สังคมวุ่นวาย เป็นผลมาจากการสอนศีลธรรม จริยธรรมหย่อนยานจริงหรือ?


ศีลธรรมไม่ได้หย่อนยาน แต่...อุดมการณ์ในระบอบการเมืองไทยมีปัญหา

ผมตั้งกระทู้ถามตนเองอีกครั้ง ว่า สังคมวุ่นวาย เป็นผลมาจากการสอนศีลธรรม จริยธรรมหย่อนยานจริงหรือ......เพราะผมชักไม่แน่ใจเสียแล้ว เมื่อวิเคราะห์ไปลึกๆถึงอายุของกลุ่มนักการเมืองที่มีปัญหาเหล่านี้ ถ้าจะให้คาดคะเน เขาเหล่านั้นเป็นผลิตผลของหลักสูตรการศึกษา 2503,2521 เสียเป็นส่วนใหญ่ ท่านเชื่อหรือไม่ใน 2 หลักสูตรนี้ สถานศึกษา หรือโรงเรียนไม่ได้หย่อนยานในเรื่องการสอนศีลธรรมเลย ถ้าเป็นหลักสูตรปัจจุบันอาจจะใช่ จึงต้องมีโครงการโรงเรียนวิถีพุทธเข้ามาเสริมด้านคุณธรรม จริยธรรมของผู้เรียน

ถ้าอย่างนั้น สาเหตุมาจากอะไรที่ทำให้นักการเมืองค่อนข้างจะอ่อนด้อยทั้งด้านศีลธรรม จริยธรรม ผมก็เลยทำการวิเคราะห์ลึกเข้าไปอีก ถ้าอย่างนั้นอาจเป็นเพราะ

1. ระบบการเมืองของไทยหรือเปล่า ระบบการเมืองของไทยยังด้อยคุณภาพมากเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่น มีการซื้อเสียง ซื้อตัวบุคคล มีผลประโยชน์เป็นตัวล่อ มีค่าตอบแทนที่เป็นแรงจูงใจ มีการสร้างอิทธิพล สร้างพรรคสร้างพวกโดยวิถีนักเลง ไม่ใช่วิถีประชาธิปไตย ใครมีเงินจึงมีโอกาส ใครไม่มีเงินก็หมดโอกาส แต่..ถ้าอยากได้โอกาสต้องตกเป็นทาสของคนมีเงิน จึงทำให้คนดีบางคน หรือหลายคนเปลี่ยนไป เปลี่ยนเข้าหาระบบ ไม่ใช่ช่วยกันพัฒนาระบบให้เข้มแข็ง หากแต่..ช่วยกันทำลายระบบ เพราะระบบ และวิธีการเป็นตัวชักนำให้นักการเมืองลืมอุดมการณ์ ลืมจิตสำนึกชั่วดี เอาผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง ผิดกับต่างประเทศ ซึ่งนักการเมืองไม่จำเป็นต้องมีเงิน ขอให้มีชื่อเสียงประชาชนจะช่วยกันลงขันในเรื่องทุนให้เอง

2. ความด้อยโอกาสของประชากร ทั้งในด้านการศึกษา การเรียนรู้ ด้านเศรษฐกิจ เป็นต้นเหตุของการขายเสียง เงินไม่มากาไม่เป็น ใครจ่ายมากลงให้คนนั้น คนดี "คุณดีจริง แต่คุณไม่ช่วยจ่ายเงินให้เรา เราก็ไม่กาให้คุณ" อะไรทำนองนี้

มีคำถามตามมาอีกว่า    ถ้าเขารับเงินของคนนั้นไปแล้ว เขากาให้ผู้นั้นจริง ถามว่า เขาผิดศีลธรรมตรงไหน เพราะเขาบอกว่า มันเหมือนการซื้อขาย คุณซื้อสินค้าเรา เราก็มอบสินค้าให้คุณ นี่แสดงถึงความซื่อสัตย์ ความมีสัจจะของประชาชนใช่ไหม ผมไม่เห็นว่าประชาชนผิดศีลธรรมตรงไหนเลย จะถามกี่ครั้งๆ เขาก็บอกว่า "เขาไม่ผิด" ถ้าเขารับเงินมาแล้ว ไม่กาให้สิ เขาผิด (โดยเฉพาะในจังหวัดแม่ฮ่องสอน)อย่างนี้จึงไม่เป็นเพราะว่าเขาขาดศีลธรรม จริยธรรมใช่ไหม  เพียงแต่เขาทำผิดกฏหมายเลือกตั้งเท่านั้น ครั้นจะอธิบายให้เข้าใจว่า รู้ไหมเขาหล่านั้นเมื่อจ่ายเงินซื้อเสียงแล้ว เขาก็จะถอนทุนคืนโดยการโกงชาติบ้านเมือง ไม่มีใครยอมเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์หรอก เขาก็มักตอบว่า "ช่างเขา ไม่ใช่เงินของเรา เขาไม่มาโกงเราก็พอ"

3. เรานำเอาหลักการ วิธีการการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของฝรั่งมาใช้ โดยไม่ได้คำนึงถึงความพร้อมของประชาชน ที่ดำรงชีวิตแบบวิถีไทย ฉะนั้นอุดมการณ์ในทางประชาธิปไตยจึงบกพร่อง และสร้างปัญหา

4. อุดมคติของการเมืองไทย เป็นเรื่องของผลประโยชน์ มากกว่าอุดมการณ์เพื่อการเมือง

ปัญหาโลกแตกอย่างนี้ จะแก้ได้อย่างไรสำหรับสังคมไทย โดยเฉพาะที่เป็นชาวชนบทและด้อยโอกาส ผมประสบมากับตัวเองในคราวที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง และผู้อำนวยการเลือกตั้ง จึงต้องยอมแพ้ต่อความเป็นจริง ไม่หวนกลับไปทำหน้าที่นี้อีกเลย  ในช่วงหลังมีผู้มาติดต่อให้เป็นตัวแทนลงสมัครเป็นนักการเมืองทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ผมปฏิเสธทุกรายและบอกเขาเหล่านั้นไปว่า "ผมเป็นนักการเมืองที่ดีของคุณไม่ได้ เพราะผมทำไม่ได้แบบนักการเมือง" เป็นคำตอบที่นุ่มนวลที่สุดเพื่อไม่ให้เสียน้ำใจ

เมื่อพิเคราะห์ดังกล่าวข้างต้น ผมเลยชักไม่แน่ใจว่า ปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง เกิดจากความอ่อนด้อยในการสอนศีลธรรม จริยธรรมของครู มันไม่น่าจะใช่ทั้งหมดใช่ไหมครับ อาจมีส่วนอยู่บ้างถ้าครูสอนศีลธรรมในหนังสือ มากกว่าการสอนเพื่อปรับเปลี่ยนเจตคติ หรือการฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดการซึมซับอย่างยั่งยืน

แล้วประเทศไทย จะวุ่นวายอีกนานไหมเนี่ย.....เป็นคำถามตามมาอีก ไม่สิ้นสุด.......

หันกลับมามองตัวเอง บอกได้คำเดียวว่า     "เหนื่อยครับ"

อาจารย์เก

 

หมายเลขบันทึก: 256884เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2009 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • สวัสดีค่ะอาจารย์เก
  • "เงินไม่มากาไม่เป็น เงินมาจึงจะกาเป็น" ประโยคนี้บ่งบอกสภาพของสังคมไทยปัจจุบัน ปัญหาหลายๆๆอย่างที่ถูกมองว่าสาเหตุมาจากคุณครู.."ผิดเป็นครู" ไว้ก่อน (คนละความหมายนะ)
  • ความจริงแล้วต้องช่วยกัน ป้องกัน และแก้ไขปัญหาคุณธรรม จริยธรรม อย่าผลักให้เป็นภาระของครู ศึกษานิเทศก์ ฯ ต้องช่วยกันหาวิธีแก้ไขปัญหา "ปัญหามีไว้แก้(ไข)ไม่ได้มีไว้กลุ้ม "

พี่สาวที่น่ารัก

ผมมีปัญหาเอาไว้กลุ้มจริงๆ กลุ้มเพราะไม่รู้จะแก้อย่างไร สุดท้ายก็ลงท้ายที่ว่า "ผิดเป็นครู" อะไรๆก็มาลงที่ครูหมด ครูแบกประเทศไทยไว้ทั้งหมดเลยนะเนื่ย....พวกเราแบกส่วนหัง ครูภาคใต้แบกส่วนท้าย หนักน่าดู เจ้าประคุณเอ๋ย

ขอบคุณพี่สาวที่เข้ามาอ่านบทความของ "คนหย่อง"

ลุงเก

เห็นคำว่า "คนหย่อง" ทำให้ผมอมยิ้มเลยครับ

จริงๆ บ้านเรามีคนหย่องที่รักชาติ สร้างสรรค์สังคม ไปสู่สังคมอุดมปัญญา 

ผมก็หย่องเหมือนกันครับผม

  • ธุค่ะ..

"เงินไม่มา  กาไม่เป็น" เป็นค่านิยมของชาวบ้านส่วนหนึ่งจริงๆ ค่ะ    และในการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็เห็นจริงๆ เลยว่า ความดีน่ะ ยังไงก็ไม่มีราคาเท่าเงิน    เงินซื้อเสียงปลิวว่อนสะพัด....

คุณจตุพรครับ

ผมว่าพวกเราทั้งหลายในก๊วน G2K ต่างก็เป็นคนหย่องเหมือนกันทั้งสิ้น คนที่ไม่คิดอ่านเหมือนพวกเรา คนพวกนั้นเขาไม่สนใจคนอื่นหรอกครับ เขาสนใจแต่ตัวเอง และเขาไม่ใช่คนในสังคมอุดมปีญญา สรุปแล้ว พวกเราคือ "คนหย่อง" ครับ ฮา..ฮา..ฮา...

อาจารย์เก

คุณเนปาลีครับ

ผมเคยพาผู้สักเกตการณ์การเลือกตั้งที่เป็นฝรั่งต่างประเทศไปสังเกตการเลือกตั้งสส.ในคราวที่ผมทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ผมบอกว่าเมืองไทยมีการซื้อเสียง เขางงใหญ่เลยแล้วก็ถามผมว่า ซื้อเสียงเป็นอย่างไร เพราะประเทศของเขาไม่คุ้นเคยในเรื่องนี้ ผมต้องอธิบายเสียยกใหญ่เลย เขาถึงเข้าใจ

การซื้อเสียงกลายเป็นธรรมเนียมของบ้านเมืองเราไปเสียแล้ว ยากที่จะแก้ไข มีทางเดียวหารูปแบบประชาธิปไตยที่ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง มันเป็นเวรกรรมของคนไทยจริงๆ

อาจารย์เก

ผมขอใช้เวลาช่วงนี้ ร่ำเรียนวิชา และให้เสร็จสิ้นภารกิจที่ กทม. แล้วจะกลับไปรับใช้ พัฒนาแม่ฮ่องสอนของเรานะครับ

อีกไม่นานครับพ่อครูครับ

คุณจตุพร

เรียนรู้ให้เก่ง ทำงานให้ดี มีความมุ่งมั่น แล้วกลับมาพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอนของเรา ลุงเกคนหนึ่งล่ะ ที่ขอสรรเสริญลูกหลานเก่งๆเช่นเธอ...และคนอื่นๆอีกที่คิดอย่างเธอ

ขอบคุณมากที่ให้สัญญากับตัวเอง

อาจารย์เก

สวัสดีค่ะอาจารย์

"เขาไม่ผิด" ถ้าเขารับเงินมาแล้ว ไม่กาให้สิ เขาผิด

"ช่างเขา ไม่ใช่เงินของเรา เขาไม่มาโกงเราก็พอ"

อืม นะคะ แถวนี้ก็เป็นเหมือนกันค่ะ....

พ่อแม่พี่น้องชาวบ้านของเราเหล่านี้  ที่เค้าคิดกันแบบนี้เป็นเพราะ

อะไรค่ะ  การศึกษาหรือเปล่า ทัศนะคติ ความเชื่อ ค่านิยม

แล้วทำๆตามๆกันไป หรือคิดตามๆกันไป  เขาว่าดี  ฉันก็ว่าดี 

เขาว่าไม่เป็นไร ไม่ผิด ฉันก็ว่าไม่ผิด  ... 

        เยาวชนคนรุ่นใหม่   คงต้องมีหัวใจที่ใฝ่รู้ ใฝ่คิด ใฝ่ทำดี

อย่างสร้างสรรค์และดีงาม  อันเป็นอนาคตของชาติ

ขอบพระคุณค่ะ  

คุณเทียนน้อยครับ

คงเป็นเพราะชาวบ้านเขาไม่รู้จักการคิดขั้นสูง หรือคิดอย่างมีวิจารณญาณมากกว่า เขาคิดได้เพียงความคิดพื้นฐานเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดีเขายังมีคุณธรรมจริยธรรมที่ดี ที่ไม่คดโกงคนอื่น ไม่โกหกหรือเบี้ยวคนอื่น มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น เพียงแต่เขาแยกแยะไม่ได้ต่างหากว่า สิ่งใดผิดกฏหมายแต่ไม่ผิดศีลธรรม เขารู้แต่เพียงว่าสิ่งใดที่ผิดศีลธรรมมักผิดกฏหมาย เรื่องสังคมมันสลับซับซ้อนพอสมควร เป็นเรื่องวิถีชีวิต ความเชื่อ และจารีตที่ปฏิบัติสั่งสมกันมานาน จึงแยกไม่ออกถึงเรื่องถูก ผิด

อาจารย์เก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท