บันทึกการเดินทางด้วยรอยเท้าของตัวเอง (1) .......


อย่างน้อยก็มาเรียนรู้และสัมผัสกับ “หัวใจอันง่ายงาม” ของผู้คนที่ยังดำเนินชีวิตอยู่อย่างทระนงในอีกมุมหนึ่งของสังคม

ในเช้าชื่นที่สายลมยังคงพัดโบกโบย  ผมและทีมงานออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยตั้งแต่เช้ามืด 
โดยมีจุดหมายอยู่ที่บ้านหนองบัวแปะ  ต.ขามเรียง 

อ.ยางสีสุราช  จ.มหาสารคาม  โดยใช้เส้นทางหลักผ่าน
อ.บรบือ-อ.นาเชือก-อ.ยาสีสุราช  เป็นวิถีแห่งการเดินทาง

 

ภายหลังพิธีแรกนาขวัญในวันพืชมงคลเริ่มขึ้น  ฝนฟ้าก็คะนองลั่น  ตามมาด้วยพายุฝนระลอกใหญ่  ไม่ผิดหรอกครับ-ผมเรียกว่า พายุฝน  เพราะฝนที่ตกลงมานั้นกระหน่ำตกอย่างหนักและต่อเนื่องอย่างไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนในรอบหลายปี  จนผมเปรยกับคนรอบข้างว่านี่แหละที่เขาเรียกว่า ฝนตกฟ้าคะนอง

 

ถัดจากนั้น  ฝนก็ยังคงตกต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายวัน  พลอยให้ชีวิตของใครๆ ดูแช่มชื่น ระริกระรี้ขึ้นมาบ้าง  ยิ่งท้องทุ่งยิ่งเห็นได้ชัดว่าความมีชีวิตชีวาได้คืนกลับมาเยือนอีกรอบแล้ว  และนั่นก็หมายถึงการส่งสัญญาณให้วิถีแห่งชีวิตได้รับรู้ว่า ฤดูแห่งการเริ่มต้นกำลังจะเปิดฉากขึ้นอีกครั้ง

 

ผมและทีมงานเดินทางไปยังบ้านหนองบัวแปะด้วยเหตุผลหลักๆ คือการไปสำรวจพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การนำนิสิตไปศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนแบบ ฝังตัว และนั่นก็เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่ผมมุ่งให้เกิดรสชาติชีวิตของปัญญาชนบนถนนเส้นทางของการ ใช้ชีวิต  โดยมีชุมชนต้นแบบเป็น ห้องเรียน ของการเรียนรู้นั้นๆ 

 

ผมไม่เคยได้ตอบคำถามของนิสิตว่าทำไมถึงเลือกที่จะพามาเรียนรู้ท้องถิ่นมากกว่าชุมชนเมือง  ไม่ใช่เพราะความยโสโอหังใดๆ เลย  แต่เป็นเพราะไม่เคยมีใครร้องถามผมมากกว่า  ถึงกระนั้น  ผมก็พยายามแทรกไว้กับถ้อยสนทนาในวาระต่างๆ  เป็นต้นว่า  อย่างน้อยก็มาเรียนรู้และสัมผัสกับ หัวใจอันง่ายงาม ของผู้คนที่ยังดำเนินชีวิตอยู่อย่างทระนงในอีกมุมหนึ่งของสังคมเท่านั้นแหละ  ส่วนที่เหลือนั้นก็สุดแท้แต่ละคนจะแสวงหามาได้จากห้องเรียนห้องนั้น

 

ครับ, อันที่จริงมันยังไม่ใช่เช่นนั้นเสียทั้งหมดหรอก  แต่เป็นเพราะผมยังไม่ปรารถนาที่จะบอกกล่าวอะไรอย่างชัดแจ้งต่อพวกเขาต่างหาก  วันนี้  ผมเพียงอยากสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาก้าวพ้นออกมาจากกรอบของชีวิตในหลักสูตรบ้างเท่านั้นแหละ  เป็นการก้าวออกมาเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น ไม่ใช่การละทิ้งการเรียน-หนีหายมาเป็นนักแสวงหาจนคืนกลับเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้

 

เพราะยังไงเสีย  เรื่องการเรียนก็ยังเป็นเรื่องหลักที่พวกเขาต้องรับผิดชอบ  และนั่นก็หมายถึงการรับผิดชอบต่อตัวเอง-คนของความรัก-และสังคมไปในตัว ....

ถนนบางสายที่ไม่เคยเดียวดายการสัญจร..


เถียงนาเคลื่อนที่...

 

ดังนั้น วันนี้จึงเป็นแต่เพียงการเดินทางมาประสานงานภาคพื้นที่  พร้อมๆ กับการจัดเก็บข้อมูลเบื้องต้นไปเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการปฐมนิเทศ  เพื่อให้การลงพื้นที่ของนิสิตมี ต้นทุน  และชัดเจนในเรื่อง ทิศทาง การเรียนรู้  จะได้ไม่ต้องลงพื้นที่ด้วยหัวสมองที่ ว่างเปล่า จนเกินไป

 

แต่ทั้งปวงนั้น  บรรยากาศของชุมชนชนที่ผมไปเยือนในวันนี้ก็มีค่าอย่างมหาศาลต่อการสร้างพลังชีวิตให้กับตัวเองเป็นยิ่งนัก  การได้เห็นท้องทุ่งกลับมามีชีวิตอีกครั้ง  มันเหมือนการย้ำเตือนเราเราตระหนักว่าฤดูกาลแห่งการเริ่มต้นได้เปิดฉากขึ้นแล้ว  และตราบเมื่อผืนดินยังมีน้ำเจิ่งนอง ความหวังในหัวใจของคนเรา  ก็ควรต้องไม่เหือดแห้งต่อการสู้รบกับอุปสรรค

 

ถึงแม้เราไม่อาจดำรงไว้ซึ่งวิถีเดิมๆ เสียทั้งหมด  แต่นั่นก็หาใช่ว่าฉากชีวิตของวันนี้จะโศกเศร้าแห้งผาก  และร้างซึ่งความสุขเสียที่ไหน  เพราะที่สุดแล้ว  เราล้วนละเอียดอ่อนต่อการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตไปอย่างปกติสุขได้-เว้นเสียแต่เราละเลยความมีสติเท่านั้นเอง

 

เช่นเดียวกับเราไม่สามารถจูงควายทุยไปลากไถพลิกฟื้นผืนนาได้ เราก็ไม่ได้หมายถึงว่า  เราจะปฏิเสธเจ้าควายเหล็กที่ไร้ชีวิต หรือปฏิเสธการปักดำโดยปราศจากการไม่ต้องไถคราด-

 

เราอาจไม่มีวัวควายมากพอที่จะให้มูลเป็นปุ๋ยหล่อเลี้ยงผืนนาได้  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจำต้องพึ่งปุ๋ยเคมีเสียทั้งหมด  จนละเลยต่อการลงฝากหวังไว้กับปุ๋ยชีวภาพ  เพราะหากเป็นเช่นนั้น ผืนนาก็คงเสมือนพิพิธภัณฑ์ของสารเคมี  ยังผลให้ปูปลา อึ่งอ่าง กบเขียดก็จำต้องอพยพไปสู่ที่อื่น  โชคดีก็อพยพทัน โชคร้ายก็ตายดับอยู่ตรงนั้น

 

เราอาจไม่สามารถปลูกข้าวได้มากเหมือนแต่ก่อนเก่า  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเพิกเฉยต่อการปลูกข้าวไว้กินกันเองในครัวเรือน  หรือแม้แต่เราไม่สามารถลางานจากเมืองใหญ่มาปักดำด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า  เราจะไม่ส่งเงินส่งทองมาจ้างวานให้คนอื่นได้ลงแรงในนาข้าวของเราเอง  ซึ่งก็ยังดีกว่าการทิ้งร้างว่างเปล่า  จนผืนนาไร้ชีวิต ไร้หวัง - 

 

คนต่างวัยที่ใช้ชีวิตในบริบทเดียวกัน

 

นั่นคือ  สิ่งหนึ่งที่ผมรำพึงรำพันกับตัวเอง  พร้อมๆ กับการเปรยบ่นออกมาสู่คนรอบข้าง
มันเป็นอีกเรื่องราวหนึ่งที่ผมคิดว่า  ทุกๆ มุมของชีวิต ย่อมมีทางเลือกมากกว่าหนึ่ง  เช่นเดียวกับโลกและชีวิต  ก็ไม่มีสิ่งใดจีรังมั่นคงเสมอไป  ขึ้นอยู่กับว่า  เราละเอียดอ่อนพอต่อการรับรู้และทำความเข้าใจต่อสภาพการณ์ปัจจุบันแค่ไหนเท่านั้นเอง

 

และที่สำคัญ  ต่อให้บ้านเมืองเราพัฒนาไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมอันหลากหลายด้วยเทคโนโลยีแค่ไหน  เราก็ต้องไม่ลืมว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศยังเป็น ชาวนา  ซึ่งนั่นก็หมายรวมถึงว่าวิทยาการใหม่ๆ  จะเกื้อหนุนต้นทุนเดิมของสังคมเกษตรเราได้แค่ไหน  โดยเฉพาะในสังคมชนบทที่ยังต้องฝากชีวิตไว้กับท้องไร่ท้องนา

หมายเลขบันทึก: 261469เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2009 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

วิถีชนบท คือ ความจริงแท้แห่งชีวิต

วิถี อัน งาม เงียบ และ เรียบง่าย ที่หลายๆ คนฝันใฝ่

วิถีแห่งความพอเพียง ที่ตอบโจทย์ ....  ปัญหา

วิถีชีวิต ที่เปี่ยมคุณค่า ... น่าภาคภูมิ

.... 

มาทักทายด้วยระลึกถึง ถ้อยอักษร ที่อ่านคราใดก็อิ่มเอมค่ะ

ได้พักผ่อน กับกิจกรรม ที่รัก ชอบ ก็มีความสุขอย่างนี้เอง ใช่ไหมคะ

....

 

  • มหาวิทยาลัยชีวิต
  • ให้ประสบการณ์นอกออกจากกรอบของห้องเรียน
  • มาเรียนรู้วิถีชีวิตจริงในสังคม
  • มี่อาจจำเจหรือไม่เคยได้สัมผัส
  • แต่ให้ข้อคิดที่สมบูรณ์แบบจริงๆ
  • เป็นกำลังใจให้นะคะ
  • การเข้าถึงแบบฝังตัวกับธรรมชาติย่อมทำให้เข้าถึงในทุกสิ่งค่ะ
  • เป็นอุดมการณ์ที่อยู่บนพื้นฐานของความจริงและสัจธรรมแห่งชีวิตค่ะ

ฝนตก มีน้ำในนา คิดถึงปูตัวเล้ก ตำใส่มะขาม และหมกปลาซิว

กลับสูธรรมชาติ มีความสุขกว่าอยู่ในเมืองอีก

หนูได้แก้ไขข้อมูลที่บล็อกของหนูค่ะ

http://gotoknow.org/blog/berger0123/260738

รูปท่านพ่อเฟื่อง อยู่วัดธรรมสถิตย์ จ.ระยอง

ศาลนาจา ที่ลักษณะเมืองวัดเมืองจีน อยู่อ่างศิลา จ.ชลบุรี ใกล้บางแสน ค่ะ ถ้าว่างลองไปเที่ยวดูนะค่ะ

ต้องขออภัยค่ะที่ให้ข้อมูลผิด เพราะไปสองจังหวัดที่อยู่ติดกันค่ะ

สวัสดีค่ะ

เห็นภาพเหล่านี้คิดถึงบ้าน

สมัยเป็นเด็กๆ ได้เวลาที่จะไปไถฮุดนาแล้วเด้อค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ อ.แผ่นดิน

ดูภาพแล้วคิดถึงตอนเป็นเด็กๆ

วิถีชีวิตแบบเดียวกันเลย

สมัยก่อนชาวนาอย่างบรรพบุรูษเราลงแรงทำกันเองหมด

ไม่มีเครื่องจักรช่วยอย่างทุกวันนี้

ลงทุนในการทำนาแต่ละครั้งหลายตังค์

พอขายได้ก็ไม่ค่อยเหลือเป็นกำลังสักกี่มากน้อย

แต่เราก็ยังคงต้องทำนาต่อไป เพราะการทำนาเป็นชีวิตของเรา

เดี๊ยวนี้เทียนน้อยไม่ค่อยได้มีโอกาสไปลงนาเหมือนเมื่อก่อน

ไปบ้างก็ถึงที่นาแต่ไม่ได้ลงมือดำนา เกี่ยวข้าว นานๆครั้งถึงจะกลับ

ไปตรงจังหวะพอดีของช่วงเทศกาลของการทำนาในแต่ละช่วง

ช่วงนี้ฝนตกใหม่ๆ แถวบ้านก็กำลังลงนาเหมือนกันค่ะ กลิ่นดินกลิ่น

โคลน กลิ่นข้าวงอก...ให้ความรู้สึกถึงรากเหง้าของเราที่ต้องระลึกถึง

บุญคุณอยู่เสมอเลยนะคะ ^_^ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

ถ้าไม่มีถนนคอนกรีต...

และรถไถนา...คือสมัยเด็กๆชัดเลยค่ะ

 

สุดยอดเลยครับพี่ คิดถึงบรรยากาศแบบนี้ตอนไปออกค่ายจังเลย เป็นไงครับคงสบายดีกันทุกคนนะครับ และพี่ก็คงงานเยอะเหมือนเดิม เป็นกำลังใจให้นะครับ (พอดีพึ่งออกเวรมา)

  • มาสนับสนุน
  • ให้เด็กรุ่นใหม่
  • ต้องเรียนจากประสบการณ์จริง
  • เรียนจาก...มหาวิทยาลัยชีวิต
  • ไปอ่านบันทึกพี่หนุ่ยมา
  • ชอบ  เลยเอามาฝาก

มาเเวะเยี่ยมอาจารย์พนัสค่ะ และมาชมความงามของชีวิตกับภาพถ่ายมีชีวิต

เห็นเเล้วก็สดชื่นสบายตา คิดถึงความสุขเมื่อครั้งยังเป็นเด็กที่ได้สัมผัสบรรยากาศนี้เเทบทุกวัน

สวัสดีครับพี่

ผมรู้สึกประทับใจในความมั่นคงและยืนหยัดเสมอในวิถีของพี่บนสื่อฯนี้ ด้วยความระลึกถึงครับ ผมเองยังคงเดินฝ่านาวาชีวิตอยู่อย่างยืนหยัดเช่นกันตอนนี้ผมทำงานอยู่ สสส.ครับ

ผมหวังว่าวิถีฯของผมคงจะไปบรรจบกันกับพี่อย่างใดอย่างหนึ่งซักวันครับ

เหน่ง

สวัสดีค่ะ อาจารย์

ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สุดยอดมากๆ ค่ะ

อยากไปฝังตัวอยู่บ้างจังเลยค่ะ

รับลูกศิษย์เพิ่มไหมคะ อิอิ

ภาพวิถึชีวิต ทำให้คิดถึง...หน้าฝนแล้วสินะ....

ชาวนาคงจะได้จัดเตรียมแปลงนาไว้ทำนาแล้ว

ชาวนายังไม่หายเหนื่อยเลย 

ธรรมชาติสร้างสุข

ขอให้มีความสุขในวันทำงานค่ะ

สวัสดีครับ...คุณ poo

ไม่รู้เป็นยังไง ผมหลงรักชนบทอย่างไม่ลืมหูลืมตา รู้ทั้งรู้ว่า วันนี้ชนบทเปลี่ยนแปลกไปมาก  แต่ถึงกระนั้น-ผมก็ยังหลงรักและรักที่จะเห็นภาพชนบท ทั้งอดีตและปัจจุบันอย่างไม่รู้เบื่อ...

ระลึกถึง...เสมอ นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท