ปลูกต้น R2R


ช่วงเวลาสามถึงสี่ปีของการได้คลุกอยู่กับการพัฒนางานประจำสู่การทำวิจัยหรือ R2R โดยใช้บริบทของโรงพยาบาลยโสธรเป็นแหล่งเรียนรู้ ... ประเด็นหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้เกิดการตีความตามทัศนะของตนเองขึ้นมาก็คือ กระบวนการที่ขับเคลื่อนเรื่อง R2R นี้เรากำลังขับเคลื่อนในส่วนไหน ประเด็นไหน...กันแน่

ระหว่าง Process R2R หรือ คุณลักษณะของคนหน้างานที่ทำงานแบบ R2R ==> ถ้าเป็นแบบหลังนี่ข้าพเจ้าเชื่อว่าสู่ความยั่งยืนแน่ และเสริมหนุนนำด้วย Process R2R

หลายเรื่องที่มีการขับเคลื่อนนั้น ส่วนใหญ่เราจะมองเห็นชัดเจนในเรื่องของกระบวนการ (Process) แต่กระบวนการภายในนั้นจะไม่เห็นจะไม่ค่อยเกิด หรืออาจจะเป็นเพราะว่างานวิจัยที่ทำในปริญญาเอกในสาขาเทคโนโลยีการศึกษา ที่ข้าพเจ้าทำในเรื่อง Instruction Design ที่ไปส่งเสริมการสร้างความรู้ในมนุษย์นี้หลอมให้ข้าพเจ้ามองเฉพาะเรื่องภายในปัญญามากไปหรือเปล่า เลยทำให้เกิดการตีความว่าเรื่องบางเรื่องที่เราไปส่งเสริมให้เกิดขึ้นนั้นมันยังเข้าไปไม่ถึงการกระตุ้นกระบวนการทางปัญญาของบุคคลมากนัก เป็นเพียงแค่การแตะผิวๆ ... หากถามต่อไปว่ากระบวนการทางปัญญาจะเกิดไหม?

มันก็เกิดได้ตามวิถีธรรมชาติ แต่ช้าและถ้าหากเราไปส่งเสริมหรือกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ได้ตรงจุดตรงประเด็นนั่นน่ะจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้ของบุคคลได้อย่างตรงเป้าตามศักยภาพของการเรียนรู้ได้ดีทีเดียวเลยล่ะ

และเมื่อย้อนกลับมามองกระบวนการส่งเสริมการทำ R2R ยังมีช่องโหว่ที่เป็นโอกาสของการพัฒนาอยู่อย่างมาก และมีอะไรให้ทำอย่างเยอะแยะ และข้าพเจ้ายังรู้สึกว่า เรายังเกาไม่ถูกที่คันหรือเปล่า ถ้าหากเป็นไปได้ ... กระบวนการขับเคลื่อน R2R นั้นสามารถก่อให้เกิดเป็นความยั่งยืนและเป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่คนหน้างานน่าจะมี ซึ่งจะเป็นความวิเศษและมหัศจรรย์อย่างยิ่ง เพราะเมื่อเขามีคุณลักษณะของการเป็นคนหน้างานที่มีวิถีการทำงานแบบ R2R แล้วข้าพเจ้าเชื่อว่า "คุณภาพชีวิตการทำงานต้องดีขึ้น" คนหน้างานจะมีความสุขและเมื่อเขามีความสุขแล้ว การทำงานของเขาจะเป็นการทำงานอย่างมีความหมายมากขึ้น (Meaningfull) ...

คนหน้างานที่มีคุณลักษณะของการทำงานแบบ R2R นั้น...คนหน้างานเขาต้องมีคุณลักษณะของความเป็นนักวิจัย-นักวิทยาศาสตร์ก่อน .. ซึ่งจะต้องเริ่มต้นของการมองแบบกระตุ้นต่อมเอ๊ะ! คือ มีความสงสัย มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ สืบเสาะ หาเหตุและผล เพื่อมุ่งไปสู่การหาคำตอบหรือการแก้ปัญหา... เพราะหากว่าเขามีทักษะตรงนี้เกิดขึ้น เวลาที่เขามองงาน สัมผัสงาน จะเปลี่ยนไป จะเป็นการมองงานเชิงวิเคราะห์มากขึ้นกว่าการที่จะมองและปล่อยให้วิถีชีวิตการทำงานที่ทำไปแบบผ่านไปวันวัน...เหมือนเครื่องจักร

ดังนั้น ... เวลาที่เราจัดกระบวนการทำ R2R หรืออบรม R2R หรือทำโครงการ R2R ในทัศนะของข้าพเจ้า...มองว่าเพียงแค่กระตุ้นให้เกิด Process และระบบอย่างเดียวไม่พอ และไม่ใช่ไปเป็นการสอนวิจัย แต่จะต้องไปเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมให้คนหน้างานเกิดคุณลักษณะของการทำงานแบบ R2R  และสามารถนำคุณลักษณะเหล่านี้มาใช้ในชีวิตการทำงานของเขาได้ ... การที่เขารู้เนื้อความรู้ (Data) เรื่องวิจัยอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน ... แรงบัลดาลใจจะมีไม่มากพอที่จะทำให้เขายังคงคุณลักษณะนี้อยู่ได้ ก็จะเกิดเป็นกระแสเงียบเกิดขึ้น

ตัวอย่างเห็นๆ...มากมาย เช่น คนที่จบปริญญาโทมากมายในประเทศ ทำไมไม่มีใครอยากทำวิจัยกันต่อ เรียนจบแล้วก็เป็นแบบจบเลย ... นั่นก็เพราะว่าเขาไม่ได้ถูกสร้างให้มีคุณลักษณะของการเป็นนักวิจัย ข้าพเจ้าขอใช้คำว่าไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดคุณลักษณะหรือมี spect ของความเป็นนักวิจัยให้เกิดขึ้นในกระบวนการทางปัญญา แต่ถามว่ามีความรู้และรู้กระบวนการวิจัยไหม... คำตอบก็คือ รู้และทำวิจัยได้ แต่ไม่ทำ เพราะไม่ได้ถูกฝังเข้าไปในจิตวิญญาณของตน

การที่จะฝังเข้าไปในกระบวนการทางจิตวิญญาณของบุคคลได้นั้น ต้องมีการเกิดขึ้นทางกระบวนการทางปัญญาก่อน ... และกระบวนการทางปัญญาที่เกิดขึ้นได้นั้นต้องผ่านการเรียนรู้ และเป็นการเรียนรู้ที่ได้รับการส่งเสริมให้เกิดคุณลักษณะตามที่เราต้องการให้เกิด จะต้องไม่ใช่เพียงแค่การบอกความรู้เท่านั้น จะต้องเป็นการให้บุคคลได้เกิดการสร้างความรู้ (Knowledge Construction) เพราะการบอกความรู้ได้เพียงแค่ในเรื่องของการจดจำ แต่ไม่ค่อยไปเกิดการขยายโครงสร้างทางปัญญาเท่าไรมากนัก (Schemata) ดังนั้นในการขับเคลื่อนหรือจะพัฒนา R2R ให้เกิดขึ้นทุกย่อมหญ้าของคนหน้างานในประเทศไทย ... ก็ควรจะเน้นการเกิดคุณลักษณะนี้ในบุคคล เพราะหากไม่เกิดในบุคคลแล้วก็ย่อมยากที่จะพัฒนาได้ เพราะคนนั้นเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา...

การที่จะพัฒนาอะไรก็ตามต้องพัฒนาที่คนก่อน และต้องเป็นการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานที่เชื่อในความเป็นมนุษย์ของเขาว่าเขาเป็นผู้ที่มีปัญญาและพร้อมที่จะขยายและพัฒนาโครงสร้างทางปัญญาของเขา ... หากเราเชื่อและเน้นการพัฒนาเช่นนี้ ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าโครงการ R2R ก็จะไม่เกิดเป็นไฟไหม้ฟางเหมือนโครงการต่างๆ มากมายที่มีเกิดและก็ดับหายไป แบบเหลือเพียงเป็นเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งในชีวิตเคยทำ ... เท่านั้นเอง

 

ถอดบทเรียนการทำ R2R 

 เมษายน ๒๕๕๒

 

 ------------------------------------------------------

 

 

Cogtech2

 

หมายเลขบันทึก: 258037เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2009 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับคุณ Kapoom

มาชื่นชม ต้น R2R ที่ปลูกมาถึงวันนี้ ครับ

สวัสดีค่ะคุณ วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

การปลูกต้นไม้...เราต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการของการเตรียมการปลูกนะคะ...บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ ศึกษาสภาพดิน-สภาพแวดล้อม และการบำรุงดูแล...ที่สุดแล้วเราหวังจะให้เมล็ดพันธุ์นี้ได้เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ให้ความร่มเย็นในอนาคตนะคะ

ขอบคุณค่ะ

(^___^)

ครูต้อยมาเรียนรู้กระบวนการ ปลูกต้นR2R ค่ะ แต่ช่วงนี้สภาพดินฟ้าอากาศไม่ค่อยจะอำนวยเลยค่ะ หันไปทางไหนเห็นแต่ฟ้าหม่น แต่ครูต้อยก็ว่าดีนะคะ ทำให้สงสัยว่าทำไมฟ้าจึงหม่นนานจัง และหากฟ้าหม่นนานเกินไปจะแก้ปัญหาอย่างไร จะมีผลต่อเมล็ดพันธุ์หรือไม่

ขอบคุณนะคะ ที่เขียนให้เข้าใจ เรียนรู้ได้ง่าย

ขอบคุณค่ะพี่ krutoi

กะปุ๋มมองว่ามีแน่นอนค่ะ...แต่เราจะประคองเมล็ดพันธุ์นี้ให้อยู่รอดได้อย่างไร ? เป็นคำถามที่เรามีต่อตัวเรา เราไปเปลี่ยนสภาพดินฟ้าอากาศไม่ได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีการดูแลและบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์และต้นไม้ที่เราดูแลอยู่ได้ค่ะ

(^___^)

ประเด็นเปรียบเทียบของพี่ krutoi ดีจังเลยทำให้กะปุ๋มได้เกิดการขยับทางปัญญาไปด้วย

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท