ปี่พาทย์อยุธยา 4


ปี่พาทย์อยุธยา 4

วิถีวัฒนธรรมปี่พาทย์อยุธยา ๔ : ความสัมพันธ์วัดกับปี่พาทย์

                                                                                                กนก   คล้ายมุข

------------------------------------------------------------------------

   ในอดีตชุมชนไทยเมื่อรวมตัวกันเป็นกลุ่มได้ สิ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวคนทั้งกลุ่มไว้ คือ การนับถือพระพุทธศาสนา โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางที่ให้ทั้งจริยธรรม การศึกษาและค้ำจุนให้เกิดเป็นประเพณีสืบทอดกันมา เป็นวัฒนธรรมประจำชาติ กลุ่มชนทั้งหลายเมื่อรวมอยู่กันมาก ๆ ต้องมีหัวหน้า เป็นผู้ปกครองชุมชน ทำหน้าที่สำคัญในการคุ้มครองให้เกิดความปลอดภัย และอยู่เป็นสุข ในที่สุดคือสถาบันพระมหากษัตริย์ ความสัมพันธ์ระหว่าง ประชาชน ผู้ปกครองปวงชน และศาสนามีส่วนช่วยยึดเหนี่ยวรวมกันไว้ เสมือนกำลังในการสืบทอดความเป็นชาติ  

   ด้วยเหตุผลที่วัดเป็นศูนย์รวมทางสังคม  จึงต้องมีหน้าที่ เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมไปโดยปริยาย โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางดนตรีไทย  เนื่องด้วยดนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องกับสังคมไทย ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ชนทุกระดับต่างมีความผูกพันกับดนตรีมาตลอด และในส่วนของดนตรีเอง เมื่อมีคนเก่งทางดนตรีเกิดขึ้น  โอกาสที่จะแสดงให้เป็นที่รู้จักทั่วไปในสังคม จำเป็นต้องพึ่งวัด เพราะกิจกรรมต่าง ๆ มักเกิดขึ้นในวัด วัดและบ้านมีส่วนพึ่งพาอาศัยกันในเรื่องดนตรีอย่างดีเสมอมา ขุนนาง พระมหากษัตริย์เมื่อว่างภาระกิจ ต้องการความสุขจากดนตรี สามารถพึ่งพาทั้งวัดและบ้าน มาช่วยงานการบันเทิง ในอดีตความสัมพันธ์ระหว่าง วังและบ้านมีให้เห็นเด่นชัด เช่น วังบางขุนพรหม ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับบ้านดนตรีของครูจางวางทั่ว พาทยโกศล วังบูรพาภิรมย์ของสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช กับบ้านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) วัดกับบ้านดนตรีที่มีความสัมพันธ์ ในอดีต เช่น วัดน้อยทองอยู่ ให้การอุปถัมภ์ครูช้อย สุนทรวาทิน เมื่อคราวบ้านท่านถูกไฟไหม้ ได้รับความอุปการะจากสมภารแสงเป็นอย่างดี ทำให้นักดนตรีในวัดน้อยทองอยู่หลายท่านประสบความสำเร็จในด้านดนตรีด้วย

             จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันยังคงมีวัดวาอารามจำนวนมาก  ด้วยในอดีตมีความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนา  และเป็นที่ตั้งเมืองหลวงเก่า  จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความเจริญทางวัฒนธรรมดนตรีปี่พาทย์ มาตลอด โดยสถานภาพของวัด มีความสัมพันธ์กับปี่พาทย์ ดังนี้

 

   P วัดในสถานภาพ เป็นสถานที่สำหรับการดำเนินกิจกรรมทางดนตรี

             ภาพของความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ ปัจจุบันยังคงเป็นความสัมพันธ์ที่ดำเนินอยู่เฉกเช่นในอดีต โดยเฉพาะวงปี่พาทย์มอญ ที่ยังมีหน้าที่บรรเลงประกอบพิธีศพมากที่สุด โดยมีรูปแบบความสัมพันธ์ดังนี้

                   / วงปี่พาทย์ทั่วไป 

เป็นลักษณะความสัมพันธ์ที่เกิดจาก  การว่าจ้างวงปี่พาทย์บรรเลงประกอบพิธีกรรม  

วงปี่พาทย์ทั่วไปทั้งในและนอกพื้นที่ สามารถรับจ้างโดยตรงต่อเจ้าภาพ ราคาว่าจ้างจึงขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างเจ้าภาพและโต้โผปี่พาทย์  วงปี่พาทย์ทั่วไปมีอิสระในการรับจ้างบรรเลงได้ตามวัด ทั่วไปทั้งในและนอกพื้นที่ด้วย

                   / วงปี่พาทย์ประจำวัด

          วัดหลายวัด มีการจัดรูปแบบพิธีศพให้ สะดวก ประหยัดขึ้น ในลักษณะเหมาจ่าย วัดกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตชุมชน เช่น วัดประสาท วัดเสนาสนาราม เป็นต้น การจัดพิธีศพของวัดในลักษณะนี้มีส่วนเอื้อต่ออาชีพดนตรีอีกลักษณะหนึ่ง คุณนิพนธ์ นาคหัวเพชร เจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลพิธีศพของวัดเสนาสนาราม เล่าว่า เมื่อมีญาติผู้เสียชีวิตมาติดต่อจัดงาน ทางเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้จัดเตรียมทุกอย่างบริการให้ อาทิ โลงศพ ดอกไม้ และอื่น ๆ รวมทั้งปี่พาทย์ที่ใช้บรรเลงประกอบงาน

                    วงปี่พาทย์มอญที่ประจำวัดเสนาสนาราม มี ๒ คณะ คือ คณะสุขอุดม และคณะอาจารย์พจน์ พูนสวัสดิ์ ผลัดเปลี่ยนกันบริการในงานแต่ คณะสุขอุดมจะมีโอกาสได้บรรเลงมากกว่าเนื่องจากเป็นวงของนักดนตรีอาชีพ แต่คณะอาจารย์พจน์ พูนสวัสดิ์ เป็นวงดนตรีของสถาบันการศึกษา จึงมีโอกาสน้อยกว่าในเรื่องความพร้อมของนักดนตรี และเวลาในการบรรเลง สนนราคาที่ทางวัดจัดไว้ให้คือ ช่วงเวลา ๑๗.๐๐ น. – ๒๑.๐๐ น. ราคา ๒,๐๐๐ บาท ช่วงเวลา ๐๙.๐๐ น. – ๑๗.๐๐ น. ราคา ๓,๐๐๐ บาท ฉะนั้นหากบรรเลง ๒ เวลา ต่อหนึ่งงานคณะปี่พาทย์จะได้รับเงิน ๕,๐๐๐ บาท รายได้เฉลี่ยต่อเดือน ประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท เพราะวัดจะมีศพเดือนหนึ่งประมาณ ๑๕ ศพโดยประมาณแต่หากเจ้าภาพจัดหาปี่พาทย์มาเอง ทางวัดก็งดปี่พาทย์ประจำ

                    วัดที่มีธุรกิจฌาปนกิจศพ ดังเช่นวัดเสนาสนาราม นี้มีส่วนส่งเสริมให้นักดนตรีไทย สามารถดำรงชีพอยู่ได้ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้นักดนตรีไทยมีอาชีพค่อนข้างเป็นงานประจำ แม้ว่าอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ศักยภาพของนักดนตรีที่บรรเลงลดลง ด้วยปัจจัยหลาย ๆ ประการ เช่น เวลาในการบรรเลงลดน้อยลง ทำให้เพลงที่ใช้ในการบรรเลงลดน้อยลงไปด้วย การลดจำนวนนักดนตรีเพื่อให้โต้โผดำรงอยู่ได้  ทำได้โดยการจำกัดจำนวนนักดนตรี และหรือใช้นักดนตรีที่ยังเป็นเด็ก ซึ่งมีผลทำให้อัตราค่าจ้างแรงงานลดลง และปัจจัยที่สำคัญ คือ สังคมมองว่า ปี่พาทย์เป็นเพียงส่วนประกอบของพิธีกรรม จึงไม่มีผู้ใดใส่ใจในอรรถรสของดนตรี แต่ประการใด เสียงดนตรีที่เกิดขึ้น เพียงเพื่อรับกลิ่นอายของพิธีกรรมแห่งความเศร้าโศก เท่านั้น อย่างไรก็ตามยังถือว่าเป็นส่วนดีต่อวงการดนตรีไทยในบ้านเรา ที่ยังส่งเสริมให้นักดนตรีไทยในรูปแบบปี่พาทย์ประจำวัด

 

   P วัดในสถานภาพการอุปถัมภ์วงปี่พาทย์

   วัด นอกจากจะเป็นสถานที่สำหรับวงดนตรี ในการดำเนินกิจกรรมการแสดงทางดนตรีแล้ว วัด ยังมีความสัมพันธ์กับวงปี่พาทย์ ในสถานภาพการอุปถัมภ์วงปี่พาทย์ เช่น วัดไก่จ้น (อำเภอท่าเรือ) อุปถัมภ์วงปี่พาทย์คณะศิษย์วัดไก่จ้น วัดจันทาราม (อำเภอบางบาล) อุปถัมภ์วงปี่พาทย์ คณะศรสุวรรณ เป็นต้น

   วงปี่พาทย์ ที่ได้รับการอุปถัมภ์จากวัดนั้น มักได้รับประโยชน์ในหลายด้าน อาทิ การอุปถัมภ์ ด้านเครื่องดนตรีหรืออุปกรณ์ต่างๆ ด้านงานการแสดงดนตรี ด้านการเงิน หรือแม้แต่การทำให้สถานภาพของความเชื่อถือที่ได้รับจากสังคมมีสูงขึ้น เนื่องจากความเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับนับถือในสังคม ของผู้อุปถัมภ์ดูแล ซึ่งเป็นพระสงฆ์ นั่นเอง แต่ปัจจุบัน พบว่า วงปี่พาทย์ในความดูแลของวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลายวงสูญสิ้นลงเนื่องจากขาดผู้ควบคุมดูแล เช่น การอุปถัมภ์วงปี่พาทย์คณะศรสุวรรณ ของพระครูสุนทรโสตถิคุณ เจ้าอาวาสวัดจันทาราม(อำเภอบางบาล) เมื่อท่านมรณะภาพแล้วทำให้วงปี่พาทย์คณะศรสุวรรณขาดผู้อุปถัมภ์ไป วงปี่พาทย์อื่น ๆ ที่ได้รับการอุปถัมภ์ก็เช่นกัน เมื่อเวลาผ่านไป ผู้อุปถัมภ์สิ้นลง การอุปถัมภ์ค้ำชูก็หายไป ตามสภาพความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และสังคม

 

   P วัดในสถานภาพ เจ้าของวงดนตรี

             นอกจากวัดจะมีสถานภาพเป็นสถานที่แสดงดนตรีไทย  เป็นผู้อุปถัมภ์ดนตรีไทย  แล้ว  พบว่า วัดหลายวัดยังเป็นแหล่งให้ความรู้ด้านดนตรี และบริการวงปี่พาทย์ในรูปแบบ วงปี่พาทย์ของวัด เช่น วงปี่พาทย์วัดชุมพลนิกายาราม (อำเภอบางปะอิน) วงปี่พาทย์วัดพรมนิวาส (อำเภอพระนครศรีอยุธยา) เป็นต้น

   จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีวัดที่มีวงปี่พาทย์เป็นของวัด คือ วัดบางเพลิง ตั้งอยู่ที่

ตำบลเสาธง อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วย วัดบางเพลิง  นอกจากจะเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนาแล้ว  ยังมีกิจกรรมช่วยเหลือสังคม โดยอุปการะเด็กชาวไทยภูเขา เผ่าต่าง ๆ เช่น อาข่า  ลีซอ อีก้อ  เย้า  มูเซอ เป็นต้น  จำนวนประมาณ ๑๐๐ คน ทั้งหมดมาจากจังหวัดเชียงราย  เป็นชาย ๕๖ คน หญิง ๔๔ คน อายุตั้ง ๔ - ๑๔ ปี  โดยส่งเสริมให้ศึกษาในระดับสามัญทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ในเวลาว่าง วันหยุด วัดได้จัดกิจกรรมโครงการพัฒนาอาชีพเสริม หลาย ๆ อาชีพ รวมทั้งดนตรีไทยที่ส่งเสริมให้เด็กในอุปถัมภ์ของวัด เรียนได้ตามความสมัครใจ  พร้อมทั้งตั้งวงปี่พาทย์คณะ เสียงจากดอย  ขึ้น เพื่อให้เด็กที่เรียนดนตรีได้ใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อแสดงความสามารถทางดนตรีไทย และเป็นการหารายได้ให้ตนเอง และช่วยเหลือวัดในการอุปการะเด็กอื่นด้วยอีกทางหนึ่ง

   วงปี่พาทย์คณะ  เสียงจากดอย มีเครื่องดนตรีประกอบด้วย วงปี่พาทย์ไทย ๑ ชุด  วงปี่พาทย์มอญจำนวน ๑ ชุด (ฆ้องมอญจำนวน ๘ โค้ง) รับบริการงานศพทั่วไป  ประกอบด้วยสมาชิก ทั้งเด็กไทยภูเขาและเด็กพื้นราบทั่วไปที่สามารถเล่นปี่พาทย์ได้ในวง จำนวน ๑๑ คนดังนี้

                   . นายสมบัติ  เฌอหมื่อ          อายุ ๑๕ ปี

                   . นายมู่หยง  เฌอหมื่อ          อายุ ๑๕ ปี

                   . เด็กชายมู่ยู  เฌอหมื่อ         อายุ ๑๑ ปี

                   . เด็กหญิงหนีมา  ฮีจุง          อายุ ๑๑ ปี

                   . เด็กชายปียู  ฮีจุง              อายุ ๑๑ ปี

                   . เด็กหญิงเพ็ญศรี  เฌอหมื่อ    อายุ ๑๑ ปี

                   . เด็กหญิงบุษราคัม ขุนไพร    อายุ ๑๑ ปี

                   . เด็กชายสายัญ เฌอหมื่อ       อายุ ๑๑ ปี

                   . เด็กชายใหม่  พ่อค้าข้าว       อายุ ๑๒ ปี

                   ๑๐. นายหนึ่ง  พ่อค้าข้าว         อายุ ๑๕ ปี

                   ๑๑. เด็กชายเบริด์    พ่อค้าข้าว  อายุ ๑๒ ปี

   การบริหารจัดการวงปี่พาทย์คณะ เสียงจากดอย อยู่ในความควบคุมดูแลของ พระปลัดแฉล้ม ฐานวโร เจ้าอาวาส ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๘๒  มีบรรพบุรุษเป็นนักดนตรีปี่พาทย์ สืบทอดต่อมาตั้งแต่รุ่นปู่เฉื่อย  พ่อค่าข้าว พ่อหวาน  พ่อค้าข้าว  และนายแฉล้ม   พ่อค้าข้าว ซึ่งได้รับเครื่องดนตรีปี่พาทย์ไทยและปี่พาทย์มอญ ต่อจากบิดา และประกอบอาชีพปี่พาทย์มาตลอด นอกจากนี้ยังเคยเป็นนักแสดงโขนสด ของคณะวัดหรรสังข์ อำเภอบางปะหันด้วย จนกระทั่งเมื่อท่านอายุได้ ๔๐ ปี จึงทำการอุปสมบทอีกครั้ง และภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางเพลิง  ในตำแหน่งพระปลัดแฉล้ม  ฐานวโร ด้วยที่ในอดีตเคยเป็นนักดนตรีไทย จึงเป็นแรงจูงใจสำคัญที่สนับสนุนกิจกรรมด้านดนตรีขึ้นในวัด จากเครื่องดนตรีที่มีอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว

             การจัดการเรียนการสอนของวงปี่พาทย์คณะ เสียงจากดอย  ในระยะแรกทำการสอนโดยพระปลัดแฉล้ม และว่าจ้างครูดนตรีมาสอนด้วย  จนเด็กชาวเขารุ่นแรก สามารถปฏิบัติดนตรี แสดงในงานต่าง ๆ ได้ ต่อมาจึงใช้วิธีการสอนแบบพี่สอนน้อง มาตลอด ปัจจุบันยังมีศิษย์ในรุ่นแรก ทำการสอนน้องในรุ่นปัจจุบัน ได้แก่  นางสาวรัญชิดา  เฌอหมื่อ  เป็นชาวเขาเผ่าอาข่า ที่เข้าร่วมโครงการ มานานหลายปี จนมีความสามารถสอนน้อง และดูแลความเรียบร้อยของวงปี่พาทย์เสียงจากดอยได้อย่างดี

             การบริการวงปี่พาทย์คณะเสียงจากดอย  จะให้บริการ ทั้งวงปี่พาทย์ไทยและวงปี่พาทย์มอญ กับชุมชนทั่วไปโดยไม่เรียกร้องราคาสุดแต่ผู้ว่าจ้างจะให้ ซึ่งเคยได้รับตั้งแต่ ๗,๐๐๐ - ๒๕,๐๐๐ บาท จ่ายค่าแรงงารนให้กับเด็ก ตั้งแต่ ๑๐๐๕๐๐ บาท ตามแต่ความสามมารถ ส่วนที่เหลือนำไปเป็นค่าอาหารเลี้ยงเด็กชาวเขาในวัด

   วัดบางเพลิง เป็นวัดเดียวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ยังคงให้ความอุปถัมภ์ ดนตรีไทย  ในรูปแบบวงปี่พาทย์ของวัด  และจัดกิจกรรมทางดนตรีให้เด็กไทยภูเขาและเยาวชนทั่วไปที่สนใจได้ศึกษา ซึมซับวัฒนธรรมด้านดนตรีไทย จนสามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพเลี้ยงตนเองได้   วงปี่พาทย์ของวัดวงอื่น ๆ ไม่สามารถคงอยู่ได้ด้วยสภาพที่เป็นสถาบันทางศาสนา วงปี่พาทย์ของวัดจึงไม่มีผู้สืบทอด เฉกเช่นวงปี่พาทย์ของชาวบ้านทั่วไป จึงพบว่า วงปี่พาทย์วัดพรมนิวาส  เมื่อพระครูพรหมวิหารกิจ มรณะภาพ วงปี่พาทย์ของวัดก็ต้องมีอันต้องยุบวงไป

 

             ความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับปี่พาทย์ ปัจจุบันคลี่คลายลงไปมาก แม้กระทั่งปี่พาทย์มอญที่มีบทบาทอย่างเหนียวแน่นในพิธีศพ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ด้วยสังคมเห็นว่า เป็นการสิ้นเปลือง การใช้แถบบันทึกเสียงปี่พาทย์มอญ ดูจะเป็นการประหยัดกว่า ปี่พาทย์ เป็นเพียงส่วนประกอบของพิธีกรรม ไม่มีผู้ใดใส่ใจในอรรถรสของดนตรี แต่ประการใด เสียงดนตรีที่เกิดขึ้น เพียงเพื่อรับกลิ่นอายของพิธีกรรมแห่งความเศร้าโศก เท่านั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ภาพความสัมพันธ์ของวัดกับปี่พาทย์คลี่คลายลง อย่างเห็นได้ชัด ยากที่จะหาผู้ใดช่วยแก้ไข

 

คำสำคัญ (Tags): #ปี่พาทย์อยุธยา 4
หมายเลขบันทึก: 252498เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2009 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท