ปี่พาทย์อยุธยา 9


ปี่พาทย์อยุธยา 9

วิถีวัฒนธรรมปี่พาทย์อยุธยา ๙ : สกุลพระราชทานทางดนตรีในอยุธยา

                                                                                      กนก   คล้ายมุข

              ------------------------------------------------------------------------------------------

            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราโชบาย ให้ใช้นามสกุลต่อท้ายชื่อของบุคคลทั่วไป  พระองค์ได้พระราชทานนามสกุลให้บรรดาขุนนางข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนที่ขอพระราชทานขึ้นไปจำนวนมาก นอกจากนี้นักดนตรีไทย ที่ได้รับการชุบเลี้ยงจากเจ้านายพระองค์อื่น ๆ  ต่างได้รับพระราชทานนามสกุลทางดนตรีมากมาย อาทิ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณพันธ์วงษ์วรเดช  ทรงพระราชทานนามสกุลศิลปบรรเลงให้แก่นายศร  นักดนตรีในวังบูรพาภิรมย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงพระราทานนามสกุลพาทยโกศลให้แก่ จางวางทั่ว นักดนตรีในวังบางขุนพรหม เป็นต้น ในส่วนของนักดนตรีไทยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นชุมชนดนตรีที่มีความสำคัญ ได้รับพระทานนามสกุลทางดนตรีด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


            กรมพระนครสวรรค์วรพินิต                              กรมพระยาภาณพันธ์วงษ์วรเดช

 

             ราว พ.. ๒๔๖๔  พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จประพาสกรุงเก่า  และเสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระราชวังบางปะอิน โดยมีเจ้าเมืองกรุงเก่า ในสมัยนั้นมีหน้าที่ถวายการต้อนรับ  ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปี่พาทย์ จึงให้จัดหาวงปี่พาทย์ฝีมือดี เพื่อบรรเลงถวายในขณะเสวยพระกระยาหาร  ในคราวนั้นได้วงปี่พาทย์ฝีมือดีจาก   บ้านเกาะเริ่ง ตำบลพุทเลา อำเภอนครใน (อำเภอ บางปะหัน ปัจจุบัน) เป็นวงบรรเลงถวาย โต้โผชื่อ นายสุวรรณ ญาณคุณ การแสดงผลงานบรรเลงปี่พาทย์ถวาย ของคณะนายสุวรรณ ญาณคุณ เป็นที่พอพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระราชทานนามสกุลให้กับโต้โผวงปี่พาทย์ นายสุวรรณ ญาณคุณ เสียใหม่ เพื่อเป็นเกียรติแก่วงตระกูลนักดนตรีว่าพิณพาทย์เพราะจึงเป็นจุดเริ่มต้นของสกุลนักดนตรีไทย สกุลสำคัญ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในลำดับต่อมา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


     พระที่นั่งไอยศวรรย์ทิพยอาสน์   พระราชวังบางปะอิน

 

             นายสุวรรณ พิณพาทย์เพราะ เดิมเป็นนักดนตรีปี่พาทย์ รับราชการอยู่ใน กรมมหรสพหลวง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นนักดนตรีไทยอยู่ในช่วงสมัยที่ครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นปลัดกรมมหรสพอยู่ก็เป็นได้ (คำนวณอายุแล้วน่าจะเกิดประมาณ พ.. ๒๔๒๕ ในรัชกาลที่ ๕)  เมื่อแต่งงานกับนางเชื้อภรรยา จึงลาออกจากราชการมาอาศัยอยู่กับภรรยา แถบบ้านพุทเลา วัดนนทรีย์ อำเภอนครใน (อำเภอบางปะหันปัจจุบัน) ต่อมามีบุตรกับนางเชื้อ ๖ คน เป็นชาย ๓ คน คือ นายโป๊ะ นายสังเวียน และนายนายไสว เป็นหญิง ๓ คน คือ นางถวิล นางเอื้อม และนาง สวง บุตรชายทั้ง ๓ คน ต่างรับช่วงเป็นผู้สืบสกุล พิณพาทย์เพราะ ของนายสุวรรณ โดยดูแล สืบสานวงปี่พาทย์ตลอดมา ทั้งยังเป็นครูดนตรีไทยที่มีความสำคัญ ต่อวงการดนตรีไทยใน                     จังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย

             นายโป๊ะ พิณพาทย์เพราะ มีบุตรสาวเพียงคนเดียวชื่อถนอม จึงไม่มีผู้สืบสกุลพิณพาทย์เพราะนายโป๊ะ นอกจากจะสอนดนตรีให้กับนักดนตรีในคณะแล้ว ยังได้สอนดนตรีไทยให้กับนักดนตรีวงนายวัน คล้ายทิม วงปี่พาทย์ในอำเภอบางบาลด้วย   มีลูกศิษย์คนสำคัญ ได้แก่ นายปุ่น พูลพร นักระนาดฝีมือดี ประจำวงนายวัน คล้ายทิม

   นายสังเวียน พิณพาทย์เพราะ บุตรชายคนที่ ๒ ของนายสุวรรณ พิณพาทย์เพราะ สมรสกับนาง บุญนาค มีบุตรชาย ๑ คน  ชื่อ นายทวี บุตรสาว ๒ คน ชื่อนางมณี และนางสว่าง จึงมีผู้สืบสกุล พิณพาทย์เพราะ เพียงคนเดียวเท่านั้น  คือนายทวี พิณพาทย์เพราะ

   นายไสว  พิณพาทย์เพราะ บุตรชายคนที่ ๓ ของนายสุวรรณ ไม่มีผู้สืบสกุล

             นายสังเวียน  พิณพาทย์เพราะ จึงเป็นผู้รับสืบทอดมรดกทางดนตรีจากพี่ชาย และน้องชาย เพียงผู้เดียว  และส่งต่อให้กับบุตรชายเพียงคนเดียวคือนายทวี  พิณพาทย์เพราะ  และเป็นประทีปแห่งสกุลเพียงผู้เดียวที่จะสืบสานสกุลพิณพาทย์เพราะให้คงอยู่ต่อไป และนับได้ว่า เป็นคนสำคัญแห่งวงการดนตรีไทยอยุธยาคนหนึ่ง มีประวัติพอสังเขป ดังนี้

             นายทวี พิณพาทย์เพราะ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.. ๒๔๖๕ เริ่มเรียนดนตรีกับบิดา เมื่ออายุ ๗ ปี และฝึกระนาดเอกกับอาชื่อ ไสว จนอายุ ๑๙ ปีจึงไปเรียนดนตรีกับครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) โดยอาชื่อประเสริฐ(เป็นลิเก) เป็นเพื่อนกับ ครูประเทียบ (เป็นนักดนตรีฝรั่ง) และครูประเทียบเป็นเพื่อนกับ ครูเผือด นักระนาด นำไปฝากเรียนอีกต่อหนึ่ง โดยไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านครูขำ กลีบชื่น (บิดา ครูโองการ กลีบชื่น) เรียนดนตรีอยู่บ้านบาตรจนครูวาระสุดท้ายที่ครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ถึงแก่มรณกรรม และเป็นศิษย์คนหนึ่งที่มีชื่อเสียงในรุ่นเดียวกันได้แก่ ครูประสิทธิ์ ถาวร ครูแสวง คล้ายทิม ครูวิเชียร สารเดช เป็นต้น

            การได้ศึกษาดนตรีไทยกับครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร  ศิลปบรรเลง) ทำให้ครูทวี ได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือ ลูกล่อลูกชนทางดนตรี วิธีการต่าง ๆ  ตลอดทั้งเพลงเรื่อง เพลงพิธีกรรม เพลงเดี่ยว  เพลงเถา มากมาย  ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในแถบวงการดนตรีภูธร ไม่น้อย และได้ถ่ายทอดวิทยาการด้านดนตรีไทยให้กับบุคลที่สนใจทั่วไป  จึงมีลูกศิษย์กระจายอยู่ทั่วไป ทั้งในบริเวณพื้นที่บ่อโพงและใกล้เคียง อาทิ เช่น บางไทร บางปะหัน บางปะอิน วังน้อย เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ครูทวี   พิณพาทย์เพราะ

 

            ครูทวี พิณพาทย์เพราะ สมรสกับนางบุญนาค  จึงย้ายสำนักดนตรีมาอยู่ที่บ้านบ่อโพง เลขที่ ๔๑ หมู่ ๓ ตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีบุตร ๑๑ คน เป็นชาย ๔ คน หญิง ๗ คน แต่บุตรชาย ๒ คนแรกเสียชีวิต ตั้งแต่อายุน้อย เมื่อมีบุตรชายคนต่อมาจึงมอบให้ญาติข้างภรรยาเป็นบุตรบุญธรรม โดยใช้นามสกุลอื่น และไม่ได้เรียนดนตรีไทยเลย ปัจจุบันคงมีแต่บุตรชายคนเล็กแต่เพียงผู้เดียวที่สืบสกุล พิณพาทย์เพราะ

   ช่วงชีวิตของครูดนตรีท่านนี้ นับได้ว่าได้มอบสิ่งดี ๆ ให้กับสังคมดนตรีไว้มากมาย  หลายชีวิตทางดนตรีไทย ได้สืบทอดมรดกด้านดนตรีไทยใช้ประกอบเป็นอาชีพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางดนตรีในหมู่มิตรสหาย มิวายจรรโลงเอกลักษณ์ดนตรีสายฝั่งพระนคร ให้คงอยู่ในเนื้อหาสาระ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้สืบทอดดนตรีไทยในสกุลของท่านมีเพียงบุตรชายคนสุดท้อง อาจารย์อุทิศ พิณพาทย์เพราะ ปัจจุบันรับราชการครู  จึงไม่สามารถทุ่มเทเวลาให้กับดนตรีไทยได้มากนัก มีเพียงอาจารย์ทวินศรี เมฆดี บุตรสาวซึ่งรับราชการครู เท่านั้นที่ดูแลเครื่องดนตรีคงไว้ในยามที่ท่านจากไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 


อาจารย์ทวินศรี  เมฆดี

   นับได้ว่าตระกูล พิณพาทย์เพราะ เป็นตระกูลนักดนตรีที่สืบทอดเชื้อสายด้านดนตรี มาตั้งแต่บรรพบุรุษ และเป็นชื่อสกุล ที่ได้รับพระราชทานจากสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับสกุลดนตรีอื่น ๆ เช่น พาทยโกศล ดุริยางกูร ศิลปบรรเลง ฯลฯ ด้วย แต่ด้วยสกุล พิณพาทย์เพราะ มีผู้สืบทอดเป็นหญิงเสียเป็นส่วนมาก และมักไม่นิยมเล่นดนตรีไทยด้วย คงมีเพียงบุตรชายคนเดียวที่จะสืบทอดสกุล และความเป็นดนตรีเฉกเช่นบรรพบุรุษ  เพื่อคงความภูมิใจของวงตระกูลในมรดกตกทอดด้านดนตรีไทยต่อไป

           

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ปี่พาทย์อยุธยา 9
หมายเลขบันทึก: 252504เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2009 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กันยายน 2012 17:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอเพิ่มเติม นะครับ วงดนตรีไทยในจังหวัด อยุธยา ที่ได้รับ พระราชทานนามสกุล ยังมีอีก นะครับ ก็คือ จรรย์นาฏย์ ซึ่งเป็นนามสกุลที่ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์วงษ์วรเดช ทรงพระราชทานให้กับครูเพชร ซึ่งเป็น นักดนตรีในวังบูรพา ของพระองค์ ซึ่งพระอง์พระราชทานให้พร้อมกับ นามสกุล ของท่านครูหลวงประดิษฐ์ ซึ่งมีหลักฐานคือใบพระราชทานนามสกุล ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ ของสมเด็จฯ วังบูรพา ซึ่ง พระองค์ได้ให้ความหมายนามสกุล จรรย์นาฏย์ ว่า ประพฤติดนตรี เขียนเป็นภาษาโรมัน ได้ดังนี้ chanyanattaya

ดีจังค่ะ

สามารถนำไปใช้ในการเรียนได้

สามรถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้

ชุติกาญจน์ ญาณคุณ

ขอบคุณค่ะ เพิ่งรู้ประวัติ ตัวเอง

แล้วก็ ปู่ ของเราด้วย

เพราะปัจจุบัน คนที่ใช้ นามสกุล ญาณคุณ มีน้อยมากแล้ว

ชุติกาญจน์ ญาณคุณ

บทความด้านบน มีข้อผิดพลาด เนื่องจาก นายไสว ญาณคุณ

ไม่ได้เปลี่ยนไปใช้นามสกุล พิณพาทย์เพราะ

และ ยังคงใช้นามสกุล ญาณคุณ ตลอดชั่วชีวิต

สมรสกับ นางชี้น ญาณคุณ มีบุตรชาย ชื่อ นายสุวิน ญาณคุณ

ซึ่งจริงๆ แล้ว นายไสว ญาณคุณ มีผู้สืบสกุล คือ นายสุวิน ญาณคุณ (เสียชีวิตแล้ว)

นายสุวิน ญาณคุณ ก็มีผู้สืบสกุล ทั้ง หญิง และ ชาย และยัง คงใช้สกุล " ญาณคุณ "

ในปัจจจุบันนี้ อีก หลายคน รวมทั้ง ตัวของดิฉันด้วย

ทุกคนค่ะ

อาจารย์ อุทิศ พิณพาทย์เพราะ เป็นอาจารย์

สอนดนตรีไทย โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยค่ะ

ท่านสอนห้องหนูเองค่ะ ม.1/1ค่ะ

ดิฉันเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ อุทิศ พิณพาทย์เพราะ ในวงดนตรีไทยอยุธยาวิทยาลัย ขอเสริมข้อมูลนิดนึงค่ะว่า อาจารย์ยังคงสืบทอดดนตรีไทย และใช้ชีวิตกับดนตรีไทยอยู่เป็นประจำ ท่านเป็นระนาดเอกที่ฝีมือดีมากๆและอาจารย์ก็ได้พาวงดนตรีไทยของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ไปแข่งขันกิจกรรมเวทีศักยภาพนักเรียนได้รางวัลเหรียญทองที่1ระดับประเทศเกือบทุกปีและท่านก้ยังมีผลงานอีกมากมาย ท่านยังคงที่จะสืบทอดดนตรีไทยให้กับลูกศิษย์ของท่านทุกคนได้อย่างเต็มที่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท