ท.ณเมืองกาฬ
นาย ทรงศักดิ์ พิราบขาว ภูเก้าแก้ว

สุภาษิตพระร่วง


สุภาษิตไทย

 

              

  สุภาษิตพระร่วงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  "บัญญัติพระร่วง"  เป็นสุภาษิตที่เก่าแก่  ได้รับการจดจำกันมาหลายชั่วคนแล้ว  เพิ่งมาบันทึกไว้เป็นหลักฐานครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่  3  หรือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์   โดยกวีในสมัยนั้นได้รวบรวมและแต่งเติมเสริมต่อให้ครบถ้วนแล้วจารึกไว้ที่ผนังวิหารด้านในทางทิศเหนือหน้ามหาเจดีย์ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  ราชวรมหาวิหาร  หรือวัดโพธิ์    ท่าเตียน     กรุงเทพฯ    เมื่อ พ.ศ. 2379     ต่อมาหอพระสมุดได้รวบรวมไว้ในหนังสือประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ

ผู้แต่ง          สันนิษฐานกันว่าพ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้พระราชนิพนธ์              

ความมุ่งหมาย      เพื่อสั่งสอนประชาชน

ลักษณะการแต่ง     แต่งเป็นร่ายสุภาพ   ตอนจบเป็นโคลงสี่สุภาพกระทู้  1  บท

เนื้อหาสาระ       เริ่มด้วยพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัยทรงมุ่งหวังประโยชน์ในภายหน้า     จึงทรงบัญญัติสุภาษิตเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติประชาชน   มีสุภาษิต  ทั้งหมด  158 บท

คุณค่า   

        1.      ด้านภาษา       สำนวนภาษาที่ใช้ในสุภาษิตนี้ใช้ถ้อยคำง่ายๆ  คล้องจอง  กะทัดรัด  ไม่มีศัพท์สูง  จึงทำให้น่าอ่านเพราะง่ายต่อการเข้าใจและจดจำ
        2.      ด้านสังคม       คนไทยได้นับถือสุภาษิตพระร่วงเป็นแนวในการดำเนินชีวิตมาช้านาน      เพราะสุภาษิตพระร่วงนี้ให้คติทั้งในทางโลกและทางธรรม   คนไทยได้ชื่อว่าเป็นคนเจ้าสุภาษิตเจ้าบทเจ้ากลอนอยู่แล้ว     จึงถือได้ว่าสุภาษิตพระร่วงเป็นสุภาษิตที่เป็นหลักฐานในสังคมไทยมาช้านาน   และภาษิตบางอย่างเราก็ยึดถือกันมาจนทุกวันนี้
        3.      ด้านค่านิยมทางสังคม     เช่น     มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์   ส่งเสริมการศึกษารู้จักประมาณตน  ไม่โอ้อวด   สร้างไมตรีไม่เบียดเบียนมิตร  รักเกียรติและศักดิ์ศรีมากกว่าทรัพย์  เป็นต้น
        4.      ด้านอิทธิพลต่อกวียุคหลัง       กวีรุ่นหลังใช้นำไปอ้างในวรรณคดีเรื่องต่างๆ   เช่น  มหาเวสสันดรชาดก  เพลงยาวถวายโอวาท  และขุนช้างขุนแผน  เป็นต้น

ตัวอย่างบางตอน   

เมื่อน้อยให้เรียนวิชา   ให้หาสินเมื่อใหญ่  อย่าใฝ่เอาทรัพย์ท่าน   อย่าริร่านแก่ความ  เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า  หน้าศึกอย่านอนใจ  ไปเรือนท่านอย่านั่งนาน   การเรือนตนเร่งคิด   อย่านั่งชิดผู้ใหญ่   อย่าใฝ่สูงให้พ้นศักดิ์   ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง   สร้างกุศลอย่ารู้โรย  หว่านพืชจักเอาผล  เลี้ยงคนจักกินแรง   น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ   ที่ซุ้มเสือจงประหยัด  มีสินอย่าอวดมั่ง  ผู้เฒ่าสั่งจงจำความ   ครูบาสอนอย่าโกรธ  โทษตนผิดพึงรู้   อย่าขอของรักมิตร  ชอบชิดมักจางจาก  ภายในอย่านำออก   ภายนอกอย่านำเข้า   อาสาเจ้าจนตัวตาย  อาสานายจงพอแรง   ยอข้าเมื่อเสร็จกิจ   ยอมิตรเมื่อลับหลัง   อย่าขุดคนด้วยปาก  อย่าถากคนด้วยตา  อย่าพาผิดด้วยหู  อย่าเลียนครูเตือนด่า  อย่าริกล่าวคำคด  คนทรยศอย่าเชื่อ  อย่ามักง่ายมิดี  อย่าตีงูให้แก่กา  อย่ารักเหากว่าผม  อย่ารักลมกว่าน้ำ   อย่ารักถ้ำกว่าเรือน  อย่ารักเดือนกว่าตะวัน   

ที่มาของเนื้อหา :  
        1.      วรรณคดีสมัยสุโขทัย  ของ  เอกรัตน์  อุดมพร  : หน้า  65  : สำนักพิมพ์พัฒนาศึกษา.
        2.      ประวัติวรรณคดี  1  ( ท 031 ) ของ  อ.เปลื้อง  ณ  นคร / อ.ปราณี  บุญชุ่ม : หน้า  26 - 28 : สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์

 

คำสำคัญ (Tags): #ภาษาไทย
หมายเลขบันทึก: 260572เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2009 04:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท