จุดเด่นพระพุทธศาสนา


จุดเด่นพระพุทธศาสนา

๑.แม้จะตัดความเชื่อในเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ออก ก็ไม่ทำให้พระพุทธศาสนากระทบกระเทือนอะไรแม้แต่น้อย เพราะพระพุทธศาสนามิได้มีรากฐานอยู่บนฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ หากแต่อยู่ที่เหตุผลและคุณงามความดีที่พิจารณาเห็นได้จริงๆ

๒.พระพุทธศาสนาเป็นตัวอย่างลัทธิประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดของโลก มีหลักการและวิธีการอันทันสมัยอยู่จนทุกวันนี้

๓.พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกที่ส่งเสริม สิทธิมนุษยชนโดยสอนให้เลิกระบบทาส ไม่เอามนุษย์มาเป็นสินค้าสำหรับซื้อขายห้ามมิให้ภิกษุทาสไว้รับใช้ กับทั้งสอนให้เลิกทาสภายใน คือไม่เป็นทาสของความโลภ ความโกรธ และความหลง

๔.พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกที่สอนให้มนุษย์เลิกดูหมิ่นเหยียดหยามกัน เพราะเรื่องถือชั้นวรรณะ เพราะเหตุแห่งชาติและวงศ์สกุล โดยตั้งจุดนัดพบกันไว้ที่ศีลธรรม ใครจะเกิดในสกุลสูงต่ำยากดีมีจนอย่างไร ไม่เป็นประมาณ ถ้าตั้งอยู่ในศีลธรรมแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นคนดีที่ควรยกย่องสรรเสริญ ถ้าตรงกันข้ามคือล่วงละเมิดศีลธรรมแล้ว แม้จะเกิดในสกุลสูงก็นับว่าเป็นคนพาลอันควรตำหนิ

๕.พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกที่สอนที่สอนปฏิวัติเรื่องการทำบุญ โดยงดเว้นวิธีฆ่าสัตว์หรือฆ่ามนุษย์บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการทำให้ผู้อื่นเดือนร้อน หากสอนให้ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์แทนการเบียดเบียน และสอนให้หาทางชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดว่าเป็นบุญ

๖.พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนลัดตัดตรงเข้าหาความจริงให้กล้าสู้หน้ากับความจริง เช่นในเรื่องความเกิดแก่เจ็บตาย ให้หาประโยชน์จากความจริงนั้นให้ได้ รวมทั้งสอนอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องฤกษ์ยาม น้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นต้น และการสอนให้เป็นเทวดาได้ในชีวิตนี้โดยไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อน ด้วยการแสดงธรรมที่ประพฤติปฏิบัติตามแล้วจะเป็นเทวดาในปัจจุบันชาติ

๗.พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้แก้ความเสื่อมทางศีลธรรม โดยไม่มองข้ามปัญหาด้านเศรษฐกิจ สอนให้แก้ความชั่วด้วยความดี และสอนให้แก้ที่ตัวเราเองก่อน โดยไม่ค่อยเกี่ยงให้คนทั้งโลกดีหมดแล้วเราจึงจะดีเป็นคนสุดท้าย แม้ในการสอนให้มีเมตตาจิต ก็ให้หัดแผ่เมตตาในตนเองก่อน เพื่อจะได้เป็นพยานว่า เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นก็มีความรักสุขเกลียดความทุกข์ฉันนั้น

๘.พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้ถือธรรม คือความถูกต้องตามเหตุผลเป็นประมาณ ที่เรียกว่าธรรมาธิปไตย ไม่สอนให้ถือตนเองเป็นใหญ่ หรือสอนให้ถือคนอื่นเป็นใหญ่ หลักคำสอนเรื่องผู้เห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ปฏิบัติธรรมชื่อว่าอยู่ใกล้พระพุทธเจ้าคำสอนเรื่องอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา และการตั้งพระธรรมวินัยไว้เป็นพระศาสดาแทนพระองค์ของพระพุทธเจ้าก็เป็นการสอนแบบธรรมาธิปไตยนี้

๙.พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนเน้นหนักในเรื่องของสติปัญญาในการดำเนินชีวิต ให้รู้จักกำจัดความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยการพิจารณาให้เห็นต้นเหตุของความทุกข์ แล้วแก้ไขให้ถูกทางไม่ให้เชื่อถืออย่างงมงายไร้เหตุผล

๑๐.พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้รู้จักพึ่งตนเอง ในการประกอบคุณงามความดี โดยการยกระดับแห่งชีวิตของตนให้สูงขึ้นไม่สอนให้คิดแต่จะเอาดีด้วยการอ้อนวอนบวงสรวง คำสอนข้อนี้เป็นเหตุให้เกิดหลัก เรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ที่เรียกว่า กฎแห่งกรรม อันทำให้ชาวต่างประเทศหันมานิยมนับถือมากขึ้น

๑๑.พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวในโลก ที่กล้าปฏิเสธตรรกศาสตร์ ซึ่งชาวโลกถือว่าเป็นศาสตร์แห่งศาสตร์ทั้งหลาย โดยได้เสนอหลักการอย่างอื่นที่สูงกว่า แน่นอนกว่า พร้อมทั้งให้เหตุผลไว้อย่างแจ้งชัด

๑๒.พระพุทธศาสนามีหลักเกณฑ์และวิธีการในการสั่งสอนตลอดจนตัวคำสอนอันเป็นวิทยาศาสตร์มาก่อนที่วิชาวิทยาศาสตร์ของโลกจะเกิดเป็นเนื้อเป็นตัวขี้น

๑๓.พระพุทธศาสนาสอนให้พยายามพึ่งตนเอง ไม่ให้มัวคิดแต่พึ่งคนอื่น

๑๔.พระพุทธศาสนาสอนให้ทำความดีเพราะเห็นแก่ความดีไม่ใช่ทำความดีด้วยความโลภคืออยากได้สิ่งตอบแทน หรือทำด้วยความหลง คือไม่รู้ความจริง บางครั้งนึกว่าดีแต่กลายเป็นชั่ว

๑๕.พระพุทธศาสนาสอนให้มีความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้านยิ่งสำหรับคฤหัสถ์ การตั้งเนื้อตั้งตัว ต้องมีความพอใจและความขยันหมั่นเพียรเป็นหลัก

๑๖.พระพุทธศาสนาสอนให้มีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

๑๗.พระพุทธศาสนาสอนว่า การอยู่ในอำนาจผู้อื่นเป็นทุกข์จึงสอนให้อิสรภาพทั้งภายนอกและภายใน อิสรภาพภายในคือไม่เป็นทาสของกิเลส ถ้ายังละกิเลสไม่ได้ ก็อย่าถึงกับปล่อยให้กิเลสบังคับมากเกินไป

๑๘.พระพุทธศาสนาสอนให้เอาชนะความชั่วด้วยความดีให้ระงับเวรด้วยการไม่จองเวร และในขณะเดียวกันให้พยายามทำตนอย่าให้มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นให้รู้จักผูกไมตรี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน

๑๙.พระพุทธศาสนาสอนให้ประกอบเหตุ คือลงมือทำเพื่อให้เกิดผลที่มุ่งหมาย ไม่ใช่ให้คิดได้ดีอย่างลอยๆ โดยคอยพึ่งโชคชะตาหรืออำนาจลึกลับใดๆ

๒๐.พระพุทธศาสนาสอนให้ลงมือปฏิบัติ เพื่อจะให้รู้แจ้งผลดีด้วยตนเอง ไม่ต้องเดาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตราบใดยังเดาอยู่ ตราบนั้นยังไม่ชื่อว่ารู้ความจริง

๒๑.พระพุทธศาสนาสอนให้มีความอดทน ต่อสู้กับความยากลำบากและอุปสรรคทั้งหลาย ไม่เป็นคนอ่อนแอ พอพบอุปสรรคก็วางมือทิ้ง ถือว่าความอดทนจะนำประโยชน์และความสุขมาให้

๒๒.พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้เชื่ออะไรอย่างงมงายไร้เหตุผลให้ใช้ปัญญากำกับความเชื่ออยู่เสมอ นอกจากนั้น ยังสอนให้รู้จักพิสูจน์ความจริงด้วยการทดลอง การปฏิบัติและการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

๒๓.พระพุทธศาสนาสอนกว้างกว่าเทศบาลและรัฐบาล คือ เทศบาลปกครองท้องถิ่น รัฐบาลปกครองประเทศ โดยสอนให้มีโลกบาลคือธรรมอันปกครองโลก ได้แก่ หิริ ความละอายแก่ใจ และ โอตตัปปะความสะดุ้งกลัวต่อบาปทุจริต

๒๔.พระพุทธศาสนาสอนให้มีสติปัญญาคู่กัน คือให้มีเฉลียวคู่กับฉลาดไม่ใช่เฉลียวหรือฉลาดเพียงอย่างเดียว จึงสอนให้มีสติสัมปชัญญะคู่กัน และถือว่าเป็นธรรมอุปการะมาก

๒๕.พระพุทธศาสนาสอนให้บุคคลมีความเจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ เช่นสอนให้เคารพในการศึกษา ให้มีการสดับตรับฟังมาก ให้คบหาผู้รู้หรือคนดี และสนใจฟังคำแนะนำของท่าน โดยเฉพาะได้สอนว่าไม่สรรเสริญการยึดอยู่ในคุณความดี สรรเสริญแต่ความดีความเจริญก้าวหน้า

๒๖.พระพุทธศาสนาสอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ เพื่อจะได้อยู่เป็นผาสุกร่วมกันในสังคม

๒๗.พระพุทธศาสนาสอนมิให้ปลูกศัตรูหรือมองเห็นใครต่อใครเป็นศัตรู โดยเฉพาะไม่สอนให้เกลียดชังคนนับถือศาสนาอื่นจึงนับว่าเป็นศาสนาที่มีใจกว้างขว้าง

๒๘.พระพุทธศาสนาสอนมิให้ใช้วิธีอ้อนวอนบวงสรวงเพื่อให้สำเร็จผล แต่สอนให้ลงมือทำ เพื่อให้เกิดผลที่มุ่งหมายนั้นโดยถูกทาง

๒๙.พระพุทธศาสนาสอนให้มองโลก โดยรู้เท่าทันความจริงที่ว่า มีความไม่เที่ยงแท้ถาวร ทนอยู่ไม่ได้และไม่ใช่ตัวตนที่พึงยึดถือจะได้มีความปลอดโปร่งใจ ไม่ยึดมั่นจนเกินไปซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้โดยง่าย

๓๐.พระพุทธศาสนาสอนให้ถือธรรมคือความถูกตรงเป็นใหญ่ไม่ให้ถือตนเป็นใหญ่หรือถือโลกเป็นใหญ่พูดง่ายๆ คือไม่ถือบุคคลเป็นสำคัญ แต่ถือธรรมคือความถูกตรงเป็นสำคัญ

๓๑.พระพุทธศาสนาสอนปรมัตถ์ คือประโยชน์อย่างยิ่งคือให้รู้จักความจริงที่เป็นแก่นไม่หลงติดอยู่ในความสมมติต่างๆ เช่น ลาภ ยศ เป็นต้น แต่ในการเกี่ยวข้องกับสังคม ก็สอนให้รู้จักรับรองสมมติ ทางกายและทางวาจาตามควร เช่นเมื่อเข้าประชุมชนก็ให้ทำตนให้เข้ากับประชุมชนนั้นๆ ให้ใช้ถ้อยคำให้ถูกต้องตามสมมติบัญญัติไม่ใช่ถือเมื่อไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวคนเราเขาแล้ว ก็เลยเข้ากับใครไม่ได้การที่พระพุทธศาสนายั่งยืนมาได้ ก็เพราะถึงความรับรองสมมติบัญญัติก็รับรองตามสมควร ถึงคราวสอนใจให้รู้เท่าสมมติบัญญัติ ก็สอนใจมิให้ติดให้หลงจนเป็นเหตุมัวเมางมงาย

๓๒.พระพุทธศาสนาสอนธรรมตั้งแต่ชั้นต่ำจนถึงชั้นสูง แต่ละประเภทเหมาะแก่จริต อัธยาศัยและความสามารถของแต่ละคน เหมือนให้อาหารแก่เด็กอ่อนแก่เด็กโต ตามความเหมาะสมฉะนั้น

๓๓.พระพุทธศาสนาสอนว่า ปัญญาเป็นเครื่องส่องทางแห่งชีวิต ที่นับเป็นแสงสว่างในโลก และได้สอนต่อไปว่า ปัญญานั้นทำให้เกิดได้ ไม่ใช่ปัญญาตามบุญตามกรรม การทำให้เกิดปัญญาคือการคิดการศึกษาสดับตรับฟัง และการลงมือปฏิบัติอบรมให้เกิดปัญญา

๓๔.พระพุทธศาสนาสอนเน้นหนักไปในเรื่องความกตัญญูรู้คุณผู้อื่นและกตเวทีตอบแทนคุณท่าน และสรรเสริญว่า ใครมีคุณข้อนี้ชื่อว่าเป็นคนดี และประพฤติสิ่งเป็นสวัสดิมงคล

๓๕.พระพุทธศาสนาสอนให้ดับทุกข์ โดยให้รู้จักว่าอะไรเป็นการดับทุกข์ อะไรเป็นต้นเหตุและการดับความทุกข์ ได้แก่ดับเหตุของทุกข์รวมทั้งให้รู้จักข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงความดับทุกข์ด้วย จึงชื่อว่าสอนเรื่องดับทุกข์ได้อย่างมีเหตุผล ซึ่งควรจะได้ศึกษาและปฏิบัติตาม

๓๖.พระพุทธศาสนามิได้สอนให้ย่ำยีหรือซ้ำเติมคนที่ทำอะไรผิดไปแล้ว ควรจะช่วยกันให้กำลังใจ ในการกลับตัวของเขา ไม่ควรดูหมิ่นเหยียดหยาม พระพุทธเจ้าเองก็เคยเล่าถึงเรื่องความผิดของพระองค์เอง ในสมัยเมื่อยังคงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ อันแสดงว่าตราบใดยังมีกิเลส ตราบนั้นก็อาจทำชั่วทำผิดได้ แต่ข้อสำคัญถ้ารู้ว่าอะไรผิดอะไรชอบแล้ว ต้องพยายามกลับตัวให้ดีขึ้นเสมอ

๓๗.พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้เห็นอกเห็นใจบุคคลอื่น ผู้ที่ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น จะเพราะชาติตระกูล เพราะทรัพย์หรือเพราะเหตุอื่นใดก็ตาม ไม่ชื่อว่าปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา

๓๘.พระพุทธศาสนาสอนว่า การคบเพื่อนที่ดีย่อมจะชวนกันไปในทางที่ดี พระอานนท์เสนอว่าเป็นกึ่งพรหมจรรย์ พระพุทธตรัสว่าเป็นตัวพรหมจรรย์เลยทีเดียว แสดงว่ายกย่องกัลยาณมิตรมาก

๓๙.พระพุทธศาสนาสอนให้รักษา กาย วาจา ให้เรียบร้อยด้วยศีล ให้รักษาจิตให้สงบไม่ฟุ้งซ่านด้วยสมาธิ และให้รักษาทิฏฐิคือความเห็นมิให้ผิด ให้ไปตรงทางด้วยปัญญา ฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา จึงเป็นข้อปฏิบัติเด่นที่สุดทางพระพุทธศาสนา

๔๐.พระพุทธศาสนาสอนว่า ถ้าไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไรดีเพราะข้อปฏิบัติมีมากเหลือเกิน ก็สอนให้ปฏิบัติเพียงอย่างเดียว คือให้รักษาคุ้มครองจิตให้เป็นไปถูกทาง เสร็จแล้วจะเป็นอันคุ้มครองกาย วาจา และอื่นๆในตัวด้วย

๔๑.พระพุทธศาสนาสอนทางสายกลาง ระหว่างการทรมานตัวเองให้เดือดร้อนกับการปล่อยตัวให้เหลิงเกินไป และสอนสายกลางระหว่างความเห็นที่ว่าเที่ยงกับความเห็นที่ว่าขาดสูญ การสอนทางสายกลางนี้ ย่อมเป็นประโยชน์ในที่ทุกสถาน

๔๒.พระพุทธศาสนา สอนให้รับฟังความคิดเห็นของคนอื่นบ้างไม่เป็นคนดื้อว่ายากสอนยาก คนที่ฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ย่อมมีโอกาสแก้ไขความผิดพลาดบกพร่อง ของตนเองอยู่เสมอ

๔๓.พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักเสียสละเป็นชั้นๆ ให้สละสุขอันเล็กน้อยเพื่อสุขอันสมบรูณ์ ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะให้สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม

๔๔.พระพุทธศาสนาสอนว่า เมื่อมีศีลย่อมเป็นอุปการะให้เกิดสมาธิได้เร็วเมื่อมีสมาธิก็ช่วยให้เกิดปัญญาได้สะดวกขึ้น

๔๕.พระพุทธศาสนาสอนรวบยอดให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทคือสอนไม่ให้ลืมตน ทะนงตนหรือขาดความระมัดระวัง ท่านถือว่าความประมาทเป็นทางแห่งความตาย จึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาททั่วกัน เป็นต้น

               

(พระราชธรรมนิเทศ : ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา , ๒๕๓๖ , หน้า ๑๑๐-๑๑๘)

หมายเลขบันทึก: 258887เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2009 23:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นความจริงทุกประการ มีความสุขที่ได้รู้ได้อ่าน จะพยายามทำตามคำสอนของพระพุทธองค์ให้ได้มากที่สุด

มีสาระมากเลยค่ะ...เด็กๆๆรุ่นหลังควรให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนาด้วยนะคะ วันพระก็ควรเข้าวัดฟังธรรม...สุขกายสบายใจดีค่ะ

พอดีมีการบ้านค่ะ

เรื่องของศาสนาน่ะค่ะ

ต้องขอบคุณจริงๆค่ะ

มีประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการค้นคว้ามาก

แล้วก็นำไปปฏิบัติด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท