ท.ณเมืองกาฬ
นาย ทรงศักดิ์ พิราบขาว ภูเก้าแก้ว

ฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน


ประเพณีอีสาน

 

  •       ประชาชนชาวอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ นับถือขนบธรรมเนียมประเพณีตามแนวทางที่ชนพื้นเมืองชาวอีสานนับถือกันมาตั้งโบราณ ทั้งการยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา อันมีวัดเป็นศูนย์กลางและศูนย์รวมจิตใจ มีความเชื่อที่หลากหลาย แตกต่างกันออกไปตามแต่ละพื้นที่อยู่อาศัย มีการให้ความเคารพแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วเช่นเดียวกับการไหว้ของชาวจีน แต่ในพื้นเมืองอีสานจะมีการไหว้รวมกันของชาวบ้าน ณ สถานที่เฉพาะตามที่ดอนสาธารณประโยชน์หรือที่หลวง จะมีศาลเพียงตาที่ชาวอีสานเรียก “ ตาปู่” หรือ “ ปู่ตา” ก็ได้แก่ผี หรือดวงวิญญาณของผู้ที่เคารพนับถือของชาวบ้าน ที่มีการอัญเชิญมาสิงสถิตย์เพื่อบำบัดปัดเป่าเคราะห์ร้ายทั้งปวง และอำนวยอวยชัยให้แก่ลูกหลาน ฯ นอกจากนี้ยังคงมีความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญอีกหลายอย่างซึ่งผูกพันกับชีวิตของผู้คนและสังคม เพื่อให้เกิดความรักใคร่ นับถือ สร้างสรรค์สามัคคีกัน ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้

1. ประเพณีบุญเข้ากรรม
********************************************************

           บุญเข้ากรรม  เป็นบุญในเดือนอ้าย หรือเดือนหนึ่ง เป็นเดือนที่พระสงฆ์จะเข้ากรรมหรือปริวาสกรรม ( อ่านว่า ปะ - ริ - วาด - สะ - กำ)

            การเข้าปริวาสกรรมในวินัยสงฆ์ได้บัญญัติไว้ว่า " ภิกษุใดต้องอาบัติ สังฆาทิเสสเช่น จับต้องกายหญิง เป็นต้น จะพ้นจากอาบัติได้ต้องอยู่ปริวาสกรรม" เป็นการให้ภิกษุผู้ต้องอาบัติ (ผิดวินัยสงฆ์) สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เป็นการรู้สำนึกด้วยตนเองไม่มีใครบังคับ แล้วสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ให้กระทำผิดอีกต่อไป

2. ประเพณีบุญคูณลาน**
********************************************************

บุญคูณลาน  เป็นการทำบุญเดือนยี่ หรือ เดือนสอง จะเป็นช่วงที่ภาคอีสานมีอากาศหนาวเย็น ตอนเช้าชาวบ้านจะตื่นขึ้นแต่เช้ามืดนึ่งข้าว ก่อกองไฟให้สมาชิกในครอบครัวได้มาผิงไฟ ให้ความอบอุ่นและประกอบอาหาร

            ในเดือนนี้มีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนามาเกี่ยวข้อง เรียกว่า "บุญคูณลาน" การทำบุญคูณลานทำเฉพาะบุคคลเจ้าของลานข้าว มีการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ฉันภัตตาหารที่ลานนวดข้าว ตอนจะขนข้าวขึ้นบ้าน แต่ยังมีการทำบุญร่วมกันอีกทั้งหมู่บ้าน คือ ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกของตนคนละเล็กละน้อยไปกองรวมกันที่ศาลากลางบ้าน หรือ ที่ลานวัด เป็นกองข้าวขนาดใหญ่เรียกว่า "กุ้มข้าว" แล้วนิมนต์พระสงฆ์มาทำบุญถวายทานตามประเพณี เสร็จแล้วก็ถวายข้าวเปลือกนั้นให้แก่พระสงฆ์ เรียกการทำบุญเช่นนี้ว่า " บุญกุ้มข้าวใหญ่"

3. ประเพณีบุญข้าวจี่
********************************************************

           เป็นการทำบุญในเดือนสาม เดือนนี้ในเวลากลางเดือนคือ วันเพ็ญเดือนสาม ตรงกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชา การทำบุญจึงแยกออกเป็นสองส่วน ในตอนเช้าทำ " ข้าวจี่ " (ข้าวเหนียวปั้นปิ้งไฟ) ไปวัด เพื่อถวายพระสงฆ์เป็นภัตตาหารเช้า และในตอนกลางคืนจึงทำพิธีทางพระพุทธศาสนาในวันมาฆบูชา

            การทำบุญข้าวจี่ คือ นำข้าวจี่ไปถวายพระที่วัด เมื่อพระสงฆ์ลงมาพร้อมกันที่ศาลาโรงธรรมแล้วก็เริ่มพิธีอาราธนาศีล ว่าคำถวายข้าวจี่แล้วนำข้าวจี่ใส่บาตร พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เสร็จแล้วญาติโยมช่วยกันถวายอาหารคาวหวานแด่พระสงฆ์ เสร็จแล้วจึงกล่าวคำอนุโมทนาเป็นเสร็จพิธีถวายข้าวจี่ หลังจากนั้นพระสงฆ์จะเทศน์ฉลองข้าวจี่เป็นทำนองต่าง ๆ ไปตลอดวัน

4. ประเพณีบุญผะเหวด ( หรือบุญพระเวส)

********************************************************

บุญผะเหวด หรือ บุญพระเวส (พระเวสสันดร) หรือที่มีความเข้าใจกันโดยทั่วไป คือ " บุญเทศมหาชาติ" เป็นการทำบุญในเดือนสี่ บางท้องถิ่นก็เรียกว่า " บุญเดือนสี่"

           การทำบุญผะเหวด หรือ พระเวส เป็นการทำบุญเนื่องด้วยการรำลึกถึงอดีตชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าที่ได้มาเกิดเป็นพระเวสสันดร และได้บำเพ็ญทานบารมีอย่างแก่กล้า บรรพบุรุษชาวอีสานได้นำมาประสมประสานกับการละเล่นพื้นเมือง ให้เกิดความสนุกสนานรื่นเริง กิจกรรมในการทำบุญผะเหวด คือ
           1. การเทศน์มหาชาติ
           2. การแห่ผะเหวด และแห่ข้าวพันก้อน

            การแห่ผะเหวด เป็นการแห่ผ้าซึ่งเขียนภาพเรื่องราวพระเวสสันดรชาดกเข้าสู่หมู่บ้าน ตามระยะทางจะมีผู้ตั้งหม้อน้ำหอมไว้สำหรับให้ผู้ที่แห่ผะเหวดได้เอาดอกไม้จุ่ม เป็นการบูชาพระเวสสันดร พอถึงบริเวณวัดจะนำผ้าไปขึงไว้รอบบริเวณศาลาการเปรียญ

            การแห่ข้าวพันก้อน นิยมแห่ในตอนเช้ามืด ข้าวพันก้อน หมายถึง ข้าวเหนียวทำเป็นก้อนเล็ก ๆ บ้านละเล็กละน้อยรวมกันเข้าได้ 1,000 ก้อน ซึ่งหมายถึง คาถาในพระเวสสันดรชาดก 1,000 พระคาถา แล้วนำถวายเป็นพุทธบูชา 

5. ประเพณีบุญสงกรานต์
**********************************************************

             บุญสงกรานต์ หรือ บุญสรงน้ำ เป็นการทำบุญในเดือนห้า เดือนหก จะตกประมาณเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับฤดูร้อนในภาคดีสาน เพื่อผ่อนคลายอากาศร้อน ชาวบ้านจึงได้เตรียมน้ำอบน้ำหอมไว้สรงน้ำพระสงฆ์ หรือพระพุทธรูปที่วัด ตลอดจนสรงน้ำผู้สูงอายุ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ เพื่อขอพรจากท่านเหล่านั้น

           ในโอกาสเดียวกันนี้จะมีพิธีปล่อยนก ปล่อยปลา ปู หอย เต่า หรือสัตว์อื่น ๆ เพราะถือว่าเป็นการทำกุศล ถ่ายถอนชีวิตสัตว์ เป็นการแสดงเมตตาต่อสัตว์ ชาวอีสานถือว่า  "การก่อประทาย"(ก่อพระทราย) และการปล่อยสัตว์น้ำ จะได้กุศลผลบุญอีกด้วย

           สำหรับประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะหนุ่มสาวจะเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน มีการละเล่นพื้นบ้านอีกหลายอย่างแล้วแต่ท้องถิ่น ชาวทุ่งโป่งอยู่ไกลแหล่งน้ำจะพากันไปหาบทรายจากที่ต่าง ๆ มากองรวมกันไว้ที่ลานวัด เสร็จแล้วสรงน้ำพระสงฆ์ นิมนต์พระสงฆ์สวดมนต์เย็นรุ่งเช้าถวายอาหารบิณฑบาตพระสงฆ์

6. ประเพณีบุญบั้งไฟ
**********************************************************

           บุญบั้งไฟ หรือ บางทีเรียกว่าบุญเดือนหก เพราะส่วนมากจะทำกันในเดือนหกของทุกปี ซึ่งถือเป็นเดือนแรกของการเริ่มทำไร่ไถนาของชาวอีสาน การจุดบั้งไฟหรือบ้องไฟ มีความเชื่อว่าเป็นการบูชาเทวดา เพื่อขอน้ำฝนเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่พืชพันธุ์ธัญญาหารของชาวเกษตรกร

           ในการจุดบั้งไฟจะมีการเสี่ยงทาย ถ้าบั้งไฟขึ้นได้ดีและสูง ฟ้าฝนจะอุดมสมบูรณ์ ถ้าบั้งไฟไม่ขึ้นหรือแตก (ระเบิด) ข้าวปลาอาหารจะแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง เป็นต้น

ประเพณีบุญบั้งไฟของชาวอำเภอกระนวน ถือเป็นบุญประเพณีที่ยิ่งใหญ่ มีการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟสืบทอดต่อกันมายาวนาน มีกระบวนแห่บั้งไฟ ประดับประดาสวยงาม การจุดบั้งไฟขึ้นสูง การประกวด “ นางไอ่” (คล้ายกับการประกวดธิดาต่าง ๆ ในงานเทศกาลสำคัญ)

           เทศกาลที่สำคัญในเดือนนี้ ที่มีความสำคัญในทางพระพุทธศาสนาคือ "วันวิสาขบูชา" เป็นวันสำคัญที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนหก การทำบุญผู้เฒ่าผู้แก่จะพากันไปวัด ถวายอาหารเช้าและเพล ครั้งเวลาบ่ายประชาชนจะนำบั้งไฟของตนไปรวมกันที่วัด แห่บั้งไฟไปจุด รอบ ๆ บริเวณจุดบั้งไฟบางกลุ่มจะแต่งตัวมอมแมม แต่งแบบแฟนซี สีสันแปลก ๆ บางกลุ่มจะเล่นทอดแห สุ่มปลา ในบริเวณที่ไม่มีน้ำ หยอกล้อกันด้วยคำเซิ้งสนุกสนานตลอดวัน

7. ประเพณีบุญซำฮะ
***********************************************************

            บุญซำฮะ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนเจ็ด" หรือ "บุญเบิกบ้าน" ซำฮะ หมายถึง " ชำระ" คือทำให้สะอาดปราศจากมลทินโทษ ความสกปรกทั้งทางกาย และทางจิตใจ ได้แก่ ความโลภ โกรธ หลง เป็นต้น

           ด้วยความเชื่อมาแต่โบราณของท้องถิ่นว่า จะต้องทำบุญขึ้นในหมู่บ้าน เพื่อชำระหมู่บ้านให้สะอาด จากสิ่งเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวง เป็นการให้ขวัญกำลังใจแก่ผู้คนในหมู่บ้าน ให้มีความสุขสบายในปีนั้น ๆ

           การทำบุญจะนิมนต์พระสงฆ์สวดพระปริต และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เรื่องเลวร้ายจะหายกลายเป็นดี อยู่เย็นเป็นสุข ชาวทุ่งโป่งนิยมประกอบพิธีทำบุญซำฮะขึ้นที่ศาลากลางหมู่บ้านทุกปี

 8. ประเพณีบุญเข้าพรรษา
*************************************************************

            เป็นการทำบุญในเดือนแปด เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง ถือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประกาศศาสนา ทรงแสดงธรรมจักรกัปปวัตนสูตร (อ่านว่า จัก-กับ-ปะ-วัด-ตะ-นะ-สูด) โปรดภิกษุซึ่งเป็นภิกษุที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบวชให้ 5 รูป เรียกว่า “ ปัญจวัคคีย์” ทำให้มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เกิดขึ้นในโลกครบครั้งแรกในวันนี้เรียกวันนี้ว่า "วันอาสาฬหบูชา" (อ่านว่า วัน-อา-สาน-หะ-บู-ชา)

           ในเทศกาลเข้าพรรษา ชาวบ้านและชุมชนในเขตเทศบาลตำบลยางตลาดนิยมแห่เทียนพรรษานำไปถวายพระสงฆ์ที่วัด จัดขบวนแห่อย่างสวยงาม มีฟ้อนรำประกอบดนตรีพื้นเมือง อย่างสนุกสนานแทบทุกตำบลหมู่บ้าน

9. ประเพณีบุญข้าวประดับดิน
**********************************************************

            บุญข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญในเดือนเก้า คำว่า "ข้าวประดับดิน" ได้แก่ การนำข้าวพร้อมด้วยอาหารหวานคาวทำเป็นห่อ ๆ นำไปถวายทานบ้าง นำกระทงอาหารและของเซ่นไหว้ที่ทำจากกาบกล้วย ไปวางตามต้นไม้บ้าง ตามทางสามแพร่ง หรือบริเวณที่เป็นเส้นทางสัญจรไป - มา ตามบริเวณข้างโบสถ์บ้าง ในตอนเช้ามืดในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9

           ชาวบ้านอีสานมีความเชื่อว่า พอถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 บรรดาเปรตที่เป็นญาติพี่น้องของตนและชาวบ้านทั้งหลายจะถูกปล่อยจากนรกขึ้นมารับสิ่งของ และอาหารที่ทำทานอุทิศส่วนกุศลไปให้ตน และบุญข้าวประดับดินนี้ อาจเป็นที่มาของ "บุญแจกข้าว "( การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ตายไปแล้ว)

10. ประเพณีบุญข้าวสาก
*******************************************************

             บุญข้าวสาก เป็นการทำบุญในเดือนสิบ คำว่า "สาก" เพี้ยนมาจากคำว่า "สลาก" เพราะนิยมทำกันในเดือนสิบ บางทีจึงเรียกว่า "บุญเดือนสิบ"

           การทำบุญข้าวสากก็คือ การถวายสลากภัตแก่พระสงฆ์นั่นเอง เมื่อถึงวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 ญาติโยมจะพากันจัดอาหารคาวหวาน หมากพลู บุหรี่ พอวันรุ่งขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 จะนำอาหารไปใส่บาตร พอประมาณ 4 โมงเช้า ญาติโยมจะนำข้าวของตนออกมารวมกันที่ศาลาโรงธรรม เขียนชื่อเจ้าภาพลงในกระดาษม้วนลงในบาตร เมื่อพร้อมแล้วหัวหน้ากล่าวคำถวายสลากภัต เสร็จแล้วยกบาตรสลากไปให้พระท่านจับ ของใครถูกพระองค์ใดจับสลากไปก็นำข้าวของไปถวายองค์นั้น เมื่อพระสงฆ์รับข้าวของ อาหารคาวหวาน และฉันเสร็จแล้ว จะกล่าวคำให้พร ญาติโยมพากันกรวดน้ำ แผ่กุศลไปให้ผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นเสร็จพิธี

11. ประเพณีบุญออกพรรษา
********************************************************

            ประเพณีบุญออกพรรษา เป็นการทำบุญในเดือนสิบเอ็ด คือ การทำบุญในวันออกพรรษาของพระสงฆ์ "พรรษา" หมายถึง " ฤดูฝน" ปีหนึ่งมี 4 เดือน คือตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ในระยะ 3 เดือนแรกให้เข้าพรรษาก่อน และอีก 1 เดือน ให้หาผ้าจีวรมาผลัดเปลี่ยนบุญออกพรรษา ทำกันในวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด บางทีเรียก " บุญเดือนสิบเอ็ด"

           ในการทำบุญวันออกพรรษา จะมีพิธีถวายผ้าจำนำพรรษา คือ ผ้าที่ภิกษุจะรับได้ต่อเมื่อจำพรรษาแล้ว และพระสงฆ์ในวัดจะประกอบพิธี ทำปวารณา ( อ่านว่า ป-วา-ระ-นา) คือเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ได้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ส่วนญาติโยมก็ไปทำบุญที่วัดตามปกติเหมือนเทศกาลอื่น ๆ นั่นเอง 

12. ประเพณีบุญกฐิน
*********************************************************

           เป็นการทำบุญในเดือนสิบสอง ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปี การทำบุญกฐินนี้ คือ การทำบุญเมื่อภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาที่วัดครบ 3 เดือน หรือเรียกว่า ได้จำพรรษาครบไตรมาศแล้ว ก็จะได้รับอานิสงส์พรรษา

           พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ แสวงหาไตรจีวรได้ในท้ายฤดูฝน 1 เดือน คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 จนมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า " บุญเดือนสิบสอง"ซึ่งมีการทอดกฐินเป็นกิจกรรมที่สำคัญ

           กฐิน แปลว่า "สะดึง" ดังนั้น ผ้ากฐินก็คือ ผ้าที่ใช้สะดึงทำเป็นกรอบขึงเย็บเป็นจีวร ผ้ากฐินที่จะนำไปถวายพระสงฆ์คือ ผ้าสบง จีวร และสังฆาฏิ ซึ่งเรียกว่า "ผ้าไตร" นั่นเอง ส่วนอื่นที่จะเพิ่มเติมเข้าไปในองค์กฐิน เรียกว่า "บริขาร หรือ บริวารกฐิน" เช่น บาตร มีดโกน เข็ม ผ้าประคดเอว ผ้ากรองน้ำฝน ผ้าอาบน้ำ ผ่าห่มกันหนาว เสื่อ หมอน ถ้วยโถ โอ ชาม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีก็ได้หรือไม่มีก็ได้

นอกจากบุญประเพณีสิบสิงเดือนที่ชาวอีสานมีในลักษณะคล้ายคลึงกับภาคอื่น ๆ ของประเทศไทยแล้ว ยังมีแนวความเชื่อในการประพฤติปฏิบัติตนตามแนวทางการดำรงชีวิตในบวรพระพุทธศาสนา คือ ประเพณีการบวช

  13. ประเพณีการบวช
**********************************************************

            การบวช หรือ การทำบุญบวช ชาวอีสานได้กระทำสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน ครอบครัวใดมีลูกชายอายุครบบวชคือ 20 ปีบรุบูรณ์ ต้องบวชเรียนในพระพุทธศาสนาเสียก่อน คนที่ไม่ได้บวชถือว่าเป็นคนดิบ คือยังไม่ผ่านการอบรมสั่งสอนตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา

           การบวชจะกระทำเมื่อชายหนุ่มมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ โดยผู้เป็นพ่อจะนำลูกชายไปฝากไว้กับพระอุปัชฌาย์ (อ่านว่า อุ-ปัด-ชา) ที่วัด เพื่อเตรียมตัวก่อนบวช ประมาณ 7 วัน เรียกว่า  "การเข้านาค " เมื่อถึงวันบวชจะกระทำพิธีบวชในโบสถ์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานของวัด

           การทำบุญบวช เป็นการทำบุญที่ได้กุศลผลบุญมาก เพราะถือเป็นการส่งลูกไปเรียนรู้พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา

คำสำคัญ (Tags): #อีสาน
หมายเลขบันทึก: 258507เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2009 03:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีตอนเช้าๆ อากาศสดชื่น ครับอาจารย์ ที่เคารพ

  • ผมแวะมาทักทายอาจารย์แต่เช้าเลยครับ
  • ผมดีใจที่อาจารย์หายเป็นปกติแล้ว
  • แต่อย่างไรต้องรักษาสุขภาพนะครับ
  • เดี๋ยวนี้ "ไข้หวัดเม็กซิโก " น่ากลัวมาก
  • ขอให้มีความสุขนะครับ

ขอบคุณครับ..คุณนพรัตน์

  • ที่แวะมาเยี่ยม ทักทาย
  • มาเรียนรู้ประเพณีอีสาน
  • ขอให้มีความสุขเช่นกันนะครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์ น้องชาย ท.ณเมืองกาฬ

  • ประเพณีของไทย  เป็นเรื่อง ที่เราคนไทยภูมิใจ และเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลาน
  • บันทึกนี้ จัดพิมพ์ได้สวยงามมาก  เห็นการพัฒนาแบบต่อเนื่อง
  • ขอให้น้องมีความสุข สนุกสนานกับการทำงานนะคะ

รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

 

สวัสดีค่ะ

มาชื่นชมคนอีสาน

บุญซำฮะหรือบุญเบิกบ้าน

อยู่ที่บ้านยังไม่เคยได้ยินค่ะ

ขอบคุณข้อมูลดีๆนะคะ

ขอบคุณมากครับพี่อ้อย

  • ที่แวะมาทักทาย มาให้กำลังใจ
  • ขอให้พี่มีความสุขเช่นกันครับ

สวัสดีครับพี่แดง

  • ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยม
  • มาทักทายแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • ประเพณีอีสานยังมีอีกมากมาย
  • ที่หลายๆท่านยังไม่รู้จัก
  • จะนำเสนอต่อไป
  • สวัสดีค่ะ
  • เป็นข้อมูลและความรู้ดีมากค่ะ
  • ประเพณีไทยไม่ว่าภาคใดเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นมาของไทย
  • มีอะไร ๆ ที่ชวนให้คิด อยู่ในแต่ละประเพณีเสมอ ต่างมุมคิด ต่างมุมมอง
  • แต่ท้ายสุด ทุก ๆ ประเพณีก็คือสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยค่ะ
  • ขอบคุณข้อมูลดี ๆ เช่นนี้ค่ะ เป็นกำลังใจให้นะคะ
  • สวัสดีค่ะอาจารย์
  • วันนี้วันหยุดใช่ป่าวเนี่ย
  • วันแรงงานอะคะ
  • เดือนนี้หยุดยาวแหงเลยค่ะ
  • โรงเรียนเปิดหรือยังค่ะ
  • รักษาสุขภาพด้วยค่ะ

<a href="http://www.yenta4.com/cutie/view_img.php?d_id=892&cate_id=14" target="_blank"><img src="http://www.yenta4.com/cutie/upload/892/892/470731b6e11d2.gif" border="0" alt="รูปสวย น่ารัก glitter emoticon www.yenta4.com" title="รูปสวย น่ารัก glitter emoticon www.yenta4.com"></a><br />

สวัสดีครับ คุณอิงจันทร์

  • ขอบคุณที่แวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • ประเพณีไทยภาคใดก็ล้วนทรงค่า
  • ขอให้มีควมสุขตลอดไป
  • ขอบคุณครับ คุณแบ่งปัน
  • รักคิดถึงคุณเสมอ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท