ได้ไม่ได้..ต้องพิสูจน์


บางครั้งในชีวิต..การกระทำกับความคิด ก็เดินสวนทางกันเสมอ...

 

        ....เคยไปร่วมค่ายอาสาพัฒนาชนบท เคยไปอบรมผู้นำนักศึกษา เคยไปประชุม Cultural diversity มีหัวข้อพูดคุยมากมาย ที่ต่างหัวข้อ แต่ว่าไปมีบางประเด็นเดียวกัน

จากค่ายอาสาฯ

นักศึกษาถูกเปิดประเด็นเรื่อง ไปสร้างอาคารให้ชุมชน หรือพื้นที่ไกลตัวเมือง บางครั้งสมาชิกชุมชนไม่ได้รับประโยชน์ เช่น การสร้างศาลาประชาคม แต่สมาชิกชุมชน (ไม่อยากใช้คำว่า "ชาวบ้าน" เพราะคำนี้มีทิฐิมานะผสมอยู่พอสมควร เช่น ระดับทางสังคม การเปรียบเทียบผู้เล่ากับผู้ถูกเอ่ยถึงว่าอยู่คนละระดับกัน) ไม่เคยรวมตัวกันทำกิจกรรมภายในศาลาแห่งนี้ มีเพียงสมาชิกชุมชนบางคนนำควายไปล่ามไว้ช่วงเย็น นานวัน ..ศาลาประชาคมแห่งนี้ก็กลายเป็น "สุขาวัวควาย" เพราะเต็มไปด้วยมูล วัว ควาย ที่ใครต้องการนำไปเป็นปุ๋ย ก็สามารถมาตักไปได้ง่าย เพราะไม่ถูกผสมอยู่กับดิน เช่นสภาพที่ควรเป็นโดยทั่วไป

นักศึกษาต่างคณะ ต่างชมรม ต่างทรรศนะ ถกเถียง ด้วยเหตุผล  108 ประการ จบการสัมมนาก็แยกย้ายกลับบ้านไป ทิ้งประเด็นเหล่านี้ไว้เบื้องหลัง กลายเป็นคำพูดกลางอากาศ หรือลมปากที่มองไม่เห็น...


ในกิจกรรมอบรมผู้นำนักศึกษา

มีการเปิดประเด็น ทำอย่างไรให้นักศึกษามีจิตสำนึกสาธารณะ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ดังคำพระบิดาที่เราชาวม.อ. แทบทุกคนท่องจำขึ้นใจ

"ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกแกท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธ์"

ผู้นำนักศึกษาถกเถียงกันอย่างเมามันถึงวิธีการสร้างจิตสำนึกดังกล่าว บ้างก็ว่าต้องกระตุ้นให้เห็นว่ายังมีคนในสังคมอีกมากที่ด้อยโอกาสกว่า บ้างก็ตัดพ้อกลุ่มนักศึกษาที่ตามแฟชั่น บ้างก็เห็นว่าเด็กสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน ไม่สนใจเรื่องคนอื่น ดีแต่ "เป็นตัวของตัวเอง" ได้ข้อสรุปมากมาย ผ่านกระบวนการกระตุ้น การคิด (โดยวิภาษวิธี) และจัดทำทิศทางความคิด (แบบ Mind map)

เมื่อการอบรมที่โรงแรมหรูจบลง คงไว้แต่รองบประมาณมหาวิทยาลัยสำหรับปีหน้า ที่จะมานอนห้องแอร์ กินข้าวบนจานชามหรู ๆ กันอีกครั้ง

 

ณ ที่ประชุม Cultural diversity

มีการทำความเข้าใจระหว่างสองวัฒนธรรม ระหว่างยุโรป กับเอเชีย พบเห็นข้อแตกต่างมากมาย ทั้งนิสัยใจคอ รูปแบบการดำเนินชีวิต อาหาร การแต่งกาย ฯลฯ

เคยมีอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นร้องไห้ จากการประเมินผลกลางสัปดาห์ในการทำค่ายอาสาระยะสั้น (Mid-Tern Evaluation) สร้างความตกตะลึงให้อาสาสมัครที่มาจากซีกโลกตะวันตก "นี่เป็นเพียงการประเมิน ไม่ใช่การต่อว่า สำหรับโลกตะวันตก ทุกคนสามารถพูด และแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ ในขณะที่นี่เป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงที่ทำให้เพื่อนร่วมค่าย Complain กันมากถึงเพียงนี้ สำหรับชาวเอเซีย"

ชาว ญี่ปุ่นขี้เกรงใจ เดินไปไหนมาไหน เสียงเบาเหมือนมดเดิน กลัวว่าคนอื่นที่หลับอยู่จะตกใจตื่นขณะหลับ ในขณะที่อาสาจากซีกโลกตะวันตกก็เดินเบาที่สุดในชีวิตเท่าที่ทำได้แล้ว แต่ทำไมทำเพื่อน ๆ ยังตื่นกันทั้งห้อง (ก็คนไม่เคยต้องเดินย่องมาตลอดชีวิต เส้นสายไม่ถูกฝึกมาเหมือนชาวเอเซียนี่นา ที่นั่งขัดสมาธิบนพื้นได้สบาย ๆ ถ้าให้เราอาสาสมัครตาน้ำข้าวนั่งอย่างนั้นละก็ ไม่ถึงหนึ่งนาทีได้เป็นเหน็บ ลุกวิ่งหนีไปเสียนานแล้ว)

แต่ประชุม Cultural Diversity จบ ค่ายอาสากี่ค่ายก็ยังเป็น "โรคช็อควัฒนธรรม" กันอยู่เหมือนเดิม

 

       ...เล่ามานาน เพียงเพื่อจะบอกว่า เชื่อเถอะว่า เสวนาครั้งนี้จะออกรส ทุกความคิดที่พรั่งพรู ทุกแววตาที่มุ่งมั่น ทุกกิริยาท่าทางที่ตั้งใจ จะถูกบันทึกไว้ในหนังสือหลังจากจบงาน GotoKnow Forum ครั้งที่ 1 นี้

 

กระบวนการ World Café จะสำแดงฤทธิ์เดชให้ทุกท่านประจักษ์ "ฉันเชื่อเช่นนั้น"

 

เราจะไม่เป็นเพียงลมปากกลางอากาศ

"แต่เราจะทำ"

รูปธรรมนี้แม้ไม่ถูกผลักดันโดยพวกเราเอง

แต่เชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่ง

จะมีสองมือนิรนาม สมองนิรกล

มาเปิดมัน และ"เปลี่ยน"


 

 

 

หมายเลขบันทึก: 256972เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2009 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

คำคมกริบเลยครับ ... :)

คำพูดกลางอากาศ หรือ ลมปากที่มองไม่เห็น

คิดถึงนักการเมืองไทยเหลือเกิน ...

ให้กำลังใจอยู่ไกล ๆ ครับ :)

แวะมาทักทายเยี่ยมชมครับ

"ถูกฝึกมาเหมือนชาวเอเซียนี่นา ที่นั่งขัดสมาธิบนพื้นได้สบาย ๆ....." การฝึกหรือถูกฝึกจะนำไปสู่ความชำนาญและเชี่ยวชาญครับ เหมือนกับที่ว่า อะไรทำบ่อยๆ ก็คล่องเอง เช่น พิมพ์ดีดบ่อยก็คล่อง เล่นเน็ทบ่อยก็มีเพื่อนเยอะ เอ่! เกี่ยวกันไหมเนี่ย?, ฯลฯ

พี่คนด้านบนให้กำลังใจอยู่ไกลๆ อืม ผ๊มอยากให้กำลังใจอยู่ใกล้ๆ จะดีไหมหนอ...

ติดตามอ่านบันทึกเกี่ยวกับกระบวนการ World Cafe ได้ที่ http://gotoknow.org/post/tag/world+cafe

ส่วนตัวแล้วคิดว่า น่าลอง น่าทำ น่าเข้าร่วม World Cafe เพราะอยากรู้ว่าความคิด มุมมอง ประสบการณ์ ที่สมองบันทึกไว้ในซอกหนึ่ง จะถูกดึงออกมาได้มากน้อยแค่ไหนค่ะ

ไม่คาดคิดว่าจะได้ไปร่วมงาน ดีใจจังจะได้ไปคะน้องเกส

ขอบคุณทุกกำลังใจ ทั้งใกล้และไกลค่ะ

คุณ Andrew

"ถูกฝึกมาเหมือนชาวเอเซียนี่นา ที่นั่งขัดสมาธิบนพื้นได้สบาย ๆ....."

เพราะชาวเอเซียนั่งบนพื้นกันบ่อย ทั้งในท่านั่งขัดสมาธิและพับเพียบค่ะ ส่วนชาวตะวันตกส่วนใหญ่จะนั่งบนเก้าอี้ สังเกตได้ง่าย ๆ จากการรับประทานอาหาร หรือการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป คนไทยเราเคยชินการนั่งพื้น ล้อมวงกินข้าวด้วยกันครอบครัว นั่งเล่น นั่งคุย ก็สามารถทำได้ง่ายบนพื้น ฯลฯ ในขณะที่ชาวตะวันตกนั่งรับประทานอาหาร บนโต๊ะอาหาร นั่งดูทีวีบนโซฟา ฯลฯ สาเหตุอาจเนื่องจาก อากาศบริเวณแถบยุโรปนั้นมีอากาศหนาว ชาวตะวันตกจึงไม่นิยมนั่งบนพื้น เพราะยิ่งทำให้รู้สึกหนาวมากขึ้น อีกกรณีหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ชาวไทยหรือเอเซียถอดรองเท้าเข้าบ้าน ในขณะที่บางประเทศในยุโรปใส่รองเท้าในบ้าน (ผู้เขียนเคยลองถอดรองเท้าตามวิสัยคนไทยแล้ว พบว่าไม่สามารถทนความเย็นของพื้นได้จริง ๆ )

คำว่า "ถูกฝึก" อาจมองได้ในลักษณะการรับการฝึกจากบุคคล หรือในรูปแบบของจารีต ในลักษณะนี้ เกิดจากวัฒนธรรมการนั่งที่ทำตาม ๆ กันมา ทำให้ชาวเอเซียได้รับการฝึกไปในตัว แม้จะไม่ถูก บอก หรือถูกสั่งให้นั่งค่ะ

ตัวอย่างที่คุณ Andrew ยกมาข้างต้น ถูกต้องเลยทีเดียวค่ะ

ปล. กำลังใจใกล้ ๆ ก็ดีค่ะ

พี่แก้ว

กำลังเร่งหนังสือเชิญให้พี่แก้วเลยค่ะ

พบกันเร็ว ๆ นี้นะคะ

ปล. ที่ใต้อากาศร้อนชื้น เสื้อผ้าบาง ๆ จะช่วยคลายร้อนได้ในระดับหนึ่งค่ะ

ผมคิดว่า คำว่า "การถูกฝึก" กับ "การฝึกเอง" นั้นแตกต่างกันนะครับ

การถูกฝึกนั้น บางทีก็อยู่ในลักษณะของเรื่องเกี่ยวกับค่านิยม, เรื่องเกี่ยวกับโครงการที่เป็นนโยบาย (Policy)

ส่วนการฝึกเองนั้น ต้องใช้ความพยายามมากเหมือนกัน มีภาษิตอยู่บทหนึ่งที่เกี่ยวกับการฝึกตนเอง กล่าวไว้ได้น่าฟังว่า "เป็นธรรมดาที่ต้องเงียบเหงา บางครั้งความเงียบเหงาก็ช่วยให้เราเข้มแข็ง เราจะไม่ล่ะทิ้งโอกาสแห่งการฝึกฝนตนเองให้มั่นคง"

ปล. จริงหรือครับ อยากให้เป็นกำลังใจใกล้ๆ อืม ไว้มีโอกาสอาจเมล์ไปขอเบอร์ จะกล้าให้ไหมหนอ!

ผู้นำนักศึกษา  ช่างเป็นคำที่หอมหวานที่หลายคนฝันอยากจะเป็น
แต่การเข้าไปอยู่กลางใจคนนั้นเล่า หาได้ง่ายไม่...คุณทำตามที่พูดไว้หรือไม่  อย่างไร  นี่สิสำคัญ....



p'pink

เปรียบเทียบ

"ผู้นำนักศึกษา" - "การเข้าไปอยู่กลางใจคน"

กับ

"นักการเมือง" - "การเข้าไปอยู่กลางใจ"

การจับคู่อย่างหลังน่าจะสอดคล้อง เห็นที่มาที่ไปของผลประโยชน์ตรง ชัด

นักศึกษาบางคนอาจไม่ไ้ด้ทำกิจกรรมเพื่อเข้าไปอยู่กลางใจผู้คน จุดประสงค์ตั้งต้นส่วนใหญ่ น่าจะเกิดจากการสนองความต้องการภายในของตัวนักศึกษาเอง

 

อย่างไรก็ตาม "คุณทำตามที่พูดไว้หรือไม่ อย่างไร นี่สิสำคัญ...." เป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน ทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะ "นักการเมือง"

ดี..ดี..เรื่องพิสูจน์..ครูพิสูจน์..ก็ชอบพิสูจน์..นักคิด..นักปฏิบัติ..ต้องยืนหยัดกับการพิสูจน์

พี่แก้ว รอหนังสือตอบรับ แล้วจะดำเนินเรื่องเร็วไว พี่ไก่ ประกาย อาจได้ไปร่วมประชุมด้วยค่ะ

พี่ประชาสัมพันธ์ให้แล้วค่ะ

ขอบคุณมากค่ะพี่แก้ว อยากให้มาร่วมกันเสนอความคิด ditital devide และยินดีต้อนรับชาวขอนแก่นทุกคนค่ะ

มาชม

เห็นมุมคิดดีจัง...ผมว่า...

สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่เป็นอยู่จริงอาจแตกต่างกัน

สิ่งที่เห็นทางจิตร่วมกันคงเหมือนกัน

แต่สิ่งที่เห็นทางตาเนื้อนั้นต่างกันแน่ ๆ

มีความเห็นว่า ทั้งทางจิตและทางเนื้อล้วนต่างกัน ขึ้นอยู่กับมุมมองแต่ละคน เวลา และสถานที่ค่ะ

เ รื่องจากค่ายอาสา  ที่เล่ามา เห็นจริงด้วยตาตัวเองค่ะ อย่างดิฉันเอง พยายามไปสร้าง ศาลาอ่านหนังสือพิมพ์ ให้คนในหมู่บ้าน อยากให้เขาออกมานั่งอ่านหนังสือกัน พูดคุย ถกกันเรื่องปัญหาต่างๆที่พบ จะได้หาทางออกร่วมกัน

แต่ในที่สุด กลายเป็นศาลาว่างเปล่า เป็นที่นอนพัก ยามบ่ายเท่านั้นเอง ผ่านไปเห็นทีไร รู้สึก เสียดายๆ  ต้องกลับมาคิดว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น....

ดีใจที่มีประสบการณ์ทับซ้อนร่วมกันค่ะ

บางครั้งความตั้งใจอันบริสุทธิ์ของนักศึกษา ก็ควรจะมีผู้ใหญ่ผู้อาบน้ำร้อนมาก่อนเป็นที่ปรึกษาบ้าง พลังแรงกล้าอันบริสุทธิ์เหล่านั้นจะได้ไม่เสียเปล่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท