ปี่พาทย์อยุธยา


ปี่พาทย์อยุธยา

วิถีวัฒนธรรมปี่พาทย์อยุธยา ๑ : สภาพวงปี่พาทย์และนักดนตรี

-----------------------------------------------

กนก   คล้ายมุข

 

        ดนตรีไทย โดยเฉพาะวงปี่พาทย์ พัฒนาการมาถึงยุคแห่งความเจริญสูงสุดในสมัย กรุงรัตนโกสินทร์  มีความสมบูรณ์เป็นแบบฉบับที่แท้จริงทั้งเครื่องดนตรี  การจัดวง  เพลง ทำนอง เนื้อร้อง  ตลอดทั้งกลวิธีการบรรเลงและขับร้อง  จนกระทั่งภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความตกต่ำเกิดขึ้นเนื่องจากรัฐนิยมไม่ส่งเสริมความเป็นไทย  แนวนโยบายนี้นัยว่าเป็นทางรอดปลอดภัยของชาติ และอาจช่วยให้ชาติเป็นมหาอำนาจเหมือนประเทศแถบตะวันตก  วงการดนตรีไทยจึงตกอยู่ในสภาพล้มลุกคลุกคลาน ความผูกพันระหว่างคนไทยกับดนตรีไทย  ในลักษณะอันเป็นนามธรรมต้องขาดช่วงไปกว่า ๓๐ ปี  ขณะเดียวกันก็กลับช่วยให้ดนตรีตะวันตกแพร่เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยอย่างมาก  ดนตรีไทยจึงซบเซานับแต่ พ.. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา 

        การเข้าใจและซาบซึ้งดนตรีไทยของสังคมทุกวันนี้ มีไม่มากนัก  ทั้งผลกระทบซึ่งเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ  การเมือง  และสังคม คนส่วนมากยอมรับในความหมายและความสำคัญของดนตรีแบบฉบับ แต่มักเห็นเป็นเรื่องพ้นสมัย อันควรรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์  ทั้งนี้โดยเหตุที่ไม่เหมาะแก่สภาพปัจจุบัน เพราะเดิมดนตรีไทยบรรเลงอยู่ในวังหรือในพิธีอันสำคัญ โดยถือว่าเป็นของสูง ห้ามแตะต้อง หรือทำลาย  ประการหนึ่ง และเห็นว่า การดนตรีไทยผูกพันอยู่กับความซ้ำซาก หลงติดอยู่กับอดีตจนขาดการพัฒนา เพลงไทยแท้จึงมีอยู่จำนวนเท่าเดิม ไม่มีผู้ใดกล้าแต่งเพิ่มใหม่ด้วยเกรงว่าจะเป็นการลบหลู่ครู  คนรุ่นใหม่ยังคงเล่นดนตรีไปตามรอยของเก่าเท่านั้น  เมื่อเวลาผ่านไป ความแตกต่างของภาวะแวดล้อม สังคมเปลี่ยนแปลง จึงไม่น่าแปลกที่ความรู้สึกเกี่ยวกับดนตรีไทยจะลดลงมาตามลำดับ ดนตรีไทยทุกวันนี้จึงมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนไทยน้อยมาก หรือเกือบไม่มีเลยก็ว่าได้

        พระนครศรีอยุธยา เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าและมีคุณสมบัติโดดเด่น ที่ประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลก องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้มีมติให้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ไว้ในฐานะมรดกโลก อยุธยาจึงมีคุณค่าและความหมายต่อสังคมไทยมาก นับตั้งแต่การเป็นราชธานีสำคัญของสยามประเทศ   ที่รวมศูนย์อำนาจทางการเมืองการปกครอง  เป็นเมืองท่า ค้าขายนานาชาติอย่างไม่มีนครใดเป็นมาก่อน   และที่สำคัญยังเป็นศูนย์กลางของความรุ่งเรือง  ทางอารยธรรมต่าง ๆ  ซึ่งได้เป็นแม่แบบให้แก่กรุงเทพมหานครในยุคต่อมา

                  จากสภาพที่พระนครศรีอยุธยา เคยเป็นศูนย์รวมแห่งวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งวัฒนธรรมทางด้านดนตรีไทย ในพื้นที่นี้ ก็ไม่แตกต่างจากวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ แต่อย่างใด เนื่องด้วยวิถีชีวิตของชาวพระนครศรีอยุธยา มีความผูกพันอยู่กับดนตรีไทย ทั้งด้านพิธีกรรม ศิลปะการแสดงต่าง ๆ และการขับกล่อม วัฒนธรรมด้านดนตรีปี่พาทย์  ได้รับการสั่งสม สืบทอด และพัฒนา มาโดยลำดับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน   จากการศึกษาภาคสนาม พบว่า สภาพปี่พาทย์ มีดังนี้

        วงปี่พาทย์มีสภาพการเกิดจากบ้านดนตรี ๑๔๗ บ้าน และวัด ๑ วัด โดยพบวงปี่พาทย์ ๒ ประเภท คือ วงปี่พาทย์ไทย และวงปี่พาทย์มอญ รวมทั้งสิ้น จำนวน ๒๘๗ วง ในจำนวนนี้เป็นวงปี่พาทย์ไทย ๑๔๗ วง ปีพาทย์มอญ ๑๔๐ วง อำเภอที่มีวงปี่พาทย์มากที่สุด คืออำเภอบางบาล มีจำนวนวงปี่พาทย์ ๕๒ วง เป็นปี่พาทย์ไทย ๒๗ วง ปี่พาทย์มอญ ๒๕ วง อำเภอที่มีวงปี่พาทย์น้อยที่สุด คืออำเภอผักไห่  มีจำนวนวงปี่พาทย์ ๖ วง เป็นปี่พาทย์ไทย ๓ วง และปี่พาทย์มอญ ๓ วง

        บ้านดนตรีไทย ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มักมีทั้งวงปี่พาทย์ไทยและวงปี่พาทย์มอญ ควบคู่กันไป แต่ส่วนใหญ่จะมีวงปี่พาทย์ไทยอยู่ก่อน  ซึ่งในอดีตวงปี่พาทย์ไทย  สามารถบรรเลงประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ได้ทั้งพิธีมงคลทั่วไป (บรรเลงในรูปแบบวงปี่พาทย์ไทย) และพิธีศพ (บรรเลงในรูปแบบวงปี่พาทย์นางหงส์)  ต่อมากระแสความนิยมวงปี่พาทย์มอญใช้ประกอบพิธีศพ มีมากขึ้น  วงปี่พาทย์นางหงส์ที่เคยใช้อยู่เดิมจึงถูกลดบทบาทไป บ้านปี่พาทย์จึงสร้างวงปี่พาทย์มอญแทนและเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามลำดับ และด้วยลักษณะทางกายภาพของเครื่องดนตรีของวงปี่พาทย์ไทยและวงปี่พาทย์มอญ สามารถผสมผสานเครื่องดนตรีบางชนิดเข้าด้วยกันได้ เช่น ระนาดเอก ระนาดทุ้ม  ฆ้องวงใหญ่ (ตัดบางลูกออก เพิ่มจำนวนลูกฆ้องต่อยอด ๓ ลูก) ฆ้องวงเล็ก และ เครื่องประกอบจังหวะต่าง ๆ ตามโครงสร้างลักษณะของการประสมวง

