ปี่พาทย์อยุธยา 8


ปี่พาทย์อยุธยา 8

วิถีวัฒนธรรมปี่พาทย์อยุธยา ๘ : ภูมิปัญญาช่างทำเครื่องดนตรีปี่พาทย์

…………………………………………………..

กนก   คล้ายมุข

   จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดเป็นพื้นที่สำคัญที่มีแหล่งผลิตเครื่องดนตรี ซึ่งเป็นภูมิปัญญาด้านช่างทำเครื่องดนตรีในท้องถิ่นอยู่จำนวนมาก  ซึ่งเป็นการผลิตในลักษณะงานหัตถกรรมในครัวเรือน  โดยมีช่างที่ผลิตเครื่องดนตรีไทยที่มีคุณภาพ หลาย ๆ ด้าน อาทิ

 

   ช่างแกะสลักเครื่องดนตรีปี่พาทย์มอญ

   บ้านปิ่นแก้ว เป็นหมู่บ้านหนึ่งในอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นแหล่งผลิตเครื่องดนตรีไทยที่สำคัญ เช่น เปลือกฆ้องมอญ รางระนาดเอก รางระนาดทุ้ม เปิงมาง ซุ้มโหม่ง เป็นต้น ที่หมู่บ้านนี้จะประกอบอาชีพหลักด้านแกะสลักเครื่องดนตรีจำนวน ๑๐๑๕ หลังคาเรือน ซึ่งช่างแกะสลักแต่ละบ้านมีงานแกะสลักตลอดทั้งปี กลุ่มวงปี่พาทย์ทั้งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียง อาทิ กรุงเทพมหานคร  ลพบุรี ชัยนาท นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี  เป็นต้น เป็นผู้ใช้บริการ นับได้ว่าเป็นแหล่งผลิตเครื่องดนตรีไทย  สำหรับวงปี่พาทย์มอญ แหล่งใหญ่ที่สุด และมีชื่อเสียงที่สุด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ภาพ ๑ ช่างแกะสลักเครื่องดนตรีไทย ทองสุข  เกิดทรง

 

   วัสดุ   ประกอบด้วย

   . ไม้  นิยมใช้ไม้ก้ามปูมากที่สุด ด้วยเป็นไม้ที่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่นมีราคาต่ำ  ขนาดกว้าง ๖๐ เซนติเมตร  ยาว ๑๕๐ เซนติเมตร หนา ๖๐ เซนติเมตร จำนวน ๓ ท่อน

   . หวาย นำมาใช้ตีกำกับเพื่อกดลูกมะหวด สำหรับร้อยเชือกหรือหนัง ผูกลูกฆ้องเข้ากับวงฆ้อง

             . ลูกมะหวดกลึง  ใช้ไม้สักกลึงลักษณะคล้ายลูกคิดแต่ขนาดเล็กกว่า

   . ห่วงฆ้อง เป็นห่วงทองเหลืองใช้สำหรับนำไม้สอดหามฆ้อง ในเวลาที่ต้องการเคลื่อนย้าย

   วิธีการผลิต  ดำเนินการดังนี้

             . นำไม้ก้ามปู ๓ ท่อน มาต่อกันในรูปโค้ง ตามลักษณะฆ้องมอญ ความสวยงามและขนาดของแบบ ตามต้องการ

             . เจาะ  คว้าน เนื้อไม้ด้านในออก  ทำให้เป็นกระพุ้ง  เพื่อนำลูกฆ้องมาผูก และเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมเสียงด้วย

   . เขียนลาย โดยวาดลงบนแบบแล้วจึงนำมาแปะลงบนฆ้องที่เตรียมไว้ 

   . แกะสลัก ล่องชาด ลวดลายต่าง ๆ ตามที่กำหนด

   . ขัดให้ลักษณะเนื้องานมีความคมชัด ลวดลายสวยงาม

             . เจาะหู ใส่ห่วงที่เตรียมไว้

 

   ช่างทำผืนระนาด

   ผืนระนาด เป็นเครื่องดนตรีทีมีความสำคัญในวงปี่พาทย์มาก โดยเฉพาะระนาดเอก เป็นเครื่องดนตรีที่มีหน้าที่บรรเลงนำในวง   ผืนระนาดที่มีคุณภาพดี เสียงดังชัดเจน สม่ำเสมอทุกเสียง จะเป็นที่ต้องการของนักดนตรี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ภาพ ๒ ช่างทำผืนระนาด สุชิน  คล้ายมุข

 

   แหล่งผลิตผืนระนาด ที่เป็นภูมิปัญญาด้านดนตรี ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีหลายท่าน ส่วนใหญ่มักเป็นนักดนตรีไทย และมีวงปี่พาทย์เป็นของตนเองอยู่ด้วย การทำผืนระนาด  มักเป็นการผลิตจำหน่ายในลักษณะงานหัตถกรรมในครัวเรือน  มากกว่าการทำเป็นธุรกิจ ผู้ใช้บริการมีทั้งวงปี่พาทย์ภายในพื้นที่และวงปี่พาทย์ต่างจังหวัด โดยใช้วัสดุ และมีขั้นตอนการผลิต ดังนี้

   วัสดุ  ประกอบด้วย

             . ไม้  ผืนระนาดนิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง ด้วยคุณลักษณะที่มีความแข็งแกร่ง เสียงดี  แต่ในอดีตนิยมไม้ ๒ ประเภท ดังนี้

             ไม้เนื้อแข็ง  นิยมใช้ในการผลิตระนาดเอก โดยใช้ไม้ชิงชัน มากที่สุด ซึ่งไม้ชิงชันมีหลายชนิด เช่น ชิงชันดำ  ชิงชันลาย ชิงชันเหลือง ชิงชันแดง เป็นต้น ซึ่งเป็นการพิจารณาจากลักษณะของเนื้อไม้  ไม้ที่นิยมใช้มาจากแหล่งที่มีภูมิประเทศที่เป็นเขา ซึ่งจะมีความแข็งแกร่ง มีแก่นมาก และความชื้นของเนื้อไม้มีน้อยกว่า ไม้ในพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง จึงเป็นคุณลักษณะที่เหมาะสมกับการเหลาระนาด ไม้ชิงชันที่เป็นที่นิยมว่ามีคุณภาพดีมักนำมาจาก จังหวัดตราด  กาญจนบุรี  เป็นต้น  นอกจากไม้ชิงชันแล้ว ไม้เนื้อแข็งประเภทอื่น ๆ เช่น ไม้มะหาด  ไม้พยุง  ก็เป็นที่นิยมด้วย

   ไม้ไผ่ ในอดีตนิยมใช้ทำผืนระนาด  ด้วยให้เสียงไพเราะ นุ่มนวลดี เหมาะสำหรับผู้มีกำลังน้อย น้ำหนักมือเบา  ปัจจุบันไม้ไผ่ที่นิยมนำมาเหลาระนาด ได้แก่ ไผ่ตง  มีลักษณะลำต้นใหญ่  หนา เนื้อไม้แก่จัด เสี้ยนจะมีสีดำ  นิยมใช้ไม้ไผ่จากภาคตะวันออก เช่น จังหวัดนครนายก จังหวัดตราด เป็นต้น ปัจจุบันนิยมใช้ทำระนาดทุ้มมากกว่าระนาดเอก

   . ตะกั่วถ่วงเสียง  นำมาใช้ในการถ่วงเสียงระนาด ตามระดับเสียงที่ต้องการ ส่วนประกอบของตะกั่วถ่วงเสียง ประกอบด้วย ตะกั่ว ขี้ผึ้งแท้ นำมาตั้งไฟเคี่ยวให้ละลายรวมเป็นเนื้อเดียวกัน  ถ้าต้องการให้มีความเหนียวมาก นิยมใช้ชันนางลมผสมด้วยเล็กน้อย  ตะกั่วถ่วงเสียง จะเหนียวติดทนดี 

   . เชือกร้อยระนาด  นิยมใช้เชือกที่มีลักษณะแข็ง  ขนาดพอเหมาะกับรูระนาด ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป ระนาด ๑ ผืน  ตจะใช้เชือกประมาณ   เมตร โดยทั่วไปช่างเหลาระนาดจะควั่นเชือกสำหรับร้อยระนาดเอง ด้วยเชือกที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไปคุณสมบัติไม่ดี

   วิธีการเหลาระนาด มีขั้นตอนในการผลิตดังนี้

             . การเตรียมไม้ นำไม้ชิงชันมาเรื่อยออกเป็นชิ้น ๆ ขนาดกว้าง ๒ นิ้ว ยาว ๑๕ นิ้ว หนา ๑-๒ นิ้ว คัดไม้ที่มีกระพี้ ตา รอยแตก  ออก เพราะจะทำให้ระนาดมีตำหนิ การคัดไม้นิยมใช้ไม้ที่มาจากต้นเดียวกัน  เพราะจะมีสี ลาย เหมือนกัน นอกจากนี้เสียงของไม้จะเสมอกันด้วย 

               . การคุ่มหลังระนาด นำไม้ที่เตรียมไว้ มาจัดเรียงเป็นผืนจนครบ ๒๒ ลูก ไม้ส่วนที่บางและมีความยาวนำมาใช้ทางต้น (เสียงต่ำ) ส่วนที่หนาและสั้นกว่า นำมาใช้ทางยอด (เสียงสูง) แล้วใช้กบไสหลังไม้ ให้โค้งตามรูปลักษณ์ของลูกระนาดตามต้องการ

             . การเจาะรู นำกระสวนมากำหนดแนวการเจาะรู  ทำการเจาะรูทั้งด้านบนและด้านล่าง เข้าหากัน แล้วนำไปร้อยเชือกเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของหลังระนาด  ให้เป็นแนวเดียวกัน

             . การตัดหัว เมื่อทดลองร้อยเชือกและตรวจสอบว่าเรียบร้อยแล้ว  นำกระสวน(ไม้ที่มีลักษณะโค้ง เพื่อกำหนดส่วนโค้งของลักษณะผืนระนาด) วางทาบ ตามที่ต้องการแล้วทำการตัดหัวให้สวยงาม

             . ปาดท้อง  หลังจากตัดหัวแล้ว จึงทำการปาดท้องและเทียบเสียง โดยให้เสียงสูงกว่าเสียงที่เป็นระดับเสียงจริง ๑ เสียง เพื่อเตรียมไว้ติดตะกั่วถ่วงเสียง ซึ่งจะมีผลทำให้เสียงต่ำลง

             . ขัด  ทำการขัดหลังให้เรียบ ด้วยกระดาษทราย

             . ติดตะกั่วถ่วงเสียง  นำตะกั่วที่ผสมพร้อมติด  มาติดถ่วงตามระดับเสียง

             . ทาน้ำมัน ใช้นำมันเคลือบเงา ทาบาง ๆ บนหลังระนาด ปัจจุบันนิยมใช้ยาขัดรองเท้าสีน้ำตาลขัด เนื่องจากไม่เคลือบเนื้อไม้ ทำให้น้ำในเนื้อไม้ระเหยได้ดีกว่าทาน้ำมันเคลือบเงา

 

   ช่างทำผืนระนาดที่สำคัญ เช่น นายจำลอง  คหินทพงษ์  บ้านเลขที่ ๑๐ หมู่ ๖ ตำบลบ้านคลัง  อำเภอบางบาล  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา   นายสุชิน  คล้ายมุข  บ้านเลขที่ ๓๓ หมู่ ๕ ตำบลกบเจา  อำเภอบางบาล  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

                     

   ช่างทำรางระนาด

             ช่างทำรางระนาด ดำเนินการผลิตโดยใช้วัสดุหลัก คือ ไม้  มีขนาดกว้าง ๑๒ นิ้ว ยาว ๘๒ นิ้ว หนา ๒ นิ้ว โดยมีลักษณะการเลือกใช้ตามประโยชน์การใช้สอย ดังนี้

   รางระนาดที่ผลิตเพื่อการแกะสลัก มักนำไปใช้ประกอบในวงปี่พาทย์มอญ นิยมใช้ไม้ที่ไม่ต้องมีลวดลายสวยงาม  เนื่องจากต้องนำไปแกะสลักปิดทอง อีกครั้ง โดยไม่เห็นลายไม้  จึงนิยมใช้ไม้ก้ามปู  ไม้สะเดา ซึ่งเป็นไม้ที่หาได้ในท้องถิ่น มีราคาต่ำ

             รางระนาดที่ผลิตโดยไม่แกะสลัก  มักนำไปใช้ประกอบในวงปี่พาทย์ไทย นิยมคัดเลือกไม้ที่มีลวดลายสวยงาม เช่น ไม้สัก  ไม้ชิงชัน ไม้มะเกลือ  ไม้ประดู่  เป็นต้น

             นอกจากนี้จะใช้วัสดุประกอบอื่น ๆ อีกเล็กน้อย เช่น ตะปู กาว เป็นต้น

             วิธีการผลิต  มีขั้นตอนดังนี้

             . เตรียมไม้ โดยนำไม้ที่เตรียมไว้ แยกออกเป็นเนื้อราง จำนวน ๒ ชิ้น โขนระนาด ๒ ชิ้น ทำการไส ตกแต่งตามรูปลักษณ์ของรางระนาด

             . เตรียมเท้าระนาด ใช้ไม้อีกส่วนหนึ่งเตรียมทำเท้าระนาด(ระนาดเอกจะมีขนาดใหญ่  ระนาดทุ้มจะมีขนาดเล็ก)

             . ประกอบราง  นำส่วนประกอบที่เตรียมไว้ ประกอบรวมเป็นรางระนาด

            ช่างทำรางระนาดที่สำคัญ เช่น นายไสว  เสงี่ยมงาม  บ้านเลขที่ ๑๘/๑ หมู่ ๕  ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  นายฉี่ ช่วงอุทัย  บ้านเลขที่ ๑๓๒/๑ หมู่ ๗  ตำบลบ้านป้อม  อำเภอพระนครศรีอยุธยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

 

 

   ช่างทำปี่

             ปี่เป็นเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญ ในวงปี่พาทย์ มีส่วนประกอบ ๒ ส่วน คือ ตัวปี่ และลิ้นปี่  ช่างทำปี่มักจะผลิตในส่วนของตัวปี่  ส่วนลิ้นปี่จะผลิตจากแหล่งอื่น ภูมิปัญญาด้านช่างทำปี่ นั้นจะทำทั้งปี่ใน ปี่ชวา และปี่มอญ  โดยใช้วัสดุและมีวิธีการผลิตดังนี้

             วัสดุ  ประกอบด้วย

             ไม้ เป็นวัสดุเพียงอย่างเดียวที่ใช้ในการผลิต  นิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง ได้แก่ ไม้ชิงชันมากที่สุด  ไม้เนื้ออ่อน จะมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม

             วิธีการผลิต  มีขั้นตอนดังนี้

             . นำไม้ขนาดเท่าตัวปี่แต่ละชนิด  นำมากลึงให้ได้รูปลักษณ์ตามปี่แต่ละชนิด

             . กว้านไส้ไม้ออก

             . เจาะรูตามต้องการ

 

             ช่างทำปี่มีความสัมพันธ์กับวงปี่พาทย์ในระดับหนึ่ง  แต่เป็นเพียงส่วนน้อย ด้วย  ปี่ เป็นเครื่องดนตรีประจำตัวนักดนตรี ชำรุดยากถ้าได้รับการดูแลอย่างดี  แต่อาชีพช่างทำปี่  ยังเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับช่างพอสมควรแม้ว่าจะไม่มากนัก โดยมีช่างที่สำคัญ ได้แก่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ภาพ ๓ ช่างทำปี่ นายสง่า   จันทร์ตรี

   นายสง่า จันทร์ตรี บ้านเลขที่ ๘/๑ หมู่ ๙ ตำบลบ้านโพธิ์ อ. เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา  สำเร็จการศึกษาสูงสุดชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ได้สืบทอดดนตรีจากบิดา จากการที่คลุกคลีอยู่กับเครื่องดนตรีไทย  ประกอบกับเป็นคนที่สนใจ  สังเกต  จดจำ  และมีความรู้ด้าน ช่างไม้  จึงเกิดแรงบัลดาลใจทดลองทำเครื่องดนตรีไทยโดยเฉพาะปี่ไทย เป็นที่ยอมรับในวงการดนตรีไทยทั่วไปด้วยมีลักษณะสวยงาม เสียงได้มาตรฐาน คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้  นายสง่า  จันทร์ตรี   เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม  สาขาศิลปะการช่างศิลปะและการช่างฝีมือ พ.. ๒๕๓๓ ด้วย

   นอกจากนี้ยังมีช่างทำปี่ อื่น ๆ เช่น นายเฉลียว  มโนรมย์  บ้านเลขที่ ๑๓ หมู่ ๔ ตำบลบางชะนี  อำเภอบางบาล  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เป็นต้น

 

   ช่างทำกลอง

   กลอง เป็นเครื่องประกอบจังหวะที่สำคัญของวงปี่พาทย์   ลักษณะกลองแต่ละชนิด มีความแตกต่างกันออกไปทั้งรูปลักษณ์ ลักษณะการใช้งาน ในการผลิตกลองมีวัสดุและวิธีการดำเนินงาน ดังนี้

   วัสดุ มีดังนี้

             . หนัง  ในการทำกลองนิยมใช้หนัง วัว หรือ หนังควาย แล้วแต่กลอง เช่น  กลองทัด  นิยมขึงหน้าด้วยหนังควาย  ส่วนกลองอื่น ๆ เช่น  ตะโพนมอญ ตะโพนไทย เปิงมาง  เป็นต้น  นิยมขึงหน้าด้วย หนังวัว

           แหล่งจำหน่ายหนังสำหรับขึงหน้ากลอง อยู่ที่บ้านเลขที่ ๔๘/๑๒ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา โดยมีนายสมเจตน์   สาระธรรม  หรือที่ช่างทำกลองทั่วไป มักเรียนว่านายต๋อ  เป็นผู้จัดจำหน่ายอยู่เพียงผู้เดียว  โดยจะรับซื้อหนังจากโรงฆ่าสัตว์ทั่วไปแล้วนำมาขึงตากแห้ง เพื่อจำหน่าย และเป็นแหล่งทำหนังที่มีคุณภาพดีที่สุด  จึงมีผู้นิยมใช้บริการมากที่สุด โดยจะจำหน่ายหนังคุณภาพให้กับลูกค้าประจำ ที่ผลิตกลอง เช่น  นายประสิทธิ์  คหินทพงษ์  นายล้วนดนตรี  นายสมนึก  สุขเวชกิจ เป็นต้น 

   . หุ่นกลอง คือไม้ที่เป็นโครงสร้างของกลอง กลองที่ต้องเน้นความสวยงามของหุ่น ได้แก่ กลองทัด กลองตุ๊ก กลองแขก จะใช้ไม้ที่มีคุณภาพดี ลายสวยงาม เช่น ไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ เป็นต้น  ส่วนกลองที่ไม่เน้นความสวยงามของหุ่น ได้แก่ ตะโพนไทย ตะโพนมอญ เปิงมางคอก จะใช้ไม้ที่หาง่ายในท้องถิ่น เช่น ไม้ก้ามปู  เป็นต้น ทั้งยังมีราคาต่ำด้วย

   . น้ำมันเคลือบเงา ใช้ทาหุ่นกลองที่เน้นความสวยงาม

   วิธีการผลิต  ดำเนินการดังนี้

             . เตรียมหุ่นกลอง นำไม้มากลึงรูปและคว้านไส้  ขัดให้เรียบ  กลองที่เน้นความสวยงามของหุ่น ทาน้ำมันให้สวยงาม  กลองที่ไม่เน้นความสวย ไม่ต้องทาน้ำมัน

             . นำหนังมาตัด ตามขนาดของกลองแต่ละชนิด แล้วแช่น้ำประมาณ ๒๔ ชั่วโมงให้หนังมีความนิ่ม  อ่อนตัว  เพื่อความสะดวกในการขึงหน้า

             . นำหนังที่แช่น้ำมาสะดง(วิธีการจัดวางรูปแบบ) กับหุ่น ขึงจนตึง กลองที่ไม่ใช้หนังเลียด (ทำหนังให้เป็นเส้น) ทำการตอกหมุด

             . ทำไส้ละมาน(หนังบิดเส้นเล็ก ๆ เจาะไว้ที่หนังหน้า) สำหรับกลองประเภทตะโพนไทย  ตะโพนมอญ  เปิงมาง

             . ชักเลียดหนัง  นำมาร้อยสลับไปมา ขึงกำหนดเสียงตามต้องการ

 

<

คำสำคัญ (Tags): #ปี่พาทย์อยุธยา 8
หมายเลขบันทึก: 252502เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2009 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท