เชียงตุง เมืองในอ้อมกอดขุนเขา


เชียงตุง

 

     เชียงตุง เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของสหภาพพม่า  ซึ่งที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศและ ใกล้กับชายแดนไทย-พม่าในภาคเหนือ อำเภอแม่สาย  จังหวัดเชียงราย ประมาณ 168 กิโลเมตร   ในอดีตเคยเป็นเมืองขึ้นของไทยระยะหนึ่ง  ในปัจจุบันแม้จะเป็นเมืองหนึ่งของพม่า แต่ภาษาพูด ภาษาเขียนและวัฒนธรรมมีความใกล้เคียงกับประเทศไทยอย่างน่าสนใจ  จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปศึกษาดูงาน (กึ่งท่องเที่ยว)  ณ เมืองเชียงตุง ระหว่าง วันที่ 28 กุมภาพันธ์  -  1 มีนาคม 2552 หลังจากการสัมมนาเรื่อง "ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง: จดหมายเหตุ - ประวัติศาสตร์-  นิเวศวิทยา - ชาติพันธุ์" (Mekong Region : Archives - History - Ecology - Ethnicity)  ระหว่าง วันที่ 26 - 27 กุมภาพันธ์ 2552  ณ โรงแรม เวียงอินทร์  จังหวัดเชียงราย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

           คณะศึกษาของผู้เขียนประกอบด้วย นักศึกษาปริญญาเอกสาขาสังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 4 คน  เดิมทีจะเดินทางร่วมกับคณะที่ร่วมสัมมนา แต่จองที่นั่งช้าจึงไม่มีที่ว่างสำหรับคณะของเรา  อย่างไรก็ตามกลับเป็นความโชคดีที่พลาดโอกาสเดินทางร่วมกับคณะใหญ่ ซึ่งทำให้เราได้ประโยชน์จากการเดินทางครั้งนี้มากมายจะกล่าวต่อไป

           การเดินทางจากอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ไปยังด่านแม่สาย จังหวัดเชียงราย  ระยะทาง  50  กิโลเมตร  ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง  ถึงด่านแม่สาย  ประมาณ 9 โมงกว่าด้วยบรรยากาศสองข้างทางที่สบาย ๆ แต่มีฝุ่นควันจากการเผาป่าให้เห็นตลอดเส้นทาง เมื่อด่านแม่สายเจ้าหน้าที่ของบริษัททัวร์       นำเอกสารเกี่ยวกับการเดินทางเข้าเมืองติดต่อกับด่านศุลกากรทั้งไทย และสหภาพเมียนม่า  โดยใช้สำเนาบัตรประชาชน และรูปถ่าย จำนวน 2 ชุด  (ส่วนบัตรประชาชนของเราถูกเก็บไว้ที่ด่าน)  การเดินทางไปยังเมืองเชียงตุง ใช้เอกสารที่ด่านศุลการกรของพม่าออกให้  โดยมีไกด์ชาวพม่า เป็นผู้นำทางเข้าสู่พม่า อำนวยความสะดวก และให้ข้อมูลตลอดการเดินทาง

        ไกด์ชาวพม่า เป็นสุภาพสตรี ชื่อ "ตุ๊ก" เป็นเจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวของสหภาพพม่า  หรือ ถ้ามองอีกนัยหนึ่งก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐสหภาพพม่าที่ทำหน้าที่ติดตามการเดินทางของคณะพวกเราก็ว่าได้  เพราะระหว่างเดินทางเขาจะเป็นคนบอกว่าเราทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง  เช่น เมื่อออกเดินทางจากด่านท่าขี้เหล็กพบขบวนรถขนสินค้าหลายคัน ก็บอกกับพวกเราว่าห้ามถ่ายรูปรถเหล่านี้ รวมทั้งห้ามถ่ายรูปเจ้าหน้าที่ของรัฐในเครื่องแบบ และบริเวณด่านที่ผ่านไปด้วย  ถือว่าได้รับการปลูกฝังในเรื่องความมั่นคงของรัฐมาพอสมควร  ดังนั้นระหว่างเดินทางคณะของเราจะทำอะไร ก็จะถามก่อนว่าได้หรือไม่ 

       การเดินทางจากท่าขี้เหล็กเข้าสู่เมืองเชียงตุงด้วยถนนสายท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง ระยะทาง 168 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยาง 2 เลน ที่สร้างโดยเงินของกลุ่มว้าแดง ที่รัฐบาลสหภาพพม่าให้สัมปทาน ผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นบริษัทรับเหมาในประเทศไทย เปิดใช้เส้นทางนี้อย่างเป็นทางการเมื่อเกือบ 10  ปีที่ผ่านมา  เป็นเส้นทางหลักเข้าสู่เมืองเชียงตุง เมืองอื่น ๆ ในสหภาพพม่า และประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน  ระหว่างการเดินทางต้องผ่านด่านเจ้าหน้าที่ของรัฐสหภาพเมียนม่า ที่ไกด์ของเราต้องนำเอกสารที่เตรียมไว้ไปให้รวมทั้งค่าธรรมเนียม พร้อมของฝากจำนวนหนึ่งตามธรรมเนียม  ด่านที่ผ่านไปจนถึงเมืองเชียงตุง มีจำนวน 8 ด่าน รวมทั้งมีด่านเก็บเงินค่าทางด่วนเหมือนทางด่วนบ้านเราแต่สภาพถนนต่างกัน ซึ่งมีประมาณ 3 ด่าน ซึ่งด่านตรวจคนทั้ง 8 ด่าน  มีดังนี้

  • 1. ด่านมะยาง ด่านนี้จะมี 3 จุด จุดแรก คือ ด่านมะยางโหลง ด่านตรวจคนเข้าเมือง
  • 2. ด่านนักสืบท่าเดื่อ ด่านนี้จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าเมืองเล็น
  • 3. ด่านปางค่าหน้อย
  • 4. ด่านเมืองพยาค ด่านนี้มี 4 ห้อง ตรวจเอกสารเข้าเมือง และศุลกากร
  • 5. ด่านนักสืบ
  • 6. ด่านทางด่วนก่อนเข้าเชียงตุง (ค่าทางด่วนจะเก็บตามขนาดของรถที่ผ่าน)
  • 7. ด่านเชียงตุง ซึ่งจะมีศาลเจ้า (ศาลเทวดา) 2 ศาล คือ ศาลเจ้าปู่ และศาลเจ้าพ่อหลวงน้ำพุ ด่านนี้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบนับจำนวนผู้โดยสารในรถ
  • 8. ด่านก่อนเข้าเชียงตุง จะปิดห้ามคนเข้าเมืองตอน 6 โมงเย็น

               

          เส้นทางไปสู่เมืองเชียงตุง เป็นถนนตัดเลียบแม่น้ำ TAYAY พร้อมทิวทัศน์ที่สวยงามทั้งสองข้างทาง  สวยงามแบบธรรมชาติปนกับความแห้งแล้งผสมผสานกันไป ได้พบเห็นต้นไม้ที่ออกดอกสวยงามท่ามกลางความแห้งแล้งตลอดเส้นทาง  แม่น้ำแห่งนี้มีต้นน้ำอยู่ใกล้ ๆ ถึงเมืองเชียงตุง ระหว่างทางที่เดินทางผ่านไปเห็นตาน้ำเล็ก ๆ ผุดออกมาจากตีนภูเขาที่แทบไม่มีต้นไม้ตลอดเส้นทาง จึงเป็นความแปลกที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของการเดินทางครั้งนี้  นอกจากนี้ยังผ่านชุมชนชายไทยใหญ่ ชาวไทยลื้อที่ตั้งอยู่เป็นระยะ ๆ ตลอดเส้นทาง เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย แต่ในความรู้สึกของคนเมืองหรือคนที่อยู่ในโลกสมัยใหม่มองว่านี่คือความลำบาก 

 

        การเดินทางไปท่องเที่ยวหรือศึกษาดูงาน  สิ่งที่เราสนใจไม่ใช่เป้าหมายปลายทางระหว่างเส้นทางที่เราเดินทางผ่านไปเท่านั้น  แต่สองข้างทางในระหว่างเส้นทางที่เราเดินทางไปก็มีหลายอย่างที่น่าสนใจไม่น้อย และบางครั้งน่าสนใจกว่าปลายทางที่เราเดินทางไปเสียอีก  จึงเป็นความโชคดีที่คณะเดินทางของเราพลาดการเดินทางร่วมกับคณะชุดใหญ่ที่ใช้รถบัสในการเดินทาง 3 คันรถ  มีผู้โดยสารมาก  ดังนั้นการหยุด หรือจอดที่ใดก็เป็นความยากลำบาก ใช้เวลาในการต้อนคนขึ้นและลงมาก  เห็นอะไรน่าสนใจระหว่างเดินทางก็ชะโงกคอดูเท่านั้นเอง อยากรู้มากกว่านั้นทำไม่ได้      "พี่ปุ้ย" ของเราจึงให้คำนิยามการเดินทางแบบนี้ว่า "ชะโงกทัวร์"  สำหรับคณะของเราจึงเป็นความโชคดีที่ระหว่างเดินทางพบเจออะไรน่าสนใจก็บอกให้คนขับรถจอด  ลงไปเก็บข้อมูล  ถ่ายรูป และดูให้ถึงเกือบทุกสถานที่  ถ้าไม่เกรงใจว่าปลายทางยังอีกไกลเราก็จะหยุดตลอดเวลา

         สิ่งที่ตื่นตาตื่นใจระหว่างการเดินทางของคณะเรานอกเหนือจาก สภาพบ้านเรือน  ความเป็นธรรมชาติ  ภูเขา  แม่น้ำ  ที่ทอดเคียงไปกับถนนที่เราใช้เดินทาง  ที่กล่าวข้างต้นแล้ว คือ วิถีชีวิตของประชาชนตลอดเส้นทาง  ได้แก่ การนำเอาน้ำที่มีตลอดเวลาปั่นเป็นกระแสไฟฟ้า  ด้วยกระแสการพัฒนาสู่ทันสมัยในพม่ายังห่างจากเมืองไทยเป็นอย่างมาก  โครงสร้างพื้นฐานที่สร้างโดยรัฐแทบไม่ต้องพูดถึงทั้งไฟฟ้า และถนน ประชาชนบริเวณนี้อาศัยสภาพความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ ปั่นไฟกันใช้เองโดยมอเตอร์ขนาดเล็กซื้อมาจากประเทศจีน สามารถผลิตไฟฟ้าใช้ภายในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี ใช้ไฟฟรีไม่ต้องพึ่งไฟฟ้าตามนโยบายประชานิยมเหมือนประเทศไทย  นอกจากนี้แล้วยังใช้พลังน้ำกับกระเดื่องตำข้าว โดยชาวบ้านนำข้าวใส่ไว้ในครกกระเดื่องตำ ไม่กลัวว่าใครจะขโมยแม้อยู่ข้างถนนที่มีรถวิ่งผ่านไปมาตลอดเวลาก็ตาม  สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องราวข้างทางที่น่าสนใจและเป็นบทเรียนสำหรับนักวิชาการ นักพัฒนา รวมทั้งนักการเมือง และประชาชนชาวไทย ที่เรียกร้องหาการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ลืมถึงเทคโนโลยีเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถสร้างได้โดยคนทั่วไป

         ใกล้เข้าเมืองเชียงตุงมาอีกไม่กี่กิโลเมตร  คณะของเราแวะพักอย่างเป็นทางการอีกครั้งที่บ้านดอยปางควาย  ซึ่งเป็นที่พักของกองคาราวานพ่อค้ามาตั้งแต่อดีต  แต่ในอดีตใช้วัวควายเป็นพาหนะในการสัญจร  ปัจจุบันใช้รถในการสัญจร เราก็เห็นรถยนต์เก่า ๆ ทั้งรถเก๋ง รถตู้และรถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่ขนสินค้ามาจากเชียงตุงพร้อมผู้โดยสาร  จอดพักผ่อนระหว่างการเดินทาง  รถเหล่านี้เป็นรถยนต์เก่า ๆ แต่มีกำลังมหาศาล และคุณสมบัติที่สำคัญของคนขับรถยนต์เหล่านี้ ต้องซ่อมรถยนต์ได้ เพราะรถอาจเสียระหว่างการเดินทาง ที่ไม่มีร้านซ่อมรถเลยตลอด 100 กว่ากิโลเมตร ตลาดแห่งนี้  เป็นตลาดขนาดเล็กแต่ถ้าสำรวจให้ดีมีอะไรที่น่าสนใจมากมาย  สังเกตได้ว่าคนในตลาดแห่งนี้มีทีวีดูแต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เปิดดูกัน อาจเป็นเพราะรับได้เฉพาะรายการโทรทัศน์จากพม่า ซึ่งมีรายการที่ไม่น่าสนใจเท่าเมืองไทย  หรือเขาประหยัดไฟไว้ใช้ในตอนกลางคืน เพราะบริเวณนี้ก็ยังใช้ไฟฟ้าที่ปั่นกันเองจากแหล่งน้ำเช่นกัน  แม้จะห่างจากเมืองเชียงตุงไม่กี่กิโลเมตรก็ตาม 

         ระหว่างพักที่บ้านดอยปางช้าง  ไกด์ให้คณะของเราสัมผัสเครื่องดื่มและของกินพื้นเมืองที่ควบคู่กับสุขภาพ เป็นการรักษาสุขภาพ และเป็นยาพื้นบ้าน  เช่น แนะนำให้คณะของเรากินน้ำตาลโตนดกับน้ำชา ซึ่งบอกว่าช่วยแก้อาการเจ็บคอ  เนื่องจากในสหภาพพม่า เช่นเดียวกับประเทศที่ห่างไกลการพัฒนาสู่ทันสมัยทั้งหลาย ที่การแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่ได้เจริญก้าวหน้ามากนัก ประชาชนส่วนใหญ่จึงยังพึ่งพาแพทย์แผนโบราณเช่นกับเมืองไทยในอดีต

         ในที่สุด ก็เดินทางมาถึงเมืองเชียงตุง  ประมาณ 4 โมงเย็นกว่า  แต่เวลาในพม่าเร็วกว่าเมืองไทยประมาณ ครึ่งชั่วโมง  รวมเวลาเดินทางประมาณ  6 ชั่วโมง  เมื่อมาถึงเมืองเชียงตุง แทนที่เหน็ดเหนื่อยและมุ่งไปพักผ่อนเหมือนกับการเดินทางทุกครั้งที่ผ่านมา คณะของเรายังมีโปรแกรมการเดินทางอีกหลายรายการเพื่อเที่ยวชม ศึกษาให้เต็มอิ่มท่ามกลางอากาศที่เย็นสบายในตอนเย็นต่างกับเมืองไทยในขณะนี้เป็นอย่างมาก

           สถานที่ดูงานแห่งแรกของเราที่เชียงตุง  เริ่มต้นจากการมุ่งหน้าไปยังวัดในเมืองเชียงตุง 2 วัด  คือ วัดพระธาตุจอมคำ และวัดพระแก้ว เพื่อชมบรรยากาศที่สงบร่มรื่น เงียบสงบของที่นี่ ทำให้นึกถึงบ้านเราซึ่งมีความแตกต่างกันพอสมควรที่บ้านเราวัดไม่ค่อยเงียบสงบเหมือนที่นี่  ในเมืองเชียงตุงที่มีพื้นที่ที่ไม่กว้างใหญ่มากนัก แต่มีวัดกว่า 400 วัด แสดงถึงความเลื่อมใสต่อพุทธศาสนาของชาวเมืองเชียงตุงไม่ต่างจากเมืองไทย เพียงแต่ในยุคสังคมนิยมศาสนาถูกห้ามจากผู้ปกครอง ศาสนาพุทธในเมืองเชียงตุงในหลายอย่างจึงมีลักษณะที่แปลก ๆ ไปจากเมืองไทยบ้างเล็กน้อย

          การได้สนทนากับเจ้าคณะเมืองเชียงตุงที่วัดพระแก้ว  ซึ่งถือเป็นความโชคดีอีกครั้งของคณะเราสนทนากับท่านอย่างเต็มอิ่มและด้วยความเต็มใจของท่านเป็นอย่างมาก เจ้าคณะเมืองเชียงตุง  ท่านได้เคยธุดงค์ไปในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคอีสาน  ท่านได้เล่าถึงเส้นทางของภาษากลุ่มภาษาไท หรือ ไต ว่า ภาษาไทเขิน เป็นต้นกำเนิดของภาษาไททั้งหมดในภูมิภาคนี้ ถ้ารู้ภาษาไทเขิน ก็สามารถอ่านภาษาอื่น ๆ ในกลุ่มภาษาไทเข้าใจได้ทั้งหมด  โดยตัวอักษรภาษาพม่า นำอักษรไทไปทำให้เป็นกลม ๆ   อักษรภาษาเขมรนำหางมาใส่  อักษรภาษาลาว คล้ายกับอักษรภาษาไทย ทำให้เป็นเหลี่ยม ๆ  และมีจำนวนตัวอักษรมีความแตกต่างกัน  ทำให้สำเนียงการอ่านแตกต่างกันบ้าง แต่ใกล้เคียงกันเมื่อพยายามฟังอย่างละเอียด ทำให้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นความรู้ใหม่ของคณะดูงาน  แท้จริงแล้วคำว่า "ไท" หรือ "ไต" เพราะภาษาไทลือ ไทยใหญ่ ไม่มี "ท.ทหาร" เหมือนภาษาไทย จึงเรียกไทยว่า "ไต"  นอกจากนี้แล้ว "ชุมชนคนไท" หรือ "คนไต" มีอาณาบริเวณที่กว้างขวางมาก เหมือนกับครั้งหนึ่งที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ส่งหลวงวิจิตรวาทการ ไปที่ประเทศเวียดนาม และพบว่าในภูมิภาคนี้มีกลุ่มภาษาไทและคนไทเป็นจำนวนมาก  จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนชื่อประเทศสยาม มาเป็นประเทศไทย มาจนถึงปัจจุบัน

         เมืองเชียงตุง เป็นจังหวัดหนึ่งในรัฐฉานของพม่า  ตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ความสูงประมาณ 2,700 ฟุต เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มีรูปร่างเป็นแอ่งกระทะมีภูเขาล้อมรอบ มีที่ราบน้อยมาก  เชียงตุงมีฉายาว่าเป็นเมือง " 3 จอม 7 เชียง 9 หนอง 12 ประตู" โดย 3 จอม หมายถึง ยอดดอยที่อยู่ในเมืองเชียงตุง สามยอด ได้แก่ จอมมน จอมคำ และจอมทอง 7 เชียง คือ หมู่บ้านดั้งเดิมของเมืองเชียงตุง ซึ่งก่อนที่จะมีการขยายออกไปได้แก่ เชียงยืน  เชียงจันทร์  เชียงลาน เชียงงาม เชียงขุ่ม  เชียงจั่น  และเชียงจาม  ส่วน 9 หนอง ได้แก่ หนองตุง  หนองเย  หนองยาง  หนองท่าช้าง หนองแก้ว  หนองไค้  หนองป่อง  หนองผา  และหนองเข้ และ 12 ประตู คือ ประตูต่าง ๆ ของเมืองเชียงตุงที่มีมากกว่า เมืองโบราณอื่น ๆ เนื่องจากเชียงตุงมีกำแพงเมืองที่ยาวมาก เป็นกำแพงที่ล้อมรอบวียงเชียงตุง 

           เมืองเชียงตุง เป็นเมืองของชาวไทเขินและชาวไทใหญ่  ถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองเทียบเท่าเมืองเชียงใหม่แห่งล้านนาไทยและเมืองเชียงรุ้งแห่งสิบสองปันนา  ชื่อเชียงตุงมาจากชื่อของ "ตุงคฤษี" ผู้ที่ให้กำเนิดดินแดนแห่งนี้ตามตำนานเก่าแก่ โดยมีตำนานว่า เมืองนี้เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ ไม่มีทางออก มีฤษีนามว่า "ตุงคฤษี" แสดงอิทธิฤทธิ์ทำให้น้ำไหลออกไปอยู่ตรงกลางเมือง ทำให้เกิดเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า หนองตุง  และต่อมาเรียกว่า เชียงตุง และหนองนี้ไม่เคยแห้งแล้วเลย 

         เชียงตุง สร้างโดยพระญามังรายเมืองปี พ.ศ.1810 มีความสัมพันธ์กับเมืองเชียงใหม่อย่างแนบแน่น โดยแต่ก่อนก็ปกครองโดยเชื้อพระวงศ์จากราชวงศ์มังราย ต่อมาเมื่อเชียงใหม่โดยกลุ่ม "เจ้าเจ็ดตน" ก็มีความผูกพันฉันเครือญาติอยู่เสมอมา 

          ในปี พ.ศ.1872 พระยาผายูกษัตริย์เชียงใหม่ได้ส่งโอรสไปครองเชียงตุง ในสมัยกรุงศรี อยุธยา ความสัมพันธ์ระหว่างเชียงตุงกับเชียงใหม่เน้นเฟ้นมาก ตามประวัติศาสตร์ระบุไว้ว่าเมืองเชียงตุงมีเจ้าฟ้าปกครอง 33 พระองค์ กองทัพไทยพยายามเข้าไปตีเมืองเชียงตุงหลาย ๆ รอบ แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากทางเข้าไปเมืองเชียงตุงมีความยากลำบากในภูมิประเทศ จนกระทั่งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับการสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์จากรัฐบาลญี่ปุ่น จึงสามารถเข้าไปตีเมืองเชียงตุงจากพม่าได้  แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ซึ่งส่งผลต่อประเทศไทยที่เป็นคู่พันธมิตรด้วย และต้องส่งเมืองเชียงตุงคืนให้พม่าอีกครั้งหนึ่งจนถึงปัจจุบัน และเจ้าเชียงตุงก็ต้องหนีออกจากเมืองปัจจุบันไปอยู่ต่างประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย  ทั้งหมดนี้เป็นเป็นความเป็นมาของเมืองเชียงตุงโดยย่อ

          หลังจากคณะของเรากลับจากวัดแล้วเข้าสู่ที่พัก แล้วออกไปรับประทานอาหารในร้านที่คณะเดินทางที่สัมมนาด้วยกันที่เชียงราย  โดยหวังว่าจะได้ร่วมชมการแสดงของเขาด้วย  แต่คณะของเรามากินอาหารกันก่อนเวลา แล้วอิ่มก่อนเวลาที่คณะของเขาจะมาถึงกัน  และกว่าที่เขาจะแสดงก็ใช้เวลาอีกยาวนาน  คณะของเราจึงเปลี่ยนใจเข้าไปในเมือง แวะดูงานบุญประจำปีที่วัดเพื่อถือโอกาสชมวิถีชีวิตงานวัดของชาวเชียงตุงด้วย  ตอนแรกกะว่าจะชมเพียงเล็กน้อย แต่พอเข้าไปพบว่าแม้งานไม่มีอะไรเหมือนเมืองไทยที่มีทั้งของเล่น  การแสดงมากมายหลายวง เสียงแข่งประชันกันฟังแทบไม่รู้เรื่อง สำหรับงานที่นี่มีเพียงเวทีกลางอย่างเดียว ข้าง ๆ มีของเล่นเล็ก ๆ น้อย ๆ  เช่น  ปาเป้า  คณะของเราเข้าไปไหว้พระ  ถ่ายรูปในโบสถ์กันตามธรรมเนียม รวมทั้งร่วมทำบุญกับวัด  ซึ่งทางวัดให้ความสนใจการเข้าร่วมกิจกรรมกับเขาอย่างมาก โฆษกของวัดได้ประกาศว่าใครทำบุญบ้าง บางคนไม่สามารถเขียนชื่อจริงได้ เพราะภาษาไทยเขินไม่มีอักษรบางตัวเหมือนภาษาไทย   จึงใช้ชื่อเล่นในใบอนุโมทนาที่เหมือนใบเสร็จรับเงินในการทำบุญ เช่น  "ปุ้ย  ปนัดดา" เป็นต้น  บรรยากาศเริ่มมีคนเข้ามามากขึ้นในเวลาดึก มีการแสดงรำที่เวทีกลางของชนเผ่า เช่น การรำนกยูง  เป็นต้น  ทุกคนที่ยืนชมทุกวัยไม่เว้น แต่วัยรุ่นให้ความสนใจกันอย่างมากมาย บรรยากาศงานวัดในคืนนี้ ทำให้คิดถึงบรรยากาศงานวัดในเมืองไทยในอดีต ที่เปลี่ยนไปมากในปัจจุบัน งานวัดในเมืองไทยในอดีต เป็นงานที่พบปะสังสรรค์อย่างไม่เป็นทางการของคนในสังคม ชุมชน งานวัดในปัจจุบันเป็นงานเพื่อการค้า 

         เสร็จจากงานวัดคณะของเราก็เข้าสู่ที่พัก ที่ไม่ห่างไกลมากนัก แต่ตลอดสองข้างทางที่เดินทางผ่านไป ชาวเชียงตุงต่างมุ่งหน้ามาที่วัดทั้งด้วยรถจักรยานยนต์และเดินด้วยเท้า เพื่อมาเที่ยวชมงานกันอย่างต่อเนื่อง ๆ ท่ามกลางบรรยากาศที่มืดตลอดสองข้างทาง เพราะไม่มีไฟฟ้าถนนสว่างไสวเหมือนประเทศไทย  โรงแรมที่พักของเรา ชื่อว่า  "โรงแรมเชียงตุง (นิวเชียงตุง)"  ซึ่งเป็นของรัฐบาลพม่า  ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นวังเก่าของกษัตริย์เชียงตุง เมื่อรัฐบาลพม่าเข้ามาปกครองได้ปรับสภาพพื้นที่นี้เป็นโรงแรม วังเดิมก็ทุบทิ้งทำเป็นโรงแรมไม่หลงเหลือไว้ซึ่งซากของวังกษัตริย์ให้เห็นเลย  ดังนั้นเช่นเดียวกับสถานที่เก่าแก่อื่น ๆ เช่น โรงแรมจำปาสักพาเลช ในเมืองจำปาสัก ประเทศลาว ที่มีการบอกเล่าจากคณะเดินทางว่า "ผีดุ" และมีความแปลก ๆ เกิดขึ้นในโรงแรมนี้เสมอ คณะของเราก็มีคนเจอบรรยากาศเช่นนี้เหมือนกัน  

           ตอนเช้าวันใหม่คณะของเราตื่นเช้าเป็นพิเศษประมาณ 6 โมงเช้า เพื่อไปชมบรรยากาศตลาดเช้าของเมืองเชียงตุง เช่นเดียวกับการไปเที่ยวเมืองต่าง ๆ เพราะการเที่ยวชมตลาดเช้า เป็นเสมือนการได้ชมบรรยากาศวิถีชีวิตของเมืองนั้น ๆ เมื่อไปถึงพบตลาดเช้าเล็ก ๆ เรียกว่า "ตลาดน้อย"  มีร้านค้าเล็กขายอาหาร พืชผักเสียส่วนใหญ่  คณะของเราก็ซื้อชิมกันอย่างทั่วหน้า  อาหารบางอย่างแปลก แต่อร่อย และเป็นประโยชน์ที่เป็นยาสมุนไพร  เช่น  ตำใบขี้เหล็ก   เป็นต้น  ตลาดแห่งนี้แสดงให้เห็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนเชียงตุง  พื้นผักส่วนใหญ่เป็นธรรมชาติ

         หลังจากเที่ยวชมตลาดเช้าอย่างเต็มอิ่มแล้ว ได้อาหารเช้าติดไม้ติดมือมารับประทานเป็นอาหารเช้าที่โรงแรมเชียงตุง  หลังจากนั้นคณะของเราเดินทางไปยังตลาดสดเมืองเชียงตุง เหมือนสวนจตุจักรบ้านเรา  มีอาหาร  ผัก  ผลไม้ รวมทั้งสินค้าอื่น ๆ เช่น เสื้อผ้า  เครื่องมืออุปกรณ์การเกษตรขายอย่างมากมาย  สินค้ามีทั้งเป็นของพื้นเมือง จากเมืองไทย และประเทศจีน  สิ่งที่น่าสนใจ คือ การออกมาจ่ายตลาดของประชาชน นิยมนำตะกร้ามาใส่สิ่งของที่ซื้อจำนวนไม่น้อย  มีการใช้ถุงพลาสติกเหมือนเมืองไทยเช่นกัน  นอกจากนี้ไม่พบการนำจักรยานยนต์เข้ามาในตลาดเหมือนตลาดต่างจังหวัดในเมืองไทย   รถจักรยานยนต์จอดบริเวณนอกตลาดอย่างเป็นระเบียบ และเบียดเสียดกันจนเป็นที่สงสัยว่าตอนนำรถออกจากที่จอดเขาทำอย่างไรกัน  ก็ไม่ได้คำตอบสำหรับเรื่องนี้เพราะต้องรีบเดินทางไปยังเป้าหมายต่อไป 

         เป้าหมายต่อมา สำหรับการศึกษาดูงานวิถีชีวิตของคนเมืองเชียงตุงครั้งนี้ คือ ชมต้นยางใหญ่ที่มีอายุร่วม 200 ปี  ยืนตระหง่านบนเนินกลางเมืองเชียงตุง  ยังคงแข็งแรงและเป็นสัญลักษณ์ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ของชาวเมืองเชียงตุงสมัยรุ่งเรืองในระบบกษัตริย์  รวมทั้งการชมเมืองเชียงตุงจากมุมสูง หลังจากนั้น  คณะก็ไปที่เป้าหมายเกือบสุดท้ายของการศึกษาดูงานครั้งนี้ คือ บ้านทำเรื่องถม  เครื่องเงิน  ซึ่งยังคงเหลือเพียงเจ้าเดียวในเมืองเชียงตุงในปัจจุบัน ตามสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป  คณะดูงานได้ใช้เวลาในสอบถาม รวมทั้งซื้อสิ่งของพอสมควร

         ก่อนที่รับประทานอาหารกลางวันแล้วเดินทางกลับไปยังเมืองไทย คณะของเราได้เดินทางไปที่เป้าหมายสุดท้ายของการเดินทางครั้งนี้ คือไหว้วัดพระชี้นิ้วที่อยู่บนเนินเขาอีกด้านหนึ่งของเมืองเชียงตุง รวมทั้งการเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์พื้นเมืองของเมืองเชียงตุงด้วย พระชี้นิ้วมีความเป็นมาอย่างไรนั้นจำไม่ได้  แต่มีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่บริเวณนี้ที่เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสาริกธาตุแห่งหนึ่ง  และ   สามาราถมองเห็นได้ในระยะไกลเกือบทุกมุมในเมืองเชียงตุง เพราะตั้งอยู่บนพื้นที่สูง เนินเขาโดยพระยืนชี้นิ้วไปยังหนองตุง และเมืองเชียงตุง  และยังเข้าไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์พื้นเมืองของเมืองเชียงตุงที่ตั้งแสดงอยู่ใกล้ ๆ กับพระชี้นิ้ว  ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงความเป็นมาของชนพื้นเมืองในเมืองเชียงตุง  ทั้งเครื่องแต่งกายกลุ่มชาติพันธุ์  สิ่งของเครื่องใช้  ตลอดจนเกจิอาจารย์พระสงฆ์ที่เคารพสักการะของชาวเมืองเชียงตุง 

           ประมาณ 5 โมงเช้ากว่า คณะของเราเข้าไปสู่ที่พักอีกครั้งหนึ่งเพื่อเก็บสิ่งของออกจากโรงแรมที่พัก และมุ่งหน้าไปยังร้านอาหารเพื่อรับประทานอาหารเที่ยงในตัวเมืองเชียงตุง ซึ่งเป็นร้านอาหารที่มีทั้งอาหารไทยและอาหารพื้นเมือง  เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ก็มุ่งหน้ากลับสู่ประเทศไทย  ตลอดการเดินทางกลับ คณะของเราต่างทยอยกันหลับใหลด้วยความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องตื่นแต่เช้า  และการเดินทางที่หนักตลอดระยะเวลา 1 วันครึ่งที่ผ่านมา  ทำให้พลาดโอกาสที่จะซื้อของกลับที่บ้านปางควายดังกล่าวไปแล้วข้างต้น 

         คณะของเราเดินทางรวดเดียว ไม่ได้แวะเที่ยวชมที่ไหนเหมือนกับตอนเดินทางมา เพราะต้องรีบมาให้ถึงด่านแม่สาย หรือด่านท่าขี้เหล็กก่อน 6 โมงเย็น และเผื่อเวลาเล็กน้อยสำหรับการซื้อสิ่งของเป็นของฝากที่ตลาดท่าขี้เหล็ก  และคณะของเราก็กลับถึงเมืองไทยโดยสวัสดิภาพ เมื่อเวลา 18.00 น. พอดี  พร้อมเข้าพักที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นเวลา 1 คืนก่อนเดินทางกลับจังหวัดขอนแก่นในวันรุ่งขึ้น 

         การเดินทางของคณะของเราครั้งนี้  แม้จะเป็นเวลาที่ค่อนข้างน้อย ไม่อาจเก็บข้อมูลได้อย่างทั่วถึง  ใช้การสังเกตและการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่บางส่วนเท่าที่สามารถพูดคุยได้  แต่ก็ได้สิ่งที่เป็นประสบการณ์ และเป็นข้อคิดทางวิชาการที่น่าสนใจพอสมควร ทั้งสำหรับประเทศไทย และคณะศึกษาดูงาน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติสังคมวิทยาที่เป็นสาขาวิชาที่เรากำลังศึกษาอยู่  ตั้งแต่วิถีชีวิต 2 ข้างทางที่คณะของเราเดินทางผ่านไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เสียดายที่เราไม่สามารถลงไปพูดคุยกับประชาชนเหล่านี้ได้ ด้วยข้อจำกัดของเวลา และสภาพการเมืองในสหภาพพม่าที่ไม่สะดวกที่บุคคลภายนอกจะเข้าไปถึงสถานที่ใด ๆ เพื่อเรียนรู้ได้ตามใจเหมือนเมืองไทยไม่ได้  เราจึงไม่รู้ว่าในสภาพข้อเท็จจริง ความรู้สึก วิถีชีวิตของเขาที่เรามองจากภายนอกว่าเขาลำบาก นั้นเป็นจริงหรือไม่อย่างไร  เขาอยู่กันอย่างในสภาพสังคม การเมืองที่เป็นเช่นนี้  เป็นคำถามของเราที่ยังไม่ได้คำตอบ แต่สิ่งหนึ่งที่เราพอตอบได้คือ  เขาก็พยายามดิ้นรน ต่อสู้เพื่อให้ได้มีชีวิตอยู่ แม้จะมีข้อจำกัดก็ตาม เช่น พยายามสร้างไฟฟ้ามาใช้ด้วยตนเอง และไม่ต้องเสียค่าไฟด้วยซ้ำ  รวมทั้งวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับผู้คนตลอดที่เดินทางผ่านไปมา  เป็นสิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อความคิดต่อการใช้ชีวิตของเขาไม่มากก็น้อย  สื่อในพม่าถือว่าล้าหลังเมืองไทยมาก ๆ โทรศัพท์มือถือราคาเป็นแสนพอ ๆ กับเมืองไทยเมื่อ 20 กว่าปีก่อนมานี้  ดังนั้นคนที่เข้าถึงสื่อจึงน้อยมาก รวมทั้งโทรทัศน์พม่าที่เป็นของรัฐบาลทั้งหมด  คนที่อยู่ชายแดน แถวจังหวัดท่าขี้เหล็กจึงมีโอกาสเข้าถึงสื่อและเทคโนโลยีมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ในเมืองเชียงตุง  จะเห็นได้ว่าบริเวณจังหวัดท่าขี้เหล็กมีเสาโทรทัศน์ผุดขึ้นมากมาย และหันปลายเสาไปที่เมืองเชียงรายทั้งหมด  

        วิถีชีวิตของผู้คนในเมืองเชียงตุง ดูเหมือนเรียบง่าย ไม่รีบร้อนเหมือนกับเมืองไทย ซึ่งมองเห็นได้ในเชิงเปรียบเทียบเมื่อเข้าออกจากด่านแม่สาย  จังหวัดเชียงราย วิถีชีวิตคนเชียงตุงเหมือนกับวิถีชีวิตของคนไทยเมื่อประมาณ 40 - 50 ปีย้อนหลัง  หรือบางคนบอกว่าอาจจะมากกว่านั้นไปด้วยซ้ำ  มีรถยนต์น้อยมาก เพราะรัฐบาลพม่ามีกฎหมายห้ามประชาชนมีรถเกินความจำเป็น แทบไม่เห็นบริษัทขายรถยนต์ ซึ่งต่างกับเมืองเวียงจันทร์  เมืองจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่มีเห็นอยู่ทั่วไป  ทั้งนี้อีกสาเหตุหนึ่ง รัฐบาลพม่าไม่ให้ประชาชนเป็นหนี้ด้วยการซื้อของเงินผ่อนเช่นเดียวกับมาตรการของรัฐบาลลาว  แต่ด้วยความห่างไกลจากชายแดนไทยระยะทางเกือบ 200 กม. ทำให้ส่งผลต่อการขนส่งและการเจริญเติบโตของเมืองเชียงตุงเช่นกัน

        อย่างไรก็ดี  แม้จะห่างไกลแค่ไหน วัฒนธรรมในกระแสโลกาภิวัตน์ก็ได้แผ่เข้าไปถึงวัยรุ่นในเมืองเชียงตุงอย่างไม่สามารถปิดกั้นได้  ซึ่งพบเห็นได้ในคืนที่เที่ยวชมงานวัด การแต่งกายของวัยรุ่นเมืองเชียงตุงในปัจจุบันโดยเฉพาะทรงผม เลียนแบบดาราเกาหลีไม่ต่างจากประเทศไทย เป็นประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในทางสังคมวิทยาต่อไป

        วัด และพุทธศาสนา ยังเป็นที่สนใจและเคารพบูชาของประชาชนในเมืองเชียงตุงมาก แต่ในอีกด้านหนึ่งเราพบว่า มีพระ เณรหลายรูป ยืนบิณฑบาตขอเงินประชาชนที่เดินทางไปมาตลอดทั้งวัน ที่คนเชียงตุงแทบไม่ได้สนใจในพฤติกรรมเหล่านี้แต่อย่างใด  จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นคำถามของคณะเดินทางของเราว่ามันมีอะไรที่เป็นคำตอบอยู่เบื้องหลังสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้น  มันเป็นเพราะการแบ่งแยกวัดไทใหญ่ และวัดไทเขินออกจากกัน มาจากคนอีกกลุ่มหนึ่งถูกกีดกัน และเป็นผลสะท้อนที่ออกมาดังที่เห็นหรือไม่ เป็นข้อสมมติฐานของคณะเราที่คงต้องหาคนช่วยตอบคำถามนี้ต่อไป

         ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่คณะดูงานของเราไปศึกษาดูงานครั้งนี้ แม้หลายคนอาจบอกว่าเป็นการไปเที่ยว แต่การเข้าถึงเมืองเชียงตุงจะเป็นด้วยวิธีอื่นคงยากนอกเหนือจากการเข้าไปด้วยวิธีการท่องเที่ยว แต่เมื่อเข้าไปแล้วเราจะเก็บประเด็นที่ได้จากการท่องเที่ยวมาแปลงเป็นประเด็นที่เป็นประโยชน์ทางวิชาการอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้บางครั้งไม่จำเป็นต้องเป็นคำตอบเสมอไป แต่อาจเป็นคำถามที่เป็นช่องทางให้คนกลุ่มอื่น ๆ ที่เข้าไปในช่วงหลังช่วยกันต่อยอดเพื่อค้นหาคำตอบต่อไป  ทำให้เราเข้าใจเมืองเชียงตุงมากยิ่งขึ้น  รวมทั้งการคิดในเชิงเปรียบเทียบกับสังคมเมืองไทยด้วย  

         คณะศึกษาดูงานได้บันทึกเอกสารเรื่องนี้ไว้ เพื่อถ่ายทอดสำหรับผู้ที่สนใจ และนำไปสู่การต่อยอดองค์ความรู้ที่เป็นคำถาม  ที่เราไม่เคยรู้เป็นประโยชน์ในทางวิชาการมหาศาลต่อไป สิ่งใดที่เป็นข้อผิดพลาดในเชิงข้อมูลผู้เขียนขออภัยด้วยเป็นอย่างยิ่ง และการสะท้อนกลับเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์และช่วยทำให้เรื่องราวนี้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

 

หมายเลขบันทึก: 259785เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2009 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เขียนเรื่องได้ยาว มีภาพประกอบที่ดีค่ะ

 

ขอบคุณคุณโชติค่ะ ที่บันทึกการเดินทางที่ประทับใจนี้ไว้

เอาไว้เลิกตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน๊อตเมื่อไหร่จะเข้ามาแจมข้อมูลเพิ่มเติมนะคะ

สุดยอดค่ะ

ขอขอบคุณข้อบันทึกที่ละเอียดสุดๆ อ่านแล้วเหมือนได้ร่วมเดินทางด้วย

เยี่ยมครับ

เห็นแล้วอยากไปม่างอ่ะคร้าบ ไม่น่าติดงานเลยอ่ะ คราวหน้าป๋าพาไปด้วยนะคร้าบ

เชียงตุง ดินแดนที่น่าเดินทางไปท่องเที่ยว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท