานและฝึกอบรมที่ประเทศไทย และกลับไปทดลองทำในพื้นที่ มีการรวมกลุ่ม และสร้างเครือข่ายการปลูกพืช การค้าขายกับตลาด และกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน การทำเกษตรชีวภาพ ด้วยการปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง และปุ๋ยเคมี แต่ใช้สารชีวภาพจากการหมักพืชผัก แล้วนำมาทำเป็นยาไล่แมลง ป้องกันแมลง ทำเป็นปุ๋ยน้ำชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพบำรุงดิน ในระยะเริ่มต้นมีสมาชิก 6 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 18 คน และมีแนวโน้มขยายออกไป เรื่อย ๆ กลุ่มกำลังจะเรียนรู้ต่อไปในการทำน้ำส้มควันไม้ ซึ่งเป็นน้ำที่เกิดจากการเผาถ่านไม้ และนำมาเป็นสารไล่แมลงได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการขยายเครือข่ายการตลาดให้กว้างขวาง แข็งแกร่งพึ่งตนเองได้มากยิ่งขึ้น


       การขยายตัวและการดำรงอยู่ก็ยังมีอุปสรรคพอสมควร แม้ว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างมากก็ตาม ทั้งนี้เพราะกระแสทุนนิยมที่เข้ามา การใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง สารเคมี เช่นเดียวกับเกษตรกรในเมืองไทยเป็นสิ่งที่ท้าทายเกษตรกรในกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก เพราะเกษตรชีวภาพ มันให้ผลช้า แต่ทางกลุ่มมีวิธีการจัดการโดยการควบคุมกันเอง สมาชิกในกลุ่มคนไหนทำนอกเหนือจากที่ตกลงกันไว้ เช่น แอบใช้สารเคมี
จากการศึกษาดูงานทั้ง 2 พื้นที่ทำให้เห็นว่า กระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ไม่จำเป็นต้องกระทำการโดยรูปแบบทางการเสมอไป แต่สามารถดำเนินไปพร้อมกันได้กับกระบวนการกลุ่ม โดยการที่ประชาชนมารวมกลุ่มกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการพัฒนาตนเองไปในตัวทั้งความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อกลุ่ม และสังคมส่วนรวม และเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ยั่งยืน ได้ผลอย่างทันที

คณะศึกษาดูงานถ่ายรูปร่วมกับสมาชิกกลุ่มเกษตรชีวภาพ

หมายเลขบันทึก: 263072เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 07:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท