ปี่พาทย์อยุธยา 6


ปี่พาทย์อยุธยา 6

วิถีวัฒนธรรมปี่พาทย์อยุธยา ๖ : ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑

พิธีเทศน์มหาชาติ   วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงนัยใด

------------------------------------------------------------------------

กนก   คล้ายมุข

             ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่ง โดยถือปฏิบัติ คือเทศกาลออกพรรษา บริเวณริมแม่น้ำโขง มีบั้งไฟพญานาคให้ผู้คนทั่วไปได้ดูในความมหัศจรรย์ที่ยังไม่มีผู้ใดให้เหตุผลได้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร จึงนับเป็นเทศกาลสำคัญที่มีผู้เฝ้ารอให้ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ อย่างใจจดจ่อเพราะปีหนึ่ง ๆ มีเพียงครั้งเดียว ถึงแม้ว่าจะยังเป็นปมปริศนาที่ยังคงถกเถียงกันว่า บั้งไฟพญานาคเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหรือ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ภาพที่ ๑ พระสงฆ์แสดงธรรม

 

             พื้นที่ภาคกลาง ในช่วงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ เป็นช่วงเวลาที่มีพิธีทางพุทธศาสนา ที่สำคัญ คือพิธีเทศน์มหาชาติ  เป็นพิธีทางศาสนาที่มีความสำคัญโดยใช้การเทศน์เป็นสื่อช่วยให้ประชาชนได้สนใจในคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ เนื้อหาของมหาชาตินั้น คือเรื่อง เวสสันดรชาดกที่เรียกว่า มหาชาติเพราะถือเป็นการประชุมพลังแห่งบารมีครั้งยิ่งใหญ่  ความนิยมเทศน์มหาชาติ เริ่มขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา เดิมแต่งเป็นภาษามคธ มีคาถาพันหนึ่ง เรียกว่า พระคาถาพันปัจจุบันแต่งเป็นร่ายยาว 

   พิธีเทศน์ของราษฎรนิยมทำกันในช่วงเทศกาลออกพรรษา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) แต่ปัจจุบันแปรเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับความสะดวก  มิใคร่ถือฤดูกาลเป็นเกณฑ์สักเท่าใด  และยังเป็นพิธีทางศาสนาที่สำคัญ ที่วงปี่พาทย์มีหน้าที่บรรเลงประกอบ มีการบรรจุบทเพลงต่าง ๆ ไว้เป็นแบบฉบับ  ยึดถือปฏิบัติในกลุ่มวงดนตรีไทย  รูปแบบการบรรเลงของวงปี่พาทย์จะเริ่มบรรเลงเพลงสาธุการ เมื่อพระขึ้นธรรมาสน์ และทำหน้าที่บรรเลงประกอบเมื่อสิ้นสุดการเทศน์ในแต่ละกัณฑ์  ซึ่งรายละเอียดของเพลงประกอบเทศน์มหาชาติ ที่มีความสัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง ด้ดังนี้

กัณฑ์ที่ ๑ ทศพร

             นางผุสดี ขอพร ๑๐ ประการจากพระอินทร์ 

   ดนตรีบรรเลงเพลงสาธุการประกอบ   เนื่องจากเป็นการปราสาทพร  ของพระอินทร์ ซึ่งเป็นเทวดาชั้นสูง

กัณฑ์ที่ ๒ หิมพานต์

             กล่าวถึง นางผุสดี จุติยังเมืองมนุษย์ เป็นพระมเหสีของพระเจ้ากรุงสณชัย และมีพระราชโอรส คือ พระเวสสันดร ต่อมาที่เมืองกลิงคราช เกิดทุกขภัย ชาวเมืองมาทูลขอช้างปัจยนาเคนทร์ พระเวสสันดรพระราชทานให้  จึงถูกเนรเทศออกจากเมือง

             ดนตรีบรรเลงเพลงตวงพระธาตุ จริงแล้วไม่เกี่ยวกับกับเหตุการณ์  แต่เกี่ยวกับการประทานช้างนั้นเปรียบเสมอด้วย การตวงพระธาตุของพระพุทธเจ้าแจกจ่ายทั่วไป

กัณฑ์ที่ ๓ ทานกัณฑ์  

             กรรมบันดาลให้พระเจ้ากรุงสณชัย ไม่ยินดีที่จะยกโทษให้พระเวสสันดร  พระนางมัทรีตามเสด็จ และได้บำเพ็ญทานไปตลอดทาง จนต้องเดินทางด้วยเท้า

             ดนตรีบรรเลงเพลงพญาโศก  ประกอบการทูลลา หรือการสั่งเมือง

กัณฑ์ที่ ๔ วนประเวศ

             ทั้ง ๔ กษัตริย์เดินด้วยเท้าถึงเมืองเจตราช เจ้าเมืองทูลเชิญให้ครองเมือง  พระเวสสันดร ไม่ยอม เจ้าเมืองเจตราช จึงบอกทางให้เดินไปยังเขาวงกต

             ดนตรีบรรเลงเพลง พญาเดิน ประกอบการเดินของกษัตริย์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ภาพที่ ๒ พระเวสสันดร ถูกเนรเทศ นางมัทรี กัญหา ชาลี ตามเสด็จ

 

 

 

กัณฑ์ที่ ๕ ชูชก

             ชูชก พราหมณ์แก่ มีเมียสาว ชื่อ นางอมิตดา ไม่ต้องการปรนนิบัติชูชก จึงให้ไปทูลขอทาส ไว้ใช้งาน โดยให้ไปขอ กัณหา และชาลี

             ดนตรีบรรเลงเพลง เซ่นเหล้า  ประกอบการเดิน โซซัดโซเซ เหมือนตาแก่ หรือคนขี้เมา แต่ไม่ได้บรรเลงประกอบการดื่มเหล้าแต่อย่างใด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


           ภาพที่ ๓ ชูชกและนางอมิตดา

กัณฑ์ที่ ๖ จุลพน

               ชูชก  ถามทางพรานเจตบุตร พรานพรรณนาให้ฟังถึงลักษณะของป่าหิมพานต์ ซึ่งมีความแปลกประหลาด ต่าง ๆ นานา

             ดนตรีบรรเลงเพลง คุกพาทย์ ประกอบความแปลกประหลาด พิลึกพิลั่น สิ่งที่ไม่เคยเห็น ความน่าสพรึงกลัวของป่าหิมพานต์

กัณฑ์ที่ ๗ มหาพน

             ชูชกเดินทางไปตามทางพบพระอัตจุฤาษี  และถามทางต่อไป  พระฤาษี พรรณนา ความสวยงามของป่าเขา สระ ต่างๆ  และชี้ทางต่อไป

             ดนตรีบรรเลงเพลงเชิด ประกอบการเดินทางขั้นสุดท้าย

กัณฑ์ที่ ๘ กุมาร

             ชูชกเดินทางไปถึงอาศรม และทูลขอ กัณหา ชาลี เป็นเวลาที่นางมัทรีไปหาอาหาร พระเวสสันดร พระราชทานให้  กัณหา ชาลี แอบหนีซ่อนตัวในสระ  แต่ต้องจำยอมไปกับชูชก และถูกชูชกเฆี่ยน ตี ไปตลอดทาง

             ดนตรีบรรเลงเพลงโอด เชิดฉิ่ง แสดงการฉุดกระชากของชูชก สลับกับการกรรแสงร่ำไห้ ของกัณหา ชาลี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ภาพที่ ๔ พระเวสสันดรบริจาคกัญหาชาลี

กัณฑ์ที่ ๙ มัทรี

             นางมัทรีกลับจากหาอาหาร ไม่พบพระกัณหา ชาลี  ทูลถามพระเวสสันดร  พระองค์ทำเป็นหึง เพื่อดับความเศร้าโศก เสียก่อน แล้วจึงแจ้งความให้ทราบ

             ดนตรีบรรเลงเพลง ทยอย โอด ประกอบอาการเดินหาไป คร่ำครวญไป และการร้องไห้

กัณฑ์ที่ ๑๐ สักบรรพ

             สักบรรพ เป็นชื่อพระอินทร์ ทรงเกรงว่าผู้อื่นจะมาขอนางมัทรีไป  จึงแปลงเป็นมนุษย์ ขอนางมัทรี เป็นบาทบริจาริกา  พระเวสสันดรพระราชทานให้ เกิดเป็นโลกธาตุหวั่นไหว  พระอินทร์ถวายนางคืน และพระเวสสันดรขอพร ๘ ประการ

             ดนตรีบรรเลงเพลงกลม ประกอบการเสด็จของเทวดาผู้ใหญ่

กัณฑ์ที่ ๑๑ มหาราช

             ชูชกพากุมาร หลงเข้าไปในกรุงสญชัย  พระเจ้ากรุงสญชัยขอไถ่ตัวไว้ และยกทัพไปรับพระเวสสันดรพร้อมด้วยพระญาติ

             ดนตรีบรรเลงเพลงกราวนอก ประกอบการยกทัพของมนุษย์

กัณฑ์ที่ ๑๒ ฉกษัตริย์

             กษัตริย์ทุกพระองค์พบกัน ดีใจจนสลบไป

             ดนตรีบรรเลงเพลง ตระนอน ประกอบอาการสลบ คล้ายกับว่า เป็นการนอนอย่างใหญ่

กัณฑ์ที่ ๑๓ นครกัณฑ์

             กษัตริย์ทั้ง ๖ เสด็จกลับนคร เสด็จอย่างช้า ๆ เป็นเวลาหลายเดือน

             ดนตรีบรรเลงเพลง กลองโยน ประกอบการชมนกชมไม้ ในขณะเสด็จดำเนินกลับเมือง

 

   รูปแบบของเพลงไทย ที่วงปี่พาทย์ใช้บรรเลงประกอบการเทศน์มหาชาตินั้น สามารถวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของรูปแบบเพลงประกอบการเทศน์มหาชาติได้ ๓ ลักษณะ คือ

 

   . เพลงที่ใช้บรรเลงตามลักษณะหน้าที่เฉพาะ เช่น

                   เพลงสาธุการ              ประกอบ         การปราสาทพรของพระอินทร์

             . เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบกริยาอาการ ของตัวละครในเรื่องเวสสันดร เช่น

                   เพลงพญาเดิน            ประกอบ         การเดินทางของกษัตริย์

                   เพลงโอด , ทยอย        ประกอบ         การร้องไห้ เศร้าโศก เสียใจ

                   เพลงคุกพาทย์            ประกอบ         ความอัศจรรย์ของป่าหิมพานต์

                                                เป็นต้น

             . เพลงที่มีชื่อเพลงสอดคล้องกับเนื้อหาของเรื่อง  เช่น

                   เพลงตวงพระธาตุ        ประกอบ         การพระราชทานช้างให้ทานทั่วไป มีความสอดคล้องกับการตวงพระธาตุของพระพุทธเจ้าแจกจ่ายทั่วไป

                   เพลงตระนอน             ประกอบ         การสลบของกษัตริย์หลายพระองค์ในคราพบกัน มีความสอดคล้องกับการใช้เพลงการนอนของตัวละครชั้นสูง

                                                เป็นต้น

   ลักษณะการบรรเลงประกอบพิธีเทศน์มหาชาติ โดยใช้บทเพลงประจำกัณฑ์ทั้ง ๑๓ เพลงนั้น วงปี่พาทย์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีรูปแบบการปฏิบัติเปลี่ยนแปลงไป ด้วยวัดที่จัดเทศน์มหาชาติเปลี่ยนแปลงพิธีจากที่เคยจัดงาน ๒ วัน ๒ คืน โดยทำให้กระชับขึ้นด้วยการเทศน์รวบรัดให้จบภายในวันเดียว เนื่องจากพุทธศาสนิกชนผู้ฟัง ไม่มีเวลาที่จะมานั่งฟังได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน วงปี่พาทย์ที่บรรเลง จึงทำหน้าที่บรรเลงเพลงสาธุการส่งพระขึ้นธรรมาสน์ แล้วปิดท้ายด้วยเพลงเชิดและเพลงกราวรำหลังจากพระเทศน์จบเท่านั้น นักดนตรีรุ่นใหม่จึงแทบไม่ได้สัมผัสรับรู้กับเพลงประกอบพิธีเทศน์มหาชาติเหล่านี้อย่างสมบูรณ์แบบเช่นอดีต

   ปัจจุบันพบว่า การเทศน์มหาชาติมีความนิยมอีกรูปแบบหนึ่งคือ การเทศน์มหาชาติทรงเครื่อง หรือมหาชาติออกตัว โดยจัดให้มีผู้แสดงบทบาทประกอบ ตามเนื้อเรื่องเพื่อเพิ่มอรรถรส ให้ผู้ฟังเทศน์ได้ซาบซึ้งเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการช่วยผ่อนคลายที่ต้องนั่งฟังพระเทศน์เพียงอย่างเดียวด้วย  นอกจากนี้การแสดงดังกล่าว ยังเป็นกุศโลบาย ในการหาปัจจัยให้กับทางวัดได้ดีด้วย การเทศน์มหาชาติออกตัวนิยมแสดงในกัณฑ์มัทรี  

   อย่างไรก็ตาม กลับเป็นผลดีทำให้วงปี่พาทย์ได้มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างขาดไม่ได้ แม้ว่าการบรรเลงของปี่พาทย์ มักทำหน้าที่บรรเลงเพลงประกอบการแสดงของตัวผู้แสดงออกตัวตามบทบาทนั้น ๆ เพลงที่ใช้เป็นเพลงหน้าพาทย์ง่าย ๆ เช่น เชิด โอด รัว และการบรรเลงประกอบการร้องทำนองเพลง กลอนสด แบบอย่างลิเก เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ภาพที่ ๕ ผู้แสดงประกอบเทศน์มหาชาติออกตัว

 

   วัดที่พบว่ามีการใช้ปี่พาทย์  ประกอบการเทศน์มหาชาติออกตัว มีกระจายทั่วไปทั้งพื้นที่ เช่น วัดชุมแสง อำเภอท่าเรือ  วัดธรรมโชติการาม วัดแจ้ง อำเภอบางบาล วัดกระโดงทอง อำเภอเสนา วัดลาดชิด อำเภอผักไห่ ฯลฯ นักแสดงประกอบการเทศน์มหาชาติที่นิยม เช่น คณะขวัญจิต ศรีประจัน จากจังหวัดสุพรรณบุรี คณะดวงแก้ว ลูกท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คณะทวีป วงศ์เทวัญ จากจังหวัดนครสวรรค์ คณะพรเทพ  พรทวี จากจังหวัดสิงห์บุรี เป็นต้น

 

              ปัจจุบัน  การบรรเลงปี่พาทย์ประกอบพิธีเทศน์มหาชาติ ปรับเปลี่ยนไปตามกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคม  นักดนตรีรุ่นใหม่ไม่รู้จักเพลงบรรเลงประกอบการเทศน์มหาชาติ ด้วยความนิยมในการจัดให้มีการเทศน์มหาชาติลดน้อยลง  ในส่วนที่ยังคงปฏิบัติมักตัดทอนเวลาให้สั้นลงจบในวันเดียว จึงทำให้วงปี่พาทย์ที่เคยเป็นดนตรีประกอบการเทศน์ถูกลดบทบาทตามไปด้วย  ส่วนที่ยังเรียกใช้ในการบรรเลงประกอบการเทศน์มหาชาติทรงเครื่อง  บทบาทหน้าที่ของวงปี่พาทย์ ถูกปรับเปลี่ยนไป  โดยนัยทำหน้าที่ประกอบการแสดงของผู้แสดงประกอบมากกว่า การบรรเลงประกอบการเทศน์  บทเพลงต่าง ๆ ที่ใช้จึงเปลี่ยนแปลงไปตามหน้าที่ด้วย

คำสำคัญ (Tags): #ปี่พาทย์อยุธยา 6
หมายเลขบันทึก: 252500เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2009 14:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท