บทสนทนาว่าด้วย "อารมณ์กับเหตุผล"


"จงย้อนกลับมาดูตัวเอง มองตัวเองในฐานะผู้ปฏิบัติ มิใช่ผู้เผยแพร่" ทุกถ้อยคำที่เขียนในทุก ๆ บันทึกจึงเป็นเรื่องของการฝึกฝน มิใช่จะโน้มน้าวให้ใครหลงเชื่อ ขอให้จงเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนปฏิบัติและเห็นเอง....

ในวันนี้ที่ฟ้าหม่นหมอง เสียงฟ้าร้อง แผ่นดินสั่นสะเทือนเหมือนฝนทำท่าจะตกใหญ่  ศิลาก็ได้รับโทรศัพท์ของกัลยาณมิตรที่มีจิตใจงดงามท่านหนึ่ง

       

                 

เราสนทนาภาษาคนธรรมดาอย่างเข้าใจ มีคำพูดหลายคำที่ฟังแล้วอึ้งและประทับใจ

 

ขอสรุปย่อ ๆ พอได้ใจความไว้เป็นบทเรียนให้ตนเองได้กลับมาทบทวนอีกครั้ง

 

            หัวข้อที่ 1 เราคุยกันถึงเรื่อง “อารมณ์หดหู่”

 

กัลยาณมิตรท่านบอกว่า เป็นธรรมดาของคนเราในสังคมทำงานที่จะต้องเจอะเจอสภาวะของจิตที่หดหู่เศร้าหมอง  เมื่อเกิดอารมณ์นั้นขึ้น ท่านก็จะปลีกวิเวก สันโดษตนเอง อยู่กับตัวเองแบบรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง จนกระทั่งมันหายไปเอง

 

ศิลาก็แลกเปลี่ยนไปบ้างว่า  โดยส่วนตัว  เวลาหดหู่ก็จะอยู่กับตัวเองเช่นเดียวกัน อาการก็จะคล้าย ๆ กัน ต่างกันเล็กน้อยตรงที่ว่าหากศิลาไม่บอกคนใกล้ตัวว่าหดหู่แล้วนะ เขาก็จะไม่ทราบ  เพราะแสดงอาการปกติ และออกจะไปในทางหาอะไรมาทำให้หนักอึ้งผิดปกติ  และสดใสร่าเริงจนคนภายนอกก็อาจจะดูไม่ออก

 

ปัญหาคือไม่ว่าจะอย่างไร หากเกิดอาการนี้แล้วก็จำเป็นต้องยอมรับกับตัวเองว่าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ อย่าหนี อย่ารังเกียจอารมณ์ด้านลบของตนเอง  หรืออย่าเก็บกดอารมณ์นี้ด้วยการนำอารมณ์อื่นมาปิดบัง บิดเบือน

 

ถามถึงสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้คนเราหดหู่ไม่ต้องไปหาเหตุผลเลยนะคะ ไม่มี ถึงมีก็อาจเป็นเหตุผลที่ปรุงแต่งทั้งนั้น  ไม่ต้องไปสนใจเรื่องที่ทำให้หดหู่  แต่สนใจ ดูอาการหดหู่ก็พอแล้ว

หัวข้อที่ 2 อย่ากลัว “ความโง่”

เราคุยกันเรื่องความไม่รู้ หรือความโง่ กัลยาณมิตรท่านบอกว่าเคยกลัวว่าเราจะไม่รู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ ตอนหลังก็ทำความเข้าใจใหม่ว่าไม่รู้ก็ดีเหมือนกันจะได้เป็นประเด็นในการเข้าหาผู้รู้เพื่อการแลกเปลี่ยนกับเขา  ประมาณว่าหาเรื่องผูกมิตร จะได้กัลยาณมิตรใหม่ ๆ อยู่เสมอ

 

ศิลาเห็นด้วยอย่างยิ่ง  หากเราทำตัวรู้ไปเสียหมด หรือทำให้คนอื่นเข้าใจว่าเรารู้ ก็อาจจะยิ่งทำให้เราไม่รู้ตัวว่าเรา “ไม่รู้จริง”  หลายครั้งที่ศิลาได้ยอมรับตรง ๆ ว่า “ไม่รู้ในเรื่องนั้น เรื่องนี้นะ  เป็นเพียงผู้กำลังศึกษาเท่านั้น” สิ่งที่เขียนมาทั้งหมดแล้วนั้น ไม่ใช่ว่าวันหนึ่งจะไม่เกิดการทบทวนและเปลี่ยนแปลงใหม่ วันดีคืนดี เราเข้า (ถึง) ใจในเรื่องเดียวกันใหม่ เราอาจจะกลับมาแก้ไขสิ่งที่เราบันทึกไปก็ได้

 

จึงไม่ได้รู้สึกละอายใจหากจะมีใครยืนต่อว่าว่า “เราไม่รู้เรื่องนั้นจริง ๆ ”  สิ่งที่ทำให้เราละอายใจคือว่าเราหลอกตัวเองและใคร ๆ ว่าเรารู้โดยที่เราไม่รู้ต่างหาก  แต่ตลอดเวลาศิลาได้บอกกับตัวเองเสมอว่า  เรื่องใดที่เรากำลังศึกษาอยู่และกำลังเขียนอยู่คือการฝึกฝนตนจากความไม่รู้ และไม่กลัวที่จะบอกว่า “โง่” ในเรื่องใด ๆ

 

เราสองคน (ศิลากับกัลยาณมิตร) ได้ข้อสรุปที่ตรงกันคือว่าหากมีใครทำให้เรารู้สึกว่า “คุณไม่รู้ในเรื่องนั้นจริงนะ”  เราก็จะน้อมรับกลับมาดูตัวเอง แก้ไข พัฒนาตนเองต่อไป

 

ในหัวข้อสนทนานี้  สอดคล้องกับที่พ่อบ้านของศิลาก็ได้มาสอนศิลาเพิ่มเติมว่าเวลาที่มีใครมาวิพากษ์วิจารณ์เรา .. จะมีผู้รับฟังอยู่สามประเภทนะ

1.  ถูกตำหนิ แล้วเพ่งโทษเขากลับไป         "ดูตัวคุณเองบ้างหรือยัง"

2.  ถูกตำหนิ แล้วหมดกำลังใจท้อแท้          "ดูตัวเองแล้วเศร้าจัง"

3.  ถูกตำหนิ แล้วมาสำรวจตัวเองเพื่อแก้ไข"ดูตัวเองแล้วต้องฝึกฝนให้จงหนัก"

 

เลือกเอาว่าจะเป็นคนประเภทไหน  ไม่ต้องบอกก็รู้นะคะว่าจะเลือกข้อไหนกัน

เขาจะพูดเสมอว่า...อย่าไปมองคนอื่นนะ  ให้มองที่ตัวเอง...

 

ผู้ให้ความรู้เป็นทานต้องทำลายตัวเอง อย่ามองตัวเองว่าเป็นผู้รู้ และมองว่าผู้อื่นไม่รู้หรือรู้น้อยกว่า   แต่ควรมองกลับมาที่ตัวเองในฐานะที่ก็เคยเป็น“ผู้ไม่รู้” มาก่อน หรือ  ขณะนี้ อาจจะไม่รู้จริงในบางเรื่องอยู่ก็ได้...การให้ความรู้จึงควรเปี่ยมด้วยเมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์อย่างแท้จริง 

"ครูผู้รู้ที่ใจ" ใช่ว่าหาได้ง่าย ๆ... ตลอดชีวิต คิดว่าโชคดีที่เจอครูส่วนใหญ่ที่จะคอยให้กำลังใจศิษย์อยู่เสมอ...โดยพูดความจริงที่ชี้แนะแนวทางแก้ไข  หนทางสว่างไสวให้ศิษย์รู้เพื่อพัฒนาตน...น้อยครั้งมากที่จะเจอคนมาตัดสินตัวเราโดยไม่ชี้ทางให้

หัวข้อที่ 3 ชวนไปฟังธรรมบรรยายที่วัด

 

 หัวข้อนี้ น่าสนใจค่ะ กัลยาณมิตรท่านชวนขับรถไปฟังธรรมบรรยายที่ต่างจังหวัด  วันธรรมดา ออกเดินทางแต่เช้ามืด เพราะพระอาจารย์ท่านจะเริ่มเทศนาตอน 7.00.  ตรงกับใจของศิลากับพ่อบ้านที่เคยตั้งใจกันไว้ว่าจะไปพอดี พ่อบ้านบอกว่าได้เลย แต่ขอให้เป็นเรื่องของธรรมะจัดสรร เพราะช่วงนี้ไม่ค่อยว่างแล้วทำไมต้องมีคำว่าได้เลย ให้หลงดีใจด้วยล่ะ? เราก็นึกว่าจะไปกันเร็ว ๆ นี้

 

สำหรับสาเหตุที่อยากไปกัน  อย่างแรกเลยคือศรัทธา  เวลาที่คนเดินดินกินเกาเหลา (ไม่มีเส้น) อย่างเรา อาจจะสร้างบุญบารมีมาไม่มากนัก การที่ได้ไปไหว้พระที่เป็นที่เคารพศรัทธาย่อมสร้างพลังใจทำให้เราอยากทำในสิ่งที่ตั้งมั่นไว้ ด้วยฉันทะ...จะบรรลุผลหรือไม่ ไม่สำคัญ  เพราะไม่ได้มีความอยาก (ตัณหา) อะไรมากนัก  

 

เมื่อเช้ามืดนี้ก็ได้ฟังธรรมที่มีผู้ถามพระท่านว่า

ทำอย่างไรจึงจะปฏิธรรมจนบรรลุได้ รู้สึกว่ากิเลสเต็มไปหมดเลย รู้สึกท้อแท้ใจมาก  ชาตินี้คงไม่มีบุญวาสนาแล้วกระมังคะ

 

พระท่านก็บอกว่า  ดีแล้วนะมองเห็นกิเลสตนเอง  แต่ก็อย่าท้อนะ  หากว่าปัจจุบันมองดูตัวเองเช่นไร อนาคตก็จะเป็นเช่นปัจจุบันนั้นเอง...

 

                            

              ลิขิตฟ้าหรือจะเท่าลิขิตคน 

 

 "จงย้อนกลับมาดูตัวเอง มองตัวเองในฐานะผู้ปฏิบัติ มิใช่ผู้เผยแพร่" 

ทุกถ้อยคำที่เขียนในทุก ๆ บันทึกจึงเป็นเรื่องของการฝึกฝน มิใช่จะโน้มน้าวให้ใครหลงเชื่อ  เพียงเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนปฏิบัติและเห็นเอง แม้เพียงเท่าหางอึ่ง....และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง    ขอจงเชื่อในความดึของตนที่แม้จะทำได้

แค่งู ๆ ปลา ๆ ก็ค่อย ๆ เริ่มต้นไต่เต้าไปนะ...

 

        รอยยิ้มแห่งหัวใจเกิดขึ้นได้หากย้อนกลับมามองตนเอง

     

                ------------------------------------------------------

ขอจบตามสไตล์ศิลาแบบผู้ไม่รู้ โดยขอยกเรื่อง "ปัญญา" มาอ้างอิง   จากแหล่งข้อมูล http://www.dhammajak.net/book/panya/panya01.php

 

 ในมิลินทปัญหา พระนาคเสนได้กล่าวถึงลักษณะของปัญญา ๒ ประการ คือ

๑.ปัญญามีการตัดเป็นลักษณะ ข้อนี้มีอุปมาว่า ในการเกี่ยวข้าว ชาวนาจะจับกอข้าวด้วยมือข้างหนึ่ง จับเคียวด้วยมืออีกข้าง แล้วตัดให้ขาดด้วยเคียวที่ถือไว้ ฉันใด ในการเจริญภาวนา ผู้บำเพ็ญเพียรควบคุมใจไว้ด้วยโยนิโสมนสิการ แล้วตัดกิเลสด้วยปัญญา

 

๒.                     ปัญญามีการทำให้สว่างเป็นลักษณะ ข้อนี้มีอุปมาว่า เมื่อบุคคลส่องประทีปเข้าไปในที่มืด แสงประทีปย่อมกำจัดความมืด ทำให้เกิดแสงสว่าง รูปทั้งหลายย่อมปรากฏชัด ฉันใด เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ก็กำจัดความมืด คืออวิชชา ทำให้เกิดแสงสว่าง คือวิชชา ทำให้เกิดแสงสว่าง คือญาณ ทำอริยสัจทั้งหลายให้ปรากฏขึ้น ฉันนั้น

-----------------------------------------------------

  ในสังคีติสูตร (บาลีเล่ม ๑๑ ข้อ ๒๒๘ ย่อว่า ๑๑/๒๒๘) กล่าวถึง ปัญญา ๓ คือ

       ๑. จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิด (เองไม่ได้ฟังมจากคนอื่น)

           ๒. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง (การอ่าน หรือ   การศึกษาเล่าเรียน)

๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการอบรมจิตใจ (ละกิเลสได้ด้วยปัญญาชนิดนี้)

-----------------------------------------------

 

          ในสังคีติสูตร กล่าวถึงปัญญา ๓ อีกหมวดหนึ่ง คือ

           ๑. อายโกศล รอบรู้ในความเจริญ (รู้เหตุที่ทำให้อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญ)

           ๒. อปายโกศล รอบรู้ในความเสื่อม (รู้เหตุที่ทำให้กุศลธรรมเสื่อม อกุศลธรรมเจริญ)

๔. อุปายโกศล รอบรู้ในความเจริญและความเสื่อม

 

           ในอวกุชชิตสูตร (๒๐/๔๖๙) กล่าวถึงบุคคล ๓ จำพวก คือ

๑. ผู้มีปัญญาดังหม้อคว่ำ ได้แก่ ผู้ที่รับฟังหรือเรียนอะไรแล้วก็ไม่เข้าใจ เปรียบเหมือนหม้อคว่ำซึ่งไม่อาจรองรับน้ำที่เทลงมาได้เลย

๒. ผู้มีปัญญาดังหน้าตัก ได้แก่ ผู้ที่รับฟังหรือเรียนอะไรแล้วพอเข้าใจได้ แต่หลังจากนั้นก็ลืมหมด เปรียบเหมือนผู้ที่กำลังนั่งเคี้ยวกินขนมต่างๆ ซึ่งวางอยู่บนหน้าตัก แต่เมื่อเขาเผลอตัวลุกขึ้น ขนมก็หล่นลงพื้นหมด

๓. ผู้มีปัญญามาก ได้แก่ ผู้ที่รับฟังหรือเรียนอะไรแล้วเข้าใจและจำได้ไม่ลืม เปรียบเหมือนหม้อหงายซึ่งรองรับน้ำที่เทลงมาได้หมด

 

                      ---------------------------------------------------------------

           ในสังคีติสูตร กล่าวถึงปัญญา ๔ คือ

           ๑. ทุกขญาณ ความรู้ในทุกข์

          ๒. ทุกขสมุทยญาณ ความรู้ในเหตุให้ทุกข์เกิด

          ๓. ทุกขนิโรธญาณ ความรู้ในความดับทุกข์

๕.   ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาญาณ ความรู้ในการปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

           พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธรรมบท (๒๕/๓๐) ว่า ปัญญาย่อมเกิดจากการประกอบความเพียร (ไม่ใช่เกิดเองโดยบังเอิญ) ปัญญาที่เกิดจากการประกอบความเพียรเรียกว่า โยคปัญญา แม้เชาวน์ หรือไหวพริบที่มีติดตัวมาแต่กำเนิดซึ่งเรียกว่า สชาติกปัญญา ก็คือปัญญาบารมีที่เกิดจากการอบรมในชาติก่อน

           หลักธรรมสำหรับอบรมปัญญาให้เจริญขึ้น เรียกว่า ปัญญาวุฒิธรรม (๒๑/๒๔๘) มี ๔ คือ

๑. คบสัตบุรุษ คือ หาแหล่งวิชาหรือครูที่มีความรู้และคุณธรรมดี

๒. ฟังสัทธรรม คือ ใส่ใจเล่าเรียนโดยฟังจากครูหรืออ่านจากตำรา

๓. คิดให้แยบคาย คือ พิจารณาให้ทราบถึงเหตุและผล คุณและโทษ ของสิ่งที่เรียนรู้

๔. นำสิ่งที่ได้ไตร่ตรองแล้วมาปฏิบัติให้ถูกต้องตามความมุ่งหมาย

ปัญญาหรือความรอบรู้เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากราวกับแก้วสารพัดนึกประจำชีวิต เพราะเมื่อมีอุปสรรคหรือปัญหาเกิดขึ้น ผู้มีปัญญาย่อมวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำว่า สาเหตุเกิดจากอะไร เมื่อทราบสาเหตุแล้วก็ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ...

            -------------------------------------------------------------- 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 258645เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2009 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

สวัสดีค่ะ

 เวลาหดหู่บางครั้งไม่อยากทำอะไรเลย...

 มาชื่นชมคนทำดีนะคะ...

 ฟังธรรมมากๆชาติหน้าจะเป็นคนมีปัญญาดี...

 

น้องศิลาคะ

บันทึกนี้ช่วยเพิ่มปัญญาให้ครูต้อยค่ะ แต่ครูต้อยมิอาจจดจำคำบาลีได้มากมายเพียงเข้าใจนิดๆว่าที่ปฏิบัติมานั้นมีส่วนตรงบ้างเช่น 5 ดี ครูต้อยฝึกคิดดี่ พูดดี ทำดี คบเพื่อนดี และอยู๋ในที่ๆดีค่ะ อีกทั้งพยายามฝึกให้เป็นโยนิโสมนสิการ และดูท่าว่าจะใกล้เคียงกับปัญญาวุฒิธรรม ที่น้องศิลาแนะนำค่ะ

ขอบคุณที่นำความรู้มาให้ครูต้อยได้เติมเต็มค่ะ

 สาธุ อนุโมทนาบุญนะคะ

สวัสดีค่ะ

คุณศิลาที่มากด้วยความรู้

และประสบการณ์...

สำหรับดาวลูกไก่แล้วจะรู้อารมณ์ตัวเองเสมอค่ะ และเป็นบ่อยๆ เรื่องอารมณ์หดหู่แล้วตามด้วยรู้สึกเซื่องซึม (ไม่ถึงซึมเศร้า) แต่สิ่งที่แย่ที่สุดก็คือ เป็นคนที่ทุกข์หรือสุข แสดงออกมาบนใบหน้าทั้งหมด คนอื่นรู้หมดว่าเรากำลังรู้สึกอะไร ซึ่งไม่คิดว่าจะดีเลย ต้องปรับปรุงตัวอีกเยอะนะคะ เข้าใจว่านั่นหมายถึงยังไม่รู้จักการสะกดความรู้สึก รู้ตัว รู้การตามอารมณ์ตัวเองไม่ให้ตื่นเต้น-ตระหนกออกมานอกหน้า อยากมีธรรมจัดสรร(บ่อยๆ) อย่างคุณศิลาค่ะ ที่มีโอกาสเข้าหาพระธรรมด้วยการลงมือปฏิบัติ

  • หากไม่เคยรู้จักมาก่อน นึกว่าพระคุณเจ้าบรรยายธรรมเสียอีก
  • การปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทำ เพราะทุกคนมีความทุกข์ ไม่อยากทุกข์ ก็ต้องอาศัยธรรมโอสถรักษา
  • ความเศร้าหมอง หดหู่ ก็มีกันทุกคน ใครสลัดทิ้งได้ไว คนนั้นก็มีสุขไว ทุกอย่างต้องฝึกบ่อย ๆ
  • การไปฟังธรรมในวันหยุด เป็นกิจที่ครทำอย่างยิ่ง ขออนุโมทนาด้วย
  • ขอบคุณ
  • สวัสดีค่ะคุณพี่แดง P เวลาหดหู่ไม่อยากทำอะไรเลยจริง ๆ ค่ะ
  • เชื่อไหมคะว่าอารมณ์แบบนี้กว่าจะเกิดขึ้นกับศิลาได้ ประมาณว่าปีละ สองสามครั้งเองค่ะ ...แต่เกิดขึ้นมาทีไร เคยมองโลกสวย ๆ ทำไมฟ้ากลับหมองไปได้...มันอยู่ที่ภายในเราเองทั้งนั้นเลยค่ะ
  • จริง ๆ แล้ว ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุข ก็ฟังธรรมทุก ๆ วัน  เพราะคุณพ่อบ้านเธอทำเป็นกิจวัตร เราก็เลยพลอยได้รับส่วนบุญนี้ไปด้วยค่ะ

P ขอเติมอีกนิดค่ะ  ดอกไม้สวยมากค่ะ  และขอบพระคุณนะคะที่มาให้กำลังใจศิลาอยู่เสมอ 

  • ขอบพระคุณค่ะคุณพี่ครูต้อย P ศิลาไม่มีความรู้ทางธรรมมากนักค่ะ  พยายามรวบรวมไว้อ่าน และก็ฝึกฝนปฏิบัติแบบค่อยเป็นค่อยไป
  • ศิลาชอบอ่านบันทึกคุณพี่ครูต้อยที่เน้นการเขียนจากการดูอารมณ์ตนเอง  ตรงไปตรงมา เข้าถึงตัวตนได้ดีมากค่ะ
  • หลาย ๆ อย่างก็เดินตามรอยคุณพี่ครูต้อยอยู่ค่ะ
  • ถือว่าเราเห็นว่าอะไรดี ก็นำมาแบ่งปันกันนะคะ 

ทุกคนมีความหดหู่บางครั้งในจังหวะชีวิต

วิธีการบริหารจัดการแบบที่คุณนำเสนอใช้ได้ผลดคะ

บ่ายวันแสงแดดขยันทำงาน ที่เมืองนนท์กับรถขายของล้อเข็น

"ชาเย็น ชาดำเย็น กาแฟเย็น โอวัลติลเย็น นมเย็น มาแล้วครับ บ บ บ "

เสียงก้องไปทั่วซอยเลยทีเดียว ...ต่อมอยากกิน ทำงานอย่างหนักแข่งกับเสียงที่ได้ยิน

ร้อนก็ร้อน ...แหม    

----------------------------------------------------------------------

อ.ศิลาครับ

  อากาศร้อนๆ ที่ เมืองหลวง อ่านบันทึกแล้วใจเย็นทันใดนะครับ

ผมชอบใจกับวรรคยาวๆที่ว่า

" ตอนหลังก็ทำความเข้าใจใหม่ว่าไม่รู้ก็ดีเหมือนกันจะได้เป็นประเด็นในการเข้าหาผู้รู้เพื่อการแลกเปลี่ยนกับเขา  ประมาณว่าหาเรื่องผูกมิตร จะได้กัลยาณมิตรใหม่ ๆ อยู่เสมอ

 

ศิลาเห็นด้วยอย่างยิ่ง  หากเราทำตัวรู้ไปเสียหมด หรือทำให้คนอื่นเข้าใจว่าเรารู้ ก็อาจจะยิ่งทำให้เราไม่รู้ตัวว่าเรา “ไม่รู้จริง”  หลายครั้งที่ศิลาได้ยอมรับตรง ๆ ว่า “ไม่รู้ในเรื่องนั้น เรื่องนี้นะ  เป็นเพียงผู้กำลังศึกษาเท่านั้น” สิ่งที่เขียนมาทั้งหมดแล้วนั้น ไม่ใช่ว่าวันหนึ่งจะไม่เกิดการทบทวนและเปลี่ยนแปลงใหม่ วันดีคืนดี เราเข้า (ถึง) ใจในเรื่องเดียวกันใหม่ เราอาจจะกลับมาแก้ไขสิ่งที่เราบันทึกไปก็ได้..."

  • น้องซวง P ไม่พูดไม่จา ยิ้มกริ่มอะไร
  • มีอะไรดี ๆ ก็บอกว่านะ
  • ใช้อว้จนภาษาแบบนี้ เดาบ่ถูก...เอ  แต่ให้เดา ก็พอเดาได้นะ
  • สวัสดีค่ะคุณพี่แดง P เรียนตามตรงค่ะว่าเรื่องที่เขียนบ่อย ๆ มักเป็นเรื่องที่อยู่ในระหว่างการศึกษา ส่วนเรื่องที่ไม่ค่อยเขียน หรือนาน ๆ เขียนทีมักเป็นเรื่องที่รู้จากประสบการณ์แล้วขี้เกียจเขียน
  • บันทึกของศิลาที่คุณพี่แดงผ่านสายตาบ่อย ๆ ต้องขออภัยอย่างมาก หากจะบอกว่าเป็นเรื่องที่ศิลาฝึกฝนอยู่ค่ะ  จึงเปิดรับเสมอหากท่านใดจะกรุณามาชี้ทางสว่างเพิ่มเติม
  • สวัสดีตอนบ่ายเย็น ๆ ค่ะคุณดาวลูกไก่ P
  • "สำหรับดาวลูกไก่แล้วจะรู้อารมณ์ตัวเองเสมอค่ะ และเป็นบ่อยๆ เรื่องอารมณ์หดหู่แล้วตามด้วยรู้สึกเซื่องซึม (ไม่ถึงซึมเศร้า) แต่สิ่งที่แย่ที่สุดก็คือ เป็นคนที่ทุกข์หรือสุข แสดงออกมาบนใบหน้าทั้งหมด คนอื่นรู้หมดว่าเรากำลังรู้สึกอะไร ซึ่งไม่คิดว่าจะดีเลย ต้องปรับปรุงตัวอีกเยอะนะคะ เข้าใจว่านั่นหมายถึงยังไม่รู้จักการสะกดความรู้สึก รู้ตัว รู้การตามอารมณ์ตัวเองไม่ให้ตื่นเต้น-ตระหนกออกมานอกหน้า"

  • บางโอกาสการแสดงอารมณ์โดยเปิดเผยเป็นเรื่องที่จำเป็นและเห็นด้วยค่ะที่คุณดาวลูกไก่แสดงบางอารมณ์ออกมาทางสีหน้าบ้าง จะทำให้ผู้อื่นรับตัวเราตั้งแต่แรก  เชื่อวาอารมณ์ที่แสดงออกคงไม่ได้รุนแรงอะไร เพราะปกติคุณดาวลูกไก่มักจะใจเย็นอยู่แล้ว  คงมีบ้างที่อึดอัดคับข้องใจที่คนอื่นไม่ทันความคิดที่ลึกซึ้งของเรา  ศิลาก็เคยเป็นสมัยก่อนและเผลอถอนใจหลายครั้ง จนตอนหลังก็เปลี่ยนมุมมองใหม่

  • อาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมา สังเกตว่าอารมณ์ขี้รำคาญ หงุดหงิดง่ายของตนเองจะเกิดขึ้นไม่บ่อยแล้ว น่าจะมาจากการมองโลกในมุมมองใหม่ 

  • การแก้ปัญหาอารมณ์ภายในของเราที่ต้นเหตุน่าจะเป็นเรื่องของการปรับโลกทัศน์ ... หากเราสะกดอารมณ์ไว้อาจจะทำได้บางชั่วขณะ เสมือนว่าไอน้ำจะพุ่งออกมาแล้วเรานำฝาหม้อมาปิดเอาไว้ ซึ่งเป็นการแก้ปลายเหตุ...อาจจะเป็นความเข้าใจของศิลาที่ยังไม่ถูกต้องเสียทีเดียว ต้องรอให้มีการพิสูจน์จากประสบการณ์ของกัลยาณมิตรหลาย ๆ ท่านร่วมกันค่ะ ตอนนี้ขอเชิญชวนคุณดาวลูกไก่คนแรกเลย มาฝึกการเปลี่ยนโลกทัศน์แทนการปิดฝาหม้อเอาไว้ อิอิ  ขำ ๆ ค่ะ สิ่งที่ศิลาเขียนคือสมมติฐานทั้งสิ้นค่ะ รอการปฏิบัติซ้ำ ๆ

  • อยากมีธรรมจัดสรร(บ่อยๆ) อย่างคุณศิลาค่ะ ที่มีโอกาสเข้าหาพระธรรมด้วยการลงมือปฏิบัติ

  • เพิ่งหัดคลานอยู่ค่ะ โชคดีที่ได้คู่ทางธรรมที่ดีงามคอยตักเตือนอยู่เสมอ และเราก็โน้มใจฟังอยู่เรื่อย ๆ วันไหนไม่มีใครมาเทศนาให้ฟัง ก็โทร ไปก่อกวนให้เขาต้องเทศน์ให้ฟัง...แปลกแต่จริงค่ะ ชอบถูกทุบ สงสัยเคยเป็นกระท้อนมาก่อน

  • สวัสดีค่ะท่านศรีกมล P เห็นด้วยค่ะ "ความเศร้าหมอง หดหู่ ก็มีกันทุกคน ใครสลัดทิ้งได้ไว คนนั้นก็มีสุขไว ทุกอย่างต้องฝึกบ่อย ๆ"
  • ขอบพระคุณค่ะสำหรับข้อคิดดี ๆ ที่เราต้องนำปฏิบัติจริงให้ได้ค่ะ
  • สวัสดีค่ะคุณมะลิวัลย์ P ดีใจจังค่ะ มีกัลยาณมิตรมาร่วม confirm อีกท่านแล้ว หดหู่ก็รู้ว่าหดหู่ จริงไหมคะ

มีฝาหม้อมาบริจาคค่ะ(คือไม่ใช้แล้ว ^O^) ครั้งแรกคุยเรื่องอารมณ์หดหู่ มารอบสองคุยเรื่องความไม่รู้บ้างนะคะ

ตั้งแต่คนเราเริ่มเปิดใจรับการเรียนรู้และจัดการกับความรู้ แบ่งปันให้ไปต่อยอด คนเราก็เริ่มยอมรับไปด้วยว่า สิ่งที่รู้ในวันนี้ ถ้าใครๆ บอกว่าถูกต้อง ใช่แล้ว ฟันธง แต่ในวันข้างหน้า เมื่อรู้มากขึ้น พิสูจน์ด้วย เจอทางออกที่ดีๆ กว่าเดิม หรือแม้แต่จะตรงกันข้ามคือหลงทางทั้งหมู่ แปลว่า ความรู้เดิมอาจจะโดนฟันธง(ที่ขาดเพราะโดนฟันครั้งแรก ^O^)ใหม่ว่า ไม่ใช่ ไม่ดี เรื่องที่รู้ใหม่นี่สิดี(กว่า) (เคย)รู้เปลี่ยนเป็นไม่รู้ รู้ไม่จริง แต่คนยอมรับมากขึ้นว่าไม่ใช่ความผิด หรือความโง่เขลา ทุกอย่างถือเป็น Lesson Learn บทเรียน(ศัพท์ในวงการ KM) นะคะ สรุปว่าเห็นชอบ อย่ากลัวความโง่ค่ะ (...โทษเบาขึ้นเยอะเลย)

แต่คนที่ไม่ยอมเปิดใจแบ่งปัน และเรียนรู้หลักการจัดการกับความสัมพันธ์ผู้คน ก็จะหลงว่าตัวเองรู้อยู่เรื่อยๆ ไป แต่เราจะแสร้งทำว่าไม่รู้แล้วปล่อยให้เขาแสดงความรู้ที่อาจรู้จริง รู้ไม่จริงอยู่เรื่อยๆ ก็สงสารตัวเอง สงสารคนอื่นๆ ด้วย อิอิ(ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา หมายถึงดาวลูกไก่เขียนอะไรมาไม่รู้เรื่องนะค่ะ ฮา)

  • คุณเอก P อารมณ์ดีจัง  ขนาดเป็นคนทำงานหนักยังรักษาหัวใจให้แข็งแรงได้ขนาดนี้  ไม่เคยเห็นมุมเศร้าอารมณ์หดหู่เลยนะคะ  คนอะไรมีพลังเยอะมากกกกก
  • ข้อความที่คุณเอกยกมา ทราบไหมคะว่า "กลั่นออกมาจากใจ" ด้วยความตระหนักรู้ถึงสภาวะของคนทำงานนักปฏิบัติที่ต่างก็มีความรอบรู้ รู้ลึก รู้จริงกันหลากหลาย และบางครั้งก็ย่อมเกิดการสู้กันภายในใจว่าของใครถูก ของใครของจริง หรือดีกว่า
  • แม้ว่าจะไม่โต้แย้งออกมาตรง ๆ แต่เชื่อว่าต่างฝ่ายต่างก็ยึดเอาความเชื่อของตนเป็นที่ตั้ง หากต้องหมดความเชื่อในตัวเองแล้วก็จะต้องเสีย self ไป  ใครจะกล้าหาญยอม...
  • ใครไม่ยอมไม่เป็น เราขอมาทำความเข้าใจและยอมรับด้วยตัวเองว่าปรากฎการณ์ใด ๆ ก็ตามที่อาจจะต้องเกิดขึ้นจากความแตกต่างทางความคิด เราจะขอย้อนกลับมา "ชำระความคิดของเราเอง" ก่อนเลย
  • ใครหมั่นฝึกฝนล้างความคิด ล้างจิตใจ แก้ไขตนเองอยู่เนือง ๆ คนนั้นย่อมได้ประโยชน์แก่ตัวเอง  ไม่ต้องเสียเวลาไปเปลี่ยนแปลง หรือโน้มน้าวใคร .... มาถึงจุดนี้ เติบโตกันพอสมควรแก่เวลาที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้แล้ว จริงไหมคะ 
  • เฮ้อ...คอแห้งค่ะ  ขอชาเย็นแล้วกันนะคะ ....พ่อหนุ่มใจดี
  • สวัสดีค่ะคุณดาวลูกไก่ P มาสไตล์คมบาดใจอ่านแล้วทำให้เกิดไอดียใหม่ ๆ อยู่เสมอ...
  • จากการเปิดฝาหม้อ (ใจ) มาสู่เปิดสมอง ประลองปัญญาด้วยข้อตกลงเบื้องต้นลึก  ๆ ในใจร่วมกันว่าข้อสรุปในวันนี้มิใช่ว่าจะไม่มีการพัฒนาปรับปรุงแนวใหม่   สิ่งที่ศิลาให้ความเคารพคือการยอมรับความคิดผสมผสานเชิงซ้อน (เหมือนมะลิซ้อนของคุณดาวลูกไก่ค่ะ) บางทีสิ่งที่คนนั้นพูดนิด คนนี้พูดหน่อยในเรื่องเดียวกัน  อาจจะรวมกันแล้วเป็นแนวคิดใหม่ ฉะนั้น ลองเปลี่ยนมุมมองดูว่าอาจจะไม่ใช่ความคิดฉัน ความคิดเธอ แต่เป็นความคิดของพวกเราที่เอามาซ้อนกัน  ... จะไปไกลไปไหมคะเนี่ย...หากมีเวลาว่างจะชวนคุณดาวลูกไก่ไปสำรวจดาวดวงใหม่กันค่ะ อิอิ

มาทักทายและบอกว่า....

วันนี้อารมณ์ดีจังเลย!!!!

ทุกๆ เรื่องของชีวิต  ผมคุยกับตัวเองเสมอว่า  เราเป็นเพียงผู้เรียนรู้ และบันทึกเรื่องราวเหล่านั้น ทั้งที่รู้และไม่รู้ไว้ให้มากที่สุด เพราะเชื่อว่า สักวันจะตกผลึกได้เอง  ทั้งโดยตัวเราและคนอื่นช่วยกระทำให้ตกผลึก

ขอบคุณครับ..

  • สวัสดีค่ะ คุณคนไม่มีราก P วันนี้ศิลาก็อารมณ์ดีเช่นกันค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท