กัมพูชา-ไทย : อิทธิพลเขมรในประเทศไทย พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘ เน้นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗


พุทธศตวรรษที่ ๑๒ -๑๘ เป็นช่วงระยะเวลาที่บ้านเมืองหรือชุมชนโบราณในเขตประเทศไทยมีการติดต่อสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับอาณาจักรเขมรโบราณ ส่งผลให้อิทธิพลวัฒนธรรมเขมรโบราณแพร่ขยายเข้ามาบนแผ่นดินไทย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาพทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินไทยอย่างมากคือ ทางด้านการปกครอง สังคม คติ ความเชื่อศาสนา รูปแบบศิลปะ ตัวอักษร ภาษา การตั้งถิ่นฐาน การจัดการบ้านเมือง การพัฒนาแหล่งน้ำ 

 

หลักฐานการเข้ามาเช่น ศาสนาพราหมณ์นิกายไศวนิกาย และไวษณพนิกาย ศาสนาพุทธนิกายมหายานวัชรวาท พบเทวรูปโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริด ศิลปะกำพงพระ พศว.ที่ ๑๓ งานศิลปกรรมเช่น ทับหลัง ศิลปะถาลาบริวัติ วัดสุปัฎนาราม จ.อุบลราชธานี พศว. ที่ ๑๒ ปราสาทภูมิโปน จ. สุรินทร์ พศว. ที่ ๑๒ - ๑๓ ศิลปะแบบสมโบรไพรกุก รวมถึงจารึกอักษรปัลลวะและหลังปัลลวะ ทั้งภาษาสันสกฤตและเขมร ตั้งแต่ พศว.ที่ ๑๒ เป็นต้นมา ดังจารึกของเจ้าชายจิตเสน (มเหนทรวรมัน) หลายหลัก เช่น จารึกปากแม่น้ำมูล และจารึกวัดสุปัฎนาราม จ. อุบลราชธานี ศูนย์กลางการปกครองของเขมรตั้งแต่ พศว.ที่ ๑๖ เป็นต้นมาอยู่ที่ ปราสาทพิมาย จ. นครราชสีมา

 

อย่างไรก็ตามอิทธิพลด้านการปกครองของเขมรก็มิได้มีอำนาจอยู่ตลอดเวลา เพราะเมื่อไหร่ที่กษัตริย์เขมรอ่อนแอ อาณาจักรพื้นเมืองที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่น อาณาจักรศรีจนศะ (ใน จ. นครราชสีมา) ก็มีอำนาจขึ้นมา และเมื่อไหร่ที่กษัตริย์เขมรเข้มแข็ง อย่างเช่นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ก็จะมีอำนาจควบคุมอาณาจักรพื้นเมือง เป็นเช่นนี้สลับกัน ดังหลักฐานที่ยืนยันข้อสันนิษฐานคือ การพบจารึกที่กล่าวถึงชื่อของกษัตริย์ในท้องถิ่น ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักในประวัติศาสตร์กัมพูชาเลย จารึกเหล่านี้มีอายุอยู่ในช่วง พศต.ที่ ๑๓ - ๑๕ ที่สำคัญคือ จารึกศรีจนาศะ พบที่เทวสถานชีกุน จ.อยุธยา แต่มีหลักฐานว่าแหล่งกำเนิดดั้งเดิมของจารึกหลักนี้อยู่ที่เมืองเสมา จ.นครราชสีมา จารึกหลักนี้เป็นภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร ข้อความในจารึกศรีจนาศะสรุปได้ว่า ราว พ.ศ.๑๔๘๐ มีอาณาจักรศรีจนาศะ ซึ่งปกครองโดยยกษัตริย์หลายองค์คือ พระเจ้าภคทัตต์ พระเจ้าสุนทรปรากรม พระเจ้าสุนทรวรมัน พระเจ้านรปติหิงค์วรมัน พระเจ้ามงคลวรมัน ซึ่งพระนามเหล่านี้ไม่เป็นที่ปรากฏในจารึกเขมรที่พบในกัมพูชาเลย

 

ร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พศว. ๑๘) ในประเทศไทย

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔ - ๑๗๖๒ ราชวงศ์มหินทรปุระ) เป็นมหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรเขมร ทรงเป็นโอรสของพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๒ และพระนางจุฑามณี พระราชธิดาของพระเจ้าหรรษวรมันที่ ๓ ประสูติเมื่อราวปี พ.ศ. ๑๖๗๐ ในรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ผู้ทรงสถาปนาปราสาทนครวัด เมื่อสิ้นสุดรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ อาณาจักรกัมพูชาก็เกิดการจราจลแย่งชิงบัลลังก์และเกิดสงครามกับอาณาจักรจามปาจนสูญเสียเอกราช ทรงสามารถกอบกู้เอกราชได้จากจามในที่สุด แล้วทรงปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ พร้อมทั้งโปรดฯ ให้สร้างเมือง คือเมืองพระนครหลวง โดยมีปราสาทบายนเป็นศูนย์กลางพระนคร ซึ่งเป็นต้นแบบของรูปแบบศิลปกรรมแบบบายน ถือเป็นยุครุ่งเรืองของอาณาจักรเขมร ขยายอาณาเขตได้กว้างไกล และเนื่องจากทรงนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานจึงโปรดฯ ให้สร้างศาสนสถานต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งในเขตเมืองและนอกราชอาณาจักร เช่น ปราสาทบายน ปราสาทพระขรรค์ ปราสาทตาพรหม ปราสาทนาคพัน และปราสาทบันทายกุฎี ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่มียอดปราสาทสลักเป็นรูปหน้ามนุษย์ทั้ง ๔ ทิศ

 

นอกจากนี้ยังโปรดฯ ให้สร้าง อโรคยาศาล หรือโรงพยาบาลทั่วราชอาณาจักรอีกหลายแห่ง จารึกปราสาทตาพรหมกล่าวถึงการสร้างไว้หลายหลัก มีการพบหลายหลัก เช่นที่ จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ กล่าวถึงการสร้างอโรคยาศาล หรือโรงพยาบาล ๑๐๒ แห่ง อโรคยาศาลที่พบเช่น กุฏิฤๅษีเมืองต่ำ บ้านโคกเมือง อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์, ปรางค์กู่ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด, กู่สันตรัตน์ เมืองนครจัมปาศรี อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม

 

จารึกที่ปราสาทพระขรรค์กล่าวว่าทรงโปรดฯ ให้สร้างที่พักคนเดินทาง หรือ วนิคฤหะ หรือ บ้านมีไฟ จากเมืองพระนครหลวงไปยังพิมายอีก ๑๗ แห่ง เช่น ปราสาทสระกำแพงเล็ก จ.ศีรษะเกศ ธรรมศาลา เช่น ปราสาทตาเมือนธม จ. สุรินทร์

 

จารึกที่ปราสาทพระขรรค์ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กล่าวว่าพระองค์ได้สถาปนาพระชัยพุทธมหานาถ (สันนิฐานว่าเป็นพระทธรูปหินทรายปรางนาคปรก ศิลปะแบบบายน) ไว้ตามเมืองต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าเมืองเหล่านี้หลายแห่งอยู่ในเขตภาคกลางของประเทศไทย เช่น ละโวทยปุระ(ลพบุรี) สุวรรณปุระ(สุพรรณบุรี) ศัมพูกปัฏฏนะ (สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่แถบสระโกสินารายณ์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี) ชัยราชบุรี (ราชบุรี) ศรีชัยสิงหบุรี (บริเวณปราสาทเมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี) ศรีชัยวัชรบุรี (เพชรบุรี) จารึกหลักเดียวกันนี้ได้กล่าวถึง วหนิคฤหะ แปลว่าบ้านพร้อมไฟ ๑๗ แห่ง บนเส้นทางที่ตัดจากเมืองพระนครซึ่งเป็นราชธานีมายังเมืองพิมาย ในปัจจุบันพบ ๕ แห่งใน จ.บุรีรัมย์ นอกจากนี้  จารึกปราสาทพระขรรค์ ในเขมร กล่าวถึง ธรรมศาลา ๑๒๑ แห่ง หรือบ้านพักคนเดินทาง (บ้านมีไฟ) ไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ตามเส้นทางจากเขมรสู่ประเทศไทย ในประเทศประเทศไทยพบจารึกที่เกี่ยวข้องนี้แล้ว ๗ หลัก ซึ่งมีข้อความเหมือนกันหมด

 

ศาสนสถานขนาดใหญ่ เช่นปราสาทเมืองสิงห์ จ. กาญจนบุรี ปราสาท ส่วนตัวปราสาทหินพิมายนั้นได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ พร้อมทั้งสร้างปร่างค์พรหมทัตและปร่างค์หินแดงด้วยหินทรายสีแดงเพิ่มเติม ปราสาทหินพิมายจึงนับว่ามีความสำคัญที่สุดอีกแห่งหนึ่งในสมัยของพระองค์

 

สรุปได้ว่า อารยธรรมเขมร ทั้งในด้านการปกครอง วัฒนธรรม ศิลปกรรม ได้แพร่ขยายเข้ามาในประเทศไทยตั่งแต่ พศว. ที่ ๑๒ และเจริญสูงสุดใน พศว. ที่ ๑๘ ในสมัยพระเจ้าวรมันที่ ๗ แต่หลังจากสิ้นพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  อธิพลของเขมรในประเทศไทยก็ค่อย ๆ เสื่อมลง วัฒนธรรมของชนชาติไทยก็ค่อย ๆ เข้ามาแทนที่

 

วาทิน ศานติ์ สันติ

หมายเลขบันทึก: 258639เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2009 21:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท