คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย : [1] บทนำ


 

บทที่ 1

 

บทนำ

 

1.1.ความสำคัญของปัญหา

                       

เนื่องจากมีคนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าบุคคลที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยจะต้องเป็นคนสัญชาติไทยเท่านั้น  ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วคนต่างด้าวก็สามารถเข้าสู่การบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ความเข้าใจดังกล่าวมีสาเหตุมาจากความไม่ตระหนักรู้ถึงสิทธิที่กฎหมายได้บัญญัติรับรองไว้ ฃะหว่างประเทศและกฎหมายภายไทยได้รับรองสิทธิที่จะให้คนต่างด้าวได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรได้

ความไม่ตระหนักรู้ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อตัวคนต่างด้าว ดังปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีคนต่างด้าวจำนวนหนึ่งสามารถเข้าสู่การบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยทั้งที่ไม่มีสิทธิ ไม่ว่าจะโดยผลของการทุจริตของเจ้าหน้าที่หรือโดยการกระทำของคนต่างด้าวนั้นเองไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ซึ่งนำไปสู่การถูกเพิกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร หลายครั้งที่เราพบว่าผลแห่งการกระทำนี้ไม่เพียงส่งผลต่อผู้กระทำเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงลูกหลานที่จะต้องถูกเพิกถอนชื่อเออกจากทะเบียนโดยปราศจากความผิด ก่อให้เกิดปรากฎการณ์”บาปบริสุทธิ์” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

และในขณะเดียวกันก็ปรากฎข้อเท็จจริงว่าคนต่างด้าวจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าสู่การบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยทั้งที่มีสิทธิ อันเป็นการละเมิดสิทธิที่จะได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของคนต่างด้าว ส่งผลให้จำนวนราษฎรไทย(หรือ ประชากรไทย)คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงซึ่งกระทบถึงความมั่นคงเชิงประชากรอีกด้วย

นอกจากนี้จำนวนราษฎรที่คลาดเคลื่อนยังส่งผลให้การจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงรัฐสวัสดิการ และสาธารณูปโภคภายในรัฐ ไม่ทั่วถึงและไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง นอกจากนี้ยังไม่สามารถจัดเก็บภาษีทางตรงจากบุคคลกลุ่มนี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการเงินการคลังในรัฐ 

นอกจากนี้เมื่อคำนึงถึงความมั่นคงแห่งรัฐ  ทั้งเป็นฐานข้อมูลพื้นฐานเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในรัฐ กล่าวคือ ทะเบียนราษฎรจะระบุชื่อ นามสกุล ภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ สัญชาติเชื้อชาติ ข้อมูลการย้ายถิ่นฐาน ข้อมูลการเกิด และข้อมูลการตาย ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์ในทางคดีทั้งสิ้น

ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย

 

1.2 วัตถุประสงค์ในการศึกษา

 

การศึกษาวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์มีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ ดังต่อไปนี้

1. เพื่อศึกษาถึงแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย

2. เพื่อศึกษาถึงสถานการณ์ที่คนต่างด้าวมีสิทธิเข้าสู่ทะเบียนราษฎรไทยว่ามีลักษณะเช่นใด และมีกระบวนการเข้าสู่ทะเบียนราษฎรไทยได้อย่างไร

3. เพื่อศึกษาถึงสถานการณ์ที่คนต่างด้าวสิ้นสุดสถานะความเป็นคนต่างด้าว อันเป็นเหตุให้ต้องออกจาทะเบียนราษฎรไทยว่ามีสถานการณ์ใดบ้าง และมีกระบวนการออกจากทะเบียนราษฎรไทยอย่างไร

4. เพื่อศึกษาถึงปัญหาที่คนต่างด้าวต้องเผชิญในการเข้า-ออกจากทะเบียนราษฎรไทย เพื่อนำไปสู่การแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป

           

 

1.3 ขอบเขตการศึกษา

 

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์มุ่งศึกษา “คนต่างด้าวผู้มีสิทธิได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร” โดยทำการศึกษาใน ๓ แง่มุม คือ ศึกษาถึงการเข้าสู่ทะเบียนราษฎรไทย การออกจากทะเบียนราษฎรไทย และปัญหาในการเข้าและออกจากทะเบียนราษฎรไทยของคนต่างด้าว ผ่านกฎหมายระหว่างประเทศรวมถึงกฎหมายและนโยบายของรัฐไทย

  

 

1.4 วิธีการศึกษา

 

ในการศึกษาวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์จำแนกวิธีการศึกษาออกเป็น 2  วิธี ดังต่อไปนี้

1.    การศึกษาวิจัยเอกสาร (Documentary Research) ซึ่งสามารถจำแนกได้ ดังนี้

1.1    สำรวจตำรา บทความ และผลงานทางวิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ[1]

1.2    สำรวจกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้อง[2]

1.3    สำรวจกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ปรากฏตัวในรูปแบบจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และลายลักษณ์อักษร[3]

1.4    สำรวจนโยบายที่เกี่ยวข้อง[4]

2.   การศึกษาวิจัยประสบการณ์ (Experimental Research)  อันจะนำมาซึ่งข้อเท็จจริงแห่งปัญหา (Factual Research)  รวมตลอดถึงข้อความรู้ (All Solution Research) ซึ่งสามารถจำแนกได้ ดังนี้

2.1    การศึกษาผ่านประสบการณ์ตรงจากเจ้าของปัญหาผู้ยอมตนเป็นกรณีศึกษา[5]

2.1    การศึกษาผ่านผู้สนับสนุนเจ้าของปัญหา อาทิ ครอบครัวของเจ้าของปัญหา[6] องค์กรภาคเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือ องค์กรภาครัฐที่ดูแลเจ้าของปัญหา เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงาน ฯลฯ

และเพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างมวลมิตรเครือข่ายทางวิชาการจึงได้ทำการศึกษาวิจัยผ่านกิจกรรม 3 รูปแบบ[7] ดังต่อไปนี้

1.  การทำกรณีศึกษา[8] (Case Study)

2.  การทำกิจกรรมเวทีสาธารณะ (Public Forum)

3.  การทำกิจกรรมการเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตร (Friendly Visit)

 

แผนภาพที่1 : วิธีการศึกษา

 

 

1.5 เค้าโครงการศึกษา

 

            ผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น  5 บท ดังปรากฎรายละเอียดและลำดับการศึกษาดังต่อไปนี้

            บทที่ 1 แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย  ในบทนี้จะแบ่งการศึกษาเป็นสองส่วน ส่วนแรกทำการศึกษาถึงนิยามของคำว่า “คนต่างด้าว” “ราษฎร” และ“ทะเบียนราษฎร” ในระบบกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของไทย เพื่อนำไปสู่การศึกษาในส่วนที่สอง ว่าด้วยนิยามและการจำแนกประเภทของของ “คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย”

            บทที่ 2 การเข้าสู่ทะเบียนราษฎรไทยของคนต่างด้าว ในบทนี้จะศึกษาว่ามีสถานการณ์ใดบ้างที่ทำให้คนต่างด้าวสามารถเข้าสู่สิทธิที่จะได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย และมีกระบวนการเข้าสู่การบันทึกในทะเบียนราษฏรไทยอย่างไร

            บทที่ 3 การออกจากทะเบียนราษฎรไทยของคนต่างด้าว ในบทนี้จะศึกษาว่ามีสถานการณ์ใดบ้างที่ทำให้คนต่างด้าวต้องสิ้นสุดสถานะความเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรอันนำไปสู่การออกจากทะเบียนราษฎรประเภทหนึ่งประเภทใด และศึกษาว่ากระบวนการออกจากทะเบียนราษฎรนั้นเป็นอย่างไร

            บทที่ 4 ปัญหาในการเข้าและออกจากทะเบียนราษฎรไทยของคนต่างด้าว  ในบทนี้จะศึกษาถึงปัญหาและอุปสรรคที่คนต่างด้าวต้องเผชิญในการเข้า-ออกจากทะเบียนราษฎรไทย

            บทที่ 5 บทสรุปและข้อเสนอแนะ ในบทนี้จะสรุปภาพรวมของการศึกษาที่ผ่านมาทั้งสี่บท เพื่อนำมาประมวลเป็นข้อเสนอแนะต่อภาคส่วนต่างๆในสังคมไทยต่อไป

 

1.6 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

ผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์คาดหวังว่าวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย กล่าวคือ

ประการแรก ช่วยให้สังคมไทยเข้าใจนิยามของคำว่า “ราษฎรไทย” ดียิ่งขึ้น และทำให้คนในสังคมรับรู้ว่ามีคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย

ประการที่สอง ช่วยให้สังคมไทยทราบว่าคนต่างด้าวในสถานการณ์ใดบ้างที่มีสิทธิเข้าสู่การบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย

ประการที่สาม ช่วยให้สังคมไทยทราบว่าคนต่างด้าวในสถานการณ์ใดบ้างที่สิ้นสุดสถานะคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย และต้องออกจาทะเบียนราษฎรไทย

ประการที่สี่ ช่วยให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาที่คนต่างด้าวต้องเผชิญในการเข้าสู่การบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย และปัญหาในการออกจากทะเบียนราษฎรไทย เพื่อนำไปสู่การแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 

 

 



[1] โปรดดูบรรณานุกรม

[2] โปรดดูภาคผนวก...

[3] โปรดดูภาคผนวก...

[4] โปรดดูภาคผนวก...

[5] โปรดดูภาคผนวก... บัญชีรายชื่อฯ

[6] โปรดดูภาคผนวก...

[7] โปรดดูภาคผนวก...

[8] โปรดดูภาคผนวก...

หมายเลขบันทึก: 261956เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2009 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท