สังเวชนียสถาน (9)


ชาวศรีลังกานิยมไปสังเวชนียสถานเป็นคันรถ แต่งกายเรียบร้อย เงียบเสียง ท่านอุบาสิกาที่ไปท่านสวดมนต์สาธยายพระสูตร เช่น กรณียเมตตสูตร ฯลฯ ด้วยสำเนียงบาลีที่ชัดถ้อยชัดคำ ไพเราะมาก

ราชคฤห์ (Rajgir) อยู่ห่างพุทธคยาหรือเมืองกาย่า (Gaya) 70 กิโลเมตร คณะทัวร์ส่วนใหญ่จะตั้งหลักที่พุทธคยา และเดินทางไป-กลับราชคฤห์ในวันเดียวกัน เนื่องจากพุทธคยามีที่พักสะดวกสบายกว่า ไม่ว่าจะเป็นพักวัด หรือพักโรงแรม

วัดชาวพุทธในเขตพุทธคยาดูจะมีมิตรจิตมิตรใจกันดี บางทีวัดหนึ่งนิมนต์พระอีกวัดหนึ่งไปฉันเพล ผู้เขียนมีประสบการณ์พักวัดไทย วันหนึ่งแม่ชีท่านบอกว่า พรุ่งนี้ไม่ได้ทำอาหารเพล พระท่านรับนิมนต์ไปฉันเพลวัดธิเบต

ถ้าเราไปขอพักที่วัดไทย และที่พักเต็มหรือไม่สะดวกสบาย เช่น คนพักเต็ม มีการก่อสร้าง ฯลฯ พระท่านมักจะติดต่อวัดพุทธอื่นๆ ในพุทธคยาให้ นับว่าช่วยเหลือเกื้อกูลกันดี คล้ายกับเป็นวัดพี่วัดน้องทีเดียว

รัฐบาลอินเดียเก็บค่าเข้าชมสังเวชนียสถานเป็นรายครั้ง เช่น สถานที่แสดงปฐมเทศนาที่สารนาถเก็บค่าเข้าชมครั้งละ 5 ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 200 บาท ฯลฯ

พุทธคยาไม่เก็บค่าเข้าชม ยกเว้นห้ามสวมรองเท้าเข้าไป ด้านหน้ามีห้องรับฝากรองเท้า ค่าฝากประมาณครั้งละ 1 รูปี(80 สตางค์) ยิ่งมีวัดนานาชาติอยู่รอบพุทธคยา ยิ่งทำให้มีชาวพุทธมาปฏิบัติธรรมบริเวณพุทธคยามากขึ้นทุกวัน

ช่วงเวลาที่มีคนมาพุทธคยามากที่สุดเป็นช่วงฤดูหนาวนับตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมจนถึงสิ้นเดือนเมษายน ช่วงนี้อากาศไม่ร้อนนัก ฝนไม่ค่อยตก แมลงวันและยุงมีน้อยหน่อย นับเป็นช่วงเวลาดีที่สุดสำหรับการปฏิบัติธรรมที่นี่

ชาวธิเบตพลัดถิ่นและฝรั่งที่สนใจพระพุทธศาสนาแนวธิเบตจะเดินทางมาปฏิบัติธรรมบริเวณพุทธคยา พุทธคยาจึงมีคนเข้าไปมากตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์

ถ้าวันใดท่านดะไล ลามะหรือพระที่มีสมณศักดิ์สูงของธิเบตแสดงธรรมจะมีคนเข้าไปจนเต็มพื้นที่พุทธคยา วันนั้นจะมีตำรวจอินเดียมาตรวจตรา มีการวางเครื่องดักจับโลหะที่ประตูทางเข้า เพื่อป้องกันการลอบสังหาร

ประสบการณ์พิเศษสุดของพุทธคยาที่หาไม่ได้ที่อื่นมีมากมาย เช่น ขออนุญาตพักในเขตพุทธคยาข้ามคืน(21.00-04.00 น.)ได้ โดยติดต่อแสดงหนังสือเดินทาง (passport) เสียเงินบริจาคประมาณ 150 รูปี หรือประมาณ 120 บาท (1 รูปีประมาณ 0.80 บาท)

พระภิกษุทั้งไทยและเทศนิยมเข้าไปนั่งสมาธิ หรือบำเพ็ญสมณธรรมในเวลากลางคืน ผู้เขียนมีประสบการณ์เข้าไปในพุทธคยา 1 คืน

อินเดียยังมีโรคเท้าช้างอยู่ จึงต้องขอยืมกลดจากวัดป่าพุทธคยามา หาเชือกขึงให้ตึงหน่อย นำตะขอร่มของกลดไปกาง เท่านี้ก็กันยุงได้แล้ว