        ในส่วนของบ้านดนตรีไทยที่มีวงปี่พาทย์วงใดวงหนึ่งเพียงชนิดเดียวนั้น มีเหตุผลแตกต่างกันไป กลุ่มหนึ่งมีอยู่เดิม เป็นการรักษาสภาพดนตรีสมบัติ ของบรรพบุรุษให้คงไว้ ไม่มุ่งเน้นการประกอบอาชีพ  ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่มีเพียงวงปี่พาทย์ไทยเป็นส่วนใหญ่  อีกกลุ่มหนึ่งสร้างวงปี่พาทย์เพื่อมุ่งประกอบอาชีพ การเริ่มต้นจึงเริ่มจากวงปี่พาทย์ที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีซึ่งใช้ทุนน้อยกว่าไปก่อน จึงเริ่มที่วงปี่พาทย์ไทยก่อน แต่ก็มีบางส่วนที่สร้างวงปี่พาทย์มอญเพียงประเภทเดียว   ด้วยเห็นว่าปัจจุบันวงปี่พาทย์ไทย  นำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพได้น้อยลง  เป็นการลงทุนที่สูญเปล่า

        ระยะเวลาการเกิดวงปี่พาทย์ไทย  ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น พบว่าวงปี่พาทย์ไทยหลายวง มีอายุเก่าแก่เกิดขึ้นก่อน ๑๐๐ ปี มาแล้ว หรืออาจมากกว่านั้น ราวปลายรัชกาลที่ ๔ (ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ได้มีการจดบันทึกไว้แต่อย่างใด) อาทิ วงปี่พาทย์คณะนายวัน คล้ายทิม ของนายไพฑูรย์  คล้ายทิม  และวงปี่พาทย์คณะศรทอง ของนายแสวง คล้ายทิม อำเภอบางบาล วงปี่พาทย์คณะ จรรย์นาฏ ของนายพิทักษ์  จรรย์นาฏ  วงปี่พาทย์คณะบ้านใหม่ ของนายวิเชียร  เกิดผล วงปี่พาทย์คณะศรทอง ของนายสังเวียน พงษ์ดนตรี และวงปี่พาทย์คณะสุนิมิตร ของนายสวัสดิ์  สุนิมิตร อำเภอพระนครศรีอยุธยา  วงปี่พาทย์คณะนายถึก  ของนายถึก  ฉิมศร อำเภอวังน้อย  วงปี่พาทย์คณะ ส. ลัดดาอ่อน ของนายเสนอ  ลัดดาอ่อน  อำเภอท่าเรือ และวงปี่พาทย์คณะศิลปะแสงทอง  ของนายวิชัย  บุญพยัคฆ์ ในอำเภอเสนา เป็นต้น วงปี่พาทย์ไทยที่มีอายุน้อยที่สุด  คือวงปี่พาทย์คณะ  นายนิพนธ์คลองไร่แตง  ของนายนิพนธ์ เกตุชูโชติ เกิดเมื่อ พ.. ๒๕๔๔ 

        วงปี่พาทย์ไทยปัจจุบันมีการพัฒนารูปลักษณ์ โดยสร้างสรรค์เครื่องดนตรีให้มีคุณค่า สวยงามมากขึ้น โดยการประดับมุก ประกอบงาช้าง และที่นิยมมากที่สุด คือการนำเครื่องดนตรีที่แกะสลักลวดลาย  ปิดทองสวยงาม ซึ่งใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ เช่นรางระนาดเอก รางระนาดทุ้ม มาใช้ในวงปี่พาทย์ไทย เนื่องจากมีลวดลายสวยงามกว่า รางระนาดเอก และระนาดทุ้มที่เคยใช้ ซึ่งมีลักษณะไม้เนื้อแข็งผิวเรียบแบบเดิม ส่งผลให้มีการพัฒนาเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ ด้วย โดยแกะสลักลวดลาย ลงรักปิดทอง เช่นกลองทัด  กลองแขก ร้านฆ้องไทย  ปิดทอง เป็นต้น  จึงเป็นรูปแบบของวงปี่พาทย์ไทย ที่มีการพัฒนารูปลักษณ์ในส่วนของเครื่องดนตรีในการใช้งานด้วย

        วงปี่พาทย์มอญ เข้ามามีบทบาทในสังคมชาวพระนครศรีอยุธยา ตามกระแสความนิยมทั่วไป สันนิษฐานได้ว่า น่าจะเกิดขึ้นเมื่อ ๘๐๑๐๐ ปีมาแล้ว โดยพบวงปี่พาทย์มอญที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด คือ วงปี่พาทย์มอญคณะนายวัน ของนายไพฑูรย์  คล้ายทิม  ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ถึง ต้นรัชกาลที่ ๖ โดยนายไฉน  แสงผลึก (สัมภาษณ์) อดีตนักดนตรีไทยประจำวงปี่พาทย์คณะนายวัน เล่าว่า ท่านเกิดเมื่อ พ.. ๒๔๕๑ เมื่ออายุได้ประมาณ ๙ ปี ราว พ.. ๒๔๖๐ ท่านได้เริ่มเรียนดนตรีกับครูดนตรีท่านหนึ่งชื่อ วัน  คล้ายทิม แห่งบ้านหัวตะพาน (ปัจจุบัน คือตำบลสะพานไทย อำเภอบางบาล) ขณะนั้นพบว่าที่บ้านนายวัน มีเครื่องปี่พาทย์มอญสำหรับบรรเลงในงานศพ อยู่ก่อนแล้ว  (สันนิษฐานว่าน่าจะมีก่อนหน้านั้นหลายปีแล้ว) เครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์มอญของ นายวัน  มีความแตกต่างไปจากวงปี่พาทย์มอญปัจจุบัน ประกอบด้วย ฆ้องมอญ ๑ วง (แกะสลักปิดทองลวดลายไม่สวยงามเช่นฆ้องมอญปัจจุบัน) มีลักษณะเล็กกระทัดรัด เวลาตี ต้องใช้ไม้ตะขาบ (ไม้สำหรับหามฆ้อง ใช้ร้อยหู ๒ หู ด้านหน้านาง ๑ หู และด้านหาง ๑ หู)  คล้องหูไว้ แล้วผูกไม้ตะขาบกับเสา  เพื่อเป็นการป้องกันฆ้องล้ม ฆ้องกระแต ๑ วง ซึ่งโครงของร้านฆ้องรูปทรงเรียบ ๆ ไม่มีลวดลาย ระนาดเอก ๑ ราง (ใช้ระนาดเอกจากวงปี่พาทย์ไทย) ปี่มอญ และตะโพนมอญ  นับเป็นเครื่อง  ปี่พาทย์มอญที่ดีที่สุด ในขณะนั้นด้วย

                  เหตุผลอีกประการหนึ่งที่อาจทำให้เชื่อได้ว่า วงปี่พาทย์มอญวงนี้ น่าจะเกิดขึ้นกว่า ๑๐๐ ปี ด้วยพบว่าการอพยพของชาวมอญเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนั้น อำเภอบางบาลปัจจุบัน น่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมอญกลุ่มหนึ่งด้วยก็เป็นได้ ปัจจุบันยังพบว่ามีหมู่บ้านหนึ่ง มีชื่อเรียกกันต่อๆ มาว่า บ้านคูมอญซึ่งเป็นสิ่งที่น่าศึกษาต่อไป

หลังจากนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เกิดวงปี่พาทย์มอญอีก ๑ คณะ คือ บรรพบุรุษคณะ

สุขอุดม ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา ต้นตระกูลดนตรีไทยของนายประเสริฐ  สุขอุดม รัชกาลที่ ๗ เกิดปี่พาทย์มอญคณะศิลปะแสงทอง ต้นตระกูลดนตรีของนายวิชัย บุญพยัคฆ์ ในช่วงรัชกาลที่ ๘-๙ เกิดวงปี่พาทย์มอญขึ้นมากมาย กระจายทั่วไปทั้งพื้นที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึง ๑๔๐ วง ซึ่งลักษณะ รูปแบบ ของวงปี่พาทย์ค่อยพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน วงปี่พาทย์มอญที่เกิดขึ้นใหม่ที่สุด คือ วงปี่พาทย์มอญคณะบวรศิลป์  ศิษย์ครูเล่ง ของนายเพทาย  ทรัพย์บวร อำเภอบางซ้าย และคณะสุชาติ ดอกไม้พุ่ม ของนายสุชาติ ดอกไม้พุ่ม อำเภอบางปะหัน โดยทั้งสองคณะเกิดขึ้นเมื่อ พ.. ๒๕๔๔

        ความสวยงามของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดในวงปี่พาทย์มอญ ที่แกะสลักลวดลายปิดทอง  ปิดกระจกสวยงาม เมื่อนำมาผสมหรือจัดตั้งออกมาในรูปของวงแล้ว  มีความสง่างาม  จึงเป็นปัจจัยเสริม นอกเหนือจากเสียงที่บรรเลง ปรากฏว่า มีผู้ว่าจ้างปี่พาทย์มอญไปบรรเลงในงานศพ จำนวนฆ้องมอญที่เรียกว่า โค้งนั้น จะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงฐานะของงานด้วย โดยแสดงความใหญ่โต  ของงานด้วยการว่างจ้างวงปี่พาทย์มอญ โดยเพิ่มจำนวนฆ้องมอญมาก ๆ ตามแต่ความนิยมของเจ้าภาพแต่ละราย เพราะเป็นความต้องการใช้วงปี่พาทย์มอญเป็นเครื่องประดับของงานส่วนหนึ่ง ประดับเกียรติผู้วายชนม์ และเป็นหน้าตาเจ้าภาพส่วนหนึ่ง โต้โผวงปี่พาทย์มอญในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ต่างตอบรับกระแสความนิยม สร้างเครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์มอญโดยเฉพาะฆ้องมอญ  เพิ่มเติมมากขึ้น  พบว่าวงปี่พาทย์มอญในแต่ละวงมีจำนวนฆ้องมอญ  มีฆ้องมอญรวมทั้งสิ้น ๗๒๐ โค้ง  วงปี่พาทย์มอญในอำเภอบางบาลมีฆ้องมอญมากที่สุด  จำนวน ๑๒๙ โค้ง รองลงมาคือวงปี่พาทย์มอญในอำเภอเสนา และวงปี่พาทย์มอญในอำเภอพระนครศรีอยุธยา จำนวน ๑๐๐ โค้ง และจำนวน ๘๔ โค้ง ตามลำดับ วงปี่พาทย์มอญในอำเภอภาชีมีฆ้องมอญ น้อยที่สุด จำนวน ๑๔ โค้ง

        วงปี่พาทย์มอญที่มีจำนวนฆ้องมอญมากที่สุด คือวงปี่พาทย์มอญคณะจรรย์นาฏ ของนายพิทักษ์ จรรย์นาฏ อำเภอพระนครศรีอยุธยา  มีฆ้องมอญ จำนวน  ๑๒  โค้ง รองลงมาได้แก่วง ปี่พาทย์มอญคณะสุนิมิตร ของนายสวัสดิ์  สุนิมิตร อำเภอพระนครศรีอยุธยา มีฆ้องมอญจำนวน ๑๑ โค้ง  วงปี่พาทย์คณะจำลองศิลป์ ของนายจำลอง  คหินทพงษ์ อำเภอบางบาล  และวงปี่พาทย์มอญคณะวิเชียร อำเภอบางปะอิน มีฆ้องมอญจำนวนเท่ากันคณะละ ๑๐ โค้ง  การมีฆ้องมอญจำนวนมากมากนั้น ด้วยเหตุผลสำคัญคือ เพื่อไว้บริการกับเจ้าภาพที่ต้องการปี่พาทย์มอญจำนวนมากโค้ง  และสามารถรับงานได้ ๒ งานในเวลาเดียวกัน โดยแยกเครื่องดนตรีเป็น  ๒ ชุด ได้ด้วย

        จากความนิยมดังกล่าว ทำให้รูปแบบของการประสมวงปี่พาทย์มอญปรับรูปแบบเปลี่ยนไป  ซึ่งเดิมการประสมวงปี่พาทย์มอญจะยึดตามรูปแบบปี่พาทย์ไทย  คือ วงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า วงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ และวงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ ปัจจุบัน พบว่า รูปแบบวงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า ไม่พบว่ามีการประสมวงในรูปแบบนี้ รูปแบบวงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ ยังคงพบเห็นบ้าง แต่ไม่เป็นที่นิยม   ในส่วนรูปแบบของวงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่เป็นที่นิยมมาก แต่แนวคิดในการประสมวงเปลี่ยนไป เป็นที่เข้าใจของคนทั่วไป จะหมายถึง การบรรเลงปี่พาทย์มอญที่มีฆ้องมอญจำนวนมาก ๆ ตั้งแต่ ๓ โค้งขึ้นไป จึงจะเป็นวงปี่พาทย์มอญวงใหญ่  ฆ้องมอญมีจำนวนมากเท่าไร จะแสดงความเป็นปี่พาทย์มอญวงใหญ่มากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้วงปี่พาทย์มอญยังนิยมประดับเครื่องดนตรีด้วย หางนกยูง และไฟกระพริบ วิ่งสลับสวยงาม ชวนให้ตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก  นอกจากนี้ พบว่า มีการ ประดับมุกเครื่องดนตรีแทนการแกะสลักปิดทอง สร้างความงดงามให้วงปี่พาทย์มอญไปอีกแบบด้วย

                  การตอบรับแนวคิดของผู้ว่างจ้าง  ที่ไม่มีความรู้เรื่องดนตรี ไม่สนใจฟัง เน้นความสวยงามเท่านั้น โต้โผวงปี่พาทย์มอญ จึงจัดรูปแบบวงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ตามกระแสความนิยม โดยเน้นจำนวนฆ้องมอญเป็นสำคัญ  เครื่องดนตรีอื่น ๆ เช่น ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ที่ในอดีตเป็นเครื่องดนตรีที่จัดไว้ในวงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ ปัจจุบันเครื่องดนตรีทั้ง ๒ ชนิดนี้ ห่างหายไปจากวงปี่พาทย์มอญ ด้วยเหตุผลเพื่อเป็นการจำกัดจำนวนนักดนตรีให้น้อยลง  ดังตัวอย่าง การจัดรูปแบบ วงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ ดังแผนภูมิ

 

 

แผนภูมิ  การจัดรูปแบบวงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่

 

ด้านหน้า

เปิงมาง

ฆ้องมอญวงเล็ก

ฆ้องมอญวงใหญ่

ฆ้องมอญวงใหญ่

 

ฆ้องมอญวงใหญ่

 

ตะโพนมอญ

ระนาดทุ้ม

ปี่มอญ

ระนาดเอก

ซุ้มโหม่ง

 

 

 

 

 

 

 


        นอกจากนี้ พบว่า การพัฒนารูปลักษณ์เครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์มอญอีก ๔ ชิ้น ได้แก่ รางระนาดเอก  รางระนาดทุ้ม  รางระนาดเอกเหล็ก  และรางระนาดทุ้มเหล็ก  โดยพัฒนารูปทรงเหมือนกับลักษณะฆ้องมอญ  แกะสลักรูปกินรี สวยงาม เช่นเดียวกับฆ้องมอญ  และเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วไป   จึงนับได้ว่าเป็นการพัฒนารูปแบบของวงปี่พาทย์มอญ  ทางด้านเครื่องดนตรีไปอีกระดับหนึ่งด้วย

                  รูปแบบของวงปี่พาทย์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ทั้ง ๒ ประเภท นั้น  รูปแบบวง  ปี่พาทย์ไทยยังคงมีลักษณะเช่นในอดีต แต่วงปี่พาทย์มอญ มีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของเครื่องดนตรีและรูปแบบการประสมวง โดยเน้นที่ความสวยงามของเครื่องดนตรีเป็นสำคัญ

                  วงปี่พาทย์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีจำนวนนักดนตรีไทย ที่ดำเนินกิจกรรมทางดนตรีในปัจจุบัน จำนวน ๑,๑๖๔ คน เป็นเพศชายจำนวน ๑,๐๑๔ คน เป็นเพศหญิงจำนวน ๑๕๐ คน อำเภอที่มีนักดนตรีมากที่สุดได้แก่อำเภอบางบาล มีจำนวนนักดนตรี ๑๖๗  คน เป็นชาย ๑๖๔  คน เป็นหญิง  ๓ คน  อำเภอที่มีนักดนตรีน้อยที่สุด คืออำเภอผักไห่ มีจำนวนนักดนตรี ๑๙ คน เป็นชายทั้งสิ้น  จำนวนนักดนตรีไทย ในพื้นที่ปัจจุบัน พิจารณาเทียบกับจำนวนบ้านดนตรีไทยแล้ว พบว่า อัตราส่วน ระหว่างนักดนตรีกับบ้านดนตรี โดยประมาณ ๖ คน ต่อ ๑ บ้านดนตรี (วงปี่พาทย์บาง วง มีนักดนตรีเพียง ๑ คน บางวงมีนักดนตรีมากถึง ๑๕ คน)

               นักดนตรีไทยของวงปี่พาทย์ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัยเด็ก จำนวน  ๘๒ คน (ร้อยละ ๗.๑๓) วัยรุ่น จำนวน ๒๕๘ คน (ร้อยละ ๒๒.๑๖)  วัยผู้ใหญ่ จำนวน ๗๕๙ คน (ร้อยละ ๖๕.๑๓) และวัยชรามีจำนวน ๖๕ คน(ร้อยละ ๕.๕๘)

                   จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับได้ว่า เป็นดินแดนแห่งดนตรีไทยโดยแท้ เมื่อเทียบกับจังหวัดที่มีพื้นที่ใกล้เคียง เช่น อ่างทอง สุพรรณบุรี ปทุมธานี และอื่น ๆ ที่ต่างก็เป็นแหล่งดนตรีไทยที่สำคัญ  เห็นได้จากจำนวนวงปี่พาทย์และนักดนตรีที่มีมากมาย  แต่ในสภาพปัจจุบันพบว่า  อัตราส่วนจำนวนนักดนตรีเฉลี่ยต่อวงปี่พาทย์  ยังไม่พอเพียง และยิ่งนับวันจะยิ่งน้อยลง ด้วยสภาพนักดนตรีที่เป็นวัยเด็กปัจจุบัน มีผู้สนใจน้อยมาก คงมีเพียงในกลุ่มนักดนตรีด้วยกันเท่านั้น จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า สังคมวงปี่พาทย์พื้นที่นี้ รักษาสภาพการคงอยู่ได้อย่างไร ในการปฏิบัติกิจกรรมทางดนตรีปัจจุบัน ซึ่งจะนำเสนอในโอกาสต่อไป

 

คำสำคัญ (Tags): #ปี่พาทย์อยุธยา
หมายเลขบันทึก: 252492เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2009 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จากคำบอกเล่า ของครูบุญยงค์เกตุคง ,นายไสว ญาณจรูญ, นายจินดา รักดนตรี ได้กล่าวว่า ใน อ.พระนครศรีอยุธยา นั้นมีได้มี วงครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏย์ ได้นำเครื่องมอญ มาเป็นวงแรก ใน อ.พระนครศรีอยุธยา และฆ้องมอญของที่นี้มีความสวยงามมาก เป็นฆ้อง จากร้านตุ๊กตาไทย ซึ่งหม่อมจรูญ ก็ยังนำลาดลายของฆ้องมอญทั้งสองวง นี้ มาเป็นแบบในการ แกะลายฆ้องมอญด้วย ปัจจุบัน ฆ้องมอญทั้ง 2วงนี้ อยู่ในความดูแล ของ นายไพเราะ จรรย์นาฏย์ ใครอยากเห็นก็ขอให้ไปขอชมดูได้นะครับ ขอรับรองว่า สวยมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท