การสร้างสรรค์ความรู้ตามทฤษฎี Constructionism


วารสารเทคโนโลยี (สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น). ปีที่ 31 ฉบับที่ 178 (ธ.ค.47-ม.ค.48) หน้า 163-164.

 แต่เดิมการเรียนรู้ของคนไทยเราจะเป็นการเรียนรู้แบบเชิงรับ(passive learning experience)โดยเรียนรู้จากการบอกการสอนของผู้ใหญ่ ของครู ของผู้บังคับบัญชาหรือจากการจัดอบรมให้ความรู้ตามหลักสูตรต่างๆ  แต่มีข้อมูลสะท้อนการเรียนรู้ลักษณะนี้ออกมาว่า ไม่ว่าจะสอนจะอบรมได้ดีเพียงใดผู้เรียนหรือผู้เข้ารับการอบรมก็ไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ได้ทั้งหมด

          Fred Kofman  และ Peter Sengeกล่าวถึงปัญหาจากการเรียนรู้เชิงรับ ที่สะกัดกั้นการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เราว่า  มาจาก 3สาเหตุใหญ่ คือ

                      1.fragmentation  คือการคิดแบบแยกส่วน  ซึ่งตอนเด็ก ๆ คนจะไม่คิดแบบแยกส่วนแต่เมื่อเรียนสูงขึ้นก็เริ่มเรียนรู้เป็นวิชา เป็นเรื่อง ๆมีการสร้างคนให้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง  พอมาทำงานก็เลยคิดแบบแยกส่วนมีกำแพงกั้นระหว่างฝ่าย ระหว่างคน

                      2. competition คือ การแข่งขันซึ่งความจริงน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่ช่วยกระตุ้นให้คิดสร้างสรรค์แต่สิ่งนี้กลับเป็นการสร้างความกลัว ความไม่มั่นใจในตนเองให้เกิดขึ้นเช่น กลัวคนอื่นจะว่าโง่  คิดว่าตนเองพูดไม่เก่ง ฯลฯจึงพยายามปกป้องตนเอง หรือพยายามแสดงให้คนอื่นรู้ว่าเรารู้ โดยมุ่งผลระยะสั้น

                      3.reactiveness  คือ การทำงานตามคำสั่งจะรอคำสั่งแล้วทำตามคำแนะนำ ไม่กล้าคิดไม่กล้าทำเมื่อมีปัญหาก็จะตามผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแก้                      

                       แนวคิดเรื่องการเรียนรู้จึงถูกปรับเปลี่ยนจากแบบเชิงรับมาเป็นแบบเชิงรุก(active learning experience)ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญา Constructivismที่เชื่อว่าบุคคลสามารถสร้างความรู้ขึ้นได้ด้วยตนเอง ซึ่งคนไทยเรียกชื่อกันหลายชื่อ เช่น  รังสรรค์นิยม นิรมิตนิยม  วิษณุกรรมนิยม เป็นต้น โดยมีคำสำคัญ  2คำ  ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความรู้ คือคำว่าองค์ความรู้  กับ โครงสร้างความรู้

                 องค์ความรู้  (body  of knowledge)  หมายถึง  ความรู้ที่อยู่ในศาสตร์ ได้แก่  ความคิดรวบยอด  หลักการ  วิธีการ ที่อยู่ในตำรา  อยู่ในห้องสมุด ซึ่งอยู่ภายนอกตัวบุคคลที่สั่งสมกันมาเพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้

                 โครงสร้างความรู้(representations  of knowledge)  หมายถึง ความรู้ที่อยู่ภายในตัวบุคคลที่เกิดจากการเรียนรู้ของบุคคลนั้นๆ ซึ่งไม่ได้ลอกเลียนมาจากองค์ความรู้ แต่ผู้เรียนต้องสร้าง(construct)  ขึ้นมาด้วยตนเอง เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ เมื่อพัฒนาโครงสร้างความรู้ต่อไปก็สามารถสร้างผลงานเป็นองค์ความรู้ให้คนอื่นค้นคว้าได้

               ต่อมา ซามัว แพพเพิร์ท(Seymour Papert) ได้คิดทฤษฎีConstructionism โดยต่อยอดจากปรัชญาConstructivism  ซึ่งแพพเพิร์ทให้ความเห็นว่า ความรู้เกิดจากการสร้างขึ้นของบุคคลแต่ละคน ด้วยตนเอง การศึกษาจะเป็นการจัดโอกาสให้บุคคลได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ซึ่งเปรียบเสมือนเชื้อเพลิงที่นำไปสู่กระบวนการสร้างพลังงาน ดังนั้นจึงมีผู้ให้ความหมายของ constructionism ว่า คือการสร้างสรรค์ด้วยปัญญา

                     แนวคิดสำคัญของทฤษฎีConstructionism หรือ การสร้างสรรค์ด้วยปัญญา คือ

                      1. เริ่มที่ผู้เรียนต้องอยากจะรู้ อยากจะเรียน อยากจะทำก่อน จึงจะเป็นตัวเร่งให้เขาขับเคลื่อน เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ(ownership)

                      2. ใช้ความผิดพลาดเป็นบทเรียน เป็นแรงจูงใจภายใน (internalmotivation)ให้เกิดการสร้างสรรค์ความรู้

                      3. การเรียนรู้เป็นทีม (team learning)จะดีกว่าการเรียนรู้คนเดียว

                      4. เป็นการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ (Learning to learn)ไม่ใช่การสอน
 
วงจรการเรียนรู้ตามทฤษฎีConstructionism
        การเรียนรู้เป็นวงจร เริ่มจากการคิด (thinking)ซึ่งเกิดจากประสบการณ์เดิมของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันเชื่อมโยงกับประสบการณ์ใหม่หรือข้อมูลใหม่ แล้วสร้างความรู้(constructing) ขึ้นมาด้วยตนเองแต่การสร้างสรรค์ความรู้ที่สมบูรณ์จะต้องมีการสะท้อนความคิดหรือสะท้อนประสบการณ์(reflecting) มีการปฏิสัมพันธ์ (interactive) กับบุคคลอื่น โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ก็จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนความคิดใหม่ (new thinking)แล้วสร้างความรู้ใหม่ (new  constructing) สะท้อนความคิดใหม่(new reflecting) เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ความรู้จึงไม่หยุดนิ่ง จะเกิดการคิดค้นต่อไปอีก

                     การสร้างสรรค์ความรู้จะเกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้(knowledge  management)ซึ่งเป็นกระบวนการทำให้ข้อมูล(data)เกิดความหมายเป็นสารสนเทศ(information)แล้วพัฒนาสู่ความรู้(knowledge)เพิ่มมูลค่าความรู้ให้ก้าวหน้าอย่างเป็นพลวัต

                      การสร้างสรรค์ความรู้ตามทฤษฎี constructionism นั้นทุกฝ่ายจะต้องรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน ยอมรับความคิดที่หลากหลายไม่ยึดมั่นในประสบการณ์หรือความเชื่อเดิมของตนมีความพยายามในการสร้างความรู้แม้จะไม่สำเร็จก็จะใช้ความผิดพลาดเป็นบทเรียนเป็นการเรียนรู้แบบร่วมมือใช้ความหลากหลายและมุมมองที่แตกต่างกันนำไปสู่การเรียนรู้                       

การเรียนรู้ที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เพื่อให้เกิดการสะท้อนประสบการณ์ซึ่งกันและกันของบุคคลจนเกิดความรู้ใหม่เรามักเรียกกันว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งในหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ใช่ว่าจะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ง่ายๆ จึงต้องมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลมาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก(Facillitators)เพื่อมาจัดการให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

โดยอาจดำเนินการภายใต้กิจกรรมพัฒนาคน พัฒนางาน ในรูปแบบต่างๆเช่น  คิวซีซี   5 ส. เป็นต้นเมื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่องก็สามารถสร้างให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้(learning  organization) เกิดวัฒนธรรมคุณภาพที่ยั่งยืนต่อไป

                      การสร้างสรรค์ความรู้ตามทฤษฎีConstructionism จึงไม่ใช่เกิดขึ้นจากการบอก การสอน การสั่งของใคร  แต่เกิดจากการสร้างขึ้นโดยบุคคลแต่ละคน ภายใต้บรรยากาศที่เอื้ออำนวย
 

------------------------------------


 


 

หมายเลขบันทึก: 25986เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2006 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2020 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
โครงการโรงเรียนต้นแบบการใช้ ICT เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ ได้ใช้ทฤษฎี Constructionism เป็นทฤษฎีพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน โดยเน้นให้ผู้เรียนออกแบบ สร้างทำ แก้ปัญหา สร้างผลิตผล สร้างองค์ความรู้ และสามารถนำเสนอผลงานได้

บทความนี้เป็นบทความที่ดีมากเลยค่ะ ดิฉันขออนุญาติแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมนะค่ะ

จากที่อ่านบทความมาสรุปง่ายๆสั้นๆว่าเราต้องสอนให้ผู้เรียนเกิดมีความคิดสร้างสรรค์  ความคิดสร้างสสรค์ เป็นการคิดเพื่อค้นหาความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างสิ่งต่างๆทำให้สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่แปลกใหม่ขึ้นมา

ปัจจัยที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์มีดังนี้

1.  ความคล่องในการใช้ความคิด

2.  ความยืดหยุ่นในการใช้ความคิด

3.  ความคิดแปลกใหม่ มีลักษณะริเร่ม

4.  ความสามารถในการเสริมขยายความคิด

5.  ประสบการณ์ชีวิต

6.  ความกล้าคิดกล้าทำ

7.  ความเป็นนักคิด

เทคนิคในการสอนให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์มีด้วยกัน 10 ข้อ  ดังนี้

1.  ยอมรับคำถามนักเรียนและสนองตอบด้วยความเต็มใจ

2.  สนับสนุนการคิดค้นจินตนาการ

3.  แสดงให้นักเรียนประจักษ์ถึงคุณค่าทางความคิดใหม่ ๆ

ของเขา

4.  ให้โอกาสนักเรียนนำความคิดไปสู่การปฏิบัติโดยไม่ประเมินผลหรือวิจารร์แต่อย่างใด

5.  ยึดหลักการประเมินผลด้วยเหตุและข้อตกลงในส่งที่กระทำขึ้นก่อนระหว่างครูและนักเรียน

6.  ใช้เทคนิคกระดาษเปล่า หมายถึงไม่ตีกรอบความคิด ไม่คิดถึงปัญหา อุปสรรค ขีดจำกัด หรือ ความเป็นไปไม่ได้

7.  การรวามกันและแยกแยะ คือ การรวมกันจะเกิดอะไรขึ้น ดีขึ้นไหม หรือทำอย่างไรให้ดีขึ้น  ถ้าหากแยกแยะจะเกิดอะไรขึ้น มีประโยชน์มากน้อยแค่ไหนและทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร

8.  การตั้งคำถาม

     -  ถามเหตุผลว่า ทำไม

     -  ถามสมมุติ ถ้าอย่างนี้จะทำอย่างไร

     -  ถามต่อเนื่อง  เช่น ทำอะไร ทำอย่างไร ทำได้ไหม จะต้องเปลี่ยนแปลงอะไร

9.  การเลียนแบบ  คือ การทำให้แตกต่าง ก้าวหน้า ดีกว่าเดิม และกระโดดไปสู่สิ่งใหม่

10. การเพิ่มคำ เช่น ปรับแต่งให้ดีขึ้นกว่าของเดิม  แปรรูปจากของเดิมเป็นสิ่งใหม่โดยทำให้เสียน้อยที่สุดและมีการประเมินความเชื่อมั่นในสิ่งนั้น

      ถ้าเด็กของเราคิดออกมาหรือแสดงออกมาในทางที่ไม่เสียหายหรือเดือดร้อนใคร  ขอให้สนับสนุนและชื่นชมเขาเถอะ  แต่ถ้าแสดงออกมาในเชิงไม่ดีก็ควรอธิบายให้เขาเข้าใจด้วยเหตุผล  เพราะถ้าใช้อารมณ์ต่อไปเด็กอาจจะเกิดความกลัว จึงทำให้เขาไม่กล้าที่จะคิดอะไรออกมา  เท่ากับว่าเรากำลังเหยียบย่ำความคิดของเขา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท