"ไร้กรอบ" ของ ดร.วรภัทร ภู่เจริญ ... (หนุ่มเมืองจันท์)


สัปดาห์ที่ผ่านมา ร้านหนังสือประจำได้เข้าสู่เทศกาลลดราคาหนังสือให้สมาชิก 20% สมาชิกขาประจำอย่างผมคงไม่พลาด เริ่มจากชั้นล่าง ซื้อนิตยสาร Secret ฉบับที่ 18

 

 

หลังจากขึ้นชั้นสอง เลือกอยู่นาน บังเอิญลองไปเปิดหนังสือของ "หนุ่มเมืองจันท์" ชื่อ "ชีวิตไม่ยาก ถ้าตั้งโจทย์ง่าย" พลิกไปเจอเรื่อง "ไร้กรอบ" ที่หนุ่มเมืองจันท์เขียนถึง "อาจารย์ ดร.วรภัทร ภู่เจริญ" นักเขียนและบล็อกเกอร์ท่านหนึ่งใน Gotoknow.org แห่งนี้ (http://gotoknow.org/profile/worapat)

 

 

ซึ่งผมไม่เคยรู้จักอาจารย์เป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด ได้มีโอกาสอ่านข้อเขียนของอาจารย์จากบล็อก Free Rider และ Living company ... แล้วยังมีโอกาสซื้อหนังสือเล่มหนึ่งที่อาจารย์ได้เขียนไว้มาอ่าน ชื่อ "Learn How to Learn ... ให้ความรักก่อนให้ความรู้" หรือจำได้ว่า ได้อ่านบทความที่อาจารย์เขียนลงวารสารการศึกษา

 

หนุ่มเมืองจันท์ เขียนถึง อาจารย์ ดร.วรภัทร ภู่เจริญ ใน "ไร้กรอบ" ไว้ดังนี้

 

 

เคยได้ยินชื่อ ดร.วรภัทร ภู่เจริญ ไหมครับ

เขาเคยเป็นวิศวกรขององค์การอวกาศนาซา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเกือบ ๒๐ ปีก่อน

เคยได้รับรางวัลวิจัยที่ดีที่สุดระดับโลกเกี่ยวกับเครื่องยนต์ไอพ่น

ตัดสินใจกลับเมืองไทยเพราะ ๑.อยากดูแลพ่อแม่ ๒.ไม่อยากเป็นพลเมืองชั้นสองในบ้านพักคนชรา ๓.อยากเที่ยว และ ๔.ชอบกินอาหารอร่อย

เคยเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะออกมาตั้งบริษัทที่ปรึกษาของตัวเอง

ผมประทับใจบนสัมภาษณ์ของ ดร.วรภัทร ใน "เสาร์สวัสดี" ของ "กรุงเทพธุรกิจ" เมื่อประมาณ ๑ - ๒ เดือนก่อนมาก

 

คนอะไรก็ไม่รู้ ชีวิตมันส์เป็นบ้า

ความคิดก็กวนเหลือหลาย

ตอนที่เขาเป็นอาจารย์ วิธีการสอนหนังสือของเขาแปลกกว่าคนอื่น

"ผมออกนอกกรอบตลอดเวลา" เขาบอก

เขาเคยพาเด็กวิศวะไปริมสระว่ายน้ำ เรียนไปและดูนิสิตสาว ๆ ว่ายน้ำไปด้วย

คาดว่าคงไปเรียนเรื่อง "คลื่น"

ระหว่างท่าฟรีสไตล์ กับท่าผีเสื้อ คลื่นที่เกิดขึ้นของท่าไหนถี่กว่ากัน

ระหว่างชุดทูพีชกับวันพีช แรงเสียดทานกับน้ำ ชุดไหนมากกว่ากัน

แนวการศึกษาน่าจะออกไปทำนองนี้

แต่ที่ชอบที่สุด คือ ตอนที่เขาออกข้อสอบ

ข้อสอบของเขาสั้นและกระชับมาก

"จงออกข้อสอบเอง พร้อมเฉลย"

โหย...เด็กวิดวะอึ้งกันทั้งห้อง

คำตอบส่วนใหญ่เป็นการตั้งโจทย์แบบง่าย ๆ เช่น ปั้นจั่นมีกี่ชนิด

ผลปรากฎว่าได้ศูนย์กันทั้งห้อง เพราะเป็นคำตอบที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นที่ลึกซึ้งสมกับที่เรียนมาทั้งเทอม

 

เหตุผลที่ ดร.วรภัทร ออกข้อสอบด้วยการให้นิสิตออกข้อสอบเองเป็นเหตุผลที่ตรงกับใจผมมาก

"ชีวิตคนเราจะรอให้อาจารย์ตั้งโจทย์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องหาโจทย์มาเอง คิดแล้วทำ ถ้าผิดแล้วอาจารย์จะปรับให้"

เขามองว่าเด็กรุ่นใหม่ติดนิสัยเด็กกวดวิชา รอคนคาบทุกอย่างมาป้อนให้ ไม่รู้จักคิดเอง

"ถ้ารอและตั้งรับ คุณก็เป็นพวกอีแร้ง" แต่พวกคุณแย่กว่า เพราะเป็นแค่ลูกอีแร้ง คือ รออาหารที่คนอื่นป้อนให้

โหย...เจ็บ


ผมเชื่อมานานแล้วว่า ชีวิตของคนเราเป็นข้อสอบอัตนัย ที่ต้องตั้งโจทย์เอง และตอบเอง

ไม่ใช่ข้อสอบปรนัยที่คนตั้งโจทย์ และมีคำตอบเป็นทางเลือก

ก-ข-ค-ง

ถ้าใครที่คุ้นกับ "ชีวิตปรนัย" ที่มีคนตั้งโจทย์ให้ และเสนอทางเลือก ๑-๒-๓-๔

คนคนนั้นชีวิตจะไม่ก้าวหน้า เพราะต้องพึ่งพาคนอื่นตลอดเวลา

ติดกับ "กรอบ" ที่คนอื่นสร้างให้

ไม่เหมือนกับคนที่รู้จักคิดและตั้งคำถามเอง

เรื่องการตั้งคำถามกับชีวิตเป็นเรื่องสำคัญมาก

อย่าลืมว่าเพราะมี "คำถาม" จึงมี "คำตอบ"

เมื่อมี "คำตอบ" เราจึงเลือกเดิน


พูดถึงเรื่องการตั้งคำถาม ผมนึกถึง "โสเครติส"

เขาเป็นนักปรัชญาเอกของโลก ที่สอนลูกศิษย์ด้วยการสนทนา

ตั้งคำถามให้ลูกศิษย์ตอบ สร้างองค์ความรู้จาก "คำถาม"

กลยุทธ์ของ "โสเครติส" ในการสอนคือไม่ให้ความเห็นใด ๆ แก่นักเรียน และทำลายความมั่นใจของนักเรียนที่เชื่อว่าตนเองรู้

"โสเครติส" เชื่อว่าเมื่อเด็กตระหนักใน "ความไม่รู้" ของตนเอง เขาจะเริ่มต้นแสวงหา "ความรู้"

แต่ถ้าเด็กยังเชื่อมั่นว่าตนเองมี "ความรู้" เขาก็จะไม่แสวงหา "ความรู้"

การตั้งคำถามของโสเครติสจึงมีเป้าหมายโจมตีและทำลายความเชื่อมั่นในภูมิความรู้ของนักเรียน

เป็นกลยุทธ์เท "น้ำ"  ให้หมดจากแก้ว

เมื่อแก้วไม่มีน้ำแล้วจึงเริ่มให้เขาเท "น้ำ" ใหม่ใส่แก้วด้วยมือของเขาเอง

"น้ำ" ที่ลูกศิษย์แต่ละคนเทลงแก้วด้วยมือตัวเองมาจาก "คำตอบ" ที่เขาค้นคิดขึ้นมาเอง

"คำตอบ" จาก "คำถาม" ของ "โสเครติส"

"โสเครติส" นิยามศัพท์คำว่า "คนฉลาด" และ "คนโง่" ได้อย่างน่าสนใจ

"คนฉลาด" ในมุมมองของ "โสเครติส" นั้นไม่ใช่คนที่รู้ทุกเรื่อง

แต่ "คนฉลาด" คือ คนที่รู้ว่าตัวเองไม่รู้

ส่วน "คนโง่" นั้น คือ คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ แต่ทำตัวราวเป็นผู้รู้

ไม่น่าเชื่อว่า ก่อนหน้านี้ ผมยังมีความภาคภูมิใจใน "ความรู้" ของตนเอง

แต่พออ่านถึงบรรทัดนี้ ทำไมผมเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลย

แฮ่ม...


ตลอดเวลาผมก็พยายามบอกคนอื่นอยู่เสมอว่า ผมน่าจะถือว่าเป็นคนที่ "คิดนอกกรอบ" คนหนึ่ง

เพราะตอนเด็กเรียนวิชาวาดเขียนก็ยังระบายสีออกนอกกรอบเป็นประจำ

กินข้าวก็ชอบหกเละนอกจาน

เพราะฉะนั้น ผมจึงน่าจะเป็นคนที่คิดนอกกรอบอย่างแน่นอน

 แต่ผมไม่รู้ที่มาที่ชัดเจน

จนกระทั่งวันหนึ่งผมไปงานศพพ่อ "ตั้ม" เพื่อนสมัยเรียนที่ธรรมศาสตร์ ผมจึงรู้ "ที่มา"

วันนั้นแม้จะเป็นงานโศกเศร้า แต่เพื่อที่ไม่เจอกันมานานมาเจอกันก็ทักทายกันเสียงดังลั่น

หยอกกัน อำกัน แบบไม่สนใจว่า ใครตำแหน่งหน้าที่สูงส่งขนาดไหน

เพื่อนก็คือเพื่อน

"พ่อเพื่อน" ก็ยังเป็น "ชื่อเล่น" ของเพื่อนเราเหมือนเดิม

หลังจากเรานัดกันไปคุยกันต่อที่ร้านอาหาร ผมติดรถของ "จูน" ไปที่ร้านพร้อมกับลูกชายของ "เอื้อย"

ส่วนลูกสาวของ "จูน" ไปนั่งรถ "เอื้อย"

ผมเพิ่งรู้ว่า "จูน" คุ้นเคยกับอาจารย์วรภัทรเป็นอย่างดี

เคยไปศึกษาธรรมะที่ป่าช้ามาด้วยกัน

คุยกันเรื่องอาจารย์วรภัทรพักหนึ่ง ก็กลับมาคุยกันเรื่องอดีต

"ตอนเป็นนักศึกษา เธอสกปรกมาก"

"เฮ้ย" ผมแหกปากทำท่าไม่พอใจทันที

"จริง ๆ" จูนยืนยัน

"เท้าก็ดำ"

"ก็ใส่รองเท้าแตะ เตะบอลทุกวัน เท้าก็ต้องดำเป็นธรรมดา" ผมเถียง

"โหน่งก็เตะบอล ใส่รองเท้าแตะ แต่เท่าไม่เห็นดำเลย"

ไม่น่าเชื่อว่าผู้หญิงจะช่างสังเกตขนาดนี้

"เสื้อผ้าก็ไม่ซัก" จูนยังไม่หยุด

"เป็นบางวันนนน..." ผมลากเสียงสู้ เพราะใส่ซ้ำแค่ตอนนอนค้างมหาวิทยาลัย หรือไปค้างบ้านเพื่อนเท่านั้น

อาทิตย์นึงก็แค่ ๔ - ๕ วัน

"แต่เธอดีที่เป็นคนกล้าคิดนอกกรอบ" จูนเปลี่ยนทิศทางเป็นคำชมแบบน่าประหลาดใจ

ผมยังไม่ทันเอ่ยปากขอบคุณ "จูน" ก็ถล่มซ้ำอีกครั้ง

เป็นการเฉลย "ที่มา" ที่ผมสงสัยมานาน

"เธอเป็นคนไม่มีกรอบ เพราะเธอไม่เคยเข้าเรียน"

 

......................................................................................................................................

 

เปิดปั๊บ ชอบปุ๊บ สำหรับวิธีคิดของอาจารย์ โดยเฉพาะคำถาม

"จงออกข้อสอบเอง พร้อมเฉลย"

ไม่เคยรู้จัก อ่านแล้วก็รู้จักมากขึ้นครับ

"ไร้กรอบ" ตัวจริง เสียงจริงเลยล่ะ

 

แล้วมีเรื่องบังเอิญอีกครับ กลับบ้านไปเปิด Secret เล่มที่ซื้อมาครั้งเดียวกัน พลิกไปหน้า 64 - 65 มีเรื่องราวการสัมภาษณ์อาจารย์ ดร.วรภัทร ภู่เจริญ ...

 

 

อะไรจะบังเอิญขนาดนั้นครับอาจารย์ ...

 

ขอนำเสนอในบันทึกต่อไปนะครับ

กัลยาณมิตรคงจะได้รู้จักวิธีคิดแบบ "ไร้กรอบ" ของอาจารย์ ดร.วรภัทร มากขึ้นนะครับ :)

หากยังไม่แน่ใจ ลองเข้าไปเยี่ยมบล็อก Free Rider และ Living company ของอาจารย์ดูนะครับ

ขอบคุณมากครับ :)

 

 

 

แหล่งอ้างอิง

หนุ่มเมืองจันท์.  ชีวิตไม่ยาก ถ้าตั้งโจทย์ง่าย.  พิมพ์ครั้งที่ 8.  กรุงเทพฯ: มติชน, 2551.
 

 

หมายเลขบันทึก: 253395เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2009 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)

ขอบคุณอาจารย์ครับ ได้รับความรู้ ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ตอนแรกไปรับที่ร้านเขาเก็บไว้ให้เล่มเดียวค่ะ
  • เมื่อวานไปเจอที่สนามบินอีกจึงซื้อเพิ่ม
  • เพราะเล่มเมื่อวานครูที่โรงเรียนแยงกันอ่าน
  • เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ได้มีโอกาสพานักเรียนไปสวนป่าพ่อครูบาสุทธินันท์ 
  • นักเรียนมีโอกาสเจออาจารย์ ดร.วรภัทร์ ฯ
  • เมื่อกลับมาถึงโรงเรียนจนทุกวันนี้..เด็กชุดนี้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีทั้งภายในและภายนอก
  • อย่างเห็นได้ชัดค่ะ  และนำไปปฏบิตัในครอบครัว จนเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านค่านิยมได้ค่ะ
  • ขอขอบพระคุณอาจารย์ที่ให้ความรู้ค่ะ

คนคนนั้นชีวิตจะไม่ก้าวหน้า เพราะต้องพึ่งพาคนอื่นตลอดเวลา

ติดกับ "กรอบ" ที่คนอื่นสร้างให้

ไม่เหมือนกับคนที่รู้จักคิดและตั้งคำถามเอง

เรื่องการตั้งคำถามกับชีวิตเป็นเรื่องสำคัญมาก

อย่าลืมว่าเพราะมี "คำถาม" จึงมี "คำตอบ"

เมื่อมี "คำตอบ" เราจึงเลือกเดิน

 ที่กล่าวมา..กินใจ...

ทำให้ต้องกลับมาอ่านแล้วอ่านอีกค่ะ

ขอบคุณค่ะ  อาจารย์หนอน****

สวัสดีครับ อ.หนอน...(แอบก๊อปจากคนข้างบน)

ต้องหาซื้อมาอ่านแล้วครับ

ตามผมไปเยี่ยม ดร.ยุวนุช ที่บันทึกนี้ครับ

P Time@Being »
เยือนบ้านริมแม่น้ำป่าสัก : ดร.ยุวนุช (คุณนายด็อกเตอร์) 
โดย จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

สวัสดีครับ

อ่านอะไรยาวๆอย่างนี้แล้วดีจัง

ได้ความรู้เพิ่มเติม ได้มองตัวเองลึกๆด้วย :)

มันส์เป็นบ้าครับ 555

เรียนอ.เสือ

กลิ่นหนังสือมันแรงจริงๆ

ขอบคุณค่ะ ครูต้อยไปเจอโดยเจตนาที่ร้านซีเอ็ดพระราม สอง อยู่หมวดหนังสือประวัติศาสตร์ค่ะ เลยหยิบมา อ่านไปคิดไปป่านนี้ยังไม่จบ เลย ดีใจที่อ.ช่วยย่อระยะเวลาให้และข้อคิดที่น่าสนใจค่ะ

ต้องเรียนว่า the secret ที่มีอยู่ในมือของครูต้อยสงสัยว่าจะคนละเล่มกับของท่านอ.เล่มนี้ยังอ่านไม่จบดีเลยค่ะ

 

อ.หนอน อิอิ..

(ตามน้องๆข้างบนค่ะ)

จะรออ่านบันทึก ต่อไปค่ะ

นอกกรอบ   กบ..นอกกะลา

ยินดีและขอบคุณมากครับ อาจารย์ พันคำ :)

ฉะนี้แล้ว คุณ ครูคิม สามารถนำวิธีคิด วิธีสอนของอาจารย์ ดร.วรภัทร ไปประยุกต์ใช้สอนเด็ก ๆ ที่โรงเรียนดูนะครับ :)

ขอบคุณครับ :)

อาจารย์หนอนอีกแล้วหรือครับ คุณ ครูเอ อิ อิ

ดู๊ ดู ... เรียกตามกันมาเพียบเลย 555

ขอบคุณครับ คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร ที่ตามแบบคุณ ครูเอ อย่างแนบเนียน จ๊าก ๆๆๆ 555

สักครู่จะตามไปชมบันทึกที่แนะนำไว้ครับ :)

ขอบคุณครับ น้อง adayday อะไรนะครับ มันส์จนบ้าหรือครับ ??

555

ขอบคุณครับ คุณ krutoi ... กลิ่นแรงขนาดนั้นเลยหรือครับ

สิ่งดี ๆ อยู่ภายใน อย่าลืมอ่านเยอะ ๆ นะครับ :)

เหอ เหอ อาจารย์หนอนหนังสือใช่ไหมครับ คุณครูจุฑารัตน์ NU 11

ขอแบบเต็ม ๆ ครับ ... หนอนเฉย ๆ มันดูน่ารังเกียจยังไงก็ไม่ทราบนะครับ อิ อิ

ว่าแล้วอ.หนอนอวบ ต้องนำเสนอ The Secret เร็วๆ นี้ :)

ว่าจะส่งhow to learn เล่มของอ.วรภัทรไปให้อ.หนอนอวบซะหน่อย

แต่คิดว่าอ.เสือต้องมีแล้วแน่ๆ เลยเพราะเป็นหนอนหนังสืออยู่แล้ว :)

""" Think out of Box ...  ไร้กรอบ  ...

...ไร้ชื่อ ... ไม่ยึดถือ ไม่ยึดติด ปิดทองหลังพระ  แบบอ. เสือ? :) 

สวัสดีค่ะ พอลล่าชอบจังเลย ชีวิตคนเราจะรอให้อาจารย์ตั้งโจทย์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องหาโจทย์มาเอง คิดแล้วทำ ถ้าผิดแล้วอาจารย์จะปรับให้" สุดยอด จริงๆ ค่ะ

อาจารย์หนอนอีกแล้ว คุณ poo ลูกครูใหญ่ :)

หนอนอวบ ด้วยอ่ะ 555

ขอบคุณครับ คุณ poo 

ชอบจัง

...ไร้ชื่อ ... ไม่ยึดถือ ไม่ยึดติด ปิดทองหลังพระ  แบบอ. เสือ? :)

ขอบคุณ คุณ ♥.paula ที่ปรึกษาตัวน้อย✿ ที่แวะมาเยี่ยมเยือนครับ :)

แหม อ. ไร้ชื่อ แซวลูกครู   ใหญ่ไม่เลิก นะคะ :)

ไม่ต้องเรียกครูใหญ่บ่อยๆ  ก็ได้ค่ะ ป๋าหลับอยู่ กลัวป๋าสะดุ้ง :)

ดีใจที่ ชอบจัง  ...  ก็แหม คนไร้ชื่อ จึงมีหลายฉายาไงคะ 

...

""" วันนี้อากาศฝั่งนี้ ร้อน ฮ้อน หลายๆ  เต้อ ค่ะ ฝั่งโน้นเป็นไงบ้างค่ะ

ต้องไปกินไอติม หรือเฉาก๊วย หลังมอ  แก้ร้อน ...

 

 

นี่พลัดมือกันมาเขียนความคิดเห็นของกันและกันนะครับ คุณ poo ลูกครูใหญ่กว่า :) ... เมืองเหนือร้อนเหมือนเคย ครับ

กาแฟปั่นกาดธานินทร์ ครับ :)

  • ขอบพระคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ และเป็นประโยชน์มากค่ะ
  • โดยส่วนตัว ชอบแนวคิดของท่านอาจารย์วรภัทรมากค่ะ และอ่านหนังสือของท่านอาจารย์ไปบางเล่มแล้ว
  • ไร้กรอบ ไร้พรมแดน เป็นแนวคิดอิสระที่ไม่ยึดติดกับความคิดดั้งเดิมของเราเองค่ะ

ขอบคุณครับ คุณ Sila Phu-Chaya ที่แวะมาเยี่ยมเยือนเสมอ ๆ :)

"ชีวิตของคนเราเป็นข้อสอบอัตนัย ที่ต้องตั้งโจทย์เอง และตอบเอง" ชอบประโยคนี้ค่ะอาจารย์ จะไปหามาอ่านค่ะ ยังไม่มีค่ะเรื่องนี้

อ๋อ ครับ คุณครู ทรายชล ... แต่ว่าของหนุ่มเมืองจันท์เล่มนี้ มีของอาจารย์ ดร.วรภัทร บทเดียวนะครับ ... ลองอ่านเล่ม "Learn How to Learn" ดูนะครับ :) ... ครูควรอ่านอย่างมาก

สวัสดีค่ะอาจารย์

เรื่องออกข้อสอบนี้เคยฟังมาครั้งหนึ่งแล้วค่ะ ครั้งแรกที่ฟังก็รู้สึกแปลกดี

เพื่อนที่เล่าให้ฟังบอกว่านักศึกษาที่ออกข้อสอบง่ายนั้น จะตกหมด เพราะถือว่าไม่ได้ให้เกียรติความรู้ที่ตนเองมี

แต่มาวันนี้เรื่องเดียวกันกลับคิดคนละแบบ ได้เปิดโลกหลายๆ ทาง

ได้รู้ว่าแค่เรื่องเดียวกัน คนเรากลับคิดต่างกันได้มากมาย

ขอบคุณค่ะ

ใช่ครับ น้อง สี่ซี่ ... ประเด็นทุกประเด็น ปัญหาทุกปัญหา วิธีคิดทุกวิธีคิด เราสามารถคิดได้ทุก ๆ มุม 360 องศา ... บันทึกนี้สอนเราอย่างนั้น

ขอบคุณครับ :)

สวัสดีครับ

เพิ่งเปิดมาเจอครับ ผมไม่เคยรู้จัก อ. วรภัทร์ เป็นการส่วนตัว แต่ติดตามผลงานของอาจารย์ได้ 3-4 ปีแล้วครับ ผมถือว่าท่านเป็น Idol ของผมเลยครับ หลายๆมุกหลายๆ แนวคิดผมได้นำไปใช้กับลูกศิษย์ผมด้วยครับ ผมได้เข้ามาสู่วงการของ GTK ก็เพราะท่านครับ

ยินดีและขอบคุณมากครับ คุณ ไทเลย-บ้านแฮ่ ที่แวะเข้าเยี่ยมบันทึกนี้ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท