CHILD CENTERED : ความเข้าใจผิดที่ต้องคิดทบทวน


วารสารส่งเสริมเทคโนโลยี (สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น)28(157) มิย.-ก.ค 44 หน้า 162-163


          ได้อ่านจดหมายของนักเรียนคนหนึ่งที่เขียนถึงผู้บริหารโรงเรียนของเขา บอกว่าอยากให้โรงเรียนเลิกการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง  ที่เรียกว่า Child  Centered เพราะ
ทำให้พวกเขาเรียนไม่รู้เรื่อง โดยบอกรายละเอียดว่า

                        “แต่ละคาบครูไม่ค่อยจะสอน ไม่ค่อยจะอธิบาย เอาแต่แจกใบงาน ใบความรู้ แบ่งกลุ่มให้นักเรียนไปค้นคว้า แล้วก็ปล่อยขาดหรือให้ดูวิดีโอ ก็ไม่สรุปอะไร ดูแล้วก็ดูเลย”

                        นักเรียนคนเดียวกันอธิบายผลที่ตามมาว่า
                        “ตั้งแต่ครูใช้วิธีสอนแบบใหม่นี้  ทำให้ผมและเพื่อนๆ ไม่ได้รับความรู้ที่เต็มเม็ด
เต็มหน่วย  เราจึงต้องไปเรียนกวดวิชาหลังเลิกเรียน กว่าจะเรียนเสร็จก็ร่วมสองทุ่มครึ่ง เหนื่อยมาก พอกลับมาถึงบ้านแทนที่จะได้พักผ่อนยังต้องมาทำการบ้าน ทำใบงานที่ครูแต่ละคนต่างพากัน
มอบให้อีก เพราะถ้าไม่ทำก็จะมีผลต่อคะแนนเฉลี่ยสะสม (GPA) แล้วอย่างนี้จะทำให้พวกผม
มีความสุขต่อการเรียน ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติว่าไว้ได้อย่างไร”
              

          ผมได้อ่านจดหมายนี้ และได้รับฟังจากการจัดเสวนาแสดงความคิดเห็นของนักเรียน
มาหลายครั้งก็พบว่า นักเรียนจะพูดประเด็นนี้กันมาก ผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้ปกครองนักเรียน หรือ ครู-อาจารย์เองก็ยังพูดวิพากษ์วิจารณ์กันเรื่องนี้  ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดของครูที่จำเป็นต้องคิด
ทบทวนกันใหม่
                        จากการศึกษาวิเคราะห์เรื่องนี้อย่างถี่ถ้วนก็พบว่า  Child  Centered  ไม่ใช่วิธีสอน หรือวิธีการ  แต่เป็นหลักการจัดการศึกษา ที่ผู้บริหาร ครู-อาจารย์แต่ละคนต้องตระหนักใน
หลักการที่ว่าจะทำอย่างไรให้นักเรียนทุกคนได้รับประโยชน์สูงสุด  โดยได้รับสิทธิและโอกาส
เสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กทั่วไป เด็กเก่ง เด็กพิการ หรือเด็กด้อยโอกาส
                        ด้วยเหตุนี้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542  จึงไม่ใช้คำว่า “การสอนที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง” แต่ใช้คำว่า “ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด” ซึ่งมักเรียกกันว่า “เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ” แทน  ซึ่งก็คือเรื่องเดียวกัน  แต่ที่เรียกกันใหม่อย่างนี้เพราะเกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิดคิดว่า Child  Centered  เป็นวิธีสอนรูปแบบหนึ่งที่มีนักเรียนอยู่ตรงกลาง  แล้วครูเป็นรัศมีที่
เดินรอบกลุ่มนักเรียนเหมือนเส้นรอบวง  โดยยึดติดแต่เปลือกหรือรูปแบบภายนอกที่ไม่เข้าไปถึงแก่นแท้ จนเกิดปัญหาดังที่นักเรียนปรารภมาในตอนต้น
            ความจริงแล้ว  Child  Centered  เกิดขึ้นในประเทศไทยมานานแล้วราว พ.ศ.2495  โดย ศ.ดร.สาโรช  บัวศรี  ได้นำเรื่องนี้มาสอนที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร  (มหาวิทยาลัย
ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร  ในปัจจุบัน)   โดยให้แนวคิดหลักว่า “จุดศูนย์กลางของการเรียน
อยู่ที่ผู้เรียน”  โดยนำพุทธปรัชญามาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน
            พ.ศ.2521  กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดแนวคิดนี้ไว้ในหลักสูตร  ทั้งระดับประถม
ศึกษา   และมัธยมศึกษา    โดยเน้นเรื่อง    การสอนแบบบูร ณาการ   การส่งเสริมกระบวนการคิด
และการคิดอย่างเป็นระบบ
            พ.ศ.2533  กระทรวงศึกษาธิการได้ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ ก็สานต่อแนวคิดนี้  โดย
ส่งเสริมในเรื่องทักษะกระบวนการ และการสอนที่ให้นักเรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism)
                        ร่วม 50 ปีผ่านไป  เรายังไม่สามารถปรับกระบวนทัศน์ (Paradign) ของครู-อาจารย์ในเรื่องนี้ได้อย่างเต็มที่  ซึ่งจากการประเมินผลหลักสูตรทุกฉบับที่ผ่านมา  มักพบข้อมูลว่าตัวหลักสูตรไม่ค่อยจะมีปัญหา  แต่ปัญหาอยู่ที่กระบวนการการนำหลักสูตรไปใช้ (Implementation) ยังไม่
สามารถบรรลุตามจุดหมายหลักการของหลักสูตรได้
                        ดังนั้น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.2542  จึงมีข้อกำหนดเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างครบวงจร โดยกำหนดหลักการจัดการศึกษาไว้ว่า ต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด  พร้อมทั้งกำหนดแนวการจัดการศึกษาไว้ 9 มาตรา เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่อง Child  Centered  ให้ตรงกัน  กำหนดให้มีการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กำหนดระบบการบริหารและการจัดการศึกษาที่มุ่งกระจายอำนาจการจัดการศึกษาแก่สถานศึกษาอย่างเต็มที่  โดยมีมาตรฐานและระบบประกันคุณภาพภายในและภายนอกสถานศึกษา  เป็นระบบควบคุมและตรวจสอบคุณภาพการศึกษาอย่าง
ต่อเนื่อง
           ถ้าจะทบทวนหลักการของ Child  Centered  ที่ว่า  “ทำอย่างไรให้เด็กทุกคนได้รับประโยชน์สูงสุด”  ก็น่าจะมีตัวชี้วัดความสำเร็จอย่างน้อย 2 ประการคือ
             1.ได้เห็นนักเรียนทุกคนไม่ว่าเด็กเก่ง เด็กอ่อน เด็กปานกลาง เด็กพิการ  เด็กด้อยโอกาส  ได้พัฒนาขึ้นมาตามศักยภาพของเขา  ทั้งในด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ด้านความ
ประพฤติ  ด้านสุขภาพกาย  สุขภาพจิต  และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
             2.ได้เห็นนักเรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางดีขึ้น เช่น มีความสนใจใฝ่รู้ ใฝ่เรียนมากขึ้น  อยากเรียนรู้กับครูมากขึ้น  ช่างคิด  ช่างถาม  ช่างสังเกตมากขึ้น  มีกระบวนการคิดที่ลึกซึ้ง
สร้างสรรค์  สามารถอธิบายสิ่งต่างๆ  จากคำถาม  What  How  Why  จนถึง  Why not ได้อย่าง
สมเหตุสมผลและมีข้อมูลสนับสนุน  รู้กาละเทศะ  มีสัมมาคารวะ  พูดจาสุภาพเรียบร้อย  ฯลฯ
เนื่องจาก  Child  Centered  ไม่ใช่วิธีการ  แต่หมายถึงความหลากหลายในวิธีการที่เป็นไปตามหลักการ  ดังนั้นการจะทำให้นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ครูก็ต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย และเหมาะสมกับจุดประสงค์ เนื้อหา ธรรมชาติของวิชา และพื้นฐานของนักเรียนแต่ละคน จะยึดแต่รูปแบบหรือวิธีใดวิธีหนึ่งไม่ได้  ครูจึงต้องพิจารณาเองว่าจะใช้วิธีใดจึงจะเกิด
ประโยชน์สูงสุดแก่นักเรียนในการสอนจุดประสงค์นั้น หรือเนื้อหานั้น เช่น การสอนแบบบรรยายก็อาจใช้ได้ในบางเรื่อง  หรือการสอนโดยแบ่งกลุ่มนักเรียนเป็นวิธีการที่ดี แต่ไม่ใช่แบ่งกลุ่มกัน
ตลอดไป หรือแจกใบงานกันอย่างพร่ำเพรื่อ  ซึ่งจะทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่ายได้
สื่อการสอนเป็นสิ่งที่ดี แต่ครูก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมและคุ้มค่า สื่อทุกอย่างมีคุณค่า ถ้าครูมีวิธีการใช้ที่ดีและทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ครบวงจร  ซึ่งต้องไม่ติดที่กายภาพ หรือความทันสมัย
ของสื่อ
             เราคงเคยได้ยินคำว่า “ครูที่พูดไม่ได้”  ซึ่งหมายถึงธรรมชาติ บรรยากาศ และสิ่ง
แวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวเรา  ก็เป็นสื่อทำให้เกิดการเรียนรู้เป็นครูที่สามารถกล่อมเกลานักเรียน
ให้เป็นคนละเอียดอ่อน จิตใจแจ่มใส ได้รับความรู้ และเกิดคุณธรรมต่างๆ ขึ้นได้ พระพุทธเจ้า
เองเวลาจะสอนใครท่านก็นำสิ่งที่มีอยู่รอบๆ ตัว มาเป็นสื่อ  ดังนั้นการจะใช้สื่ออะไรย่อมอยู่ที่ความ
เหมาะเจาะ  ความฉลาดที่จะเลือกใช้และวิธีการใช้ให้เกิดคุณค่ามากกว่า
            การวัดและประเมินผลเช่นกัน ก็ต้องประเมินตามสภาพจริง ถือหลักว่า อยากให้เขา
เกิดอะไร เป็นอย่างไร  ก็วัดตรงนั้น  วัดให้ถูกที่ และหาวิธีที่เหมาะสม  เหมือนกับการสอน ไม่ติดอยู่ที่วิธีการเดียว  การสอนกับการวัดประเมินผลจึงต้องไปด้วยกัน  เมื่อเรามีจุดมุ่งหมายให้นักเรียน “ดี เก่ง  มีสุข”  ก็ต้องวัดให้ครอบคลุมทุกด้าน
           การจัดการเรียนการสอนที่ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางนั้น  ครูต้องวางแผนและดำเนินการให้ครบวงจร  ต้องใช้หลักวิชา และครูต้องมีความรู้ความสามารถสูง  การที่เขาให้ผู้ที่เรียนทางครูต้องเรียนวิชาครูที่เกี่ยวข้องกับ  ปรัชญาการศึกษา  จิตวิทยาการศึกษา   วิธีสอนต่างๆ ก็เพื่อ
ให้นำหลักวิชาเหล่านั้นมาใช้ในวิชาชีพ  และต้องหมั่นปรับปรุงพัฒนาการจัดการเรียนการสอนศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ  เพื่อจะได้เกิดแนวคิดแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ


             จากความคิดที่ว่าการสอนที่ดีจะไม่เน้นการสอนที่เนื้อหาความรู้  แต่เน้นที่กระบวนการ
หาความรู้นั้น  แม้จะเป็นความคิดที่ดีที่ถูกต้องแต่ก็ยังมีผู้ปฏิบัติที่เข้าใจผิดและติดขอบอยู่มาก
โดยกลับกลายเป็นว่าเห็นเนื้อหาไม่สำคัญ เลยทำให้ครูไม่ค่อยจะพัฒนาเนื้อหาความรู้ในสาขาวิชาที่ตนสอน  จึงมีคำถามว่า ถ้าครูไม่แม่นในเนื้อหา  แล้วจะสรรหาลีลามาจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ได้
อย่างไร”  ซึ่งจะพลอยทำให้นักเรียนเกิดความคับแคบไปด้วย  เวลาจะคิด จะพูด จะเขียนอะไรก็
จะใช้แต่สามัญสำนึกที่ขาดข้อมูลสนับสนุน  เพราะเนื้อหาคือเครื่องมือเบื้องต้นของกระบวนการทางปัญญา  ดังนั้นขั้นตอนการพัฒนาทางปัญญาเขาจึงจัดเรียงลำดับจาก  ความจำ  ความเข้าใจ
การนำไปใช้   การวิเคราะห์   การสังเคราะห์  และการประเมินค่า  เพียงแต่ไม่อยากให้ครูติดยึดอยู่
แต่ด้านความจำ  หรือความเข้าใจเท่านั้น  ซึ่งมิได้หมายความว่า  การสอนให้จำในเนื้อหาไม่สำคัญ
จึงมีคำกล่าวกันว่า  “ถ้าครูเก่ง  ครูแม่นในเนื้อหา  แล้วลีลาก็จะมาเอง”
                        อยากจะย้ำอีกครั้งว่า  Child  Centered   เป็นหลักการจัดการศึกษาที่มุ่งให้ครู
ผู้บริหาร หาความหลากหลายในวิธีการมาส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้รับการพัฒนาให้เจริญ
ก้าวหน้ามากขึ้นทุกด้านตามศักยภาพของเขา

                                      -----------------------

                          ธเนศ  ขำเกิด   [email protected]
 
 
 

หมายเลขบันทึก: 25990เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2006 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท