เมื่อ 20 เมษายนที่ผ่านมา ผมได้เป็นกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคายาและเวชภัณฑ์ในการจัดซื้อยารวมของเขต 2(ตาก พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทับ เพชรบูรณ์) ซึ่งจากข้อมูลที่ได้ทราบการจัดซื้อยารวมช่วยให้ประยัดเงินงบประมาณไปได้หลายสิบล้านโดยมีวงเงินซื้อยาร่วมกันเกือบ 150ล้านบาท โดยใช้ลักษณะการทำสัญญากันทั้งเขตเป็นแบบสัญญาจะซื้อจะขาย ที่มีการกำหนดปริมาณซื้อทั้งปีไว้ ในราคาคงที่ตามที่ตกลงกันไว้
มีข้อสังเกตบางประการเช่นบางรายการแม้จะซื้อรวมหรือซื้อเยอะกับการแยกซื้อเฉพาะโรงพยาบาลราคากับไม่แตกต่างกัน ต่อรองอย่างไรบริษัทก็ไม่ยอมลดลง ถ้าไม่เอาเขาก็ไม่ขาย แต่เราก็ต้องซื้อเพราะหลายอย่างเกือบเป็นลักษณะผูกขาด แม้จะมีสองสามบริษัทแต่เขาก็คงจะคุยและแบ่งโควตากันไว้แล้ว จึงไม่ลดราคาลง และมีบางรายการก็ถูกลงมากจนน่าตกใจเช่นยาคุมกำเนิด เหลือแผงละ 1.90 บาท ผมยังคิดในใจมันจะคุมกำเนิดได้จริงหรือเปล่า ไม่รู้ว่าแจกยาคุมไปแล้วต้องแจกเม็ดมะขามตามไปด้วยหรือเปล่า(เอาไปหนีบที่ขาจะได้ไม่ท้อง) แต่พอได้ข้อมูลจากเภสัชกรเขาบอกว่าล็อตที่ขายโรงพยาบาลจะเป็นชื่อหนึ่งซึ่งขายโรงพยาบาลโดยเฉพาะไม่ต้องทำการตลาดจึงประหยัดเงินของบริษัทไปทำให้ขายได้ถูก ส่วนที่ขายทั่วไปจะต้องมีการโปรโมททำการตลาดทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น ราคาขายท้องตลาดจึงแพงกว่าทั้งๆที่เป็นเคมีภัณฑ์เดียวกัน
ในการจัดซื้อยารวมนั้น ไม่ได้ดูแค่ถูกอย่างเดียวโดยจะมีคณะกรรมการคณะหนึ่งมีทั้งแพทย์และเภสัชกรมาทำหน้าที่กำหนดคุณลักษณะของยาและเกณฑ์ต่างๆเพื่อให้ได้ยาที่มีมาตรฐานเช่นเคมีภัณฑ์ที่ใช้ จำนวนเภสัชกรที่ควบคุมการผลิต การได้GMPของโรงงาน เป็นต้น เมื่อพิจารณาในขั้นแรกคือได้มาตรฐานแล้วจึงจะมาพิจารณาราคายา ดังนั้นคุณภาพจึงต้องมาก่อนประหยัด
เข้าได้กับแนวคิดการบริหารจัดการคุณภาพ ที่มองว่าความอยู่รอดขององค์การจะได้จากคุณภาพ ประสิทธิภาพและประหยัด โดยที่คุณภาพจะมาก่อนประสิทธิภาพและมาก่อนประหยัด