ปกติก็เคยได้ยินเรื่องของ "การเรียนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง" แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจเท่าไร เพราะไม่ได้อยู่ในฐานะนักเรียนมานานแล้ว แต่คราวนี้ได้มีโอกาสที่ยากจะปฏิเสธได้ จึงได้มาเป็นนักศึกษาอีกครั้งในหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาพัฒนาสุขภาพชุมชน(ผู้นำการจัดการบริการปฐมภูมิ)ของภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น ซึ่งมี ผศ.ดร.นพ. ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ เป็นหัวหน้าภาควิชา
22 พค 52 เป็นวันปฐมนิเทศชี้แจงและตกลงหลักสูตร บรรยากาศที่เป็นกันเอง อบอุ่นเรียบง่ายของคณะอาจารย์ทำให้นักศึกษาทุกคน(ประมาณ 10 คน)คลายกังวลไปได้มาก ยิ่งพอมาถึงตอนชี้แจงและตกลงหลักสูตร นักศึกษาทุกคนได้มีส่วนร่วมในการกำหนด เวลา ตาราง รูปแบบและสถานที่ของการเรียนการสอนได้ โดยอยู่บนพื้นฐานข้อตกลงในความเป็นไปได้ของทั้งคณะอาจารย์และผู้เรียน จึงทำให้เข้าใจว่าการเรียนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางน่าจะเป็นแบบนี้เอง การเรียนการสอนแบบนี้จะทำให้ผู้เรียนโดยเฉพาะผู้เรียนที่ต้องทำงานไปด้วยมีโอกาสเข้ามาศึกษาต่อมากขึ้น ไม่ใช่เป็นเพราะหลักสูตรง่ายหรือไม่ได้มาตรฐาน แต่เป็นเพราะความลงตัวของการจัดหลักสูตรและรูปแบบการเรียนที่เหมาะกับการเรียนแบบผู้ใหญ่(Adult learning)มากกว่า
การเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ หรือandragogy
การเรียนรู้หมายถึงการใช้ประสบการณ์ สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ลงมือปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคล
องค์ประกอบการเรียนรู้ประกอบด้วยหลักสูตร ผู้สอน ผู้เรียน สภาวะแวดล้อม และมีการประเมินผล
หลักการเรียนรู้ด้วยตนเองคืออยากเรียน มีความพร้อม ยอมเปลี่ยน ใช้ประสบการณ์ ดำเนินการเอง ตนเองแหล่งเรียนรู้ คิดเอง ร่วมมือ มีวิวัฒนาการ
ลักษณะความเป็นผู้ใหญ่ ๔ ประการคืออายุ ปัญญา จิตใจ สังคม
วุฒิภาวะคือการพัฒนาคน โดยการปรับตัว เพื่อขจัดความขัดแย้ง
เกณฑ์วัดวุฒิภาวะคือคิด ทำ รับรู้ความจริง รู้ตนเองอย่างกว้างขวาง สัมพันธ์ผู้อื่นได้ อารมณ์มั่นคง รู้จุดมุ่งหมาย ดำเนินชีวิตเหมาะสม
ธรรมชาติของผู้ใหญ่คือมีความต้องการ มากประสบการณ์ ปรารถนาทำสิ่งยาก อยากเรียนรู้ ผู้ใหญ่จึงต้องการความอิสระคือตัดสินใจเอง ทำเอง
ลักษณะพิเศษของนักศึกษาผู้ใหญ่คือต้องการยอมรับ บังคับไม่ชอบ มอบกำลังใจ อาศัยความร่วมมือ
สรุปการสอนผู้ใหญ่ที่ผู้สอนควรรู้คือกำหนดพฤติกรรมปฏิบัติ บอกความจำเป็น บอกแผน บอกการวัดผล สื่อ สิ่งแวดล้อมเหมาะสม สอนด้วยใจ
อาจารย์จัดหลักสูตรได้สุดยอด และทะลุกรอบแนวคิดเดิม ท้าทายคนอีหลายคนที่ไม่ยอมออกนอกกรอบความคิดเดิม ...นี่จะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้งของวงการสาธารณสุขไทยที่ต้องบันทึกไว้
เรียนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แต่คงต้องตั้งจุดมุ่งหมายร่วมกัน มีตัวชี้วัดที่สามารถนำสิ่งที่ได้มาใช้ในการพัฒนางาน