เมื่อผู้เขียนเข้าไปในเขตต้นศรีมหาโพธิ์แล้วถึงได้รู้ตัวว่า ยังมีความรู้ ความชำนาญน้อยเกินไป ไม่สามารถที่จะเจริญกุศลให้เกิดสืบต่อกันได้คราวละนานๆ จำเป็นต้องศึกษาพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา เช่น วิสุทธิมรรค พระอภิธรรม ฯลฯ ให้มากกว่านี้

มหาโพธิสมาคมมีพระคุณต่อชาวพุทธมาก เดิมเขตพุทธคยาถูกเศรษฐีตระกูลมหันต์ยึดครอง นำพระพุทธรูปออกไป นำเทวรูปฮินดูเข้ามา

ท่านธัมมปาละชาวศรีลังกาได้รณรงค์ต่อสู้นานนับสิบๆ ปี ชาวพุทธถึงได้มีโอกาสเข้าไปกราบไหว้ บูชา นมัสการสังเวชนียสถานแห่งนี้ได้ ท่านผู้นี้เป็นผู้ก่อตั้งมหาโพธิสมาคมที่มีส่วนสำคัญในการดูแลรักษาพุทธคยา

ผู้เขียนขอถือโอกาสนี้กราบขอบพระคุณ ระลึกถึงพระคุณของท่านพระธัมมปาละ และมหาโพธิสมาคมมา ณ ที่นี้

มหาโพธิสมาคมจัดให้มีการถวายข้าวพระพุทธวันละ 1 ครั้งเวลา 11.00 น. ท่านผู้ใดสนใจจะเป็นเจ้าภาพครั้งละ 400 รูปี(ประมาณ 320 บาท) ขอเรียนเชิญไปติดต่อล่วงหน้าที่มหาโพธิสมาคมได้

คนไทยชอบถวายประทีป หรือแสงสว่างมากเป็นพิเศษ ที่นี่เราถวายแสงสว่างในรูปค่าไฟฟ้าได้ มหาโพธิสมาคมจะออกใบเสร็จรับเงินให้เป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 150 รูปี หรือประมาณ 120 บาท

ชาวพุทธสายธิเบตก็ชอบถวายประทีป หรือแสงสว่างเหมือนกัน ท่านนิยมจุดเป็นตะเกียงน้ำมันถ้วยเล็กๆ เรียงกันเป็นร้อยเป็นพันดวง ดูแล้วคล้ายนำดวงดาวจำนวนมากมาถวายเป็นพุทธบูชา

ด้านหลังพุทธคยามีห้องกระจกจุดประทีปน้ำมันเรียงกันเป็นแถว เข้าใจว่า น่าจะเป็นผลงานของชาวธิเบตผู้มากไปด้วยศรัทธา

การจุดประทีป ธูป และเทียนพร้อมกันคราวละมากๆ มีส่วนทำให้เกิดมลภาวะในเขตพุทธคยาเหมือนกัน

พุทธคยาอยู่ในที่ต่ำ บริเวณโดยรอบยกสูงขึ้นทั้งสี่ด้าน เกิดเป็นแอ่งคล้ายกะทะ ควันจากการเผาไหม้จึงขังอยู่ภายในได้นานพอสมควร

ท่านพระภิกษุที่ดูแลพุทธคยารูปหนึ่งกล่าวเป็นข้อคิดไว้ ผู้เขียนขอนำมาเล่า ไม่ใช่เพื่อจะติเตียนใคร เพียงจะขอให้เป็นข้อคิด เพราะพุทธคยาเป็นสมบัติของพุทธศาสนิกชนทุกชาติ ทุกภาษา

ท่านบอกว่า คนที่เข้าไปทำบุญไม่ควรขอสิทธิพิเศษ เช่น ถวายของ หรือถวายปัจจัยมากๆ จนพระเกรงใจ แล้วขอเข้าไปในเขตโคนต้นโพธิ์ หรือบริเวณรอบพระแท่นวัชรอาสน์ ฯลฯ

ท่านจำเป็นต้องบริหารจัดการให้ชาวพุทธทุกชาติมีส่วนเข้าไปบูชาสังเวชนียสถานได้เสมอกัน ถ้ายอมใครหรือคณะใดเป็นพิเศษแล้ว จะมีพระหรือชาวพุทธชาติอื่นมาติเตียนท่านได้ ทำให้เสียความเสมอภาค หรือแตกสามัคคีกัน

การที่มหาโพธิสมาคมกั้นพื้นที่รอบโคนต้นโพธิ์ และพระแท่นวัชรอาสน์ไว้นั้น ทำไปด้วยความปรารถนาดีโดยแท้ เพื่อป้องกันอันตรายต่อต้นโพธิ์

คนที่เข้าไปรอบโคนต้นโพธิ์นั้น... บางท่านขุดดินไปบูชา การกระทำเช่นนี้อาจเป็นอันตรายต่อต้นโพธิ์ที่มีอายุมากได้ จึงต้องมีกฎ กติกา

ประมาณปี 2543 ต้นโพธิ์ผลัดใบแล้วไม่งอกใบใหม่ไปหลายเดือน ทำให้ชาวพุทธทั่วโลกตกอกตกใจกันมาก เราจึงควรช่วยกันอนุรักษ์ ดูแล รักษาต้นโพธิ์พุทธคยานี้ไว้ตราบเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ชนรุ่นหลังมีโอกาสมีโอกาสทำบุญที่สังเวชนียสถานได้เต็มที่

ทัวร์ไทยมักจะซื้อบริการทัวร์อินเดีย ให้เขาจัดหารถ ติดต่อโรงแรม และประสานงานการเดินทางให้ พนักงานทัวร์คนหนึ่งกล่าวไว้ดีเหมือนกัน

ท่านบอกว่า คนไทยน่าจะช่วยกันห้ามคนที่ชอบโปรยทานให้เด็กและขอทาน โดยเฉพาะขนมและลูกอม(ทัอฟฟี่) เวลารถบัส(รถทัวร์)ออกเป็นช่วงที่เด็กๆ อาจวิ่ง และแย่งของกันไปมา ถ้าจะให้... น่าจะให้เวลาอื่น ไม่ใช่ให้ตอนรถกำลังจะออก 

ถ้าเกิดอุบัติเหตุจะเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเขาคงจะเรียกร้องอะไรให้มากที่สุด และการติดต่ออะไรกับตำรวจอินเดียเป็นเรื่องน่าปวดหัวที่สุด

ถ้าถามผู้เขียนว่า ประทับใจชาวพุทธชาติใดที่พุทธคยามากเป็นพิเศษ ผู้เขียนขอตอบว่า ประทับใจชาวศรีลังกามาก

ชาวศรีลังกานิยมไปสังเวชนียสถานเป็นคันรถ แต่งกายเรียบร้อย เงียบเสียง ท่านอุบาสิกาที่ไปท่านสวดมนต์สาธยายพระสูตร เช่น กรณียเมตตสูตร ฯลฯ ด้วยสำเนียงบาลีที่ชัดถ้อยชัดคำ ไพเราะมาก

ผู้เขียนได้ยินคำบอกเล่าจากท่านผู้ที่มีประสบการณ์ไปศรีลังกามา ท่านบอกว่า ชาวศรีลังกาถือดอกไม้ ของหอม ข้าวปลาอาหารไปวัด

พอเดินผ่านบ้านไหนจะบอกบุญ ให้ส่วนบุญ ไม่ใช่เรี่ยไร คนที่เดินผ่านท่านจะกล่าวสาธุ(แปลว่าเห็นชอบ หรือดีแล้ว) ขากลับท่านจะบอกบุญ บ้านข้างทางจะกล่าวสาธุอีกครั้ง เพียงได้ฟังก็เลื่อมใสเสียแล้ว...

แหล่งข้อมูล:

  • ขอขอบคุณ > ท่านพระอาจารย์เทพพนม วัดท่ามะโอ ลำปาง, คุณนงนุช, คุณอัจฉริยา เกตุ
    ทัต (ปุ๊ย), พี่จี๊ด (ทพญ.รัตนาวดี บุปผาเจริญสุข), พี่จ๋อง(ภก.บุญญาพร ยิ่งเสรี).
  • ขอขอบคุณ > Walking with the Buddha: Buddhist pilgraimages in India. Eicher Guide. 1999:113.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์มะเร็งลำปาง จัดทำ > ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙.
  • เชิญอ่านบ้านสุขภาพ > http://gotoknow.org/blog/health2you
หมายเลขบันทึก: 26270เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2006 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)
วัลลภ พรเรืองวงศ์
วัลลภ พรเรืองวงศ์

ได้ยินว่า ห้องน้ำห้องท่า แถวๆ สังเวชนียสถานไม่ค่อยมีใช่ไหมครับ

คนที่เคยไปเล่าว่า ผู้หญิงควรเอาผ้าถุงไปด้วย เพื่อใช้ในยามจำเป็น

http://www.geocities.com/green.piece/

ปล.

คุณพ่อผมกำลังหาหนังสือชื่อ

"Milindapanha" edited by "Trenckner"

ไม่ทราบว่าคุณหมอเคยเห็นในห้องสมุดที่ไหนบ้างหรือไม่ครับ

 

วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณอาจารย์เปมิช และท่านผู้อ่านทุกท่าน...
  • 1). ห้องน้ำที่พุทธคยาสะดวกมากครับ เดิมอยู่ทางด้านหน้า(ทางซ้าย)-ด้านนอก ต่อมาย้ายเข้าไปด้านในทางซ้าย
  • 2). วัดป่าพุทธคยาเป็นวัดไทยอยู่ใกล้ๆ จะขอไปเข้าห้องน้ำที่นั่นก็สะดวกเช่นเดียวกัน
  • 3). สังเวชนียสถานอื่นๆ ดูจะไม่มีห้องน้ำ ทัวร์ส่วนใหญ่จะแวะวัดไทย โรงแรม หรือ
  • 4). ห้องน้ำที่ใช้บ่อยที่สุดในระหว่างการเดินทางคือ "ข้างทาง หญิงซ้าย-ชายขวา"
  • 5). ทัวร์ส่วนใหญ่แนะนำให้ผู้หญิงนำผ้าถุงไปด้วย ถ้าไม่มีอาจใช้ร่มบังไปพลางก่อนได้
  • 6). ขอขอบคุณอาจารย์เปมิชที่แนะนำลิ้งค์ให้สมาชิกอ่านต่อ
  • 7). หนังสือมิลินทปัญหาภาษาอังกฤษนี่... ผมไม่ทราบว่า หาได้ที่ไหน พระที่วัดป่าพุทธคยาท่านก็สนใจอยากจะได้ สมาชิกท่านใดทราบสถานที่ถ่ายเอกสาร หรือซื้อหา ขอความกรุณาบอกต่อด้วยครับ

หนังสือ มิลินทปัญหา

ดาวน์โหลดได้จากที่นี่ครับ

http://www.buddhanet.net/pdf_file/milinda.pdf

เป็นของ ภิกขุ Pesala ครับ                                            ถ้าที่วัดมี Internet ก็สามารถดาวน์โหลดได้ทันทีครับ

ฉบับที่คุณพ่ออยากได้ เป็นของ "Trenckner" ครับ (หายากหน่อย)

แต่สามารถซื้อ จากที่นี่ได้ครับ

http://www.palitext.com/

แต่ราคาแพงมากสำหรับ คนทั่วๆ ไปคือ เกือบ 70 USD ครับ

แนะนำหนังสือดี ราคาน่าซื้อมาอ่านครับ

http://mahamakuta.inet.co.th/english/Ten%20Jataka%20Stories.html

35 บาทเท่านั้นเองครับ ผมเองเพิ่งซื้อมา 2 เล่ม

วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณอาจารย์เปมิช และท่านผู้อ่านทุกท่าน...
  • 1). เรียนเสนอให้ห้องสมุด และท่านผู้สนใจ download หนังสือ "มิลินทปัญหา"
  • 2). มิลินทปัญหาเป็นอรรถกถาที่มีการถาม-ตอบปัญหา (Q&A) ที่ไพเราะ และเต็มเปี่ยมไปด้วยเชาวน์ปัญญา
  • 3). ใครทราบแหล่งต้นฉบับของ Trenckner ขอความกรุณาบอกต่อด้วยครับ 
  • 4). ประวัติที่มาของมิลินทปัญหาโดยย่อมีอย่างนี้... พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีหลายพระองค์ พระเถระในพุทธกาลหนึ่ง(ไม่ใช่พุทธกาลนี้)ใช้สามเณรให้ทำความสะอาดวัด สามเณรเกียจคร้าน จึงถูกลงโทษ
  • 5). สามเณรทำความสะอาดแล้วไปที่ริมน้ำ ตั้งความปรารถนาขอให้มีปัญญามากดุจระลอกคลื่นในน้ำ
  • 6). พระเถระได้ยิน จึงตั้งความปรารถนาว่า คลื่นกระทบฝั่งแล้วถึงความแตกทำลายไปฉันใด ด้วยผลบุญที่ใช้สามเณรทำดี... ขอให้ปัญญาของท่านยิ่งใหญ่กว่าสามเณรดุจฝั่ง
  • 7). พุทธกาลนี้... สามเณรเกิดเป็นพระเจ้ามิลินท์ กษัตริย์เชื้อสายกรีกในอินเดีย(หลังการบุกอินเดียของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ฯ) พระเถระนั้นเกิดเป็นพระนาคเสน
  • 8). พระเจ้ามิลินท์เป็นฝ่ายปุจฉา(ถาม) พระนาคเสนเป็นฝ่ายวิสัชนา(ตอบ) ผลในระยะสั้นคือ พระนาคเสนชนะ
  • 9). พระยามิลินท์เลื่อมใสในพระศาสนามาก ถึงกับสละราชย์ ออกผนวช(บวช) และบรรลุความเป็นพระอรหันต์
  • 10). เชิญทุกท่านอ่านหนังสือ "มิลินทปัญหา" ครับ ขออนุญาตอนุโมทนาล่วงหน้า... สาธุ สาธุ สาธุ                           

ขอบพระคุณมากครับ

คุณหมอมีตวามรู้กว้างขวางจริงๆ ครับ

มีอยู่เล่มหนึ่งครับ ที่ห้องสมุด จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย แต่อนิจจา ผมไม่มีพรรคพวกที่จุฬาฯ ที่พอจะไหว้วานให้ช่วยถ่ายเอกสารให้เลยครับ

นี่ครับ

The Milindapanho : being dialogues between King Milinda and the Buddhist sage Nagasena / the Pali text; ed. by V. Trenckner.

เลขหนังสือ  294.3123 M522    

ส่วนฉบับของ

http://www.palitext.com/

ที่ชื่อ Milindapanha ซึ่งพิมพ์ใหม่ในปี 1986

จะมี ISBN คือ 0 86013  235 8

ไม่แน่ใจว่าทั้งสองฉบับเหมือนกันทุกประการหรือไม่ เพราะพิมพ์คนละปีกัน ฉบับที่พิมพ์ครั้งหลังรู้สึกว่าจะมีเพิ่มเนื้อหาบางอย่างเข้ามาด้วย เช่น Milindatika ซึ่งผมเองก็ไม่ทราบว่าคืออะไรเหมือนกันครับ

สังเกต panho กับ panha ไม่ทราบว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไรครับ

อย่างไรก็ตาม ถ้ามี Part ของ Trenckner อยู่ในเล่มด้วยก็น่าจะพอใช้ได้ครับ เพราะฉบับ Original จริงๆ นั่นพิมพ์ไว้นานมากแล้วครับ ราวๆ 1880  คงหายากเต็มที

ขอบพระคุณคุณหมอและผู้อ่านทุกท่านครับ

สาธุ สาธุ สาธุ

 

วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณอาจารย์เปมิช และท่านผู้อ่านทุกท่าน...
  • คนที่จะได้ประโยชน์จากมิลินทปัญหามากเป็นพิเศษคือ คนช่างคิด ช่างสงสัย ช่างซัก ถ้าจะกล่าวง่ายๆ น่าจะเป็น "สายปัญญา" หรือ "พุทธิจริต (wisdom seeking)"
  • คัมภีร์ "สารัตถสังคหะ" กล่าวถึงอานิสงส์ของการทำความสะอาดพระเจดีย์ และวัด ซึ่งเป็นที่มาของมิลินทปัญหาไว้อย่างนี้
  • 1). เป็นอุปนิสัยให้บรรลุมรรค ผล นิพพานได้เร็วทั้งผู้ทำความสะอาด และผู้พบเห็น เนื่องจากความสะอาดของสิ่งควรเคารพเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา
  • 2). เป็นผู้มีรูปกายงาม
  • 3). เหตุแห่งการเกิดเป็นผู้มีรูปกายงามเป็นผลจากบุญ โดยเฉพาะเมตตา(ไม่มักโกรธ) การทำความสะอาดพระเจดีย์หรือของสงฆ์ ถวายผ้าพระเจดีย์หรือสงฆ์ และการทำบุญอื่น ทว่า... ได้ตั้งความปรารถนาไว้เพื่อรูป
  • 4). เหตุข้อ (2) น่าจะเป็นเหตุให้สาวๆ ชาวพม่านิยมกวาดลานพระเจดีย์
  • 5). เชิญชวนทุกท่านทำความสะอาดพระเจดีย์ และของสงฆ์ เช่น วัด ฯลฯ เท่าที่จะทำได้
  • 6). ขอเสนอให้ทุกท่านที่ทำความสะอาดพระเจดีย์ พระธาตุ หรือของสงฆ์ตั้งความปรารถนา เพื่อพระนิพพาน หรือตั้งใจขอให้บุญนี้เป็นบาทฐานของกุศลอื่นๆ ที่ยิ่งๆ ขึ้นไป
  • 7). การตั้งความปรารถนาเพื่อรูปงามมีอันตรายระยะยาวครับ... เวลาบุญให้ผลจะทำให้รูปงามมาก เสี่ยงต่อการเกิดสงครามแย่งชิง หรือเสี่ยงต่อการทำบาปหลายอย่าง เช่น กาเมสุมิจฉาจาร ฯลฯ
  • 8). ถ้าตั้งความปรารถนาดีก็มีรูปงามได้ และจะงามกว่าด้วย เพราะมีบุญหลายอย่างเป็นเหตุปัจจัย ทว่า... อุปนิสัยที่ตั้งไว้ดีจะติดตัวไปด้วย (โดยอุปนิสสยปัจจัย) ทำให้ชาตินั้นมีแนวโน้มจะเป็นคนที่มีจิตใจดี น้อมที่จะทำดี
  • ขอขอบคุณอาจารย์เปมิช และท่านผู้อ่านทุกท่านครับ... ขอแสดงความยินดีกับอาจารย์เปมิชที่มีคุณพ่อเก่งทางธรรม ขอเดาว่า คุณพ่ออาจารย์คงจะเรียนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร(อังกฤษ) อเมริกา หรืออินเดีย เนื่องจาก 3 ประเทศนี้มีการสอนบาลีผ่านคัมภีร์ภาษาอังกฤษมาก

ขอบคุณคุณหมอเช่นกันครับ ที่นำเรื่องดีดี มาเล่าสู่กันฟังอยู่เรื่อยๆ

คุณพ่อเป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศสมาเกือบตลอดชีวิตครับ เคยรู้ภาษาบาลีมาบ้าง แต่มาศึกษาจริงจัง ก็ช่วงหลังเกษียณนี่เองครับ นอกจากบาลีแล้ว ก่อนหน้านี้คุณพ่อก็ยังศึกษาภาษาเยอรมันด้วยตนเอง คุณพ่อบอกว่าภาษาเยอรมันมีลักษณะคล้ายกับภาษาบาลี

วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณอาจารย์เปมิช และท่านผู้อ่านทุกท่าน...
  • อินเดียเขามีเครื่องหมายสวัสดิกะคล้ายกับเยอรมัน บางท่านว่า เป็นเชื้อสายอารยันเหมือนกัน สังเกตดูว่า เป็นนักคิด นักพูด นักทำเก่งๆ ทั้งสองฝ่าย
  • ขอขอบคุณครับ

ครับ เป็นประเด็นที่น่าสนใจอันนึง

เคยดูรายการสารคดีในทีวี ตอน "Nazi Expedition" ที่นาซีส่งทีมนักวิจัยเข้าไปในทิเบต เพื่อสืบหาพวกอารยัน ทีมวิจัยเห็น เครื่องหมายสวัสดิกะ ตามสถานที่ต่างๆ เหมือนกับที่นาซีใช้ และนอกจากนั้นยังเห็นเครื่องหมาย หัวกระโหลกมีกระดูกไขว้ ตามสถานที่ต่างๆ ในทิเบต เหมือนกับตราบนหมวกของนาซี นาซีจึงคิดว่ามีความเกี่ยวข้องกันกับทิเบตด้วย การไปสำรวจครั้งนี้ ทีมวิจัยได้ถ่ายภาพยนต์มาด้วยราวๆ 50 ชั่วโมง

วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณอาจารย์เปมิช ท่านผู้ให้ข้อคิดเห็น และท่านผู้อ่านทุกท่าน...
  • ข้อมูลจากสารคดีดังกล่าว... ผมขอเดาว่า เครื่องหมายสวัสดิกะ และตรากะโหลกไขว้น่าจะเข้าไปในธิเบตตามหลังอิทธิพลของพระพุทธศาสนามหายาน
  • ชาวธิเบตเดิมถือศาสนาบอน เป็นภูตผีประจำถิ่นคล้ายกับชาวพม่าถือนัต กลุ่มธิเบต-พม่า(รวมทั้งชาวเขาบริเวณชายแดนไทย-พม่าอีกหลายเผ่า) นับตามหลักทางภาษาศาสตร์แล้วเป็นกลุ่มเดียวกัน
  • 1). เรียงประโยค >>> ประธาน+กรรม+กิริยา(คล้ายญี่ปุ่น)
  • 2). ออกเสียงตัวสะกดไม่ชัด
  • ต่อมาศาสนาพุทธแบบมหายานได้เข้าไปแทนที่ศาสนาบอน
  • ธรรมดาของการเปลี่ยนวัฒนธรรมครั้งใหญ่ย่อมไม่เกิดเป็นคลื่นระลอกเดียว (not  a single quantum) ทว่า... มักจะเกิดเป็นระลอกคลื่นหลายๆ ระลอก (but series of quantum)
  • ขอเดาว่า ธิเบตคงจะได้รับเครื่องหมายสวัสดิกะจากเผ่าอารยันในอินเดีย... ผ่านทางคณะที่ไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาครับ

ไปถามคุณพ่อมาแล้วครับ (อยู่คนละบ้านกัน)

  • panho กับ panha มีความหมายเดียวกันครับ
  • Milindatika    tika = ฎีกา ครับ

 

  • ขอขอบคุณอาจารย์เปมิช และท่านผู้อ่านทุกท่าน...        
  • ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของคุณพ่ออาจารย์ และอาจารย์ที่นำเรื่องคำบาลีมาเผยแพร่...
  • ผมได้เรียนรู้อะไรๆ จากบล็อกอื่นๆ ท่านผู้ให้ข้อคิดเห็น และท่านผู้อ่านมาก ขอกราบขอบพระคุณ ขอบพระคุณ ขอบคุณ และขอบใจมา ณ ที่นี้ครับ... สาธุ สาธุ สาธุ

 

  • ขอบคุณคุณหมอเช่นกันครับที่นำเรื่องราวดีๆ มาให้อ่านอยู่เรื่อยๆ
  • สารคดีเรื่องตามรอยพระพุทธเจ้าน่าสนใจมากครับ ผมเพิ่งดูเมื่อวานนี้เอง (วันวันวิสาขบูชา)
  • เสียดายนิดนึงที่คนเขียน script และผู้ดำเนินรายการไม่รู้ภาษาบาลี ก็เลยออกเสียงไม่ค่อยถูก เช่น นาคปุระ ก็ออกเสียงว่า นาก-ปุ-ระ ซึ่งที่จริงต้องออกเสียงว่า นา-คะ-ปุ-ระ
  • คงมีที่ออกเสียงไม่ถูกอย่างนี้อีกแต่ผมได้ดูกับคุณพ่อแค่ 2 ตอนเท่านั้นเอง ถ้าดูคนเดียวผมก็คงไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แต่ดูกับพ่อก็ได้รู้อะไรเพิ่มขึ้นมาอีก (มากกว่าใน VCD)
  • อย่างไรก็ตาม ข้อบกพร่องนี้ก็ไม่ได้ร้ายแรงอะไรมากครับมีให้ดูก็ดีว่าไม่มีอะไรเลย เขาอุตส่าห์ถ่ายทำถึง 2 ปี นำภาพที่เราไม่มีโอกาสเห็นมาให้ได้ดูกันก็นับว่าได้กุศลแล้วครับ
  • นอกจากนี้ยังได้รู้(พ่อเล่าให้ฟัง)อีกว่าอารยันอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ในประเทศอิหร่าน เพราะนิยายปรัมปราของอิหร่าน(บางเรื่อง) กับอินเดียก็คล้ายๆ กัน โดยเฉพาะชื่อตัวละคร ซึ่งไม่น่าเป็นเรื่องบังเอิญ (ผมจำชื่อตัวละครไม่ได้ ขออภัยด้วยครับ)
  • ขอขอบคุณอาจารย์เปมิช และท่านผู้อ่านทุกท่าน...
  • การออกเสียงพากษ์... เข้าใจว่า ผู้พากษ์คงจะอ่านตามแบบไทยหรืออินเดีย(สันสกฤต หรือออกเสียงแบบห้วนๆ) ใจผมอยากจะให้ออกเสียงตามบาลี หรือต้นฉบับเดิมมากกว่า
  • เท่าที่ทราบ...(ในฐานะผู้ไม่เชี่ยวชาญ) อารยันมีในอินเดียและประเทศรอบๆ ในยุโรปดูจะเป็นกลุ่มเยอรมัน
  • ยินดีที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.) กับอาจารย์ และท่านผู้อ่านทุกท่าน ขอขอบคุณครับ...
  • ครับผมก็อยากให้บรรดาสารคดีต่างๆ มีเนื้อหาและรายละเอียดต่างๆ รวมถึงคำบรรยายที่ตรงกับข้อมูลจริงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะขึ้นชื่อว่าสารคดีแล้ว คนดูโดยเฉพาะเด็กๆ หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่จำนวนหนึ่ง เมื่อดูปุ๊บก็มักจะเชื่อปั๊บเลยว่าเป็นเรื่องจริง โดยที่ลืมนึกถึงกาลามสูตรไป
  • สารคดีที่กล่าวถึงข้างต้นมีอยู่ที่บ้านนานแล้วครับจนจำไม่ได้ว่าใครให้มาและได้มาเมื่อไหร่ แต่ไม่เคยมีใครเปิดดูเลยจนฝุ่นจับ พอคุณหมอเขียนเรื่องสังเวชนียสถานทำให้ผมเกิดอยากดูขึ้นมา ต้องขอบคุณคุณหมอด้วยครับที่ช่วยจุดประกายให้ผมอยากดู
  • ขอขอบคุณอาจารย์เปมิช และท่านผู้อ่านทุกท่าน...
  • ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของทุกท่าน การได้ฟัง ได้อ่าน ได้ชมเรื่องราวเกี่ยวกับสังเวชนียสถานเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิด และเป็นปัจจัยแด่การบรรลุธรรมในอนาคต
  • สารคดี "ตามรอยพระพุทธเจ้า" นี้มองภาพรวมแล้วทำได้ดีมาก ถ้าปรับปรุงอีกเล็กน้อยน่าจะอยู่ในระดับดีมากเป็นพิเศษ
  • สารคดีเรื่องนี้ผมได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์ ทพญ.หนึ่งฤทัย รพ.ค่ายสุรศักดิ์มนตรี อีกไม่นานก็ได้อีก 2 ชุดตามที่สั่งซื้อไว้ในรูปแบบ DVD & VCD
  • ผมจำได้ว่า เสนอบริษัทฯ ที่ทำให้ตัดต่อใหม่...
    1). ให้พากษ์เป็นภาษาอังกฤษ และภาษาของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา เช่น จีน ศรีลังกา พม่า อังกฤษ(ฝรั่งนับถือตามท่านดะไล ลามะกันมาก) เพื่อส่งขายทั่วโลก
    2). ถ้าจำไม่ผิด... ดูจะเสนอให้ทำ "เบื้องหลังการถ่ายทำ" เพิ่ม
    3). และเสนอให้ทำสารคดีชุดพระพุทธศาสนาในพม่า + ศรีลังกาเพิ่มอีก...
  • ขอขอบคุณ และขออนุโมทนาไปกับทุกท่าน ขอท่านผู้อ่านทุกท่านพึงถึงซึ่งความสุข ความเจริญในกุศลธรรมทุกประการเทอญ...

เรียนคุณหมอวัลลภ ที่เคารพ

ดิฉันมีความตั้งใจจะจัดทำสารคดี เที่ยวสังเวชนีย์สถาน ที่อินเดีย ชื่อเรื่อง "พาลูกไปไหว้พระ" ซึ่งดิฉันเคยไปมาแล้วถึงสองครั้ง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล 80 ปีมหามงคล และเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและพุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ให้ความสนใจในพุทธศาสนา และความเป็นมาของสังเวชนียสถานแต่ละแห่ง แต่มีความจำเป็นต้องขออนุญาติอ้างอิงบางบทบาตอนของคุณหมอเพื่อให้ได้ข้อมูลละเอียดยิ่งขึ้น รวมทั้งภาพบางภาพจากเวปนี้ จึงใคร่ขออนุญาตจากคุณหมอเพื่อความถูกต้อง

รายได้ส่วนหนึ่งดิฉันตั้งใจจะทูลเกล้าถวายให้มูลนิธิชัยพัฒนา และส่วนหนึ่งมอบให้ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์สวนแก้ว ราชบุรี

ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจะได้รับความอนุเคราะห์จากคุณหมอ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอมา ณ ที่นี้

ปล. ดิฉันไม่สามารถติดต่อกับคุณหมอเป็นการส่วนตัวได้จึงขอเรียนให้คุณหมอทราบและเมตตาอนุญาติผ่านทางเวปนี้ค่ะ ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

อภิญญา

ขอขอบพระคุณอาจารย์อภิญญา...

  • ขอขอบพระคุณที่กรุณาให้เกียรติแวะมาเยี่ยมเยียน
  • ยินดีอย่างยิ่งที่จะอาจารย์จะนำภาพ หรือบทความไปเผยแพร่ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมในพระพุทธศาสนา
  • ขอกราบอนุโมทนามา ณ ที่นี้... สาธุ สาธุ สาธุ

ขอบพระคุณคุณหมอมากค่ะ

ขอขอบพระคุณ... คุณอภิญญา

  • ขอขอบพระคุณที่กรุณาให้โอกาสผมได้ร่วมทำบุญ และขอกราบอนุโมทนาในกุศลเจตนาของทีมงานทุกท่านครับ... สาธุ สาธุ สาธุ

เรียนคุณหมอวัลลภ

ป้าเมย์ต้องการเดินทางไปกราบนมัสการสังเวชนียสถานที่ดินเดีย

โดยการไปด้วยตัวเองค่ะ ขอคำแนะนำด้วยค่ะ

1. ขอข้อมูลการเดินทางโดยรถไฟ รถยนต์โดยสาร จากกาฎมัณฑุ ไปลุมพินีค่ะ

2. ข้อมูล การเดินทางโดย เครื่องบิน รถไฟ รถยนต์โดยสาร จากลุมพินีลงใต้ไปกราบนมัสการตามลำดับ

3. การเข้าพักค่ะ

เหตุที่เดินทางจากเนปาล เพราะต้องบินจากแคนาดาไป จึงคิดว่า เดินทางจากเนปาลเข้าอินเดียน่าจะดี

ขอบพระคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท